ถ้าไม่บอกคงดูไม่ออกว่าบ้านดีไซน์จัดเต็มแบบนี้คือบ้านจัดสรรในโครงการ แถมยังเป็นคอนเซ็ปต์เฮ้าส์ที่ออกแบบในธีมปาร์ตี้ แล้วยังการันตีในดีไซน์จัดจ้าน ดีเทลแน่น ซึ่งออกแบบโดย Hyper-Haus ที่เป็นหนึ่งในบริการจาก Apostrophy’s Group มาดูกันว่าบ้านจัดสรรที่ใครๆต่างมีภาพจำว่าเป็นบ้านที่หน้าตาเหมือนๆกัน เมื่อผ่านการเมคโอเวอร์จะเป็นอย่างไร
ออกแบบตกแต่งภายใน / ก่อสร้าง / พร็อปส์สไตลิสต์ : HYPER-HAUS www.HYPER-HAUS.com
เมคโอเวอร์บ้านจัดสรร 100 ตารางวา
หลังนี้เป็นบ้านใหม่อยู่ในโครงการ บ้านจัดสรร ย่านราชพฤกษ์ พื้นที่ใช้สอย 320 ตารางเมตร บนพื้นที่ดิน 100 ตารางวา เจ้าของบ้านเป็นนักธุรกิจที่ชอบความพร้อม ความรวดเร็ว และการมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร บ้านจัดสรร พร้อมอยู่ในโครงการที่มีสาธารณูปโภคครบครันจึงตอบโจทย์ในขั้นแรก แล้วจึงสร้างเอกลักษณ์ด้วยดีไซน์และบริการออกแบบตกแต่งภายในจาก Hyper-Haus โดย คุณเบียร์ – พันธวิศ ลวเรืองโชค นักออกแบบ และ CEO Apostrophy’s Group เล่าถึงการออกแบบว่า “บ้านเดิมเป็นโครงสร้างเสาคานคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูนปกติ การทุบรื้อผนังจึงไม่มีปัญหาเหมือนผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ข้อจำกัดของบ้านคือมีพื้นที่ขนาดเล็ก และฟังก์ชันไม่ตรงกับการใช้งานที่เจ้าของบ้านต้องการ จึงเมคโอเวอร์ภายในบ้านใหม่ทั้งหมด มีการทุบรื้อค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อขยายหรือเชื่อมต่อพื้นที่เท่านั้น แต่เพื่อปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ขององค์ประกอบและวัสดุให้เข้ากับคอนเซ็ปต์บ้าน ความท้าทายคือทำบ้านที่เหมือนๆกัน ให้แสดงตัวตนแบบยูนีคสุดๆ พร้อมทั้งสร้างและตกแต่งพร้อมอยู่ในเวลาเพียง 5-6 เดือน”
Party House
ความสนุกของการออกแบบบ้านหลังนี้คือ เป็นการออกแบบบ้านตามคอนเซ็ปต์ปาร์ตี้เฮ้าส์ “Hyper-Haus ออกแบบตกแต่งภายในให้เจ้าของบ้านท่านนี้หลายหลังแล้ว โดยแต่ละหลังออกแบบไว้สำหรับการพักผ่อนในโอกาสต่างๆ คล้ายกับการไปเปลี่ยนบรรยากาศพักที่รีสอร์ต ซึ่งหลังนี้ออกแบบในธีมปาร์ตี้เฮ้าส์สำหรับการพักผ่อนและสังสรรค์แบบเป็นส่วนตัว ด้วยบรีฟจากเจ้าของบ้านอยากให้มีความเรียบง่ายในดีไซน์ที่จัดจ้านซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์ที่โดดเด่นของเรา จึงเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ และดีไซน์รอยต่อวัสดุให้มีน้อยที่สุดโดยให้ความสำคัญกับห้องปาร์ตี้ ซึ่งมีเล้านจ์เป็นห้องปิดที่มีความเป็นส่วนตัว มีห้องที่เปิดให้เชื่อมต่อกับมุมนั่งเล่นแบบกึ่งกลางแจ้ง และต่อเนื่องไปยังลานคอร์ตปาร์ตี้ในสวน เป็นการเชื่อมโยงให้เป็นพื้นที่เดียวกัน เพื่อรองรับการสังสรรค์ได้หลายรูปแบบ ทั้งบาร์บีคิวในสวน โอมากาเสะ เชฟส์เทเบิล หรือไนท์บาร์ที่มีสีสันของแสงไฟ”
Fifty Shades of Grey
การวางฟังก์ชันใหม่ในโครงสร้างเดิม เน้นการเปิดให้เชื่อมต่อกันทั้งด้านการใช้งานและการเชื่อมต่อทางสายตา ช่วยแก้ปัญหาพื้นที่ขนาดเล็กไม่ให้อึดอัดได้ ชั้นล่างเป็นห้องนั่งเล่นเชื่อมโยงกับส่วนรับประทานอาหาร ส่วนนั่งเล่นที่เฉลียงและลานคอร์ตในสวน ห้องครัวในแปลนเดิมจะมีแพนทรี่ โดยรื้อออกให้เหลือแต่ครัวไทย แต่กั้นด้วยประตูกระจกใสรองรับเชฟส์เทเบิลให้เห็นเวลาเชฟทำอาหาร มีเล้านจ์สำหรับร้องคาราโอเกะและปาร์ตี้ส่วนตัว ส่วนชั้นบนเป็นห้องทำงานและห้องนอน
“เป็นการตกแต่งที่ใช้ยุคมิดเซนจูรีมาเป็นแรงบันดาลใจ และด้วยเจ้าของบ้านชอบความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงใช้เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่ออกแบบและสั่งทำมาเฉพาะ อย่างแชนเดอเลียร์ตรงห้องโถงทำด้วยเหล็กเป็นเส้นๆ ที่สื่อถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม นำมาออกแบบให้เป็นเมทริกซ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพศิลปะมอนเดรียนของ Piet Mondrian และล้อไปกับโลโก้ของบ้านที่เราออกแบบด้วย แม้จะใช้วัสดุที่ดูเรียบง่าย แต่ก็มีรายละเอียดเชิงลึก การตกแต่งเน้นใช้วัสดุโทนสีเทาไปจนถึงสีดำ ซึ่งในบ้านนี้มีมากกว่า 50 เฉด บ้านนี้จึงมีอีกชื่อว่า ‘Fifty Shades of Grey’ อย่างห้องนอนใหญ่ที่ออกแบบให้ดูเป็นถ้ำ ผนังกรุลามิเนตที่ออกแบบการทำร่องให้สวยงามลงตัว เหลือเศษน้อย แล้วเพ้นต์ลวดลายให้มีเฉดสีและเท็กซ์เจอร์ใหม่ ซึ่งการเพ้นต์เป็นเอกลักษณ์ของเราในการสร้างดีไซน์พิเศษด้วยวัสดุทั่วไป”
ออกแบบบ้าน ออกแบบไลฟ์สไตล์
นอกจากการออกแบบตกแต่งบ้านแล้ว ความพิเศษของ Hyper-Haus คือยังออกแบบไลฟ์สไตล์ด้วย “อีกจุดเด่นคือโรงรถสีดำที่ต่อเติม โดยทำผนังระแนงเหล็กแนวตั้งสีดำโปร่งตาแต่แบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน หากมีปาร์ตี้ก็สามารถเปิดให้เชื่อมต่อพื้นที่กันได้ทั้งหมด และทำที่จอดรถไฮดรอลิกสำหรับซูเปอร์คาร์ การเลือกรถและชุดแต่งรถก็เป็นส่วนที่เราแนะนำเพื่อให้เข้ากับตัวบ้าน รวมถึงการดูแลไลฟ์สไตล์ด้านอื่นๆของเจ้าของบ้านและครอบครัวด้วย เช่น แฟชั่น การแต่งตัวออกงาน การจัดอีเวนต์ในบ้าน งานวันเกิด งานเลี้ยงต่างๆ ซึ่งจะมีทีมงานเข้ามาจัดบ้านตามอีเวนต์ และจัดเก็บของให้เข้าที่ตามเดิม การดูแลรักษาบ้าน การฝึกอบรมแม่บ้าน เป็นการดูแลกันในระยะยาวเสมือนเป็นบ้านของครอบครัว” เห็นแบบนี้แล้วต้องเชื่อเลยว่า การออกแบบสามารถสร้างสรรค์ได้ทุกอย่าง ทั้งการเปลี่ยนของธรรมดาให้มีความพิเศษ และออกแบบความรู้สึกของการกลับบ้านให้กลายเป็นความประทับใจ
คอลัมน์บ้านสวย นิตยสารบ้านและสวน มกราคม 2565
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ