ภาพบ้าน ‘Jigsaw House’ เป็นการนำ ‘กาลเวลา’ มาเสนอในรูปแบบของการต่อจิ๊กซอว์แทนรูปแบบของบ้านในแต่ละยุคสมัย ผ่านรูปฟอร์มต่างๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นฟอร์มของบ้านหลังใหม่ในโทนอบอุ่นจากช่วงฤดูร้อน
ปีนี้ถือว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายจากสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงรอบใหม่ ทำให้เราต้องใช้ชีวิตในบ้านกันมากขึ้นและต้องปรับ เปลี่ยนวิถีชีวิตกันใหม่หมด แต่สิ่งที่ยังเป็นธรรมเนียมของบ้านและสวนเสมอมาก็คือ การสรรหาภาพพิเศษสำหรับเป็นปกในฉบับครบรอบเดือนเกิดซึ่งตรง กับเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อเป็นของขวัญให้ผู้อ่าน ได้เก็บสะสมเป็นคอลเล็กชั่นประจำบ้านกัน
ในบรรดานักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ๆ ของ ไทย ชื่อของคุณเบนซ์-ธนวัต ศักดาวิษรักษ์ ถือว่า เป็นศิลปินที่มีงานโดดเด่นและน่าจับตามองคนหนึ่ง ด้วยลายเส้นที่เรียบเนี้ยบประกอบกันเป็นรูปทรงแบบ เรขาคณิตซึ่งดูเหมือนวัตถุทางสถาปัตยกรรม แต่ให้ความรู้สึกสดใสผ่านโทนสีพาสเทลที่นุ่มนวล ทำให้ผลงานของเขาเป็นที่สนใจในหมู่คนทำงานศิลปะทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างรวดเร็ว ปกพิเศษ
คุณเบนซ์เล่าว่า เขาชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก จึงเลือกเรียนด้านนิเทศศิลป์ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และมีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับ Lettering หรือออกแบบตัวอักษรมาตั้งแต่จบใหม่ๆ “ผมว่างานในช่วงแรกให้ อิสระทางความคิดกับเรามาก ก็เลยเกิดการทดลอง และพัฒนาไปเรื่อยๆ ทำให้เราสนุกกับการนำรูปร่าง และรูปทรงมาผสมกัน พอทำได้สักพักก็อยากเล่าเรื่องมากกว่ารูปทรงเรขาคณิตทั่วไป จนเกิดเป็นสเปซและการจัดวางองค์ประกอบแบบ Isometric มากขึ้น”
แล้วความสนุกในเส้นสายและรูปทรงก็นำพา เขามาสู่งานวาดภาพประกอบ ซึ่งเมื่อนำผลงานเผยแพร่ผ่านโลกโซเชียลก็เริ่มเป็นที่สนใจและได้รับการติดต่อให้สร้างผลงานตามมาอีกหลายชิ้น ทั้งงาน นิตยสาร พ็อกเก็ตบุ๊ก แคตตาล็อก หรือลายกราฟิกบนสินค้าต่างๆ ผ่านชื่อที่เขาตั้งขึ้นมาว่า “Bloody Hell Big Head” หรือ “BHBH” ที่มาจาก คำแซวของเพื่อนในสมัยเรียนว่า“หัวโต”
“มีงานชิ้นหนึ่งที่ผมรู้สึกประทับใจตอนทำให้ แบรนด์Herman Miller คือการวาดเล่าเรื่องราวความคิดที่ผ่านการวิเคราะห์เพื่อนำมาออกแบบคอลเล็กชั่นเฟอร์นิเจอร์ใหม่สำหรับ Working Space ในภาพก็จะมีทั้งเฟอร์นิเจอร์โต๊ะ เก้าอี้ ฉากกั้น ข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์การทำงาน ที่บอกถึงพฤติกรรมของคนทำงาน การใช้พื้นที่ทำงานร่วมกัน และมุมที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เหมือนสร้างแรงบันดาลใจมากกว่าที่จะบอกเล่าแบบตรงๆ ผมชอบงานที่มีความเป็นตัวเองผสมอยู่กับสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้อย่างสมดุล เหมือนตอนที่ลูกค้าให้ออกแบบภาพของโชว์รูมเพื่อลงนิตยสาร แต่แทนที่จะวาดให้ดูเป็นโชว์รูม ผมกลับคิดถึงสเปซที่ผ่อนคลายแบบรีสอร์ตและมีผู้คนไปสร้างปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่นั้นๆ มันทำให้บรรยากาศของโชว์รูมดูน่าใช้งานมากขึ้น”
“ผมคิดว่าเป็นงานที่สนุกดีนะ เคยเห็นเคย อ่านนิตยสารบ้านและสวนมาตั้งแต่เด็ก เวลาไปบ้านญาติก็มักเห็นนิตยสารบ้านและสวนอยู่ที่บ้านด้วยเสมอ ผมว่าเป็นนิตยสารที่ดีที่ช่วยให้ไอเดียและสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากแต่งบ้าน พอได้โจทย์ เรื่อง ‘บ้านกับกาลเปลี่ยนแปลง’ ความคิดแรกของ ผมคืออยากวาดรูปทรงสถาปัตยกรรม อยากใส่ ประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมแต่ละยุคเข้าไป แต่พอวาดไปวาดมาถึงรู้สึกว่าไม่ต้องชัดขนาดนั้นก็ได้ แต่น่าจะเป็นภาพที่พูดถึงร่องรอยของกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป บ้านก็ยังมีโครงสร้างหลงเหลืออยู่ แต่เวลาทำ ให้เปลี่ยนแปลงและมีร่องรอยที่บอกถึง ช่วงเวลานั้นๆ อยู่ “ก็เลยเกิดเป็น‘Jigsaw House’ที่ผมอยาก ลองนำ ‘กาลเวลา’มาเสนอในรูปแบบของการต่อ จิ๊กซอว์แทนรูปแบบของบ้านในแต่ละยุคสมัยด้วย รูปฟอร์มต่างๆ แล้วค่อยนำ มาประกอบเป็นฟอร์ม ของบ้าน แล้วก็มีการปรับสเก็ตช์ไปมาจนกลายมา เป็นบ้านที่อยู่ในโทนอบอุ่นเหมือนบ้านในช่วงฤดูร้อน อาจเป็นเพราะเราเคยชินกับสภาพอากาศแบบนี้ก็ได้”
“ส่วนใหญ่งานผมวาดขึ้นบนคอมพิวเตอร์หรือไอแพ็ด ก็มีบ้างที่เริ่มสเก็ตช์จากการวาดมือบนกระดาษแล้วไปต่อในคอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้งสองแบบให้ความสวยงามคนละมิติกัน ยุคสมัยนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ ชอบงานจากคอมพิวเตอร์มากกว่าด้วย เพราะต้องการเส้นสายที่เรียบร้อยสะอาดตา แล้วก็นำ ไปใช้งานง่าย สำหรับผมก็ค่อนข้างชินกับการวาดแบบนี้ไปแล้ว มันง่ายทั้งเวลาปรับแก้ไขและขั้นตอนการส่งงานไปใช้ต่อด้วย ผมคิดว่างานตัวเองยังไม่นิ่งนะ ยังอยากทดลองไปเรื่อยๆ อาจเป็นรูปทรงที่ฟรีฟอร์มและออร์แกนิกมากขึ้น อย่างเท็กซ์เจอร์ปูนหรือรอยแตกบนผนัง และก็อยากลองทำงานเพ้นต์ที่ไม่คอมเมอร์เชียลดูบ้าง ค่อยๆ วาดสะสมงานที่เป็นตัวตนของเรา แล้วค่อยรวมมาจัดแสดงต่อไปในอนาคต”
ปกพิเศษ บ้านและสวนฉบับครบรอบ 43 ปี
ปกพิเศษ บ้านและสวนฉบับครบรอบ 44 ปี