บ้านดินหลังงามที่มีกลิ่นอายแบบไทยโมเดิร์น มีสนามหลังบ้านให้ออกไปเดินเล่นผ่อนคลายอิริยาบถ สัมผัสกับวิวทุ่งนาได้สุดสายตา โดยในความเป็นไทยของบ้านนี้คือการมีองค์ประกอบแบบไทย ๆ เช่น หลังคาและวัสดุต่าง ๆ ส่วนโมเดิร์นคือการเน้นใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อช่วยให้บ้านอยู่สบายขึ้นในบริบทแบบไทย
แม้ว่า “เชียงใหม่” จะเปลี่ยนแปลงไปหลาย ๆ ด้านด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและวิถีการดำเนินชีวิต แต่ถึงอย่างไรก็ยังคงมีเสน่ห์ ในแบบเฉพาะตัวซึ่งไม่มีใครลอกเลียนได้ จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร ที่นี่ก็ยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ไม่เสื่อมคลาย รวมไปถึงการเป็นจุดหมายของการมาพักอาศัยสร้างบ้านที่อบอุ่นสำหรับครอบครัวท่ามกลางธรรมชาติบริสุทธิ์ ซึ่งตอบโจทย์ทั้งความเรียบง่าย เงียบสงบ ห่างไกลจากเมืองที่พลุกพล่าน แต่ไม่ทิ้งความสะดวกสบายไปเสียทีเดียว จากองค์ประกอบที่ครบถ้วนนี้ ทำให้ คุณพอล วัลเลอร์ และ คุณธัญชนก สุวรรณชัย ตัดสินใจเลือกอำเภอหางดง ซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่เพียง 30 นาทีเพื่อสร้างบ้านหลังงามที่มีกลิ่นอายแบบไทยโมเดิร์น มีสนามหลังบ้านให้ออกไปเดินเล่นผ่อนคลายอิริยาบถ สัมผัสกับวิวทุ่งนาได้สุดสายตา โดยในความเป็นไทยของบ้านนี้คือการมีองค์ประกอบแบบไทย ๆ เช่น หลังคาและ วัสดุต่าง ๆ ส่วนโมเดิร์นคือการเน้นใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อช่วยให้บ้านอยู่สบายขึ้นในบริบทแบบไทย มี คุณมาร์คูส โรเซลีบ สถาปนิกจากบริษัท Chiangmai Life Architects (CLA) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการนำวัสดุธรรมชาติมาออกแบบและสร้างงานสถาปัตยกรรมได้อย่างมีเอกลักษณ์ มาช่วยดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ จนกระทั่งการก่อสร้างแล้วเสร็จ
A Tale of Earth and Wood คือ ตัวแทนของ บ้านดิน ที่ออกแบบเพื่ออยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งหมด 696 ตารางเมตร เริ่มต้นการออกแบบที่การวางแปลนเป็นรูปตัวยู (U) โดยแบ่งฟังก์ชันออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งมีแนวคิดต้นแบบมาจากเรือนหมู่แบบบ้านไทย ด้วยการ กำหนดอาคารหลังใหญ่ไว้ทำหน้าที่เป็น พื้นที่ส่วนกลางด้านหน้าซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์มีไว้สำหรับกิจกรรมนันทนาการ ต่างๆของครอบครัว เช่น ปิงปอง และโต๊ะพูล ก่อนจะขยับเข้าสู่พื้นที่ด้านในที่ออกแบบเป็นพื้นที่แบบดับเบิ้ลสเปซโปร่งสบาย ประกอบด้วยมุมรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น และห้องครัว มีบันไดขึ้นไปยัง พื้นที่ทำงานและพักผ่อนด้านบน สามารถชมวิวธรรมชาติรอบ ๆ บ้านในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม ส่วนอีกด้านหนึ่งของบ้านเป็นสระว่ายน้ำสร้างขนานไปกับตัวบ้าน พร้อมวิวทุ่งนาสวย ๆซึ่งจะเปลี่ยนสีสันไปตามฤดูกาล ทำให้วิวหลังบ้านไม่เคยซ้ำกันเลยในแต่ละเดือน
ถัดมาคือการวางตำแหน่งของห้องนอนให้แยกจากอาคารส่วนกลาง โดยออกแบบตามไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านที่มักจัดปาร์ตี้ หรือมีเพื่อนสนิทและญาติผู้ใหญ่จากประเทศอังกฤษมาพักด้วยเป็นประจำ การออกแบบห้องนอนแยกไว้ด้านหนึ่งต่างหากนี้ นอกจากช่วยในเรื่องของความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังช่วยให้แต่ละห้องดูปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ดีกว่าการแบ่งห้องให้อยู่ในอาคารหลังเดียวแบบบ้านทั่วไป แถมยังสามารถเปิดมุมมองออกสู่วิวธรรมชาติรอบๆได้ ซึ่งเหมาะกับการพักผ่อนอย่างแท้จริง
ส่วนความพิเศษของบ้านหลังนี้ส่วนหนึ่งอยู่ที่วัสดุที่เลือกใช้ เพราะสถาปนิกเป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบและสร้าง บ้านดิน เขาจึงออกแบบให้ผนังบ้านทั้งหมดสร้างด้วยดิน (Fine-Earth Wall Plaster) ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษสามารถกักเก็บความเย็นจากธรรมชาติได้ยาวนาน ช่วยให้บ้านไม่ร้อน ขณะเดียวกันก็มีความแข็งแรงไม่แพ้ผนังแบบทั่วไป เมื่อก่อเสร็จแล้วจึงค่อยฉาบผิวหน้าให้เรียบ หากมองด้วยตาเปล่าแทบจะแยกไม่ออกว่าผนังบ้านทำจากดินหรือก่ออิฐฉาบปูน และอีกส่วนที่มีความสำคัญคือหลังคาบ้านแบบไทยตามแบบที่เจ้าของต้องการ เพื่อให้เข้ากับบริบทของชุมชนรอบ ๆ จนมาลงตัวที่หลังคาแบบมนิลากรุ Wood Shingles รุ่นพิเศษบนแผ่นหลังคา ซึ่งไม่ผ่านการเคลือบสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม น้ำฝนที่ชะจากหลังคาลงดิน จึงไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อต้นไม้หรือสัตว์ใดๆเลย
แม้เรื่องฟังก์ชันและวัสดุที่ใช้จะลงตัวแล้ว แต่เรื่องสัดส่วนความสวยงามของบ้านกลับเป็นเรื่องที่สถาปนิกยอมรับว่ามีความท้าทายไม่น้อย เนื่องจากตัวบ้านเป็นบ้านเดี่ยวที่สร้างกลางที่โล่ง ประกอบกับฟังก์ชันส่วนกลางที่เป็นดับเบิ้ลสเปซ ทำให้สัดส่วนของบ้านทั้งภายในและภายนอกต้องมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ทุกอย่างภายในบ้านหลังนี้จึงต้องออกแบบใหม่ทั้งขนาดและสัดส่วน เพื่อให้เกิดความสวยงามทั้งมุมมองจากภายนอกและภายใน โดยยังคงฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของสมาชิกทุกคนในบ้านอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
กว่าบ้านหลังนี้จะออกแบบและก่อสร้างเสร็จต้องใช้เวลากว่าสองปี เพราะนอกจากการออกแบบและก่อสร้างตัวบ้านแล้ว พื้นที่ที่สร้างบ้านแต่เดิมยังเป็นสวนลำไย จึงต้องมีการปรับพื้นที่อยู่นานพอสมควร ซึ่งการสร้างบ้านหลังนี้ไม่เพียงแต่สร้างความสุขให้เจ้าของบ้าน สำหรับสถาปนิกเองก็มีความสุขและสนุกไม่แพ้กัน
“ความสนุกในการออกแบบบ้านคือการออกแบบและสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เจ้าของบ้าน ทั้งเรื่องของดีไซน์ วัสดุและเทคโนโลยีเพื่อให้บ้านอยู่สบายและใช้งานได้จริงที่สุด การที่เห็นเจ้าของบ้านได้ใช้เวลากับฟังก์ชันที่เรา ออกแบบจริงๆ นั้นเรียกว่าความสุขอีกอย่างสำหรับผู้ออกแบบ เพราะถ้าหากบ้านสวย แต่ไม่สามารถอยู่ได้จริง หรือสวยแต่ร้อน อยู่แล้วไม่ตอบโจทย์ด้านไลฟ์สไตล์ ทุกอย่างก็ไม่มีความหมาย” คุณมาร์คูส โรเซลีบ สถาปนิกผู้ออกแบบโครงการกล่าวปิดท้าย
เจ้าของ : คุณพอล วัลเลอร์ และคุณธัญชนก สุวรรณชัย
ออกแบบ : Chiangmai Life Architects (CLA) โดยคุณมาร์คูส โรเซลีบ
ผลิตภัณฑ์ไม้ : Thaweephan Wood Products
เรื่อง : Ektida N.
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์ วรวัฒน์ ตุลยทิพย์