วิกฤตไวรัสขยายวงขึ้นเรื่อยๆ ทุกบ้านอาจไม่พร้อมสำหรับการกักตัวที่บ้าน จึงเกิดความร่วมมือเพื่อจัดหาสถานที่กักตัวในชุมชน Community Isolation ขึ้น เป็นศูนย์พักคอยรองรับผู้ป่วยโควิดอาการสีเขียว
ตัวอย่าง Community Isolation ที่เราพามาชมนี้อยู่ที่ซอยประชาอุทิศ 72 ย่านทุ่งครุ เริ่มจัดทำขึ้นราว 1 เดือนก่อนหน้านี้ กำลังจะเปิดให้บริการในเร็ววัน ด้วยความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ที่สำคัญคือการยอมรับของชุมชนต้องมาเป็นอันดับแรก โดยที่ศูนย์แห่งนี้ เป็นการปรับมัสยิดเนียะมะตุลลอฮ์ ทุ่งครุ มาใช้งาน ผ่านการพูดคุยของกรรมการมัสยิด เพื่อนบ้านในชุมชน และผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ รวมไปถึงกลุ่มเพื่อนๆ นักออกแบบ สถาปนิกหลายๆ ท่าน และกลุ่ม Design for Disaster ในการประสานงาน
ในด้านการวางผัง ได้นำข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาออกแบบอย่างถูกต้อง ทั้งในเรื่องระยะห่าง การถ่ายเทอากาศ ผนวกเข้ากับความเชื่อทางศาสนาที่ไม่หันปลายเท้าไปทางทิศตะวันตก กลายมาเป็นผังเตียงเดี่ยวไร้ฉากกั้นด้านข้าง และหันทิศทางการนอนไปในทางเดียวกัน แบ่งแยกห้องชายและหญิง ได้จำนวนเตียงทั้งหมด 28 เตียง
และด้วยข้อกำจัดในการวางผังข้างต้น ไอเดียการออกแบบให้หัวเตียงมีความสำคัญพร้อมใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปจึงเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการบังปลายเท้าของคนที่นอนไม่ให้รู้สึกชี้ไปที่หัวของอีกคนตรงๆ และช่วยสร้างความเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน จากนั้นไอเดียการทำด้านหลังหัวเตียงให้เป็นภาพเพ้นท์ที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดในช่วงกักตัวจึงเพิ่มเข้ามา สุดท้ายจากความช่วยเหลือของนักออกแบบและอาสาสมัครจึงเกิดเป็นภาพรวมของศูนย์พักคอยที่มีสีสันสดใส โดยงานออกแบบได้เข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ ตั้งแต่การวางผังไปจนถึงการตกแต่งในขั้นตอนสุดท้ายที่แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่มีความหมายมากกับการกักตัวเป็นเวลาหลายวัน
ด้านการแพทย์ ปัจจุบันด้วยข้อจำกัดของโรงพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียง ศูนย์พักคอยแห่งนี้จึงยังไม่สามารถหาโรงพยาบาลที่จับคู่กันได้ หากต้องส่งต่อเมื่อผู้ป่วยสีเขียวมีอาการหนักขึ้นเป็นสีเหลืองหรือสีแดง เบื้องต้นทางสูนย์ฯจึงได้ประสานกับสภาการแพทย์แผนไทยในการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นก่อนในระยะจัดตั้งเบื้องต้น หวังว่าความตั้งใจดีๆ นี้จะถูกส่งต่อออกไปเพื่อสู้กับโรคระบาดที่ต่างฝ่ายยังต้องช่วยเหลือกันเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปอย่างบอบช้ำน้อยที่สุด
ขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในโครงการ
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: บ้านและสวน