บ้านไม้ริมคลอง ที่ประกอบด้วยบ้านไม้สักสีธรรมชาติฉลุลายแบบขนมปังขิงหนึ่งหลัง ส่วนอีกหลังเป็นบ้านไม้สไตล์โคโลเนียลทาสีเขียวอ่อน ซึ่งผ่านกาลเวลามาได้เกือบร้อยปี
ต่อให้มีเทคโนโลยีสุดล้ำเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายแค่ไหน ก็คงไม่มีอะไรดีเท่ากับการปรับตัวเองแล้วเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน คงเหมือนกับการที่ บ้านไม้ริมคลอง บางกอกใหญ่ซึ่งดูเรียบง่ายหลังนี้ที่สามารถยืนหยัดทนแดดทนฝน ผ่านกาลเวลามาได้เกือบร้อยปีโดยแทบไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป หรือนี่อาจเป็นนัยหนึ่งที่สอนให้คนเราได้รู้จักการอยู่ร่วมกับธรรมชาติก็เป็นได้
ทันตแพทย์หญิงศิริจันทร์ พหลโยธิน หรือ คุณหมออ๋อ เป็นคนหนึ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตริมน้ำ มาก่อนแล้ว แม้จะย้ายไปอยู่ในเมือง แต่เมื่อวันหนึ่ง ที่โอกาสมาถึง เธอก็เลือกที่จะหาบ้านพักผ่อนริมคลอง ในแบบที่คุ้นเคย จนกระทั่งมาพบกับ บ้านไม้ สักอายุร่วมร้อยปีหลังนี้ซึ่งเคยเป็นบ้านของ พ.ต.หลวง- ประสิทธิอักษรเนติ์ คุณครูสอนภาษาไทยแห่งโรงเรียน นายร้อยที่อยู่ในความดูแลของครอบครัวนาคามดี เธอก็เลยติดต่อขอซื้อด้วยความตั้งใจว่าจะทำเป็น บ้านพักตากอากาศส่วนตัว “ตอนแรกตั้งใจแบบนั้นค่ะ แต่ด้วยขนาด พื้นที่บ้านซึ่งกว้างขวางมากเกินกว่าจะอยู่คนเดียว เพราะเป็นบ้านสองหลัง ก็เลยคิดว่าน่าจะทำเป็น โฮมสเตย์ดู”
คุณหมออ๋อจึงเริ่มต้นปรับปรุงซ่อมแซม หลายๆ ส่วนของบ้านภายใต้โครงสร้างไม้สักเดิม เพื่อรักษารูปแบบบ้านไว้ให้มากที่สุด โดยปัญหาหลักอยู่ที่การซ่อมรอยแตกของไม้ผนังซึ่งตากแดดตากฝน มานานด้วยการอุดรอยแตกแล้วทาสีใหม่ที่พยายาม ให้ใกล้เคียงกับสีเดิมของบ้านมากที่สุด “เราพยายามขูดหาสีดั้งเดิมของบ้านประกอบกับภาพจากเอกสารเก่า รวมถึงดูโทนสีจากเพื่อนบ้าน ในบริเวณใกล้เคียง ก็เลยได้บ้านไม้สักทองที่มีลวดลาย ฉลุแบบขนมปังขิงซึ่งทาเคลือบสีไม้แบบเดิมไว้กับ บ้านไม้สักสไตล์โคโลเนียลที่ทาสีเขียวโทนอ่อนสว่างตา ทั้งสองหลังอยู่บนเนื้อที่ 110 ตารางวา ริมคลอง บางกอกใหญ่ ด้วยลักษณะบ้านที่มีประตูหน้าต่าง บานกระทุ้งเยอะทำให้ไม่อยากปิดทึบเพื่อติดแอร์ มันดูน่าเสียดาย ก็เลยใช้วิธีเปิดรับลมธรรมชาติ ที่เย็นสบายริมคลองดีกว่า”
ชั้นล่างของบ้านไม้สักทองหลังแรกตกแต่งให้เป็นพื้นที่นั่งเล่นส่วนกลางเปิดรับทั้งลมและวิวริมน้ำ ชั้นสองมีห้องพัก 2 ห้องนอนซึ่งจัดวางเฟอร์นิเจอร์เก่าและของตกแต่งที่เข้ากับบรรยากาศได้อย่างกลมกลืน ขณะที่บ้านไม้ทาสีเขียวอ่อนนั้นมีห้องนอนใหญ่อยู่ชั้นล่างพร้อมกับอีก 2 ห้องนอนที่ชั้นบน แต่ละห้องตั้งชื่อด้วยอักษรภาษาไทยเพื่อรำลึกถึง พ.ต.หลวงประสิทธิอักษรเนติ์ซึ่งเป็นคุณครูสอนภาษาไทย โดยห้องใหญ่ชั้นล่างชื่อ ม.พ. ที่สื่อความหมายถึงแม่กับพ่อ และเป็นห้องนอนของคุณหมออ๋อเองด้วย ส่วนชั้นบนมีห้อง ก. ซึ่งมองเห็นวิวคลองได้ดีที่สุดพร้อมห้องน้ำที่มีอ่างไม้แช่ตัว และห้อง ช. ซึ่งเป็นห้องขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าพร้อมเตียงนอน 2 เตียง แต่ละห้องนอนมีห้องน้ำส่วนตัวที่แยกพื้นที่ไว้ให้อยู่บริเวณชั้นล่างทั้งหมด
“เราชอบและหลงใหลสถาปัตยกรรมบ้านไม้ทรงไทยอยู่แล้ว ก็เลยมีของเก่าที่สะสมไว้ส่วนตัวซึ่งนำมาจัดแต่งผสมผสานไว้ที่นี่ด้วย รวมกับบางส่วนที่ซื้อมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ประเภทงานสานที่ชอบเป็นพิเศษ คิดว่าเหมาะกับบ้านเมืองร้อนดี เพราะดูผ่อนคลายและโปร่งสบาย แม้จะไม่นุ่มมากเหมือนโซฟาก็ตาม”
นอกจากปรับปรุงให้ทุกห้องในบ้านปลอดโปร่งรับลมเย็นสบายแล้วคุณหมออ๋อยังปรับภูมิทัศน์รอบๆ ให้สดชื่นขึ้นด้วย เช่น เติมม่านต้นไม้บังแดดและเพิ่มมุมมองธรรมชาติ ปลูกผักปลอดสารพิษลงในกระบะติดล้อเลื่อนเพื่อให้ผู้มาพักได้รับประทานผักสดอร่อยที่ดีต่อสุขภาพ และยังใช้พลังงานรีไซเคิลจากการปั่นจักรยานวิดน้ำลงโอ่งที่เชื่อมต่อกับกังหันเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้งานโดยตรง เรียกว่าได้ออกกำลังกายและสร้างประโยชน์ไปในตัว แถมในอนาคตยังจะพัฒนาให้สามารถเก็บพลังงานสำรองไว้ในแบตเตอรี่ได้ด้วย
“เหมือนเราได้แบ่งปันความรู้สึกดีๆ ของชีวิตเรียบง่ายริมน้ำให้คนที่ชอบอะไรเหมือนกัน คนที่มาพักก็จะรู้สึกเหมือนมาเที่ยวบ้านคุณตาคุณยาย ได้นั่งเล่นริมน้ำ ได้ลองใช้ชีวิตสงบและผ่อนคลายดูบ้าง” ประกายวิบวับของแดดอ่อนๆ ที่กระทบผิวน้ำในคลองพร้อมลมเย็นๆในบรรยากาศสงบที่เราได้สัมผัสมาตลอดวันดูจะช่วยยืนยันคำพูดทิ้งท้ายของคุณหมออ๋อได้เป็นอย่างดี
นอกจากสถาปัตยกรรมของบ้านที่เป็นไม้สักแล้ว ฟังก์ชันและงานตกแต่งภายในก็ช่วยเติมเต็มวิถีชีวิตแบบไทยๆ ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้รูปทรงเรียบ งานสานลายดอกพิกุล กระจกสีตกแต่งผนัง หรือแม้แต่ช่องหน้าต่างที่ติดผ้าม่านสีขาว
คุณหมออ๋อยังแทรกวิถีชีวิตแบบพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยการปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งสามารถนำมารับประทานเพื่อสุขภาพที่ดี และการติดตั้งพลังงานรีไซเคิลโดยการปั่นจักรยานเพื่อวิดน้ำจากคลองมาลงโอ่งและส่งต่อเข้าสู่กังหันสร้างเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในบ้าน
เจ้าของ :ทันตแพทย์หญิงศิริจันทร์ พหลโยธิน
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
บ้านไม้ไทย เปิดโปร่ง ใต้ถุนโล่ง
บ้านไม้ผสมปูน ที่มีช่องเปิดรับลมทุกฤดูกาล