การปรับปรุงบ้านหลังนี้เป็นจุดลงตัวหลายอย่างของครอบครัวคุณกุ๊ก-กศิสิณต์ สุวัฒนพิมพ์ อินทีเรียร์แห่ง Bangkok Day Group ตั้งแต่สภาพบ้านที่ทรุดโทรม การใช้งานที่เปลี่ยนไป แนวคิดทางการออกแบบที่อยากทดลองทำ ไปจนถึงความต้องการบ้านสไตล์รีสอร์ตในเมือง เพื่อการพักผ่อน
อินทีเรียร์: Bangkok Day Group โดยคุณกศิสิณต์ สุวัฒนพิมพ์ คุณปาณัทภ์ เกษมพิศ และคุณรัฐวุฒิ ยอดแก้ว
เจ้าของ: คุณกศิสิณต์ สุวัฒนพิมพ์
ทรุดและน้ำรั่ว ปัญหาตามสภาพ
โรงรถทรุด หลังบ้านทรุด ระบบท่อน้ำมีปัญหา การใช้ครัวและห้องทำงานไม่ตอบโจทย์ หลังจากใช้ชีวิตบ้านในบ้านซึ่งซื้อมาจากโครงการจัดสรรย่อมเกิดขึ้นได้หลังจาก 16 ปีผ่านไป ในตอนแรกจากคิดแค่ทำโรงรถใหม่ ก็ได้ขยายกลายเป็นรีโนเวต บ้านสไตล์รีสอร์ตในเมือง ทั้งหลัง เพราะปัญหาหลักอีกประเด็นคือการใช้งานที่ไม่ตอบโจทย์ของครอบครัวแล้วในปัจจุบัน อาทิ ครัวภายในค่อนข้างเล็ก ภรรยาคุณกุ๊กซึ่งชอบทำอาหารต้องออกไปทำงานนอกบ้านซึ่งไม่ค่อยสะดวก ห้องน้ำชั้นล่างที่เล็กเกินไป ชั้นบนมีห้องทำงานขนาดใหญ่เกินไป และปัญหาที่หลายคนเจอคือเสื้อผ้าไม่พอเก็บในตู้
ส่วนด้านโครงสร้างมีโรงรถที่ทรุด บ่อน้ำเล็กบริเวณหน้าบ้านก็ทรุดเช่นกัน และที่สำคัญคือระบบท่อน้ำ ซึ่งเดิมท่อจะวางอยู่บนดินเมื่อดินทรุดก็ดึงท่อน้ำที่ติดกับตัวบ้านลงมาด้วย เกิดเป็นปัญหาน้ำรั่ว และช่องว่างระหว่างตัวบ้านกับพื้นดิน
Minimal + Rustic
ในด้านรูปแบบคุณกุ๊กและทีมงาน ต้องการจะทดลองทำงานที่น้อยๆ สบายตา แต่มีรายละเอียดเป็นการจับคู่กันระหว่างสองสิ่งที่ดูคล้ายจะตรงข้ามกันอย่างงานสไตล์มินิมัลกับงานรัสติก (Rustic) ที่มีเท็กซ์เจอร์พื้นผิวเป็นจุดเด่น เพราะไม่ต้องการบ้านที่โมเดิร์นเส้นสายคมๆ มากเกินไป และที่สำคัญต้องดูแลรักษาง่ายด้วย นอกจากนี้ยังมีโจทย์ในเรื่องการใช้งานจริงกับของมากมายในบ้าน
ทำเยอะ ให้ดูน้อย
“เราชอบสไตล์มินิมัล แต่เราไม่ใช่คนมินิมัล เราซื้อของเยอะ ก็เลยออกแบบตู้ให้เหมือนผนังทั้งบ้าน ให้ได้ทั้งฟังก์ชันและเหมือนเป็นการตกแต่งด้วย” คุณกุ๊กเผยถึงแนวทางการใช้ชีวิตจริงๆ ที่เหมือนจะขัดแย้งเล็กๆ กับบรรยากาศเรียบโล่งของบ้าน ผนังที่เห็นหลายจุดในบ้านเป็นหน้าบานตู้ที่ออกแบบให้มือจับเสมือนคิ้วไม้ตกแต่งผนัง ไม่เป็นตู้ออกมาเด่นชัด
ผสมกับแนวทางในการใช้สีคุมโทน ให้บ้านดูกลมกลืนกับสีไม้จริงและสีเพ้นต์โทนสว่าง จากองค์ประกอบของวัสดุหลักอย่างกระเบื้อง ไม้ และหินสังเคราะห์ แต่ทุกอย่างก็ยังแฝงไว้ด้วยรายละเอียด อาทิ ผนังที่เป็นการเพ้นท์สี 3 เลเยอร์ ตามแนวคิด Rustic ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากผนังบ้านชนบทของอิตาลี พื้นผิวด้านของไม้ทั้งในส่วนบิลท์อินและลอยตัว สัดส่วนบางเบาของเฟอร์นิเจอร์ การเปิดช่องหน้าต่างให้ใหญ่ขึ้นพร้อมเลือกใช้เฟรมอะลูมิเนียมที่เส้นสายบางเช่นกัน ประกอบการใช้ไฟแบบ in-direct และหยอดไฟไปตามจุดเฟอร์นิเจอร์ช่วยให้บ้านดูละมุนตา น่าพักผ่อน
แปลนบ้านที่เปลี่ยนไป เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน
ปัญหาการใช้งานที่ไม่ตอบโจทย์ถูกแก้ไขเสียใหม่ตั้งแต่ครัวที่ถูกขยายขึ้นเพื่อใช้งานจริงในบ้าน บ่อน้ำเล็กหน้าบ้านถูกรื้อออกและทำเป็นห้องรับแขกเล็กด้านหน้า โดยส่วนนี้ต่อเนื่องไปเป็นห้องทำงานใหม่บนชั้นสอง ระเบียงบ้านเดิมที่เป็นไม้เทียมปรับใหม่เป็นกระเบื้องโทนสีอ่อนสร้างความต่อเนื่องกับสีภายในอาคารบ้านจึงดูกว้างขึ้น ของที่เคยจัดวางโชว์ก็เก็บเข้าตู้ไปทั้งหมด เหลือวางจริงๆ เฉพาะที่ใช้งานแต่เลือกของที่มีดีไซน์เข้ากับการตกแต่งใหม่
ส่วนงานระบบ ท่อน้ำที่เคยวางอยู่บนดินแล้วมีปัญหาเวลาดินทรุด ก็ทำการยืดเข้ากับตัวบ้านด้วยเหล็กเกี่ยวซ่อนใต้โครงสร้าง โรงรถที่ทรุดจัดการลงเสาเข็มไมโครไพล์ 21 เมตร ระเบียงที่โครงด้านล่างเป็นเหล็กผุทำให้พื้นเอียงก็ลงเข็มใหม่ให้แข็งแรง รวมไปถึงการจัดสวนใหม่นำต้นไม้มาลงในแนวรั้วด้านที่ติดกับสระว่ายน้ำเพื่อบังแดดและบังสายตา
บ้านสไตล์รีสอร์ตในเมือง
คุณกุ๊กยังเล่าให้ฟังอีกว่า “เคยคิดว่าจะมีบ้านต่างจังหวัดเอาไว้ไปพักผ่อน แต่ก็กลับมาคิดว่าถ้าจะต้องไปซื้อที่ดิน ไปปลูกบ้านใหม่ แต่เรามีบ้านหลังนี้อยู่แล้ว ทำไมไม่ทำบ้านหลังนี้ให้เป็น บ้านสไตล์รีสอร์ตในเมือง เสียล่ะ ทุกวันนี้พอบ้านเปลี่ยนเป็นแบบนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตเราก็เปลี่ยนตามบ้าน ยิ่งในช่วงโควิด บ้านยิ่งมีความสำคัญ เป็นความสุขจากการใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างแท้จริง”
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์