บ้านชั้นเดียว สร้างด้วยอิฐมอญ ในสวนดอกไม้
ดอกบานชื่นสีสดในแปลงตลอดสองข้างทางเดินนำไปสู่ บ้านชั้นเดียว ก่อผนังอิฐโชว์แนวที่มีเหลืองชัชวาลและกุหลาบเลื้อยพันขึ้นไปบนผนังคลุมตัวบ้านบางส่วนเอาไว้ บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3 งาน ภายในหมู่บ้านสันก่อเก็ต อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ในฤดูหนาวอากาศเย็นจัดอุณหภูมิลดต่ำลงเหลือเลขตัวเดียว ขณะที่กลางวันอากาศเย็นสบายกำลังดีเพียงต้น 20 องศาเซลเซียสเท่านั้น
เจ้าของ : คุณพลอยทับทิม สุขแสง
เจ้าของ บ้านชั้นเดียว หลังนี้คือคุณพลอย–พลอยทับทิม สุขแสง ผู้เป็นสถาปนิกและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัทกิ่ง ก้าน ใบ จำกัด บริษัทจัดสวนที่มีผลงานโดดเด่นในสไตล์มินิมัล บ้านหลังนี้จึงผสมผสานทั้งความเรียบง่ายแบบโมเดิร์นในสไตล์ที่เธอชอบสำหรับการอยู่อาศัยแบบสมัยใหม่ที่สะดวกสบาย แต่เจือปนด้วยบรรยากาศอบอุ่นแบบชนบทของบ้านต่างจังหวัดด้วยการเลือกใช้วัสดุอย่างอิฐมอญมาตกแต่งบ้าน และนำมาตั้งชื่อบ้านว่า “บ่าดินกี่” ในภาษาเหนือแปลว่า “อิฐ“
พลอยเล่าว่าเดิมทีบนที่ดินแปลงนี้มีบ้านแบบครึ่งปูนครึ่งไม้สร้างอยู่กลางพื้นที่ ซึ่งคุณแม่สร้างให้คุณยายตั้งแต่ราว 20 กว่าปีก่อน เมื่อคุณยายเสีย บ้านหลังนี้ถูกปิดไว้ ไม่ได้ใช้งาน ทำให้สภาพค่อนข้างทรุดโทรม และเกิดปัญหาคือปลวกขึ้นจนพื้นไม้ชั้นสองเสียหาย ไม่สามารถขึ้นไปใช้งานได้ ประกอบกับบ้านเดิมใช้งานไม่สะดวกนักตามลักษณะของบ้านยุคก่อน เนื่องจากตัวบ้านค่อนข้างเตี้ย มีหน้าต่างขนาดเล็กแบบบ้านทางเหนือที่มักจะทำช่องเปิดเล็กเพื่อป้องกันลมหนาว ทำให้บ้านดูทึบ พลอยจึงตัดสินใจรื้อบ้านและสร้างใหม่ โดยปรับตำแหน่งตัวบ้านให้ค่อนมาทางด้านหลังเพื่อให้เหลือพื้นที่ใช้งานอื่นๆ ได้มากขึ้น
บ้านหลังนี้นำวัสดุของบ้านเดิมมาใช้งานหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องหลังคาลอนคู่ที่ยังอยู่ในสภาพดี นำมาล้างทำความสะอาดและมุงหลังคาใหม่ ไม้จากบ้านเดิมก็นำมาใช้ในส่วนโครงสร้าง ทั้งหลังคา ตัวบ้าน และพื้นระเบียงทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีวัสดุเหลือใช้จากบ้านลูกค้าของพลอยที่ไม่ต้องการแล้ว ทั้งเศษไม้เหลือใช้ กระเบื้องปูพื้น เพียงแต่หาตำแหน่งใช้งานที่เหมาะสมก็ดูลงตัวและเข้ากันได้ดี อีกทั้งช่างก่อสร้างบ้านคือคุณน้าของพลอยเอง บ้านหลังนี้จึงสร้างไปเรื่อยๆ แบบไม่รีบร้อน ใช้ระยะเวลาราว 1 ปี และงบประมาณเพียง 1 ล้านบาท รวมต้นไม้ในสวนทั้งหมด
ผังบริเวณบ้านแบ่งพื้นที่ด้านหน้าเป็นที่จอดรถ ปรับพื้นกรวดไว้แล้ว แต่รอทำหลังคาภายหลัง เมื่อเดินมาตามทางที่ขนาบด้วยแปลงดอกไม้จะพบกับห้องส่วนกลางเป็นอันดับแรก ห้องนี้ใช้งานอเนกประสงค์ เป็นทั้งครัว ส่วนรับประทานอาหาร นั่งเล่น และดูทีวี ส่วนตัวบ้านที่อยู่ถัดไปออกแบบให้มีระเบียงกว้าง ห้องนอน 2 ห้อง และห้องน้ำอีก 2 ห้องเท่านั้น รอบๆ บ้านยังแวดล้อมไปด้วยสวนสวยจัดตกแต่งแบบง่ายๆ โดยคงต้นไม้ใหญ่เดิมของบ้านเอาไว้ ทั้งลำไย พิกุล สัก เสริมไม้พุ่มและไม้ดอกเข้าไปตามมุมต่างๆ และเว้นสเปซโล่งบางส่วนสำหรับให้เพื่อนๆ มากางเต็นท์ได้สะดวก
“ห้องส่วนกลางที่เห็นเคยเป็นห้องรับแขกของบ้านเดิมค่ะ มีการคงพื้นเดิมไว้ แต่รื้อผนังและเสาออก เพราะเสาบ้านเดิมค่อนข้างถี่ระยะ 3 เมตร ใช้งานค่อนข้างยาก ห้องนี้จึงเพิ่มขนาดเป็น 4.4 x 5.2 เมตร ใช้โครงกัลวาไนซ์และก่ออิฐทับ ส่วนพื้นเดิมก็ปูกระเบื้องทับลงไปใหม่ ผนังอิฐที่เป็นไฮไลต์หลักของบ้านและเป็นที่มาของชื่อบ้านหลังนี้ด้วยนั้น ก็เป็นอิฐมอญในภาคเหนือ ซื้อจากร้านวัสดุละแวกบ้าน
“ช่วงที่ก่อสร้างบ้าน พลอยจะมาที่นี่เดือนละครั้ง มีแบบมาให้น้าทำ ระหว่างที่เราอยู่กรุงเทพฯ อันไหนไม่เข้าใจก็จะเขียนจดหมายส่งมาหรือส่งไฟล์ให้น้องช่วยพริ้นต์ให้น้าดูอีกที บางอุปกรณ์ก็สั่งทำมาเลยแบบที่ต้องการแล้วให้น้าติดตั้งก็มี เราทำไปทีละเล็กละน้อย มีเงินห้าหมื่นก็ทำทีนึง หรือมีเงินสองหมื่ี่นก็ค่อยทำอีกที เริ่มจากห้องส่วนกลางก่อน ถัดมาคือตัวบ้าน จนถึงรั้วด้านหน้า แล้วก็ศาลพระภูมิ ทำแยกกันไปทีละส่วน แต่ในอนาคตพลอยตั้งใจว่าจะทำห้องน้ำเพิ่มสำหรับเพื่อนๆ ที่มากางเต็นท์ให้ใช้งานสะดวก“
เรื่อง : วรัปศร
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ