บ้านชั้นเดียวที่มีแนวคิดในการออกแบบที่เน้นความอ่อนน้อมถ่อมตน โดยสถาปนิกได้สอดแทรกสถาปัตยกรรมโมเดิร์นด้วยการใช้หลังคา Flat Slab ซึ่งมีการยื่นชายคาออกไปมากกว่าปกติเพื่อบังแสงแดดไม่ให้ตัวบ้านร้อน แต่ยังดูกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมที่ล้อมรอบด้วยสวนและต้นไม้
ออกแบบ : Is Architects Co., Ltd. โดยคุณศรายุทธ ใจคำปัน / เจ้าของ : คุณรัตนา – คุณชาตรี เตชะติ
บ้านปูนโมเดิร์นชั้นเดียว
ความทรงจำเกี่ยวกับบ้านหลังนี้ยังคงชัดเจนและอบอวลไปด้วยความอบอุ่น แม้จะเป็นการพบกันแบบสั้นๆ ทว่า “บ้าน” รวมไปถึง ”คนในบ้าน”หลังนี้ ทำให้เราอยากกลับไปเชียงใหม่อีก
เช้าวันหนึ่งที่แสงแดดเป็นใจ ผมและทีมงานเดินทางมาถึงบ้านหลังนี้ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ความเงียบสงบของพื้นที่โดยรอบ ทำให้รู้สึกว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดเมืองหนึ่ง
ภาพบ้านชั้นเดียวปรากฏชัดขึ้นเมื่อรถของเราเลี้ยวผ่านโค้ง หน้าบ้านมีป้ายเล็กๆ เขียนไว้ว่า “สารภี เซนต์ แฟมมิลี่” ทำให้แน่ใจว่าเรามาถึงแล้ว
บ้านหลังนี้เป็นบ้านของ ครอบครัวเตชะติ คุณรัตนา ผู้เป็นแม่และ คุณชาตรี ลูกชาย ผู้เป็นเจ้าของบ้านและฟาร์มเลี้ยงสุนัขที่อยู่ด้านหลังบ้านออกมาต้อนรับเราอย่างเป็นกันเอง เราจอดรถด้านหน้าบ้านและเดินเข้าสู่ตัวบ้านโดยผ่านระเบียงซึ่งอยู่ติดกับบ่อน้ำที่คอยสร้างความชุ่มชื้นให้บ้าน “ตั้งใจให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านชั้นเดียว เพราะจำนวนสมาชิกในบ้านน้อย มีพ่อ แม่ และลูกอีก 2 คน อีกอย่างคือ บ้านเราอยู่ใกล้กับวัดแค่ข้ามถนนเล็กๆ นี้ ก็เลยไม่อยากให้บ้านสูงเกินไป หากสร้างสองชั้นอาจไม่เหมาะสม เพราะจะอยู่สูงกว่าวัดซึ่งเป็นวัดที่ครอบครัวนับถือกันมานาน” นี่คือแนวคิดในการออกแบบบ้านที่คุณรัตนาบอกกับสถาปนิก คุณศรายุทธ ใจคำปัน
บ้านบางหลังแม้มีแปลนอยู่ในมือ เราก็อาจยังไม่ค่อยเข้าใจการจัดวางเนื่องจากความซับซ้อนและขนาดที่ใหญ่โต แต่สำหรับบ้านหลังนี้ แม้ไม่มีความรู้เรื่องงานสถาปัตยกรรม แต่ก็รับรู้ได้ว่ามีการวางผังเรียบง่ายและลงตัว โดยจัดวางเป็นรูปตัวแอล (L) โอบล้อมบ่อน้ำไว้ ส่วนแรกที่พบคือส่วนนั่งเล่นต่อเนื่องไปเป็นส่วนรับประทานอาหารซึ่งกั้นด้วยผนังเบาเจาะช่องด้านบน ให้ความรู้สึกไม่อึดอัด ต่อไปก็เป็นห้องน้ำและห้องนอน 3 ห้อง ส่วนครัวแยกจากตัวบ้านหลักห่างกันประมาณสามก้าวเดินพร้อมทำหลังคาคลุมทางเดินเพื่อการใช้งานได้สะดวกขึ้น แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือการระบายอากาศที่ดีเยี่ยม เพราะครัวไทยมีการใช้งานหนัก ควันเยอะ ไม่เหมาะกับการระบายควันด้วยเครื่องดูดควันเล็กๆ เพียงเครื่องเดียวสำหรับเรื่องวัสดุ คุณศรายุทธต้องการให้ตัวบ้านดูเป็นธรรมชาติและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นต้นไม้และวัด การใช้อิฐมอญโชว์แนวในส่วนของผนังจึงสะท้อนความอ่อนน้อมถ่อมตนของบ้านหลังนี้ได้เป็นอย่างดี
“เราไปเลือกซื้อกระเบื้องดินเผาสำหรับกรุผนังถึงที่ลำปาง ตั้งใจให้แต่ละแผ่นมีโทนสีต่างกันเล็กน้อยเพื่อให้เกิดมิติน่าสนใจ รู้สึกว่าถ้าใช้กระเบื้องที่เนี้ยบและมีสีเหมือนกันทุกแผ่นจะทำให้บ้านดูแข็งกระด้างเกินไป”
สถาปนิกสอดแทรกความเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นด้วยการใช้หลังคา Flat Slab ซึ่งมีการยื่นชายคาออกไปมากกว่าปกติเพื่อบังแสงแดดไม่ให้ตัวบ้านร้อน การติดตั้งฉนวนกันความร้อนเหนือฝ้าก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้บ้านซึ่งทำหลังคาประเภทนี้เย็นขึ้นได้ ตัวบ้านด้านทิศตะวันตกที่โดนแสงแดดสาดส่องมากก็ทำแผงคอนกรีตในแนวตั้งเพื่อเพิ่มร่มเงาให้ตัวบ้าน และออกแบบให้มีผนังทึบมากกว่าตัวบ้านด้านทิศอื่น
เดิมที่ดินผืนนี้เป็นสวนลำไยซึ่งเต็มไปด้วยความร่มรื่น สถาปนิกจึงตั้งใจออกแบบให้ตัวบ้านรบกวนต้นไม้เดิมให้น้อยที่สุด พื้นที่ของบ้านขนาดประมาณ 150 ตารางเมตรจึงสอดคล้องกับแนวคิดที่อยากให้บ้านดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมและไม่โดดเด่นเกินไป เวลาล่วงเลยไปถึงเที่ยงวัน ไม่ทันจะรู้สึกว่าท้องเริ่มว่าง บนโต๊ะอาหารก็มีขนมจีนน้ำเงี้ยวชุดใหญ่ที่เจ้าของบ้านจัดเตรียมไว้เลี้ยงเรา ขนมจีนน้ำเงี้ยวในวันนั้นไม่เพียงอร่อยและอิ่มท้องเท่านั้น แต่ยังอิ่มใจทีมงานทุกคนด้วยเมื่อเติมพลังกันเสร็จก็เริ่มถ่ายภาพกันต่อ
สังเกตว่าบ้านหลังนี้ไม่มีรั้ว ไม่ว่าจะอยู่ภายในหรือนอกบ้านเราจึงไม่รู้สึกอึดอัดเลย นอกจากนี้ยังมองเห็นเพื่อนบ้านขี่จักรยานไปจ่ายตลาด เห็นพระบิณฑบาตในตอนเช้า เห็นความเป็นไปของโลกรอบตัว เจ้าของบ้านบอกว่า พื้นที่รอบๆ นี้เป็นบ้านของญาติพี่น้องทั้งหมด หลังถัดไปและถัดไปก็เป็นญาติซึ่งคอยดูแลซึ่งกันและกันได้ รั้วจึงไม่มีความจำเป็น
หลายคนเคยคิดว่า “อยากมีบ้านหลังเล็กๆน่าอยู่สักหลังก็พอแล้วสำหรับชีวิตนี้” ผมคิดว่าบ้านหลังนี้เหมาะกับคำพูดนี้ที่สุดแล้วก่อนร่ำลากลับ เจ้าของบ้านยังเชิญชวนให้เรากลับมารับประทานขนมจีนน้ำเงี้ยวที่นี่อีก
ถ้ามีโอกาส เราจะกลับไปแน่นอนครับ… บ้านปูนโมเดิร์นชั้นเดียว
เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล สไตล์ : ภควดี พะหุโล