ผนังเบา หรือผนังภายใน เป็นสิ่งที่เพิ่มความเป็นห้อง เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยภายในบ้านมากขึ้น
สำหรับบ้านที่กำลังก่อสร้าง การแบ่งพื้นที่ห้องภายในเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ ส่วนบ้านที่ต้องการจะปรับปรุงหรือกั้นห้องใหม่ การเลือกใช้วัสดุและจัดพื้นที่ใหม่ก็เป็นสิ่งสำคัญ ลองมาดูกันว่ามีอะไรที่เราควรรู้ก่อนกั้นห้องด้วย ผนังเบา เพื่อบ้านของเราครับ
ผนังเบา ไม่ต้องมีคานรองรับ
“ผนังเบา” ในที่นี้หมายถึงผนังที่มีโครงคร่าวไม้ อะลูมิเนียม หรือเหล็กเป็นโครงสร้างหลัก และปิดทับด้วยวัสดุแผ่นผนัง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นยิปซัมหรือแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด ซึ่งมีน้ำหนักเบา ขึ้นชื่อว่าผนังเบาก็ต้องมีน้ำหนักเบากว่าผนังก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป เพราะโดยปกติแล้วตามแนวของผนังก่ออิฐฉาบปูนต้องรองรับด้วยแนวคานเพื่อความแข็งแรง แต่ผนังเบาไม่จำเป็นต้องมีคานรองรับ จึงเหมาะสำหรับการต่อเติมเปลี่ยนแปลงห้องที่ทำในภายหลัง
อิฐมวลเบาไม่เบานะ
บางคนคิดว่าอิฐมวลเบาคือผนังเบาชนิดหนึ่ง ในความเป็นจริงแล้วผนังอิฐมวลเบากลับไม่เบาอย่างที่คิด แต่มีน้ำหนักใกล้เคียงกับผนังก่ออิฐฉาบปูน เพราะต้องมีการฉาบเพื่อแต่งผิวเหมือนกัน ผนังอิฐมวลเบาจึงเหมาะสำหรับผนังภายนอก เนื่องจากมีคุณสมบัติแข็งแรง กันเสียง และกันความร้อนได้ดีกว่าผนังเบา
ผนังเบาต้องมีโครงแข็งแรง
ควรใช้โครงคร่าวเหล็กชุบสังกะสีที่มีความหนาอย่างน้อย 0.55 มิลลิเมตร มีขนาดหน้าตัดเล็กที่สุด 52×30 มิลลิเมตร และใหญ่ที่สุด 94× 30 มิลลิเมตร ทั้งโครงคร่าวตัวตั้งและตัวนอน แผ่นยิปซัมหรือไฟเบอร์ซีเมนต์ที่นำมาติดตั้งควรหนาอย่างน้อย 12 มิลลิเมตร ระยะห่างโครงคร่าวไม่ควรเกิน 60 เซนติเมตร โครงคร่าวเหล็กชุบสังกะสีต้องได้มาตรฐานอุตสาหกรรม โดยตรวจสอบกับบริษัทผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ สำหรับพุกที่ใช้ยึดกับโครงสร้างอาคารหรือพื้นควรเป็นพุกเหล็ก Expansion Bolt หากต้องการความแข็งแรงมากขึ้น ก็สามารถเลือกใช้โครงคร่าวเหล็กที่มีขนาดหน้าตัดใหญ่ขึ้น หรืออาจเพิ่มความหนาของแผ่นผนังเป็น 15 มิลลิเมตร นอกจากนี้ยังสามารถร่นระยะห่างโครงคร่าวจาก 60 เซนติเมตรเป็น 40 เซนติเมตรได้
กั้นดี มีสุข
การกั้นห้องต้องคำนึงถึงการใช้งานเป็นหลัก เช่น หากห้องมีขนาดใหญ่มากและต้องการแบ่งพื้นที่เป็นห้องเล็กๆ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ขนาดของห้องที่แบ่งต้องไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป เหมาะสมกับการใช้งานและจำนวนคน สำหรับห้องนอนควรมีขนาด 3×3 เมตรเป็นอย่างน้อย ทางเดินภายในบ้านต้องกว้างอย่างน้อย 1 เมตร นอกจากนี้แต่ละห้องควรมีหน้าต่างที่เปิดออกสู่ภายนอกเพื่อระบายอากาศและรับแสงสว่างได้
แขวนของหนัก ต้องเพิ่มความแข็งแรง
ผนังเบา ที่มีการแขวนสิ่งของหนัก เช่น โทรทัศน์ กรอบรูปขนาดใหญ่ หรือชั้นวางของที่มีน้ำหนักมาก ต้องคำนึงถึงเรื่องโครงสร้างภายในผนังเบาด้วย โดยควรเสริมโครงคร่าวให้ถี่ขึ้นจากเดิมห่างกัน 60 เซนติเมตร เป็น 40 เซนติเมตร หรือ 30 เซนติเมตร โครงคร่าวแนวนอนก็เช่นกัน ควรเสริมในบริเวณที่มีการแขวนรูปดังกล่าว ห่างกันประมาณ 40 เซนติเมตร หรือ 30 เซนติเมตรเช่นกัน ส่วนการยึดก็ยึดสิ่งที่แขวนกับโครงคร่าว ไม่ใช่ยึดกับวัสดุปิดผิวของผนังเบา
เลือกแผ่นผนังให้เหมาะสม
นอกจากวัสดุอย่างแผ่นไม้อัด กระเบื้องซีเมนต์ แผ่นเซโลกรีต หรือกระเบื้องแผ่นเรียบที่นิยมใช้กันมานานแล้ว ปัจจุบันยังมีวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง ติดตั้งง่าย และราคาเหมาะสมให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ วัสดุที่ผสมระหว่างซีเมนต์กับเส้นใยธรรมชาติซึ่งนำมาอัดเป็นแผ่น มีให้เลือกทั้งผิวหน้าเรียบและผิวหน้าหยาบ รวมถึงมีหลายขนาดและหลายความหนาให้เลือกใช้ แผ่นวู้ดซีเมนต์ ผลิตโดยการนำไม้ปลูกโตเร็วมาสกัดย่อยเป็นชิ้นละเอียดผสมกับซีเมนต์ให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำมาขึ้นรูปเป็นแผ่นโดยให้ส่วนผสมละเอียดอยู่บนผิวหน้า จึงได้ความเรียบเนียนละเอียดสวยงาม แผ่นยิปซัมบอร์ด เป็นวัสดุที่นิยมกันมานาน ด้วยคุณสมบัติที่มีผิวเรียบเพราะทำ จากกระดาษกันเสียงและความร้อนได้ดี แต่อาจมีปัญหาเรื่องปลวก เนื่องจากกระดาษที่นำมาทำผิวหน้านั่นเอง
ผนังเบาแบบอื่นๆ
ผนังเบา ยังหมายรวมถึงฉากกั้นพื้นที่ในแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพีวีซี อะลูมิเนียม บานเหล็ก บานกระจก บานไม้ ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบบานเลื่อน บานเฟี้ยม และบานเปิด ทั้งหมดเป็นแบบกึ่งสำเร็จรูป การติดตั้งจำเป็นต้องมาที่หน้าไซต์งานและคำนวณเปรียบเทียบกับชิ้นงานว่าสามารถติดตั้งได้พอดีหรือไม่ ต้องเพิ่มชิ้นส่วนใดเพื่อให้การกั้นห้องนั้นสมบูรณ์ ผนังประเภทนี้ใช้กั้นพื้นที่แบบชั่วคราว คือสามารถถอดออกและติดตั้งใหม่ได้ไม่ยากนัก
สำคัญที่รอยต่อแผ่นผนัง
รอยต่อแผ่นผนังจะเป็นจุดที่เกิดการแตกร้าวมากที่สุด เนื่องจากหลายสาเหตุ ทั้งการหดและขยายตัวของวัสดุ การทรุดตัวของโครงสร้าง และการกระทบกระเทือนจากแรงภายนอก หากเป็นผนังเบาที่ต้องการให้ผนังเรียบเนียนทั้งผืนก็ต้องใช้วัสดุยาแนวที่เหมาะสม เช่น วอลล์พุตตี้ (Wall Putty) เป็นผลิตภัณฑ์อะคริลิกพิเศษมีความยืดหยุ่นสูง ยึดเกาะดี ขัดแต่งเนื้อผิวได้ง่าย เหมาะสำหรับการซ่อมแซมโดยการฉาบโป๊อุดรอยเจาะตะปู รอยต่อ รอยแตกร้าว รอยแตกลายงาของผนังปูนฉาบ เพื่อให้พื้นผิวผนังหน้างานเรียบเนียน สวยงาม ก่อนการทาสีทับ หรือจะใช้อะคริลิกยาแนวสำหรับร่องเล็กและทาสีทับในภายหลัง หรือจะเว้นร่องห่างประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร และไม่ต้องยาแนวก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำ ให้งานดูเรียบร้อย
เพิ่มคุณสมบัติให้ผนังเบา
ผนังเบามีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนและเสียงน้อยกว่าผนังก่ออิฐฉาบปูน การเพิ่มฉนวนกันความร้อน (ซึ่งส่วนใหญ่จะทำ หน้าที่กันเสียงได้ด้วย) เข้าไปที่ช่องว่างระหว่างโครงคร่าวและปิดทับด้วยแผ่นวัสดุปิดผนังตามปกติ จะช่วยให้ภายในบ้านเย็นขึ้นและกันเสียงได้มากขึ้น หากต้องการผนังสองชั้นเพื่อเพิ่มช่องอากาศระหว่างผนังเพื่อเป็นฉนวน ก็สามารถทำ ได้ง่ายกว่าการทำ ผนังก่ออิฐฉาบปูน โดยการทำ ผนังเบาที่ด้านในของห้องในด้านที่แสงแดดส่องมากที่สุดอย่างทิศใต้หรือทิศตะวันตก
ผนังเบาเหมาะสำหรับบางห้องเท่านั้น
ห้องที่ไม่เหมาะกับการใช้ผนังเบาคือห้องน้ำ เพราะน้ำอาจซึมเข้าไปภายในโครงคร่าวทางรอยต่อระหว่างแผ่นได้ แม้จะมีการปูกระเบื้องทับและทากันซึมดีอย่างไร เมื่อเวลาผ่านไป น้ำก็มีโอกาสซึมผ่านเข้าไปและทำให้โครงคร่าวเสียหายได้ นอกจากนี้ยังไม่เหมาะกับห้องที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิต่างกันมากระหว่างภายในกับภายนอก หรือห้องที่มีความชื้นมาก เช่น ห้องแช่ไวน์
เรื่อง : แฉล้ม
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
ภาพประกอบ : มาโนช กิตติชีวัน