บ้านปูนชั้นเดียว ที่ยกใต้ถุนสูงเผื่อน้ำท่วม

บ้านปูนชั้นเดียว เท่ๆ หลังนี้ยกใต้ถุนขึ้นสูงประมาณ 1.60 เมตร เนื่องจากเคยมีน้ำท่วมมาก่อน มีชายคาคอนกรีตยื่นยาวประมาณ 4 เมตรโดยไม่มีเสารองรับ เพราะตั้งใจให้เป็นที่จอดรถ

onestoryhouse บ้านปูนชั้นเดียว
ข้างเคียงตัวบ้านเป็นอาคารชั้นเดียวหลังเล็กๆ ซึ่งเป็นร้านขายของชำของเจ้าของบ้านเอง สร้างรั้วโปร่งเพื่อแบ่งกั้นการใช้งานแต่ไม่ทำให้ภายในบ้านอึดอัด
onestoryhouse บ้านปูนชั้นเดียว
บ้านโมเดิร์นที่ยกใต้ถุนสูง ทั้งความเรียบบางและวัสดุที่ใช้ทำให้ตัวบ้านดูกลมกลืนกับเพื่อนบ้านและยังคงความน่าอยู่ไว้อย่างครบถ้วน

บ้านปูนชั้นเดียว หลังนี้เป็นของ คุณขวัญชัย สุธรรมซาว ผู้ก่อตั้งสำนักงานสถาปนิกแผลงฤทธิ์ซึ่งตั้งใจสร้างบ้านนี้ให้คุณพ่อ คุณแม่ และน้องชาย ตัวบ้านตั้งอยู่บนที่ดินเดิมของบ้านคุณพ่อคุณแม่ ภายในชุมชนเล็กๆ ที่เงียบสงบของอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นบ้านที่น่าอยู่และไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่เป็นบ้านที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ของผู้อยู่อาศัย

รูปแบบของบ้านปูนชั้นเดียวนี้ดูโมเดิร์นทั้งหน้าตาและวิธีการคิด เส้นสายที่ตรงไปตรงมาและการออกแบบที่เน้นเรื่องการใช้งานเป็นหลัก ทำให้บ้านนี้ดูเข้ายุคสมัย คุณขวัญชัยบอกว่า นำวัสดุบางส่วนจากบ้านเก่าซึ่งปลูกในบริเวณใกล้เคียงกันมาซ่อมแซมและออกแบบใช้ใหม่กับบ้านนี้ให้มากที่สุด นอกจากช่วยประหยัดงบประมาณการก่อสร้างได้มากแล้วยังเป็นการรียูส (reuse) ซึ่งไม่ทำลายทรัพยากรโลกอีกด้วย เช่นไม้ทำระแนงและผนังตกแต่งก็เป็นไม้ส่วนพื้น บันได และจันทันของบ้านเก่า ผนังภายนอกของบ้านที่มีผิวเป็นคลื่นเป็นลอนก็คือกระเบื้องลอนคู่ของบ้านเก่าเช่นกัน นำมายึดติดกับผนังก่ออิฐเลย ไม่ต้องฉาบก่อน ประหยัดค่าฉาบผนังได้อีก

onestoryhouse บ้านปูนชั้นเดียว
สถาปนิกออกแบบบันไดของบ้านไว้ที่ภายนอก กล่าวคือ ไม่มีผนังปิดล้อม มีเพียงหลังคาที่ยื่นยาวคลุมจากตัวบ้าน เพื่อให้ได้สัมผัสกับสายลมและแสงแดดอย่างแท้จริง
onestoryhouse บ้านปูนชั้นเดียว
โครงสร้างหลักของบ้านเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและมีเหล็กเป็นส่วนประกอบในบางช่วงที่ต้องการความแข็งแรงมากกว่าปกติ
onestoryhouse บ้านปูนชั้นเดียว
ต้นไม้เดิมที่อยู่ในพื้นที่บ้าน สถาปนิกตั้งใจเก็บไว้และออกแบบให้บ้านสามารถอยู่ร่วมกับต้นไม้ได้ โดยการเจาะพื้นและหลังคา ปล่อยให้แสงแดดและสายฝนเข้ามามีบทบาทในบริเวณนี้ด้วย
onestoryhouse บ้านปูนชั้นเดียว
หลังคาคอนกรีตที่ยื่นยาวช่วยบังแดดที่จะสาดส่องเข้ามาภายในบ้าน อีกทั้งยังเป็นการช่วยเน้นเส้นสายความเป็นบ้านโมเดิร์นได้เป็นอย่างดี
onestoryhouse บ้านปูนชั้นเดียว
ส่วนครัวจริงนั้นอยู่ด้านข้างบ้านซึ่งแยกออกไปเล็กน้อย เพื่อการระบายอากาศที่ดี
onestoryhouse บ้านปูนชั้นเดียว
ห้องครัวเรียบง่ายเป็นพื้นที่กึ่งภายนอกสามารถระบายอากาศได้ดี

บ้านชั้นเดียวหลังนี้มีการยกใต้ถุนขึ้นสูงประมาณ 1.60 เมตร เนื่องจากพื้นที่นี้เคยมีน้ำท่วมมาก่อน เจ้าของบ้านจึงอยากได้บ้านที่มีใต้ถุนเพื่อความอุ่นใจเวลาน้ำมา และพื้นที่นี้ยังใช้เป็นที่จอดรถและใช้งานในบางกิจกรรมหรือเป็นที่เก็บของได้ด้วย ข้อดีอีกอย่างของการยกพื้นก็คือ ทำให้บ้านไม่ร้อน เพราะลมพัดพาเอาความร้อนออกไปได้มากขึ้น

บ้านวางผังเป็นรูปตัวแอล (L) ทำช่องเปิดรับแสงแดดยามเช้าด้านทิศตะวันออก แม้แสงจะสาดส่องเข้ามาถึงภายในบ้าน แต่ก็เป็นแสงอ่อนๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ส่วนผนังอาคารด้านที่หันสู่แสงแดดตรงๆ ก็มีระแนงแนวตั้งคอยกรองแสง วัสดุทำระแนงเป็นไม้จันทันหลังคาจากบ้านหลังเก่า เพียงคัดเลือกไม้สักนิด ขัดผิวตกแต่งอีกเล็กน้อย ก็ได้วัสดุแต่งบ้านที่ไม่รบกวนทรัพยากรโลกแล้ว บ้านหลังนี้ยังปล่อยให้ธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านโดยเก็บต้นไม้เดิมในพื้นที่ไว้เกือบทั้งหมด และสร้างบ้านให้อยู่ร่วมกับต้นไม้ได้ เช่น บริเวณทางเข้าหลักออกแบบให้ต้นไม้สามารถเติบโตทะลุหลังคาขึ้นไปได้เลย พื้นที่พักอาศัยประกอบด้วยส่วนเตรียมอาหาร ส่วนนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหาร ทั้งหมดเชื่อมต่อเนื่องกันโดยไร้ผนังทึบกั้นเป็นรูปแบบการจัดห้องสไตล์โมเดิร์นที่เราคุ้นเคย ยกเว้นครัวไทยที่มีการแยกออกไปเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นขณะปรุงอาหารเข้ามารบกวนภายในบ้าน ถัดเข้าไปเป็นห้องนอนและห้องพระ การตกแต่งภายในเรียบง่าย เน้นความโปร่งโล่งและใช้โทนสีสบายตาอย่างขาว น้ำตาล และฟ้าอ่อน

onestoryhouse บ้านปูนชั้นเดียว
บ้านหลังนี้มีหน้าต่างสูงจากพื้นถึงฝ้าเกือบทั้งหมด เพื่อการเปิดรับลมที่ดีและเป็นไปตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ใช้ราวเหล็กกันตกแทนการก่อผนังทึบ
onestoryhouse บ้านปูนชั้นเดียว
โต๊ะกลางจากไม้ขั้นบันได สิ่งนี้ก็เป็นผลจากการที่สถาปนิกเข้ามาดูไซต์งานเป็นประจำ จึงเห็นว่ามีวัสดุเหลือจากการรื้อบ้านเก่าอยู่บ้าง โต๊ะกลางตัวนี้ทำจากไม้ขั้นบันได ทั้งหนาและแข็งแรง
onestoryhouse บ้านปูนชั้นเดียว
ผังภายในดูเรียบง่าย มีความต่อเนื่องไร้ผนังทึบกั้น เข้ามาภายในบ้านจะพบส่วนรับประทานอาหาร ส่วนเตรียมอาหารและส่วนนั่งเล่นที่ดูโปร่งสบาย
onestoryhosue บ้านปูนชั้นเดียว
แนวคิดในการทำช่องเปิดของบ้านหลังนี้คือ ด้านที่เปิดได้และเหมาะสมก็จะเปิดให้มากที่สุด และกิจกรรมต่างๆ ก็จะหันหน้ารับมุมมองที่สวยงามด้านนี้ ส่วนด้านที่ไม่เหมาะสมหรือติดข้างบ้านก็จะทำช่องเปิดเท่าที่จำเป็น

บ้านเรียบง่ายหลังนี้ยังมีส่วนที่ดูน่าตื่นเต้นแฝงอยู่ที่บริเวณชายคาคอนกรีตซึ่งยื่นยาวประมาณ 4 เมตรโดยไม่มีเสารองรับ เพราะตั้งใจให้เป็นที่จอดรถ การมีเสาจะทำให้จอดรถไม่สะดวก สถาปนิกใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณที่ซ่อนอยู่ภายในและยึดกับตัวคานโครงสร้างหลัก เพิ่มความแข็งแรงด้วยเหล็กเส้นที่ยึดโยงมาจากด้านบน จึงมั่นใจได้ในเรื่องความแข็งแรง แม้ดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว

เพราะการออกแบบที่แยบยลของทั้งสถาปนิกและวิศวกรนั่นเอง การออกแบบคือการแก้ปัญหา โดยหาทางออกที่ตอบทุกโจทย์ได้อย่างลงตัว บ้านหลังนี้ตอบโจทย์เรื่องการใช้วัสดุเก่าได้ดี เป็นตัวอย่างที่น่านำไปคิดทบทวน หากคุณอยากมีบ้านที่คุ้มค่าแบบนี้

onestoryhouse บ้านปูนชั้นเดียว
ระแนงไม้แนวตั้งซึ่งสร้างร่มเงาให้บ้าน ทำจากไม้เก่าที่รื้อมาจากบ้านหลังเดิมหากไม่พอก็เสริมด้วยไม้ใหม่บ้าง แต่ต้องเลือกสีของไม้ให้เข้ากัน

กระเบื้องหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ลอนคู่จากบ้านเก่า นำมาติดตั้งบนผนังก่ออิฐและทาสีทับ ทั้งประหยัดและได้พื้นผิวอาคารที่น่าสนใจ
เพียงนำระแนงจากไม้จันทันของบ้านเก่ามาขัดและทาสีเคลือบใหม่ ติดตั้งกับเหล็กฉากและร้อยเหล็กกลมที่ช่วงกลางแผ่นเพื่อความแข็งแรง ก็จะได้ระแนงไม้ที่ดูสวยและบังแดดได้ดีเยี่ยม
แน่นอนว่าในการก่อสร้างย่อมมีเศษวัสดุเหลือไม่มากก็น้อย ราวตากผ้านี้อาจไม่ได้เขียนมาตั้งแต่ในแบบก่อสร้างแต่การทำงานที่หน้าไซต์งานก็สามารถเติมแต่งไอเดียจากวัสดุเหล่านี้ได้
ชายคานี้ยื่นยาวกว่า 5 เมตร และไม่ต้องการเสารองรับเพราะทำเป็นที่จอดรถชายคานี้แท้จริงแล้วเป็นเหล็กรูปพรรณรูปตัวไอ (I) ยึดกับโครงสร้างเสาคานคอนกรีตของบ้านและยื่นยาวออกมา อีกทั้งยังมีเหล็กเส้นช่วยยึดรั้งด้านบนด้วย

เจ้าของ – ออกแบบ : คุณขวัญชัย สุธรรมซาว สถาปนิกแผลงฤทธิ์

เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

สไตล์ : ภควดี พะหุโล


บ้านปูนเปลือยผสมโครงเหล็กที่มีกลิ่นอายลอฟต์นิดๆ

บ้านปูนเรียบๆ ที่ตกแต่งด้วยงานไม้เก่า