เปิดประตูสู่สวนคลายเครียดด้วยหลักการออกแบบสวนที่เรียกว่า “Therapeutic Garden” หรือการจัดสวนเพื่อบำบัดโดยใช้ธรรมชาติเป็นตัวช่วย
โดยมีการปรับสมดุลของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่น่าสนใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสวนของคุณได้ง่าย ๆ เพราะจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ ประเทศสหราชอาณาจักร พบว่าความเครียดของคนเราสามารถลดลงได้ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ด้วยตัวอย่างรูปแบบวิธีการ ดังนี้
เลือกใช้พรรณไม้ที่ให้สัมผัสที่ดีแก่ประสาทสัมผัสทั้ง 5
ดร.โนอาห์ เลคซิน นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบัลติมอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าภาพและเสียงจากธรรมชาติช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและลดความกังวลของผู้ป่วยลงได้ โดยภายในสวนอาจจัดแต่งให้มีสัดส่วนที่ใช้พรรณไม้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ และงานฮาร์ดสเคปอีก 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลายแก่ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาความเครียดสะสมจากวิถีชีวิตคนเมืองที่เร่งรีบ
ประสาทสัมผัสการมองเห็น การเลือกใช้พรรณไม้สำหรับการมองเห็นถือเป็นโจทย์พื้นฐานที่การจัดสวนทุกประเภททำกันอยู่แล้ว ทั้งการเลือกใช้พรรณไม้ที่ให้สีสันจากดอกหรือใบตัดกันสวยงาม เพื่อกระตุ้นการมองเห็นและการรับรู้ถึงความตื่นตัวได้มากกว่าสีโทนเดียวที่ให้ความรู้สึกนิ่งและทึบตัน
การเลือกโทนสีเย็น เช่น เขียว ฟ้า น้ำเงิน ม่วง นั้นให้ความรู้สึกสงบ ส่วนการใช้โทนสีร้อน เช่น แดง เหลือง ชมพู ส้ม ก็ให้ความรู้สึกสดใส เบิกบาน กระปรี้กระเปร่า เมื่อนำพรรณไม้ในสองโทนสีนี้มาปลูกผสมกันก็ ควรจัดให้เป็นกลุ่มๆ และมีระยะห่าง เพื่อเวลามองจะยังรู้สึกโปร่ง และดูไม่อึดอัดจนเกินไป
ประสาทสัมผัสการได้กลิ่น เซลล์รับกลิ่นจะเชื่อมต่อโดยตรงกับสมอง กลิ่นหอมในธรรมชาติส่วนใหญ่มักทำให้รู้สึกผ่อนคลาย กลิ่นธรรมชาติหรืออากาศสะอาดทำให้มนุษย์รู้สึกสดชื่น เช่นเดียวกับกลิ่นไม่พึงประสงค์หรือเป็นพิษก็ทำให้มนุษย์รู้สึกเครียดได้ ต้นไม้หลายชนิดในบ้านเรามีกลิ่นหอม ทั้งชนิดที่ส่งกลิ่นตลอดทั้งวันและส่งกลิ่นในบางช่วงเวลาอย่างตอนเช้าหรือตอนกลางคืน โดยมีทั้งกลิ่นหอมที่มาจากใบ เช่น เตยหอม มินต์ ทาร์รากอน โรสแมรี่ และกลิ่นที่มาจากดอก เช่น มะลิ จำปีสายหยุด เล็บมือนาง พืชบางชนิดมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย เช่น กลิ่นมินต์ช่วยกระตุ้นความตื่นตัว กลิ่นกุหลาบช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย บรรเทาความอ่อนเพลียและแก้ปวดหัว กลิ่นกระดังงาช่วยให้หลับง่ายและลดอาการซึมเศร้า โดยต้องเลือกบริเวณปลูกที่คนสามารถเดินผ่านหรือนั่งเล่นพักผ่อนเพื่อสูดกลิ่นได้เต็มที่ตามต้องการ
ประสาทสัมผัสการได้ยิน ถือเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควรหากจะขจัดเสียงรอบตัวที่ไม่พึงประสงค์โดยเฉพาะในย่านชุมชนและเขตเมือง แต่การปลูกต้นไม้ใหญ่ทรงสูง เช่น ไผ่ อโศกอินเดีย หรือสนประดิพัทธ์ในระยะถี่ ๆ ใกล้กันก็ช่วยลดเสียงรบกวนได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งเมื่อมีลมพัด เสียงกิ่งไม้และใบไม้ที่ลู่ตามลมก็สร้างเสียงที่ให้ความรู้สึกสบายและผ่อนคลายได้ไม่น้อย หรือการปลูกต้นไม้ที่เป็นมิตรต่อนกอย่างหว้า ไทร และตะขบ ช่วยเรียกนกให้มาหาอาหารและอยู่อาศัยในสวน เสียงนกร้องก็จะช่วยเติมเต็มความรู้สึกเป็นธรรมชาติได้อย่างดี
ประสาทสัมผัสการลิ้มรส ผักสวนครัวหรือไม้กินได้ในบ้านเรามีอยู่เป็นจำนวนมากและหลากหลายชนิด สามารถปลูกหมุนเวียนผลัดกันเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นชนิดกินผล กินใบ กินหัว หรือกินดอก การเดินชมสวนไปพร้อมกับเก็บเกี่ยวผลผลิตเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยเติมเต็มความสุขในการพักผ่อนและสร้างอรรถรสในการลิ้มรสชาติผลผลิตในสวน ต้นไม้ที่เราสามารถเก็บผลผลิตมารับประทานได้เลยและออกผลผลิตอยู่เสมอ เช่น หญ้าหวาน หม่อน กล้วย ผักคอส มะเขือเทศ อัญชัน ฯลฯ แต่ไม่ควรใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายกับสวน เพื่อป้องกันสารพิษที่จะตกค้างมาสู่ร่างกายของเราได้
ประสาทสัมผัสผ่านผิวสัมผัส ต้นไม้ให้ผิวสัมผัสที่หลากหลายจากผิวลำต้น ทรงพุ่ม หรือใบ ไม่ว่าจะขรุขระ เรียบ หรือมัน การที่เราเข้าไปใช้งานในสวนและสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้จึงช่วยกระตุ้นการรับรู้และเข้าถึงธรรมชาติในสวนได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีศาสตร์ของจีนโบราณที่ส่งเสริมให้คนเดินเท้าเปล่าบนพื้นกรวดหรือสนามหญ้าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ช่วยในการทรงตัว รักษาสมดุลในร่างกาย และช่วยให้ความดันโลหิตเป็นปกติ โดยเฉพาะการเดินบนสนามหญ้านุ่ม ๆ ชุ่มน้ำค้างในช่วงเช้า ยังทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างเซลล์ประสาทได้ดี
สร้างสภาวะน่าสบาย
อุณหภูมิที่พอเหมาะกับการอยู่อาศัยและรู้สึกผ่อนคลายที่สุดอยู่ในช่วง 18-25 องศาเซลเซียส ถ้ามากหรือน้อยกว่านี้จะทำให้รู้สึกเครียด ไม่สบายตัว หรือเป็นอันตรายกับมนุษย์ เช่นเดียวกับความชื้นสัมพัทธ์ที่มนุษย์รู้สึกสบายจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 40 % RH – 60 % RH ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ในอุณหภูมิที่ 18-25 องศาเซลเซียสนั่นเอง
ในสวนที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส แต่หากมีค่าความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 60 % RH ก็ทำให้อากาศในสวนเกิดไอน้ำมาก เกิดคราบน้ำหรือละอองน้ำจำนวนมากเกาะอยู่ตามสิ่งต่าง ๆ และผิวของมนุษย์ ส่งผลให้วัสดุที่เป็นผ้าและพรมมีความชื้นสะสม ก่อให้เกิดเชื้อราและแบคทีเรียได้ง่าย และอาจทำให้เครื่องใช้ภายในสวนเสียหาย ไปจนถึงเกิดปัญหาทางสุขภาพได้ เพราะเราจะเริ่มรู้สึกไม่สบายตัว
การใช้ร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ช่วยลดอุณหภูมิจากแสงแดดได้ โดยเลือกไม้ยืนต้นที่มีลำต้นสูงขึ้นไปแผ่กิ่งก้านด้านบนจะเหมาะสมที่สุด เพื่อให้ลมฤดูร้อนสามารถพัดผ่านโคนต้นช่วยบรรเทาความร้อนได้ ไม่ควรปลูกต้นไม้หลายระดับขวางลมทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศทางของกระแสลมหลักของเมืองไทย ควรปลูกต้นไม้หลายระดับทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตกที่แดดค่อนข้างแรงและทำมุมเฉียง ร่วมกับการใช้วัสดุที่ช่วยสะสมความชื้น เพื่อไม่ให้อากาศแห้งจนเกินไปอย่างอิฐมอญ กรวดแม่น้ำ หรือหินฟองน้ำ ร่วมกับระบบสปริงเกลอร์แบบพ่นหมอก
จัดการนั่งให้สบาย
การนั่งพักผ่อนหรือนั่งทำงานในสวนช่วยลดปัญหาสุขภาพได้ โดยปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้พอดีกับระดับสายตา ใช้เก้าอี้ที่มีที่วางแขนเพื่อประคองข้อศอก และสามารถปรับระดับให้นั่งโดยงอเข่าทำมุม 90 องศากับพื้นขณะนั่งทำงานบนโต๊ะและปรับให้เอนหลังได้เมื่อต้องการหลับหรือพักผ่อน ปล่อยแขนขนานกับพื้น บริเวณเอวอาจหาหมอนหรือวัสดุนุ่มรองรับ หากต้องนั่งทำงาน เล่นคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานาน ทุก 1 ชั่วโมงควรหาโอกาสพักสัก 5 นาที วัสดุที่ใช้ทำที่นั่งควรเป็นวัสดุที่เป็นธรรมชาติ เช่น ไม้ หวาย หรือผ้า เพื่อให้สัมผัสที่อบอุ่นและเป็นธรรมชาติมากกว่าวัสดุที่ทำจากพลาสติกหรือโลหะ
งานฮาร์ดสเคปที่เหมาะสม
ขนาดและรูปทรงทำให้มนุษย์มีความรู้สึกต่างกันไป เช่น ขนาดใหญ่และกว้างทำให้มนุษย์รู้สึกเหงาและกังวล ส่วนขนาดเล็กและแคบทำให้มนุษย์รู้สึกอึดอัดและเครียด เราควรเลือกขนาดและรูปทรงให้สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในการทำกิจกรรมนั้น ๆ เช่น พื้นที่ที่มีขนาดเพียงพอให้คนสามารถอยู่ห่างกันได้ในระยะ 2 เมตร เพื่อให้รู้สึกปลอดภัยจากการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 และยังส่งผลในเชิงจิตวิทยาแก่ผู้คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จะได้ไม่รู้สึกอึดอัด
นอกจากนี้การเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างและเหมาะสมยังช่วยปกป้องมนุษย์จากอันตรายภายนอกได้ ทั้งยังส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ เช่น ผิวสัมผัสเรียบจะให้ความรู้สึกปลอดภัยและเป็นมิตรมากกว่าผิวสัมผัสขรุขระ วัสดุที่เกิดเงาสะท้อนทำให้ขนาดพื้นที่ดูโล่งและกว้างมากขึ้น สีของวัสดุที่ต่างกันก็กำหนดขนาดพื้นที่และสร้างความเป็นส่วนตัวหรือแบ่งพื้นที่ได้ วัสดุที่ทึบจะให้ความรู้สึกปลอดภัยแต่ก็รู้สึกอึดอัดไปด้วยพร้อม ๆ กัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก บริษัทฉมา จำกัด
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน และบริษัทฉมา จำกัด