กลับมากี่ครั้งก็ยังสวยเหมือนเดิม คงเป็นคําพูดที่ใช้ไม่ได้เสียแล้ว เมื่อเรากลับมาเยือนสวนป่าจัดเองของ คุณศุภสันติ์ ศีรษะพล อีกครั้ง นอกจากจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่าต้นไม้ยังเติบใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มรื่นและสวยงามยิ่งกว่าเก่าที่ภาคอีสาน จังหวัดอุดรธานี
เจ้าของและออกแบบ : คุณศุภสันติ์ ศีรษะพล – คุณรุ่งทิวา ไล้เลิศ
จากจุดเริ่มต้นที่ส่งภาพสวนเข้าร่วมสนุกในโครงการสวนจัดเองเมื่อปี 2553 กระทั่งในปี 2555 คุณศุภสันติ์ก็ชนะ รางวัลสุดยอดสวนจัดเองในที่สุด และทําให้ทุกครั้งที่เราเดินทางไปที่จังหวัดอุดรธานี ก็อดไม่ได้ที่จะกลับไปเยี่ยมเยียนสวน แห่งนี้อีกครั้ง มาถึงวันนี้คุณศุภสันติ์ไม่ได้เป็นเพียงเจ้าของร้าน ”ก๋วยเตี๋ยวเรือกุ๊กกิ๊ก” เพียงอย่างเดียว แต่ยังกลายเป็น นักจัดสวนไฟแรงที่มีผลงานน่าจับตามองมากมายในจังหวัดอุดรธานี เช่นเดียวกับต้นไม้หลายต้นที่เติบโต บางต้นก็ถูกย้าย และมีต้นใหม่เข้ามาแทนที่ แต่ยังมีตีนตุ๊กแกที่ขึ้นครึ้มเป็นฉากหลัง ในขณะที่บางต้นอย่างเฟินชนิดต่างๆ สับปะรดสี ลั่นทมและบีโกเนีย ก็กลายเป็นกลุ่มพุ่มใหญ่ ให้อารมณ์เหมือนสวนป่าเขตร้อน แต่ยังคงซ่อน กลิ่นอายของความเป็นสวนบาหลีเหมือนครั้งแรกที่มาเยือน ทําให้ทันทีที่เราเดินออกมาจาก ร้านก๋วยเตี๋ยวสู่พื้นที่ภายในสวน รู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในสถานที่จริงของสวนบาหลีที่ประเทศ อินโดนีเซีย
“แม้จะไม่ได้จบมาทางด้านนี้โดยตรง แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาสิบกว่าปีทําให้ผม ได้เรียนรู้และมีแรงบันดาลใจเริ่มต้นมาจาก ‘บ้านและสวน’ ย้อนกลับไปครั้งแรกเลย มีน้อง ที่รู้จักเอานิตยสารบ้านและสวนมาฝาก เปิดดูรูปอะไรไปเรื่อยเปื่อยแล้วก็รู้สึกชอบ หลังจากนั้นเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองชอบสวนบาหลี พื้นฐานที่มาจากวัฒนธรรมและความเชื่อในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู ทําให้เกิดรูปแบบสวนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวประติมากรรมรูปแกะสลักหินต่างๆ เช่น คน สัตว์ และลวดลายแบบพื้นเมือง สร้างบรรยากาศให้สวนดูลึกลับ มีมนตร์ขลัง สงบ น่าค้นหา และเต็มไปด้วยต้นไม้ที่เขียวครึ้ม” คุณศุภสันติ์เล่าให้ผมฟัง
ทางเดินภายในสวนยังคงใช้หินคลุก วางกระเบื้องทางเดินเป็นช่วงๆ เหมือนเดิม สิ่งที่เพิ่มเติมมาคือต้นไม้คลุมดิน ทั้งเฟินกนกนารี หนวดปลาดุกแคระ และซุ้มกระต่าย- เขียว ที่เริ่มแทรกเข้ามาอย่างเป็นธรรมชาติ ทดแทนต้นไม้บางต้นและสนามหญ้ามาเลเซีย ซึ่งชอบแดดและไม่สามารถทนในพื้นที่ซึ่งร่มมากได้เหมือนในปัจจุบัน ขณะที่สับปะรดสี เฟินลูกไก่ทอง และเฟินรัศมีโชติ ก็แผ่ใบกว้างกลายเป็นจุดเด่นในสวน เนื่องจากอยู่ใน พื้นที่ซึ่งรับแสงและความชื้นอย่างพอเหมาะ คล้ายเฟินต้นซึ่งเป็นไม้พื้นเมืองของบาหลี
“ในสวนส่วนใหญ่ผมเน้นที่ไม้ใบมากกว่า เพราะว่าสวนค่อนข้างร่ม แต่ก็จะแซม ด้วยไม้ใบสีบ้าง เช่น บีโกเนีย เฮลิโคเนีย สับปะรดสี ต้นไม้ส่วนใหญ่ก็ซื้อจากแถวนี้ และมีขยายพันธุ์เองบ้าง มีร้านก๋วยเตี๋ยวที่ผมกับแฟนช่วยกันทํา จัดสวนไปด้วยขายก๋วยเตี๋ยวไปด้วย มีความสุขไปอีกแบบ บางทีลูกค้าที่มานั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวเห็นสวน
แล้วชอบ เขาก็ให้ผมไปจัดสวนที่บ้านก็มี หลังๆ มานี้ผมเริ่มชอบสวนแนวตั้ง เพราะ สังเกตเห็นว่าบ้านที่สร้างใหม่เริ่มมีพื้นที่สวนน้อยลง จึงคิดว่าน่าจะตอบโจทย์ตามความ
ต้องการให้เจ้าของบ้านรวมถึงตัวเองด้วย”
ประติมากรรมซึ่งเป็นองค์ประกอบสําคัญอันเป็นจุดเด่นของสวนบาหลี บัดนี้เริ่มถูก บดบังโดยเหล่าต้นไม้ใหญ่น้อย ทั้งมอสส์ ตะไคร่น้ํา และวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมพื้นผิวตาม ธรรมชาติ น่าแปลกที่ทั้งหมดกลับยิ่งทําให้สวนแห่งนี้มีเสน่ห์และให้กลิ่นอายของสวนบาหลี มากกว่าเดิม บางครั้งหัวใจสําคัญของสวนบาหลีอาจไม่ใช่เพียงแค่นําองค์ประกอบทั้ง ฮาร์ดสเคปและพรรณไม้มารวมกัน แต่คือการสร้างความกลมกลืนและรักษาสมดุลระหว่าง มนุษย์กับธรรมชาตินั่นเอง
เรื่อง : “ปัญชัช”
ผู้ช่วยกองบรรณาธิการ : พฤทธิพร เพลินบรรณกิจ
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
บทความที่เกี่ยวข้อง