ภาพวาดพรรณไม้ทางวิทยาศาสตร์อาจเป็นเรื่องไกลตัวสําหรับคน ทั่วไป แต่หากมองให้ลึกไปถึงรายละเอียดของชิ้นงาน เชื่อว่า คุณจะตื่นตาตื่นใจกับงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่มีมุมมองสวยงาม แปลกออกไปเป็นแน่ เพราะศิลปะวิทยาศาสตร์ (Scientific Art Illustration) เป็นงานศิลปะที่ถ่ายทอดเรื่องราวของธรรมชาติ อันละเอียดอ่อน แสดงถึงรายละเอียดต่างๆ ที่ลึกลงไปกว่าที่ ตาเห็น เช่น ชิ้นส่วนต่างๆ ของพืช ซึ่งวาดเพิ่มเพื่อบอกรายละเอียดที่สมจริงเป็นข้อมูลพื้นฐานตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่นําไปใช้งานได้จริง
ในครั้งนี้เราได้พูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล อาจารย์สอนวิชา “นิทัศน์ทางวิทยาศาสตร์” ภาควิชา พฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นวิชาเลือกสําหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี เปิดสอนครั้งแรก ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา จุดเริ่มต้นที่ทําให้อาจารย์ศศิวิมลหันมาทํางานด้านนี้ก็เพราะตอนนั้นไปเรียนต่อด้านพืชสวนในระดับปริญญาโทที่ University of Florida ประเทศ สหรัฐอเมริกา และลงเรียนวิชา Biological Illustration ซึ่ง สอนเกี่ยวกับการวาดรูปเชิงชีววิทยา
“เริ่มเรียนจากเทคนิคต่างๆ ทั้งการใช้ปากกา ดินสอ การใช้สี ตั้งแต่ การร่างภาพ การลงสี ให้เราสังเกตมุมมองเพื่อให้สามารถวาดอะไรก็ได้ที่ เราสนใจ เขาจะบอกว่าเราควรถ่ายทอดสิ่งที่เห็นเป็นภาพได้อย่างไร ครั้งแรก เริ่มฝึกจากการหัดวาดลูกสน ซึ่งมีรูปทรงและรายละเอียดพิเศษ คือจะมี ลักษณะการแตกของกลีบเป็นเกลียวแบบบันไดวนตัดกันทั้งสองข้าง ต้องใช้ สมาธิและการสังเกตค่อนข้างมาก ต้องวัดขนาดและนับจํานวนกลีบให้ถูกต้อง เพราะหากวาดผิดสเกลหรือพลาดไป ภาพของลูกสนจะเบี้ยวทันที
“สิ่งสําคัญในการวาดภาพวิทยาศาสตร์คือ ต้องสนใจและสังเกตให้ รอบคอบ ถ้าวาดแบบทั่วไปก็แค่วาดให้สวยตามใจเรา สมมติว่ากุหลาบสีแดง เราอาจเปลี่ยนเป็นสีฟ้าก็ได้ ไม่มีใครว่า แต่ถ้าต้องการวาดเพื่อสื่อสารข้อมูล ก็จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวาดให้เหมือนจริง สวยงาม และให้ข้อมูลได้ด้วย”
ภาพวาดทางวิทยาศาสตร์เป็นการนําเสนอลักษณะโดยรวมของสิ่งนั้นๆ ตัวอย่างเช่น หากจะวาดลักษณะโดยรวมของดอกไม้ดอกหนึ่ง อาจใช้ดอกไม้ ประกอบชนิดเดียวกันสัก 20 ดอกก็ได้ เพื่อหาลักษณะที่บ่งบอกความเป็นชนิดนั้น ออกมา ทั้งขนาดและสีสัน ต่างจากภาพถ่ายซึ่งเป็นการแสดงภาพเฉพาะสิ่งนั้น สิ่งเดียว
การวาดภาพทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นศิลปะที่สะท้อนความรื่นรมย์และสวยงาม ของธรรมชาติได้ไม่แพ้ภาพวาดแนวจิตรกรรม แต่ต้องประกอบด้วยข้อมูลสําคัญ ที่วาดและเรียนรู้ไปด้วย ซึ่งผู้สนใจต้องมีทักษะด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ควบคู่ กันไป เพื่อจะได้ถ่ายทอดข้อมูลภาพได้ถูกต้องสมบูรณ์และนําไปใช้ประโยชน์ได้ ต่อไป อาทิ ภาพสํารวจพืชพรรณต่างๆ เพื่อประกอบข้อมูลด้านอนุกรมวิธานพืช (Taxonomy) ใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดจําแนกพืชพันธุ์ต่างๆ
ปัจจุบันมีผู้สนใจงานศิลปะประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่เป็นอาชีพที่ ชัดเจน แม้จะเป็นที่ต้องการของตลาดก็ตาม ผู้สนใจมาเรียนวาดภาพวิทยาศาสตร์ ก็จะมีทั้งนักวิจัยศึกษาปลากัด ศึกษาเลียงผา หรืองู บ้างเป็นนักดูนก ซึ่งวาดรูป ถ่ายรูปอยู่แล้ว ก็มาเรียนเทคนิคเพิ่มเติม รวมทั้งศิลปินที่เรียนจิตรกรรมมา
การเก็บข้อมูลด้วยการวาดภาพนั้นปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่ ยุคหิน จากการวาดภาพบนผนังถ้ําต่างๆ แต่การวาดเพื่อใช้ประโยชน์นั้น เริ่มจากการบันทึกเกี่ยวกับพืชสมุนไพรเพื่อใช้เป็นตํารารักษาโรคเมื่อกว่า สองพันปีก่อน มีหนังสือที่บันทึกข้อมูลของสมุนไพรต่างๆ ไว้ อีก 500 ปี ต่อมาจึงมีการวาดภาพเพื่ออธิบายบทความเหล่านั้นให้สมบูรณ์ขึ้น ส่วน ยุคที่การวาดภาพเพื่อเก็บข้อมูลรุ่งเรืองมากๆ เป็นช่วงที่มนุษย์ออกเดินทาง สํารวจรอบโลก การพบเจอพืช สัตว์ สถานที่ใหม่ๆ ทําให้เกิดการบันทึก เพื่อศึกษา ซึ่งนับว่าเป็นการเก็บข้อมูลที่สําคัญ
ภาพวาดทางพฤกษศาสตร์ได้รับความนิยมอย่างสูงอีกครั้งหนึ่งในยุคเรอแนซองซ์ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 การวาดภาพดอกไม้ได้รับการ สนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นสูงที่ต้องการภาพดอกไม้สวยๆ หายากที่ปลูก ในสวนของตน ซึ่งเป็นภาพวาดที่เหมือนจริงมากๆ และยังมีการวาด รายละเอียดส่วนประกอบของดอกแบบแยกชิ้นด้วย
ใครสนใจงานวาดภาพสไตล์นี้ ติดตามผลงานของอาจารย์ศศิวิมลหรือ ตารางเรียนวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อนได้ ทีนี่
เรื่อง : “ทชา”
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข