9 ข้อควรระวังในการการปรับปรุงบ้าน รีโนเวตบ้าน

รู้ไว้ ถ้าไม่อยากให้บ้านพัง! 9 ข้อควรระวังก่อน รีโนเวตบ้าน

ใครมีแผน รีโนเวตบ้าน ปรับปรุงบ้านเก่า มาดู 9 ข้อควรระวังในการปรับปรุงบ้าน กันก่อน เพราะจุดเหล่านี้มีผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างบ้าน และปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย

สำหรับการปรับปรุงบ้านเก่า นอกจากการออกแบบให้สวยงามเหมือนใหม่ และใช้งานได้สะดวกสบายยิ่งขึ้นแล้ว ความแข็งแรงของโครงสร้างบ้านเดิม และความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย ก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดเช่นกัน ก่อนวางแผนรีโนเวตบ้าน มาดู 9 ข้อควรระวังในการปรับปรุงบ้าน กันก่อน

ข้อระวังในการปรับปรุงบ้าน

1. เจาะหน้าต่างเพิ่ม ระวังร้าวทั้งบ้าน

การทำช่องเปิดบนผนังเพิ่มเพื่อรับแสงรับลม ควรคำนึงถึงการทุบผนังไม่ให้สะเทือนถึงโครงสร้างหรือผนังอื่นๆโดยรอบ กำหนดพื้นที่ที่ต้องการทำหน้าต่างก่อน แล้วให้ช่างค่อยๆสกัดออกทีละน้อย ห้ามทุบปังทีเดียวพัง เพราะพังทั้งบ้านแน่ และต้องทุบจากช่วงบนลงล่างเสมอ ถึงแม้จะเป็นแค่หน้าต่างบานเล็กก็ต้องทุบจากข้างบน เพราะจะต้องทำเสาเอ็นและคานเอ็นทับหลังเป็นกรอบสำหรับช่องเปิดใหม่ก่อน เพื่อรับน้ำหนักผนังที่อยู่เหนือช่องเปิด นอกจากนี้เสาเอ็นยังช่วยยึดวงกบให้เข้าที่ ป้องกันการแตกร้าวที่มุมหน้าต่างตามมาในภายหลัง

แต่ถ้าจะเจาะช่องแสงบนเพดาน หากเป็นหลังคามุงปกติสามารถเปลี่ยนกระเบื้องมุงเป็นแบบลอนใสโปร่งแสง หรือติดตั้งสกายไลต์แบบสำเร็จรูปจะดีกว่าแบบช่างประดิษฐ์ เพราะจะรั่วได้ แต่ถ้าเป็นหลังคาแบน ค.ส.ล. ขอเตือนว่าไม่ควรทำ เพราะจะเกิดปัญหาการรั่วซึมได้ง่าย แม้จะมีการทำกันซึมก็ตาม รอยต่อของคอนกรีตเก่าและใหม่ห้ามไม่ให้รั่วยากครับ

ข้อระวังในการปรับปรุงบ้าน

2. ฝังท่อสายไฟ ระวังบ้านพัง

อยากมีบ้านที่เรียบร้อยปราศจากสายไฟลอยเต็มบ้าน แต่ต้องไม่ลืมว่า ปกติเขาจะทำควบคู่ไปกับการสร้างบ้าน ถ้าต้องเดินท่อใหม่แบบฝังก็ทำได้ แต่ไม่ควรเจาะผ่านคานพื้นหรือเสาโครงสร้างเด็ดขาด ถึงแม้ช่างจะบอกว่า นิดเดียวเอง แค่ 1-2นิ้วไม่เป็นไรหรอก ก็ตาม อันตรายมาก ขอบอก ให้เดินท่ออ้อมเสาหรือคานโครงสร้างจะดีที่สุด แต่อาจทำกล่องปิดเพื่อความเรียบร้อยสวยงามได้

รื้อเพดาน

3. รื้อเพดานเก่า ระวังมะเร็งปอด

หากจะเปลี่ยนฝ้าเพดานเดิมที่ชำรุดเสียหาย  ควรระวังเรื่อง asbestos หรือ “แร่ใยหิน” โดยเฉพาะถ้าเป็นบ้านเก่า สารพิษที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดนี้จะอยู่ในวัสดุประเภทกระเบื้องแผ่นเรียบ ตอนรื้อออกต้องเปิดหน้าต่างให้ระบายอากาศได้ สวมหน้ากากปิดจมูกให้ดี ไม่ให้เด็กอยู่ในบ้านเป็นอันขาด จริงๆแล้วในต่างประเทศเขาไม่อนุญาตให้ทำเองเลยนะ แผ่นฝ้าที่จะติดตั้งใหม่ก็ควรเป็นแบบไม่มีแร่ใยหินด้วยครับ

4. ทำตู้แขวนผนัง ระวังมันหล่นลงมา

ถ้าเป็นผนังก่อฉาบ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเลือกพุกให้ถูกกับชนิดของกำแพง มีพุกสำหรับอิฐมอญ อิฐบล็อก อิฐมวลเบา ถ้าเลือกไม่ดี น้ำหนักของตู้ (หรือชั้นหนังสือ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คุณจะแขวนบนผนัง) อาจหลุดลงมาได้ แต่ถ้าเป็นผนังเบาที่มีโคร่งคร่าวอยู่ข้างใน พุกอย่างเดียวคงจะพอแค่การแขวนรูปเท่านั้น หากเป็นตู้ใส่ของต้องรื้อผนังเพื่อเสริมโคร่งคร่าวด้านในด้วยครับ

5. ติดตั้งอ่างอาบน้ำ ระวังพื้นบ้านทรุด

ถ้าเป็นห้องน้ำชั้นล่างก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นชั้นบน ขอเตือนว่าอย่าทำเองโดยไม่ปรึกษาวิศวกร โครงสร้างเดิมอาจไม่ได้แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของอ่างและน้ำในอ่าง ยิ่งเป็นอ่างน้ำวนใหญ่ๆแบบที่ใช้ได้หลายคนละก็ อันตรายแน่ นอกจากอ่างน้ำแล้ว แม้แต่กระเบื้องก็ต้องระวัง บ้านเดิมอาจออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำหนักกระเบื้องเซรามิกแบบบางๆธรรมดา แต่ถ้าคุณเปลี่ยนไปกรุหิน กรุกระเบื้องพอร์ซเลนแผ่นหนาที่หนักกว่าหลายเท่าตัว โครงสร้างก็อาจรับไม่ไหวเช่นกัน ปรึกษาวิศวกรหรือสถาปนิกหน่อยจะดีมาก

ต่อเติมหลังบ้าน

6. ต่อเติมหลังบ้าน ระวังเพื่อนบ้านเอาเรื่อง

มีกฎหมายหลายข้อที่หลายบ้านฝ่าฝืน ตัวอย่างแรกคือ การทำผนังที่มีช่องเปิดห่างจากเขตที่ติดไม่ถึง 2 เมตร กฎหมายเขาต้องการควบคุมการลุกลามของอัคคีภัยจากบ้านหนึ่งไปยังอีกบ้านหนึ่ง และเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวด้วย (เปิดหน้าต่างออกมาชนกับหน้าต่างของเพื่อนบ้านคงไม่ดี) ถึงไม่มีหน้าต่างก็ยังต้องถอยมาอย่างน้อย 50 เซนติเมตรอยู่ดี ทางที่ดีควรพูดคุยกับเพื่อนบ้านก่อน ถ้าจะทำชิดเขตที่ดินจริงๆก็ต้องจูงมือกันไปทำข้อตกลงที่เขตว่าเป็นการ “ทำผนังร่วม” คือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันครับ

กำแพงกั้นห้อง

7. ทำกำแพงกั้นห้อง ระวังบ้านพัง

การก่อกำแพงเพิ่มเติมบนพื้นต้องระวังพื้นทรุด เพราะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างเดิม (วิศวกรอาจคำนวณน้ำหนักเผื่อไว้บ้าง แต่ก็เป็นอันตราย เพราะต่อไปจะไม่มีเผื่อแล้ว ถ้าเก็บของหนักๆก็ถล่มได้) ถ้าต้องการกั้นห้องจริงๆควรใช้ผนังเบาอย่างโครงคร่าวไม้ เหล็กกรุยิปซัม หรือแผ่นกรุผนังอื่นๆ แทนการก่ออิฐฉาบปูนซึ่งหนักมาก

เล่นระดับพื้น

8. เล่นระดับพื้นด้วยการเทปูน ระวังเรื่องน้ำหนัก

การเล่นระดับพื้นทำให้บ้านดูน่าสนใจ แต่อย่าทำพื้นให้สูงขึ้นด้วยการเทปูนนะ ถึงแม้จะเพิ่มแค่ 10-15 เซนติเมตรก็ตาม เพราะปูน 1 ลูกบาศก์เมตรหนักเกิน 2 ตันนะขอรับ แนะนำให้ใช้อิฐมอญ อิฐมวลเบา หรือทำโครงไม้ จากนั้นค่อยปูพื้นปิดอีกทีจะดีกว่า เพราะเบากว่ามากครับ

9. แขวนงานศิลป์ ระวังผนังร้าว

ผนังปูนจะร้าวได้ถ้าคุณตอกตะปูลงไป การตอกตะปูตัวเดียวอาจทำให้ปูนฉาบเริ่มร้าว และร้าวต่อไปไม่หยุดได้ แนะนำให้ใช้สว่านเจาะทีละน้อย แล้วฝังพุกตามขนาดที่เหมาะสมกับน้ำหนังของของที่จะแขวน หรือถ้าเป็นการแขวนรูปเบาๆก็ใช้ตะขอแบบมีเทปสองหน้าหรือตะขอแบบเข็มหมุด (pin-plate) จะดีกว่า    ข้อระวังในการปรับปรุงบ้าน

ข้อระวังในการปรับปรุงบ้าน


เรื่อง : นาย อ. , จ.ร้อย    ข้อระวังในการปรับปรุงบ้านข้อระวังในการปรับปรุงบ้าน

ภาพประกอบ : กีรติ เงินมี

cover : Milivoj Kuhar from Unsplash


10 จุดยอมรับไม่ได้ในงานก่อสร้าง

10 จุดจับไต๋ผู้รับเหมาหมกเม็ด

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag