ความหอมกรุ่นและสีชมพูแสนอ่อนหวานของ “กุหลาบจุฬาลงกรณ์” กุหลาบไร้หนามพันธุ์พิเศษจากดอยแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เย้ายวนใจให้มีผู้คนปลูกมาเป็นระยะเวลานานสืบต่อจนประวัติศาสตร์ของที่มาเริ่มจางหายไปตามกาลเวลาคงไว้แต่เพียงพระนามาภิไธยแห่งกุหลาบสายพันธุ์นี้
ซื่งเมื่อเราเริ่มกลับเข้าไปสืบค้นถึงที่มากลับยิ่งพบกับความสวยงามของเรื่องราวที่อ่อนหวานเสียยิ่งกว่าความงามของกุหลาบนี้ เพราะนี่คือสัญลักษณ์แห่งตํานานรักของ “เจ้าดารารัศมี” เจ้าหญิงล้านนา และ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5”
“กุหลาบจุฬาลงกรณ์ เป็นดอกไม้ที่มีความหมายแห่งความระลึกถึงไม่ว่าจะเป็นของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีที่ทรงมีต่อล้นเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5 หรือของเราเองที่จะพึงมีต่อสองพระองค์ท่านเมื่อใดก็ตามที่เราได้เห็นกุหลาบจุฬาลงกรณ์ เราจะไม่ลืมระลึกถึงความรักที่พระราชชายาทรงเคยให้กับกุหลาบต้นนี้เมื่อ 80 ปีที่แล้ว” ข้อความส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ดารารัศมี – สายใยรักสองแผ่นดิน” กล่าวถึงเรื่องราวได้ชัดเจน
เจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรจากนครเชียงใหม่ ประสูติเมื่อวันอังคาร ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2416 เวลา 00.30 น.เศษ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ ทรงมีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา
หลังพระราชสวามีเสด็จสวรรคตเจ้าดารารัศมีจึงเสด็จนิวัตเชียงใหม่ แม้ไม่มีใครทราบประวัติที่มาของกุหลาบต้นแรกนี้แน่ชัด แต่คาดว่าด้วยเหตุที่พระองค์ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของราชสมาคมกุหลาบแห่งอังกฤษ จึงได้รับการถวายพันธุ์กุหลาบต่าง ๆ ทุกปี ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นกุหลาบขนาดใหญ่ สีชมพูระเรื่อ ไร้หนาม และส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา ซึ่งสันนิษฐานว่ากุหลาบต้นนั้นต่อมาจึงพระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์”เพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระสวามีผู้เป็นที่รักยิ่ง และโปรดให้ปลูกกุหลาบพันธุ์นี้รอบพระตําหนักดาราภิรมณ์เพื่อสักการะพระราชสวามีทุกวัน
กุหลาบจุฬาลงกรณ์ เป็นกุหลาบมอญสีชมพูเข้ม ลักษณะต้นเป็นพุ่มขนาดกลาง สูงชะลูด ดอกออกเดี่ยว ชูช่อสง่าสวยงาม กิ่งก้านมีทั้งชนิดมีหนามและไม่มีหนาม เมื่อแก่โคนต้นจะเป็นสีน้ำตาล หากปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นจะให้ดอกดกและมีขนาดใหญ่ บานเต็มที่ตอนเช้า ขนาด 6-8 เซนติเมตร กลีบดอกเรียงซ้อนกันประมาณ 45 กลีบ ออกดอกได้ตลอดทั้งปี มีกลิ่นหอมเย็น ปัจจุบันมีการปลูกเลี้ยงกันอยู่ทั่วไปในภาคเหนือของประเทศไทย รวมไปถึงบริเวณสวนหน้าพระตำหนักดาราภิรมย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่
กุหลาบชนิดนี้กิ่งก้านยาวสูง จึงต้องปักไม้พยุงต้นและไม่ควรปล่อยให้ต้นสูงเกิน ควรตัดลงให้ต่ำที่ก้านดอกที่โรยแล้ว และควรตัดกิ่งครั้งใหญ่ปีละ 2 ครั้ง ระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน และเดือนเมษายน – พฤษภาคม โรคที่ต้องระวังคือ โรคใบจุดดำ โรคบอไทรทิส แคงเกอร์ที่กิ่ง โดยเฉพาะโคนกิ่ง เมื่อพบอาการสามารถตัดกิ่งที่เป็นโรคทิ้งได้เลย และใช้ยาพ่นรักษาตามโรค
เรียนรู้วิธีปลูกกุหลาบให้สวย ฉบับย่อที่ทำได้ง่าย