บ้านไม้ ของ เขียนไขและวานิช โฮมสตูดิโอสไตล์พื้นถิ่น

บ้านไม้ สไตล์พื้นถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ที่โอบล้อมไปด้วยทิวทัศน์ของขุนเขาและทุ่งนา งดงามด้วยแนวคิดและวิถีชีวิตเรียบง่าย เป็นโฮมสตูดิโอและพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจของศิลปินเจ้าของเพลงดัง “แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร” เขียนไขและวานิช

Design Directory : Sher Maker

บ้านไม้พื้นถิ่น บ้านไม้พื้นถิ่นบ้านไม้พื้นถิ่น

“วอนให้ลมช่วยพัดหัวใจพี่ลอยไป จากดินแดนถิ่นเหนือที่ไกลแสนไกล สุดขอบฟ้าที่ไกลแสนไกลล่องลอยไป วอนให้ลมช่วยพัดหัวใจพี่ไปให้ถึง” เสียงเพลง “แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร” แว่วลอยมากับสายลม เพราะ บ้านไม้พื้นถิ่น เปิดรับลมธรรมชาติ มีชานทอดยาว หลังคาสูงโชว์โครงหลังคาไม้ ซึ่งโอบล้อมไปด้วยทิวทัศน์ของขุนเขาและทุ่งนา เป็นบ้านพักอาศัยของ คุณบลู-บุษราพรรณ ไพรทอง และ คุณโจ้-สาโรจน์ ยอดยิ่ง ศิลปินเจ้าของเพลงดัง “แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร” ที่บรรยายถึงความงามของสาวชาวเหนือจับจิตจับใจผู้คนมากมาย แต่ในชีวิตจริงนั้นสาวข้างกายเป็นคนระยองที่มีความฝันร่วมกันคืออยากปลูกบ้านที่เมืองเหนือแห่งนี้ โดยมี คุณโอ๊ต-ธงชัย จันทร์สมัคร และคุณตุ๋ย-พัชรดา อินแปลง สถาปนิกจาก Sher Maker เป็นผู้ออกแบบรังสรรค์ให้บ้านในฝันของพวกเขาทั้งสองได้เป็นจริง

บ้านไม้พื้นถิ่น เขียนไขและวานิช
บ้านไม้สองชั้นที่สร้างบนที่ดินเนินลาดเอียง จึงใช้ความต่างระดับดินให้เป็นประโยชน์ โดยตัดเนินดินบางส่วนออกให้บ้านฝังอยู่ในเนินดิน เพื่อให้บ้านดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมมากที่สุด
บ้านไม้พื้นถิ่น เขียนไขและวานิช
จากถนนหน้าบ้านจะเข้าชั้นบนของบ้านได้เลย และดูเหมือนเป็นบ้านชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องวิบูลศรี เป็นกระเบื้องซีเมนต์ปั๊มมือ ซึ่งนิยมใช้กันในภาคเหนือ ให้ความรู้สึกแบบบ้านพื้นเมือง
บ้านไม้พื้นถิ่น เขียนไขและวานิช
เขียนไขและวานิช

การพกความฝันกลับมาถิ่นเกิด

เชียงใหม่เป็นถิ่นเกิดของคุณโจ้ที่เป็นชาวดอยสะเก็ด และเป็นถิ่นฝันของคุณบลูที่หลงใหลมนต์เสน่ห์เมืองเชียงใหม่ เมื่อมีโอกาสจึงหาที่ดินสำหรับปลูกบ้าน จนมาถูกใจบรรยากาศเงียบสงบของวิถีชีวิตและธรรมชาติท่ามกลางทุ่งนาและขุนเขาในอำเภอแม่ออน โดยทั้งคู่เก็บข้อมูลจากการใช้ชีวิตในอพาร์ตเมนต์กว่า10 ปีที่กรุงเทพฯ ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร มีการเก็บของสะสม ของแต่งบ้าน เก็บถ้วยจานชามต่างๆไว้เพื่อรอจะมีบ้านในฝันเป็นของตัวเอง เมื่อได้มาคุยกับสถาปนิกจึงมีความคิดเห็นร่วมกันว่า นอกจากจะเป็นบ้านอยู่อาศัยแล้ว ยังตั้งใจใช้เป็นพื้นที่ต้อนรับเพื่อนฝูง และอยากให้บ้านดูกลมกลืนกับบริบทและธรรมชาติแวดล้อม บนที่ดินประมาณ 2 ไร่นี้ มีลักษณะลาดเอียงลงไปด้านหลังที่เป็นนาข้าวของชาวบ้าน โดยด้านหน้าและด้านหลังที่ดินมีความต่างระดับกัน 3-4 เมตร ส่วนด้านติดถนนมีหน้ากว้างประมาณ 80 เมตร และลึกเข้าไป 30 – 40เมตร สถาปนิกตั้งใจให้บ้านไม่สูงโดดกว่าแนวต้นไม้ริมทุ่งนาเดิม จึงใช้วิธีตัดเนินดินออกบางส่วนเพื่อให้ชั้นล่างของบ้านแทรกเข้าไปในพื้นดิน แล้วทำชั้นบนให้อยู่ระดับเดียวกับถนนแทน เมื่อจอดรถหน้าบ้านก็สามารถเดินเข้ามาในตัวบ้านชั้นบนได้โดยไม่ต้องขึ้นบันได เมื่อมองจากถนนก็ดูเหมือนบ้านชั้นเดียวที่เข้ากับบ้านในท้องถิ่น และตั้งชื่อ “บ้านเขียนไข” ซึ่งมาจาก “ เขียนไขและวานิช ” อันเป็นชื่อวงดนตรีของคุณโจ้ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเทคนิคหนึ่งในการพิมพ์แบบซิลค์สกรีน เมื่อครั้งที่คุณโจ้เรียนสาขาภาพพิมพ์บ้านไม้พื้นถิ่น

บ้านไม้พื้นถิ่น เขียนไขและวานิช
บ้านไม้ท่ามกลางธรรมชาติที่มีลักษณะเปิดโล่งเผยให้เห็นวัสดุธรรมชาติ มีชานกว้างขวางเพื่อออกมารับลม และเป็นพื้นที่รับรองมิตรสหาย
เขียนไขและวานิช

ความหลงใหลในมิตรภาพ ผู้คน และขุนเขา

ด้วยความที่คุณโจ้เป็นนักดนตรีและทั้งคู่ก็มีเพื่อนเยอะ การพูดคุยกับผู้คนและบ่มเพาะมิตรภาพกลายเป็นต้นทางของแรงบันดาลใจ บ้านจึงมีพื้นที่ค่อนข้างเปิดโล่งเพื่อรองรับการสังสรรค์กับเพื่อนๆ ในพื้นที่ใช้สอยของบ้านขนาด 260 ตารางเมตร มีสัดส่วนพื้นที่ระเบียง ทางเดินและชานประมาณ 80-100 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ต้อนรับแขกที่ค่อนข้างเปิดโล่ง ออกแบบให้เป็นชานกว้างล้อไปกับตัวบ้านที่มีลักษณะเป็นแนวยาว คงสภาพความลาดเอียงตามธรรมชาติ รักษาต้นไม้เดิมไว้ให้บ้านแทรกตัวระหว่างต้นไม้ และปลูกต้นไม้เพิ่มให้แทรกเข้ามาในบ้านด้วย ทำให้ส่วนระเบียงนั้นสามารถรับแขกได้จำนวนมาก แต่ก็ยังอบอุ่นเพราะไม่โล่งจนเกินไป แถมได้ชมวิวทิวเขาได้อย่างเต็มตา

สถาปนิกเล่าว่าการออกแบบบ้านไม่ได้มีแนวคิดที่ซับซ้อน ด้วยเจ้าของบ้านเพียงแค่อยากอยู่ในบรรยากาศที่สงบและใกล้ชิดกับสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด บ้านจึงมีความเป็นพื้นถิ่นชนบท ไม่ได้ทำให้มีทางเข้า-ออกชัดเจน แต่ใช้ลักษณะเปิดพื้นที่โล่งอย่างบ้านชนบท ไม่มีรั้วมิดชิดหรือมีประตูหลักที่ล็อกแล้วปิดได้ทั้งหลัง ซึ่งเข้ากับบริบทรอบบ้านที่มีความเรียบง่าย เพื่อนบ้านเป็นกันเอง

ห้องครัวคือหัวใจหลักของบ้าน ออกแบบให้โล่งและมีชั้นวางของกึ่งชั้นโชว์เพื่อจัดเก็บถ้วยชามเซรามิกญี่ปุ่นซึ่งเป็นของสะสมแสนรักของคุณบลู
เขียนไขและวานิช
ห้องครัวเล็กด้านนอกรองรับการจัดสังสรรค์ ทำผนังเป็นระแนงไม้เปิดโล่งรอบด้าน และมีเคาน์เตอร์บาร์เล็กๆ
เขียนไขและวานิช
เขียนไขและวานิช
ห้องน้ำในห้องนอนระบายอากาศได้ดี ด้วยช่องระแนงที่ผนังส่วนบน และช่องหน้าต่างบานใหญ่ให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาได้ ออกแบบรางไฟซ่อนบนฝ้าเพดานให้แสงอินไดเร็กต์ไลต์และดูเรียบง่าย
เขียนไขและวานิช

วิถีชนบทและบริบทของการใช้ชีวิต

การสร้างบ้านเลือกใช้ไม้เก่าเป็นวัสดุหลัก เพราะให้ความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ เป็นวัสดุในท้องถิ่นที่หาได้ง่าย โดยเลือกใช้วัสดุอุตสาหกรรมให้น้อยที่สุด เพื่อให้บ้านกลมกลืนกับวิถีชนบทและบริบทโดยรอบบ้าน สถาปนิกออกแบบหลังคาโครงสร้างไม้โชว์แปและท้องกระเบื้อง นอกจากความสวยงามแล้ว ยังต้องการให้บ้านมีความโปร่งสบาย โดยเลือกใช้กระเบื้อง “วิบูลย์ศรี” ซึ่งเป็นกระเบื้องซีเมนต์ปั๊มด้วยมือที่ผลิตอยู่ในท้องถิ่น เวลามุงแล้วจะมีช่องว่างระหว่างการซ้อนทับที่ช่วยระบายอากาศ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บ้านเย็น เพราะมีอากาศช่วยถ่ายเทความร้อนตลอดเวลา แต่การเปิดโล่งแบบนี้ก็จะมีเรื่องสัตว์และแมลงบ้าง ซึ่งเป็นธรรมชาติของบ้านในชนบท จากที่เจ้าของบ้านได้ใช้ชีวิตอยู่ ก็ปรับตัวและมีความเข้าใจธรรมชาติของบ้านที่สร้างริมทุ่งนาที่จะเจอปูนาหนูนามาเที่ยวเล่นบ้าง ส่วนยุงจะมาช่วงโพล้เพล้ พอค่ำๆก็มักหายไปหมด มีแมลงตามฤดูกาลที่พอเปลี่ยนฤดูแมลงก็หายไป การอยู่บ้านจึงเป็นการเรียนรู้และเข้าใจไปกับฤดูกาลและธรรมชาติ

กระเบื้องวิบูลย์ศรีจะมีช่องว่างระหว่างกระเบื้องที่ซ้อนทับกัน นอกจากช่วยระบายอากาศแล้ว ยังเกิดเอฟเฟ็กต์แสงลอดผ่านออกมาดูสวยงามเหมือนเรืองแสงได้
บ้านไม้พื้นถิ่น เขียนไขและวานิช
เขียนไขและวานิช
ห้องนอนหลักที่ทำเรือนแยกออกจากตัวบ้านเพื่อความเป็นส่วนตัว
บ้านไม้พื้นถิ่น เขียนไขและวานิช
เขียนไขและวานิช

โฮมสตูดิโอของเรา

ใครมาบ้านนี้ก็จะชอบห้องครัวที่ออกแบบให้มีขนาดใหญ่ ซึ่งมาจากโจทย์ของคุณบลูที่สะสมถ้วยชามเซรามิกญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก และอยากมีชั้นวางกึ่งตู้โชว์สวยงาม สามารถใช้รับรองเพื่อนๆที่แวะเวียนมาหาบ่อยๆ ทั้งยังมีห้องครัวเล็กบริเวณชานที่มีบาร์ไว้สำหรับสังสรรค์และใช้ทำอาหารพื้นเมืองที่คุณโจ้ชื่นชอบ ปกติคุณโจ้จะมีงานทัวร์คอนเสิร์ตจึงไม่ค่อยได้อยู่บ้าน แต่เมื่ออยู่บ้านก็จะขลุกอยู่ในห้องอัดและแต่งเพลงใหม่ๆอยู่บริเวณชั้นล่าง ส่วนคุณบลูชอบทำงานฝีมือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ด้วยแต่ก่อนมีแบรนด์ของตัวเองชื่อว่า “หลงมือ”  ที่ทำงานผ้าและงานทำมือต่างๆจากวัสดุท้องถิ่น ซึ่งมีความคิดว่าจะปัดฝุ่นแบรนด์นี้กลับมาทำใหม่ในเร็วๆนี้

บ้านไม้พื้นถิ่น หลังนี้เป็นทั้งที่พักพิงกาย สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างรายได้ ซึ่งคุณบลูและคุณโจ้ตั้งใจแบ่งการทำบ้านเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรกในส่วนของบ้านที่พักอาศัย เฟสที่สองทำสตูดิโอสำหรับทำงานภาพพิมพ์ที่คุณโจ้รัก และงานฝีมือของคุณบลู เฟสสุดท้ายตั้งใจจะทำเป็นห้องพักเผื่อสำหรับเป็นธุรกิจในอนาคต หากแรงบันดาลใจที่แปรเปลี่ยนเป็นความหลงใหลนั้นเป็นพลังงาน บ้านหลังนี้ก็เปรียบเสมือนพื้นที่แลกเปลี่ยนพลังงานที่คนในบ้านและมิตรสหายต่างได้รับและส่งต่อเชื้อไฟนั้นกันไป

เขียนไขและวานิช
ส่วนหนึ่งของผลงานแบรนด์ “หลงมือ” ที่ชื่อมาจากการหลงใหลในงานทำมือ โดยนำผ้าท้องถิ่นมาออกแบบให้ร่วมสมัย 
เขียนไขและวานิช

สตูดิโอทำงานศิลปะ

สตูดิโอนี้เป็นส่วนต่อขยายจากบ้านหลังเดิม เป็นเฟส 2 ที่วางแผนสร้างเอาไว้ เพิ่งสร้างเมื่อช่วงต้นปี 2565 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 เดือนครึ่ง เป็นพื้นที่ที่คุณโจ้อยากจะมีไว้ทำงานศิลปะเหมือนสมัยที่เคยเรียน ส่วนคุณบลูก็เอาไว้ทำงานฝีมือต่างๆ และกลับมาทำแบรนด์หลงมืออีกครั้ง ซึ่งในอนาคตถ้าทุกอย่างลงตัวแล้ว ก็อาจจะมีเปิดคอร์สเวิร์คชอปด้วย ติดตามบ้านเขียนไข ผลงานเพลงของเขียนไขและวานิช และแบรนด์หลงมือได้ที่   Khiankhai Home & Studio  , เขียนไขและวานิช และ Lhongmue : หลงมือ
เขียนไขและวานิช
บ้านไม้พื้นถิ่น
บ้านไม้พื้นถิ่น
บ้านไม้พื้นถิ่น

  • ออกแบบ : Sher Maker โดย คุณธงชัย จันทร์สมัคร และคุณพัชรดา อินแปลง
  • เรื่อง : Jeedwonder Jeed
  • ภาพ : รุ่งกิจ เจริญวัฒน์, บุษราพรรณ ไพรทอง, สาโรจน์ ยอดยิ่ง