สวนชนบทสไตล์ฝรั่งเศสในไทย ที่ใครเห็นก็ต่างตกหลุมรัก
นอกจากทะเล ภูเขา น้ำตก เราเชื่อว่าคุณผู้อ่านต้องมีพื้นที่ที่ไหนสักแห่งที่ไม่ว่าจะกลับไปอีกครั้งก็ยังหลงรักและไม่เคยรู้สึกเบื่อเลยเช่นเดียวกันกับเจ้าของบ้านหลังนี้
สวนแห่งนี้ คุณศักดิ์-ศักดิ์ เรืองพร้อม ผู้ออกแบบและจัดสวนขออาสาพาทีมงาน “บ้านและสวน” เดินชมบรรยากาศภายในสวนชนบทสไตล์ฝรั่งเศสพร้อมอธิบายถึงที่มาที่ไปของการจัดวางผังของสวนอย่างไรให้ลงตัวและตอบโจทย์เจ้าของบ้านให้มากที่สุด “หากลองสังเกตให้ดี ๆ ที่ที่เรากำลังยืนอยู่มีลักษณะเป็นเนินเขาคล้ายลักษณะของภูมิประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตเมืองโปรวองซ์ ความลาดชัดของพื้นที่ หากเป็นไปตามธรรมชาติระหว่างสองข้างทางเต็มไปด้วยสวนและทุ่งดอกไม้หลากสีสีนคงสวยงามตามจินตนาการ แต่ในการใช้งานจริงเกรงว่าความชันอาจทำให้ใช้งานไม่สะดวก ผมจึงทำการถ่ายระดับทำสเตปขั้นบันไดแทน”
ออกแบบ-จัดสวน : บริษัท สวนลีลา จำกัด โดยคุณศักดิ์ – คุณลีลาวดี เรืองพร้อม โทรศัพท์ 08-7051-8000
“จุดเริ่มของสวนอยู่ใกล้กับที่จอดรถซึ่งอยู่ระดับเดียวกับตัวบ้าน จากจุดนี้สามารถมองเห็นภาพมุมกว้างของสวนที่อยู่ด้านล่างได้ทั้งหมด ต้อนรับด้วยลานคอบเบิลสโตน (Cobble Stone) ที่มีพุดกังหันสูงราว 3 เมตร เป็นพระเอกของมุมนี้ ขยับเข้าไปอีกนิดมีมุมชิงช้าที่ซ่อนตัวอยู่หลังแนวรั้วชาฮกเกี้ยนผมตั้งใจให้เป็นจุดเซอร์ไพรส์เล็กๆให้เจ้าของบ้านได้เปลี่ยนบรรยากาศการนั่งชมสวน ดูหมอกตอนเช้ารับลมหนาวพร้อมไกวชิงช้าเพลินๆ ค่อยๆ ซึมซับบรรยากาศและรู้สึกผ่อนคลายไปทีละนิดแบบไม่รู้ตัว พอลุกจากมุมนี้ก็ลงไปสู่สนามหญ้าที่อยู่ด้านล่าง โดยมีรูปปั้นสิงโตทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แทนซุ้มประตูคอยต้อนรับอยู่
“แล้วจึงพบกับโซนที่สองซึ่งเป็นความตั้งใจของเจ้าของบ้านที่อยากให้มุมนี้เป็นพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ขณะเดียวกันสังเกตว่าต้นไม้ส่วนใหญ่ถูกจัดวางไว้ตามแนวรอบรั้วทั้งหมดให้ความรู้สึกที่ดูกว้าง โปร่ง โล่ง สบายตา เห็นแล้วก็อยากจะลงไปวิ่งเล่นเหมือนตอนเด็ก ๆ อีกครั้ง (คุณศักดิ์กล่าวด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม) แต่ก็ยังโปรยที่นั่งกระจายตัวอยู่ตามมุมต่าง ๆ เผื่อไว้ทั้งใช้งานได้และเป็นส่วนตกแต่งสวนอีกด้วย ยกตัวอย่างกระบะปลูกต้นแจงที่ผมตั้งใจออกแบบให้เป็นที่นั่งไปด้วยในตัว เมื่อมองสนามหญ้าที่ดูทอดยาวออกไปจนสุดทางของระยะสายตาก็จะเห็นกระบกต้นใหญ่เป็นฉากหลังให้กับสวนขนาบคู่อยู่กับแนวของสนมังกรที่สูงราว 4-5 เมตร กลมกลืนไปกับทิวเขาจางๆเมื่อประกอบกับรูปแบบของตัวอาคารแล้วผมว่าได้บรรยากาศเหมือนอยู่ในโปรวองซ์ไม่มีผิด” เมื่อนึกภาพตามอย่างที่คุณศักดิ์บอกไว้ ผมเองก็เห็นด้วยทุกประการ ความสวยงามของสวนและวิวธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ทำให้ผมเคลิ้มตามคำบอกเล่าของผู้ออกแบบอย่างไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันเราเหลือบไปเห็นแปลงปลูกดอกกุหลาบตลอดแนวระเบียงของบ้านและโรงเรือนหลังเล็กที่อยู่หลังบ้านจึงเอ่ยถามถึงที่มา “แปลงกุหลาบที่เห็นเป็นหนึ่งในความต้องการของเจ้าของบ้านฝ่ายหญิงซึ่งข้อดีของการทำกระบะหรือยกแปลงปลูกแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาดินท่วมขังแฉะจากการรดน้ำโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน กุหลาบชอบดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายที่มีความโปร่งระบายน้ำได้ดีจึงทำให้มีดอกตลอดทั้งปีและต้องอยู่ในตำแหน่งที่มีแสงแดดส่องถึงอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
“ส่วนโรงเรือนหลังเล็กเดิมเจ้าของบ้านตั้งใจให้เป็นมุมปลูกและดูแลกล้วยไม้แต่หลังจากที่สร้างเสร็จแล้วกลายเป็นตำแหน่งที่เหมาะกับการนั่งเล่นส่วนตัวเพราะเงียบสงบจึงกลายเป็นเรือนจิบชายามบ่ายแทน จากมุมนี้กำลังจะเปลี่ยนถ่ายไปยังโซนหลังบ้านซึ่งทางเดินเป็นลานกรวดที่ลัดเลาะไปตลอดแนวสาเหตุที่โรยกรวดเพื่อแก้ปัญหาในช่วงหน้าฝนที่น้ำหลากทำให้น้ำระบายและซึมลงดินได้เร็วมขึ้น ลดการดูแลเพราะหากเป็นสนามหญ้าที่ต้องเจอกับน้ำท่วมขังก็จะส่งผลให้หญ้าอาจตายเป็นหย่อมหรือทั้งผืนได้ในที่สุด การโรยกรวดเป็นผืนใหญ่ก็ยังสามารถใช้เทคนิคการจัดสวนที่ปลูกต้นไม้เป็นหย่อมหรือแทรกขึ้นมาอย่างไม่ตั้งใจเลียนแบบพุ่มไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติก็ช่วยสร้างเรื่องราวและบรรยากาศของสวนได้เป็นอย่างดี ยิ่งถ้าจัดวางเฟอร์นิเจอร์ที่มีสีสันหรือรูปปั้นและของแต่งสวนต่างๆ ก็จะช่วยให้ของที่จัดวางดูโดดเด่นมากกว่าเดิม อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาให้กับบริเวณที่แสงแดดไม่เพียงพอและทำให้สวนของเราดูเรียบร้อยและการเก็บกวาดใบไม้ก็เป็นเรื่องง่าย
“สุดท้ายสวนแห่งนี้จึงไม่ได้เพียงแค่สวยในตัวมันเองแต่บรรยากาศและธรรมชาติที่อยู่โดยรอบต่างส่งเสริมมุมมองซึ่งกันและกันกลับยิ่งทำให้ทุกอย่างสวยงามมากขึ้น การที่เจ้าของได้กลับมาสัมผัสกับลมหนาว สายหมอกที่มาพร้อมกับแสงแดดอ่อนๆในตอนเช้า ภาพทิวเขาและต้นไม้ที่โอบล้อมตลอดมุมมอง 360 องศา ไม่ว่าใครที่เคยได้มาเยี่ยมชมที่นี่ หากมีโอกาสได้มาอีกครั้งไม่ว่าเจ้าของบ้านหรือแม้แต่ตัวผมเองก็ยังหลงรักและชื่นชอบที่นี่ทุกครั้งที่กลับมาเสมอ” เป็นคำอธิบายปิดท้ายของคุณศักดิ์ที่เราสัมผัสและรับรู้ได้ถึงความละเมียดละไมของการจัดสวนอย่างลึกซึ้งและสวยงามอย่างที่ตาเห็น
เรื่อง : อิสรา
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม