หากมีน้ำ มีปลาในสวน จะช่วยเพิ่มบรรยากาศความมีชีวิตชีวา และความสดชื่นได้เป็นอย่างดี บ้านและสวน จึงมีขั้นตอนการเตรียมทำ บ่อปลาคาร์ป พร้อมเทคนิคการดูแลปลาและบ่อปลาเบื้องต้นมาฝาก
หากใครที่กำลังมองหาไอเดียจัดสวน และอยากมี บ่อปลาคาร์ป ช่วยสร้างความเพลิดเพลิน สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้และลองทำตามกันได้เลยครับ
อปลาคาป
ตำแหน่งของ บ่อปลาคาร์ป
บ่อน้ำหรือบ่อปลาควรตั้งอยู่ในตำแหน่งที่แสงแดดส่องถึงในปริมาณที่พอดี หรือประมาณครึ่งวันเช้า เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคบางชนิด แต่ถ้าตำแหน่งของบ่อน้ำตั้งอยู่กลางแจ้ง โดนแดดจัดตลอดวัน ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดตะไคร่เขียวได้ง่าย จึงอาจปลูกต้นไม้ใหญ่บริเวณบ่อที่แสงแดดส่องเพิ่มขึ้น โดยเลือกพรรณไม้ชนิดที่มีใบใหญ่ ไม่ผลัดใบ เพื่อให้สามารถดูแลทำความสะอาดบ่อได้ง่าย
เตรียมบ่อปลาคาร์ป
บ่อเลี้ยง ปลาคาร์ป เป็นเรื่องของโครงสร้าง หากบ่อลึก 1×1 เมตร หมายถึงบ่อรองรับน้ำปริมาตรถึง 1 ตัน แต่หากทำไม่ดีก็มีสิทธิ์ร้าวเสียหายและยุ่งยากตามมาได้ ซึ่งความลึกของระดับน้ำไม่ต่ำกว่า 80 เซนติเมตร ความลึกที่เหมาะสมที่สุด คือ 1.80 เมตร ขนาดความกว้างขึ้นอยู่กับจำนวนปลาที่เลี้ยงและขนาดตัว โดยขนาดมาตรฐานอยู่ที่ 80 x 120 เซนติเมตร มีจุดรวมที่ต่ำสุดก้นบ่อสำหรับดูดน้ำและของเสียจากบ่อ เรียกว่า “สะดือบ่อ” เมื่อทำบ่อเสร็จใหม่ ๆ ควรแช่น้ำในบ่อไว้นาน 1 อาทิตย์แล้วปล่อยออก จากนั้นกักไว้อีก 3 วัน จึงค่อยเปิดระบบกรอง
รูปแบบของบ่อ
• แบบบ่อปลาทรงเหลี่ยมแบบเรียบ เหมาะกับพื้นที่จำกัด สามารถดูแลรักษาได้ง่าย ซึ่งอาจอำพรางขอบบ่อให้ดูเป็นธรรมชาติได้ด้วยหิน กรวด และพรรณไม้ โดยเลือกชนิดของไม้คลุมดินที่มีรูปทรงทอดเลื้อยขึ้นแทรกตามซอกหินที่วางประดับไว้ริมบ่อ และใช้วัสดุธรรมชาติ อย่าง หินกรวด หินแม่น้ำ หรือหินฟองน้ำ มาช่วยลดทอนขอบมุมของบ่อให้ดูสวยงามกลมกลืนไปกับสวนโดยรอบได้ และหากเป็นบ่อที่ต้องต่อระบบน้ำ ควรซ่อนท่อน้ำและสายยางที่เชื่อมระบบไว้ตามซอกหิน เพื่อไม่ให้ดูแปลกปลอม ภายในบ่ออาจมีทางเดินทอดข้าม ตกแต่งให้เข้ากันและดูเป็นธรรมชาติ หรือใช้หินที่ปิดบริเวณขอบบ่อเป็นที่สำหรับเดินเข้าไปดูแลบ่อก็ได้ แต่ทั้งนี้ควรให้สะดวกละปลอดภัยต่อการเดินด้วย
• แบบบ่อปลาฟรีฟอร์ม หรือฟอร์มเลียนแบบธรรมชาติ ให้ความรู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งสามารถออกแบบได้หลากหลายรูปทรง เพื่อให้เข้ากับตัวบ้านได้ เช่น ลักษณะแคบยาวคล้ายลำธาร หรือเป็นบ่อธรรมชาติเพื่อให้เข้ากับมุมน้ำตก
วางระบบกรอง
เนื่องจากปลาคาร์ปชอบอาศัยในน้ำที่สะอาดเป็นพิเศษจึงจำเป็นต้องมีบ่อกรอง ซึ่งควรมีขนาดประมาณหนึ่งในสามของบ่อปลา มีความลึกกว่าบ่อ เพื่อให้น้ำไหลไปบ่อกรองได้ง่าย ซึ่งตำแหน่งบ่อกรองสามารถซ่อนใต้พื้นทางเดิน ศาลาหรือหลังน้ำตกก็ได้นอกจากนี้ควรทำความสะอาดบ่อทุกเดือน
การเลือกใช้ปั๊มน้ำหรือเครื่องสูบน้ำ
การเลือกขนาดกำลังของปั๊มให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำในบ่อเป็นสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณา เพราะ หากใช้ปั๊มน้ำขนาดเล็กเกินไปกำลังส่งไม่เพียงพอ ใช้ไปไม่นานก็อาจชำรุดเสียหายได้ ต้องเปลี่ยนใหม่อยู่เสมอ แต่หากใช้ปั๊มตัวใหญ่ที่มีกำลังสูงในบ่อขนาดเล็ก ซึ่งปริมาณน้ำน้อย จะทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ซึ่งโดยปัจจัยที่นำมาพิจารณา ได้แก่ อัตรการไหล (Capacity – Q) ซึ่งจะบอกปริมาณน้ำต่อหน่วยเวลา แรงดันหรือแรงส่งน้ำ (Head – H) จะบอกความสูงเป็นเมตร ทั้ง Q และ H จะเป็นตัวกำหนดกำลังของเครื่องปั๊มน้ำซึ่งอาจจะบอกเป็นวัตต์ (W) กิโลวัตต์ (KW) หรือแรงม้า (HP)
เลี้ยงปลาทดสอบน้ำ
กรณีแรก หากมีการซ่อมแซมบ่อ ต้องนำปลาออกมาเลี้ยงแยกไว้ หรือนำไปฝากเพื่อนบ้านที่มีบ่อเลี้ยงปลา โดยก่อนปล่อยลงบ่อต้องแยกปลาไว้ เพื่อสังเกตพฤติกรรม หากไม่มีอะไรผิดปกติก็ปล่อยปลาลงได้ โดยค่อย ๆ วักน้ำในบ่อใส่ลงในภาชนะ เพื่อให้ปลาปรับตัวก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ เทปลาและน้ำในภาชนะทั้งหมดลงสู่บ่อ
ส่วนกรณีที่สอง หากป็นบ่อใหม่ควรใส่น้ำทิ้งไว้ในบ่อประมาณหนึ่งสัปดาห์ และนำปลาที่ซื้อมาใส่ในภาชนะ เพื่อสังเกตพฤติกรรมก่อนประมาณหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยเทลงในบ่อ ด้วยวิธีข้างต้นเพื่อให้ปลาปรับตัว
Tips บ้านหลังนี้ใช้วิธีปล่อยปลาเสือพ่นน้ำก่อนปลาคาร์ปหรือเลี้ยงคู่กัน เพราะ ปลาเสือพ่นน้ำจะมีความอ่อนไหวในเรื่องน้ำพอ ๆ กับปลาคาร์ป ถ้าปลาเสือพ่นน้ำมีร่างกายแข็งแรงดีก็สามารถเลี้ยงปลาคาร์ปได้เช่นกัน
การให้อาหาร
ควรให้ไม่เกินวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น และควรให้ทีละน้อย ๆ เพราะ ปลาคาร์ปมีระบบย่อยอาหารไม่เหมือนปลาชนิดอื่น ๆ หากมีเศษอาหารเหลืออยู่ในสระควรรีบตักออกในทันที เพื่อป้องกันน้ำเน่า อาหารที่ให้ควรเป็นเนื้อปลาบ่น ไส้เดือน ไรน้ำ ลูกน้ำ หนอนแก้ว หรือจะเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปก็ได้ตามความสะดวก
Tips เพื่อป้องกันปัญหาท่อปั๊มน้ำอุดตันควรใช้วิธีสังเกตว่าให้อาหารปลาปริมาณเท่าใดจึงจะไม่เหลือเศษค้างในบ่อ และใช้วิธีให้น้อย ๆ แต่บ่อยครั้งดีกว่า