บ้านโมเดิร์นทรอปิคัลอยู่สบาย

บ้านโมเดิร์นทรอปิคัล สามชั้นในประเทศมาเลเซียที่มีแนวคิดการออกแบบเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและต้นไม้ โดยเลือกวางผังแบบเปิดโล่งและใช้วัสดุที่กลมกลืนไม่เป็นจุดเด่นเกินไป อย่างคอนกรีตเปลือยผิว กระจก และไม้ไผ่

ออกแบบ : Design Unit Sdn Bhd by Mr. John G N Bulcoc  /  เจ้าของ : Mr. Fung Kai Jin

ภาพถ่ายของไม้ไผ่ที่นำมาทำเป็นระแนงแนวตั้งทั่วทั้งบ้านบวกกับตัวบ้านที่ทำจากคอนกรีตหล่อในที่ พื้นผิวเป็นลายไม้แบบ ซึ่งสถาปนิกผู้ออกแบบส่งมาให้ดูทางอีเมลนั้น ทำให้ผมรู้สึกว่าบ้านหลังนี้น่าอยู่ และต้องเดินทางมาให้เห็นกับตาตัวเองถึงรัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในย่าน Sierramas ภายในหมู่บ้านที่เงียบสงบและเต็มไปด้วยไม้ใหญ่นานาพันธุ์ ความรู้สึกว่า “น่าอยู่” เริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น เมื่อผมและทีมงานค่อยๆก้าวผ่านประตูทางเข้าสู่โถงบันได ระเบียง และห้องต่างๆ

บ้านโมเดิร์นทรอปิคัล
พื้นที่พักผ่อนด้านหลังบ้านมีสระว่ายน้ำและระเบียง บวกกับการลดระดับของชั้นนี้มาจากระดับดินและการโอบล้อมของต้นไม้ ทำให้บริเวณนี้มีความเป็นส่วนตัวและเหมาะสำหรับการพักผ่อน
หลังคาระแนง
หลังคาคอนกรีตที่มีช่วงพาดยาว 15 เมตร สร้างร่มเงาให้พื้นที่ด้านล่าง ไม่ว่าจะเป็นระเบียงนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร หรือห้องนอนได้เป็นอย่างดี

บ้านโมเดิร์นทรอปิคัล

ผมพบชายคนหนึ่งกำลังจ้องมองไปยังรายละเอียดต่างๆของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นวงกบ ประตู หน้าต่าง  ฝ้าเพดาน  พื้นไม้ หรือผนังคอนกรีต ดูเหมือนชายคนนั้นกำลังทักทายงานสถาปัตยกรรมด้วยสายตา แน่นอนเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เขาออกแบบขึ้นมา เพราะเขาคือ  Mr. John G N Bulcock จาก Design Unit Sdn Bhd สถาปนิกคู่ใจของ Mr. Fung Kai Jin เจ้าของบ้านหลังนี้นั่นเอง คุณจอห์นมาถึงที่นี่ก่อนพวกเรา เขาเริ่มต้นอธิบายแนวคิดการออกแบบบ้านให้ฟังว่า

“บ้านหลังนี้จะเรียกว่าเป็น บ้านโมเดิร์นทรอปิคัล ก็ได้ ที่จริงแล้วก็ไม่อยากจำกัดว่าคือสไตล์อะไร ผมเน้นไปที่แปลนบ้าน การระบายอากาศ การใช้งาน และสุนทรียภาพมากกว่าที่อยากให้เกิดขึ้นกับบ้านหลังนี้

“แนวคิดหลักคือต้องการให้บ้านเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและต้นไม้รอบๆข้าง ทั้งในที่ดินของเจ้าของบ้านเองและต้นไม้ที่อยู่ในที่ดินข้างๆ จึงเลือกวางผังแบบเปิดโล่งและใช้วัสดุที่กลมกลืนไม่เป็นจุดเด่นเกินไป อย่างคอนกรีตเปลือยผิว กระจก และไม้ไผ่ ลองคิดดูหากเราอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คน แต่ไม่มีเสียงพูดใดเล็ดลอดออกมา และถ้าเราตะโกนขึ้นมาเพียงคนเดียว จะเกิดอะไรขึ้น…

“ไม้ไผ่เป็นวัสดุธรรมชาติที่มีความแข็งแรงทนทานในระดับหนึ่ง หากเราอยากได้มาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ก็ต้องยอมรับผลลัพธ์ที่เป็นด้านลบด้วย ไม่ว่าจะเป็นความทนทานที่น้อยกว่าไม้เนื้อแข็งชนิดอื่น หรือเหล็กและคอนกรีต ต้องมีการบำรุงรักษามากกว่าปกติ แต่สำหรับคนที่ชอบไม้ไผ่และความเป็นธรรมชาติ ผมว่าก็คุ้มค่ากับการที่เราจะได้อยู่ในบ้านที่เรารักทุกวันนะ”

ช่องเปิด
บานประตูที่สั่งทำพิเศษ สามารถเปิด-ปิดเข้ามุมได้ เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการการเปิดมุมมองแบบไม่มีสิ่งใดบดบัง
บันได
บันไดหลักหล่อจากคอนกรีตเปลือยผิว เพิ่มความน่าสนใจด้วยบ่อเลี้ยงปลาเล็กๆที่ด้านล่างและแผงระแนงไม้ไผ่เป็นกรอบของตัวอาคาร

บ้านหลังนี้มีทั้งหมดสามชั้น เมื่อคำนึงถึงสภาพพื้นที่เดิมซึ่งเป็นเนินดินลาดลง สถาปนิกจึงกำหนดให้ที่จอดรถและทางเข้าบ้านอยู่ที่ชั้นสอง เข้าไปด้านในก็เป็นพื้นที่ส่วนกลางอย่างห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว ห้องดูทีวี และระเบียงเปิดโล่ง มองลงไปด้านล่างจะพบสระว่ายน้ำ ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น ลึกเข้าไปเป็นห้องเก็บของและห้องแม่บ้านที่อยู่อย่างเป็นสัดส่วน ส่วนชั้นบนก็เป็นพื้นที่พักผ่อนของเจ้าของบ้าน ตัวบ้านถูกลดทอนให้ดูเล็กและไม่อึดอัดโดยการแยกเป็นห้องๆมีทางเดินเชื่อมต่อกัน และทั้งหมดถูกคลุมด้วยหลังคาคอนกรีตขนาดใหญ่ยื่นยาวกว่า 15 เมตร ซึ่งเจาะช่องว่างประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้แสงแดดรวมถึงสายฝนลอดผ่านลงมาได้

“เมื่อฝนตกก็สามารถสาดผ่านเข้ามาตามช่องของไม้ไผ่ได้ ในเมื่อเจ้าของบ้านเลือกแล้วว่าจะใช้วัสดุชนิดนี้ การมีฝนสาดเข้ามาก็เป็นเรื่องปกติ ถือเสียว่าได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพียงแต่เราต้องออกแบบว่าส่วนที่โดนน้ำฝนได้นั้นต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวบ้าน”

ตอนนี้เป็นเวลาประมาณบ่ายสองโมง แสงแดดมีให้เห็นเป็นระยะ แต่มวลอากาศภายในบ้านนั้นมีการถ่ายเทตลอดเวลา ทำให้บ้านเย็นสบาย จึงไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศเลย นั่นเป็นเพราะตัวบ้านได้รับการออกแบบให้มี ”ระยะห่าง” ระหว่างกันในทุกๆส่วน ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างเล็กๆน้อยๆทั่วบ้านเพื่อให้ลมพัดผ่านได้ ช่องว่างระหว่างหลังคาผืนใหญ่กับหลังคาของแต่ละห้อง ช่องว่างระหว่างห้อง ช่องว่างตรงทางเดิน หรือช่องว่างระหว่างซี่ไม้ไผ่

ห้องนั่งเล่น
ห้องนั่งเล่นที่มีฝ้าสูงสองชั้น ชั้นบนเป็นห้องนั่งดูทีวี มีระแนงไม้ไผ่ที่คอยกรองแสงและสร้างบรรยากาศให้เข้ากับงานสถาปัตยกรรมภายนอก
ระเบียง
พื้นที่กึ่งภายในและภายนอกที่เย็นสบายตลอดวัน ล้อมรอบด้วยสีเขียวของต้นไม้และไอเย็นของความชื้นจากดิน
ห้องนอน
การตกแต่งภายในเน้นความเรียบง่าย โชว์ผิวคอนกรีตเปลือยและทาสีขาวที่ผนังและฝ้าภายใน ส่วนพื้นเป็นไม้เนื้อแข็งเพื่อความทนทาน เหมาะสำหรับการพักผ่อน

ห้องน้ำ

ความคิดของเจ้าของบ้านและสถาปนิกมักสะท้อนออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรมนั้นๆ บ้านหลังนี้จึงทำให้ผมรู้ว่าสถาปนิกไม่ใช่เพียงคนเลือกกระเบื้องหรือสุขภัณฑ์ ไม่ใช่คนเขียนแบบ และไม่ใช่คนตัดโมเดล แต่สถาปนิกเป็นคนที่สามารถจินตนาการถึงภาพสมบูรณ์ของบ้านหลังนั้นๆได้ชัดเจนที่สุด

หน้าต่างบานเกล็ด
หน้าต่างบานเกล็ด เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการการระบายอากาศ ออกแบบให้มีในหลายๆส่วนของบ้าน เช่น ห้องนอน ด้านนอกติดระแนงไม้ไผ่เพื่อช่วยบังแสงแดด
ระแนงไม้ไผ่
ส่วนปลายของระแนงไม้ไผ่ออกแบบให้ไม่ติดกับคอนกรีต จะเว้นระยะประมาณ 5 เซนติเมตรเพื่อความสวยงามและป้องกันความชื้น โดยทำเหล็กกลมยึดที่ปลายไม้ไผ่กับคอนกรีตเอาไว้
ช่องแสง
ช่องแสงคอนกรีตนี้กว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ยาว 150 เซนติเมตร ปล่อยให้ความสว่างและความร้อนเข้ามาในบ้านได้บ้าง แต่ต้องให้วิศวกรช่วยคำนวณสักนิดก็ดี เพราะเป็นช่องแสงที่มีการเจาะคอนกรีต

เสาคอนกรีต

จะมีเจ้าของบ้านสักกี่คนที่จะสร้างบ้านด้วยความมั่นใจในตัวสถาปนิกแบบนี้ จากที่คุณจอห์นเล่าให้ฟัง เจ้าของบ้านไม่จำกัดความคิดหรือแนวทางในการออกแบบที่จะมาเป็นกรอบบังคับเขาเลย เป็นเหมือนเฟรมผ้าใบสีขาวโล่งที่รอการแต่งแต้มสีสันจากศิลปิน ปล่อยให้สถาปนิกได้คิดสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อบ้านหลังนี้ และคุณ Fung ก็จะเป็นคนช่วยตัดสินเองว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ซึ่งผลออกมาก็เป็นที่น่าภูมิใจ เพราะเป็นบ้านที่มีความเป็นธรรมชาติ บ้านที่อยู่สบาย และบ้านที่เป็นตัวของตัวเอง

เสียงลมเสียงต้นไม้เสียดสีกันดังกลบเสียงพูดคุยกันเป็นระยะ ผมและสถาปนิกต่างหยุดพูด นิ่งรับเสียงธรรมชาติรอบตัว เนิ่นนานที่เสียงธรรมชาติยังคงลอยอยู่ในมวลอากาศ ผมหลับตา ได้ยินเสียงจากบ้านหลังนี้ที่ดังเพียงแผ่วมาตามสายลม


เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์

ภาพ : ปิยะวุฒิ ศรีสกุล

สไตล์ : ภควดี พะหุโล

3 แบบบ้านจากประเทศมาเลเซีย

รวมบ้านโมเดิร์นทรอปิคัลอยู่สบายของเพื่อนบ้านอาเซียน