ขณะนี้มีข่าวว่ากทม.กำลังมีโครงการปรับปรุงสองฝั่งคลองช่องนนทรีจากถนนสุรวงศ์ถึงถนนพระรามสาม เป็นระยะทาง 4.5 กิโลเมตร โครงการพาดผ่านสามเขตคือ บางรัก สาธร ยานาวา โดยจะทำเป็นสวนสาธารณะเลียบริมคลองไปตลอดทั้งสองฝั่ง ใช้งบประมาณ 980 ล้านบาท แบ่งการทำงานเป็นห้าช่วง ในช่วงแรกนี้เริ่มจากถนนสาธรถึง ซอยนราธิวาสฯ 7 ระยะทาง 200 เมตร แล้วเสร็จต้นปี 2565 ที่เหลือค่อยๆของบและค่อยๆทำไปจนเสร็จ
คลิป : สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี
โครงการ สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี เป็นโครงการที่ดีครับ เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้บริเวณย่านธุรกิจกลางเมืองอย่างนั้นสวยงามร่มรื่น ข้อสำคัญคือ มีการออกแบบชายตลิ่งให้ลดหลั่นเป็นชั้นเชิงลงไปสู่คลอง ทำลายตลิ่งชันขอบคอนกรีตสูงทิ้ง ขอบเขื่อนแบบนั้นทำให้คลองดูเป็นท่อระบายน้ำมามากต่อมากแล้ว มีสถาปนิกเก่งๆให้ความเห็นเกี่ยวกับการออกแบบชายฝั่งคลองเอาไว้หลายท่าน คือท่านไม่เห็นด้วยกับการทำคลองให้ดูเป็นท่อระบายน้ำโสโครก แต่ก็ยังมีการสร้างขอบเขื่อนแบบนี้กันขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ เข้าใจว่าเพราะเขตที่ดินบังคับ แต่คลองที่ไม่มีปัญหาเรื่องเขตที่ดินเช่นคลองสาทร คลองบางกอกน้อย และที่อื่นๆสามารถทำตลิ่งลดหลั่นแบบนี้ได้ ดีกว่าไปสร้างถนนคร่อมคลอง คร่อมแม่น้ำอย่างที่เคยทำกันมา
อีกเรื่องที่อยากเสนอไอเดียคือ จัดให้มีซุ้มขายของตลอดระยะทางเอาตรงที่พอมีพื้นที่ เช่น ตรงลานอเนกประสงค์ หรือลานเล็กที่ทำไว้ป็นระยะๆตลอดเส้นทาง ของที่น่าจะขายที่สุดน่าจะเป็นอาหาร นอกจากนั้นก็เป็นร้านขายหนังสือและอะไรอื่นๆตามความเหมาะสม เพราะย่านนั้นเป็นย่านคนทำงาน ตอนกลางวันคนทำงานต้องออกมาหาอาหารรับประทานกัน ส่วนใหญ่ก็เป็นร้านในตรอกซอกซอยแถวนั้น ถ้าเราทำเป็นซุ้มเล็กๆ สวยๆ ขายอาหารฟาสต์ฟู้ดที่นั่งกินง่ายๆเร็วๆไม่แพง ไม่ต้องมีโต๊ะก็นั่งกินได้ ให้คนได้ออกมานั่งตากลม กินอาหารในสวน ที่ร่มรื่น ปลอดโปร่งจะทำให้อาหารอร่อยขึ้น หัวก็ไม่เหม็นด้วยเมื่อต้องกลับไปทำงาน
ที่นี้อยากจะขยี้เรื่องซุ้มอาหารเพิ่มเติม หลายคนอาจเป็นห่วงเรื่องความสะอาดสวยงามของสถานที่จะถูกทำลายลงเมื่อมีร้านอาหารในสวน ก็ขอเสนอว่าให้ออกแบบซุ้มสวยๆ เก้าอี้นั่งสวยๆ ถังขยะสวยๆและมีมากพอ คนไทยดี๋ยวนี้ไม่ทิ้งส่งเดชเหมือนสมัยนานมาแล้ว ทางกทม.เองก็คงจะมีการดูแลสวนในความรับผิดชอบของเขาเหมือนกับดูแลสวนสาธารณะทั่วๆไปอยู่แล้ว เมื่อมีความร่วมมือระหว่างคนมาใช้สวนกับคนดูแลสวนช่วยกันใช้สถานที่อย่างถูกต้องเหมาะสม ปัญหาที่ห่วงก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น
เรื่องการเลือกเจ้าที่จะเข้ามาขายอาหารนั้นขอเสนอว่าให้ใช้วิธีบ่มเพาะสตาร์ทอัพอาหารกันเลยคือ เลือกจากผู้มีรายได้น้อยในสามเขตที่สวนพาดผ่านนั่นแหล่ะ วิธีเลือกก็เลือกจากผู้มาลงทะเบียนบัตรคนจนก็ได้เพราะมีการคัดสรรกันไว้แล้วว่ามีรายได้น้อยจริง ข้อสำคัญคืออาหารต้องอร่อย อร่อยจนเป็นที่ขึ้นชื่อ ขายในราคาที่คนทำงานแถวนั้นจะฝากท้องกันเป็นประจำได้ ต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติกันเลย เพราะเราจะให้เวลาขายอยู่ที่นี่เพียงสามปีเท่านั้น มีเวลาสามปีที่จะสะสมชื่อเสียงและเงินทุนแล้วก็ต้องย้ายออกไปหาที่ขายที่อื่นพร้อมกับมีแฟนๆตามไปกิน ปล่อยให้คนอื่นได้เข้ามาบ่มเพาะชื่อเสียงและเงินทุนบ้าง
ในการนี้กทม.เองก็ต้องดูแลการบ่มเพาะนี้ด้วยการเก็บสตางค์อย่างถูก เรียกว่าเป็นค่าบำรุงก็ได้ ไม่ใช่ค่าเช่า เพราะถ้าคิดเป็นค่าเช่าก็คงต้องแพง ไม่พ้นนายทุนใหญ่เล็กได้เข้ามาครอบครองอีกเช่นเคย ซุ้มขายอาหารกทม.ก็เป็นผู้ลงทุนสร้างและดูแลรักษา ที่ตรงนี้เป็นที่กลางย่านธุรกิจที่มีผู้คนหนาแน่น ควรเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ใช้โอกาสก่อร่างสร้างตัวบ้าง ดีกว่าเอาเงินไปแจกกันเฉยๆ แบบนี้เราก็จะมีสวนสาธารณะที่ไม่ใช่แค่สวนริมคลองที่ยาวที่สุดในกทม. แต่เป็นสวนสวยที่มีชีวิต และสร้างชีวิตให้แก่ผู้คน อีกด้วย
เรื่อง : ประพันธ์ ประภาสะวัต
ภาพ : เพจ เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง – Earth Pongsakorn Kwanmuang