บ้านขนาดกะทัดรัด สำหรับอยู่กับคุณแม่ผู้สูงวัย - บ้านและสวน

บ้านขนาดกะทัดรัด สำหรับอยู่กับคุณแม่ผู้สูงวัย

เชื่อว่าคนในเมืองใหญ่ที่อยากหลีกหนีความสับสนวุ่นวายไปอาศัยอยู่จังหวัดอื่นเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ทุกวัน หากไม่นับเงื่อนไขด้านเงินทองแล้วก็คงต้องติดเงื่อนไขอื่นๆ ทั้งหน้าที่การงานและการดูแลเอาใจใส่คนในครอบครัว การย้ายถิ่นฐานไปยังเมืองที่สงบ ร่มรื่น อากาศดี เพื่อสร้าง บ้านขนาดกะทัดรัด จึงเป็นไปไม่ได้ง่ายนัก

เจ้าของ : ครอบครัวสุวัจฉราภินันท์
สถาปนิก : ห้างหุ้นส่วนจำกัด 2929 Designlab โดย ดร.สันต์ สุวัจฉราภินันท์

mediumhouse บ้านขนาดกะทัดรัด
เว้นพื้นที่ส่วนหน้าบ้านโดยออกแบบเป็นสนามโรยกรวดกว้างๆ  สร้างจังหวะให้ตัวบ้านที่อยู่ลึกเข้าไปมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น  และทำให้มองเห็นแขกผู้มาเยือนได้ตั้งแต่ในระยะไกลๆ

บ้านขนาดกะทัดรัด mediumhouse

ทว่าสำหรับ ดร.สันต์  สุวัจฉราภินันท์  สถาปนิกห้างหุ้นส่วนจำกัด 2929 Designlab และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลับมีจังหวะชีวิตที่ลงตัว เพราะที่ตั้งของ บ้านขนาดกะทัดรัด หลังใหม่นี้สอดรับกับหน้าที่การงานในตำแหน่งหัวหน้าหลักสูตรบัณฑิตศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งยังรองรับการอยู่อาศัยของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งย้ายมาจากกรุงเทพฯเพื่อการดูแลได้อย่างใกล้ชิดในบรรยากาศที่คนวัยเกษียณท่านใดเห็นก็ต้องอิจฉา

“บ้านหลังนี้เริ่มต้นจากเมื่อสองปีที่แล้วพยายามหาที่ดินสำหรับสร้างบ้านของตัวเอง  ช่วงนั้นคุณแม่เริ่มป่วยและเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย  ทำให้ต้องเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ – เชียงใหม่อยู่เสมอ  จากที่คิดจะสร้างบ้านเพื่อตัวเองก็เริ่มเปลี่ยนแผนว่าจะสร้างบ้านให้คุณพ่อคุณแม่ย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่ด้วยกันแทน”อาจารย์สันต์เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของบ้านหลังนี้ให้เราฟัง

mediumhouse บ้านขนาดกะทัดรัด
ออกแบบทางเดินเข้าบ้านให้มีความสูงล้อกับความสูงของหลังคาหลองข้าวเดิมและเป็นแนวต่อเนื่องกันในอนาคตมีแผนปรับปรุงหลองข้าวนี้เป็นส่วนขยายของออฟฟิศห้างหุ้นส่วนจำกัด 2929 Designlab
บ้านขนาดกะทัดรัด mediumhouse
กั้นห้องชั้นล่างของส่วนหลองข้าวเก่าเป็นที่เก็บของตกแต่งด้วยรูปภาพบอกเล่าเรื่องราวเก่าๆ ของครอบครัว

“จากนั้นจึงมองหาที่ดินซึ่งมีคุณสมบัติ3 อย่าง  คือ  หนึ่ง  ต้องอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  สอง  ต้องอากาศดี  สาม  ราคาไม่แพงเกินไป  ดูมาหลายแห่ง  บางที่ก็สวยมากแต่ราคาแพง  บางที่อยู่ในโครงการหมู่บ้านซึ่งมีเงื่อนไขในการออกแบบบ้านจุกจิก  เราต้องการจะออกแบบบ้านเอง  จนมีคนแนะนำให้มาดูที่ดินแถวแม่ริมตรงนี้  พอมาดูที่ปุ๊บก็รู้สึกคลิกทันที  จึงตกลงซื้อที่ดินสวนลำไยเก่านี้ไว้เป็นที่ปลูกบ้านหลังใหม่เพื่ออยู่กับพ่อแม่”

เรามองไปรอบที่ดินขนาด 159 ตารางวา ซึ่งเป็นขนาดกำลังพอดีสำหรับอยู่อาศัย 3 คน คือไม่ใหญ่แบบที่ต้องเก็บกวาดจนเหนื่อย และไม่เล็กเกินไปจนรู้สึกอึดอัดไม่ต่างกับบ้านในเมือง บริเวณรอบบ้านร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่หลายต้น อาจารย์สันต์เล่าว่าพยายามจัดผังบ้านโดยเก็บต้นไม้เก่าให้มากที่สุดและไม่ใช่เพียงไม้เก่าอย่างเดียวเท่านั้นที่เก็บรักษาไว้

“ความพิเศษอีกอย่างของที่ผืนนี้คือมีหลองข้าวเก่าติดมากับที่ตรงด้านหน้าด้วย  ตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะเก็บไว้  และออกแบบบ้านหลังใหม่ให้ดูกลมกลืนกันการวางผังรวมไปถึงการออกแบบสัดส่วนตัวบ้านจึงอ้างอิงจากตำแหน่งและขนาดของหลองข้าวเดิมเป็นหลัก  ทดลองจัดวางอยู่หลายแบบ  จนสุดท้ายก็ได้ผังบ้านแบบที่เห็น”

mediumhouse บ้านขนาดกะทัดรัด
ห้องนอนของคุณพ่อจัดให้อยู่พื้นที่ด้านหน้าชั้นล่างซึ่งติดกับสวน  ดูร่มรื่น  โล่ง  สว่าง  และสบายตา
บ้านขนาดกะทัดรัด mediumhouse
ออกแบบหลังคาเป็นสองช่วง เพื่อลดทอนให้ขนาดของอาคารโดยรวมดูไม่ใหญ่จนเกินไปและไม่ขัดตากับสภาพแวดล้อมโดยรอบ
mediumhouse บ้านขนาดกะทัดรัด
ส่วนรับแขกอยู่ติดกับสนามกว้าง  ออกแบบให้มีช่องเปิดขนาดใหญ่  ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมทำกันสาดเพื่อป้องกันฝน  ส่วนผนังด้านนอกตกแต่งด้วยไม้สังเคราะห์  ให้ความรู้สึกอบอุ่นนุ่มนวลยิ่งขึ้น

ตัวอาคารของบ้านใหม่วางเป็นแนวราบเตี้ยๆ ส่วนที่เป็นห้องนอนและพื้นที่ส่วนตัวจัดวางหลบอยู่ด้านหลังหลองข้าว และให้พื้นที่นั่งเล่นเพื่อการพักผ่อนสังสรรค์วางขนาบที่ว่างตรงกลางซึ่งจะมองเห็นต้นไม้เดิม ทั้งลำไย พลับพลึง มะม่วง และไม้ผลอื่นๆ แผ่กิ่งก้านไปทั่ว ดูร่มรื่นสบายตา

“บ้านหลังนี้ออกแบบโดยคำนึงถึงว่าจะมีผู้ใหญ่มาอยู่ด้วย  ระยะทางระหว่างห้องต่างๆ จึงต้องสั้นที่สุด  จะเห็นว่าเมื่อเดินเข้าบ้านมาก็พบโถงทางเดินที่เชื่อมต่อกับทุกส่วน  ทั้งห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ที่มีห้องน้ำในตัว  บันไดทอดตัวสู่ชั้นสองหรือจะเข้าไปสู่พื้นที่ครัว  ส่วนรับประทานอาหาร  และส่วนรับแขก  เราสามารถเดินไปสู่ห้องต่างๆ ได้ด้วยระยะทางแค่ไม่กี่ก้าว”

การตกแต่งภายในของบ้านใช้สีขาวดูสะอาดตา แม้จะเป็นบ้านหลังเล็กๆที่ดูเรียบง่าย แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ามีการเลือกใช้วัสดุคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นวงกบหน้าต่างอะลูมิเนียมอบพ่นสีอย่างดี พื้นหินขัดเทอราซโซแบบไร้รอยต่อ หรือบานกระจกแบบพ่นทรายที่ทนทานกว่าแบบติดฟิล์ม ถือเป็นรายละเอียดที่เจ้าของบ้านไม่มองข้ามไปเลยสักจุดเดียว

บ้านขนาดกะทัดรัด mediumhouse
เพื่อความสะดวกในการใช้งานของคุณพ่อคุณแม่  เมื่อเดินเข้าสู่ตัวบ้านจะพบโถงทางเดินหลักที่เชื่อมต่อกับทุกส่วนในบ้าน  ทั้งบันไดสู่ชั้นสอง  ห้องนอนด้านซ้าย  ครัวและส่วนรับแขกด้านขวานอกจากนี้  การลดระยะพื้นที่ทางเดินยังหมายถึงการประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างบ้านด้วย
mediumhouse บ้านขนาดกะทัดรัด
ประตูบานเลื่อนปิดกั้นส่วนครัวไว้  หากมีการประกอบอาหารหรือต้องการความเป็นส่วนตัว  ประตูบานเลื่อนใช้ลูกฟักพอลิคาร์บอเนตซึ่งน้ำหนักเบา  ทำให้บานประตูเลื่อนง่ายไม่ตกราง  ส่วเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งเกือบทั้งหมดเป็นของเดิมจากบ้านหลังเก่าซึ่งนำมาทำสีใหม่  เป็นสีขาวเรียบๆ  แต่ก็ดูโมเดิร์นขึ้น
บ้านขนาดกะทัดรัด mediumhouse
ตู้กับข้าวของเดิมจากบ้านเก่า  เมื่อออกแบบให้วางได้พอดีกับพื้นที่ที่เตรียมไว้ก็คล้ายๆ กับเป็นเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินเก๋ๆ

“เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งในบ้านหลังนี้เป็นของเก่าเสีย 95 เปอร์เซ็นต์มาจากบ้านที่กรุงเทพฯและหอพัก  ก่อนออกแบบได้วัดขนาดของเฟอร์นิเจอร์ทุกตัวรวมถึงกะขนาดพื้นที่สำหรับจัดวางข้าวของทุกชิ้น  เพื่อจะได้นำไปจัดวางในแปลนได้อย่างพอดี  เฟอร์นิเจอร์เก่าบางตัวก็ทำสีใหม่เป็นสีขาวบ้าง  เพื่อให้ดูทันสมัยและเข้ากับบ้านมากขึ้น

“บ้านนี้ออกแบบให้ลมธรรมชาติพัดผ่านสบาย  ขณะเดียวกันก็มีส่วนชายคาป้องกันฝนด้วย  รายละเอียดบางส่วนยังได้ไอเดียมาจากผู้ช่วยศาสตราจารย์สุริยารัตนพฤกษ์  เช่น  การทำบ้านยกสูงขึ้นจากพื้นประมาณ 1 เมตร  เพื่อป้องกันปลวก  ความชื้น  และการทำรั้วโปร่งๆ  โดยใช้ต้นไม้พื้นบ้านภาคเหนือที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรกับคนในชุมชน  และช่วยให้ลมสามารถพัดผ่านเข้าออกได้ง่าย”

mediumhouse บ้านขนาดกะทัดรัด
ห้องนอนชั้นบนทำหน้าต่างบานสูงจากพื้นจรดเพดานสามารถรับลมและวิวธรรมชาติสีเขียวรอบตัวได้อย่างเต็มตา
บ้านขนาดกะทัดรัด mediumhouse
พื้นที่ระเบียงชั้นสองเปิดโล่งสำหรับปรับปรุงเป็นพื้นที่สังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูงในอนาคต  ปัจจุบันอาจารย์สันต์ใช้เป็นมุมอ่านหนังสือในวันว่าง

ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมบ้านที่ดูเรียบง่ายหลังนี้จึงมีรายละเอียดที่ลงตัวในทุกจุด แถมยังรู้สึกอยู่สบายกว่าบ้านหลังใหญ่บางหลังเสียด้วย นั่นเพราะได้สถาปนิกเก่งๆ มาช่วยกันออกไอเดียนั่นเอง ทีมงาน “บ้านและสวน” ทุกคนลงความเห็นว่า บ้านหลังนี้นอกจากมีบรรยากาศที่ดูอบอุ่นแล้ว ยังได้ความรู้สึกเย็นสบายอย่างไม่ต้องง้อเครื่องปรับอากาศเลยจริงๆ ขอยกให้เป็นบ้านตัวอย่างสำหรับผู้ที่กำลังตกลงใจไปลงหลักปักฐานในต่างจังหวัดซึ่งมีอากาศดี รายล้อมด้วยธรรมชาติ พร้อมมีคนที่รักอย่างคุณพ่อคุณแม่อยู่ใกล้ๆ ค่ะ

ออกแบบเลขที่บ้านให้วางพอดิบพอดีกับตู้จดหมายซึ่งทำให้เป็นส่วนหนึ่งของรั้วไปเลยดูลงตัวและใช้งานได้ดี
ออกแบบที่ทิ้งขยะให้เปิดใส่ถุงขยะที่ด้านบนแต่ก็สามารถเปิดบานประตูที่อยู่ด้านข้างเพื่อทำความสะอาด รวมทั้งมีช่องระบายความอับชื้นด้วย
ในพื้นที่กลางแจ้งติดตั้งโคมไฟส่องสว่างสูงจากพื้นประมาณ 70 เซนติเมตร ระหว่างโครงสร้างเสา เพราะเวลากลางคืนในต่างจังหวัดจะมีแมลงมาเล่นแสงไฟเสมอ การติดโคมไฟเตี้ยๆ ทำให้แมลงไม่รบกวนการใช้งานพื้นที่เท่ากับการติดไฟบนที่สูง
ยกพื้นบ้านชั้นหนึ่งให้สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร และเกลี่ยผิวดินให้เรียบไม่มีแอ่งน้ำใช้วางคอนเดนเซอร์ ระบบท่อต่างๆ และสามารถมุดเข้าไปดูแลรักษาได้เป็นอย่างดี
รั้วบ้านปลูกชาพื้นเมืองของชาวเหนือ คนเชียงใหม่นิยมปลูกเป็นไม้ริมรั้ว โดยอาจารย์สันต์ทำโครงเหล็กเส้นโปร่งๆ เป็นแนวรั้วระหว่างที่รอให้ต้นไม้โตทันใช้

เรื่อง : กรวรรณ คันโธ

ภาพ : ฤทธิรงค์, ปิยะวุฒิ


บ้านไม้หลังเล็กขนาดพอดี

10 บ้านไม้หลังเล็ก โอบกอดด้วยธรรมชาติ