น้ำกับห้องน้ำเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ขาด เพราะต้องมีทั้งท่อน้ำดีและท่อน้ำทิ้ง ไหนจะท่อน้ำอุ่น-น้ำเย็นอีก คอลัมน์ “ดีไซน์ไอเดีย” ฉบับนี้ จึงเลือก 12 ห้องน้ำดีไซน์เรียบน่าใช้มาให้ชมเป็นไอเดีย แต่งห้องน้ำ โดยชี้จุดให้เห็นถึงเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับน้ำและความสวยงาม เช่น วัสดุที่สวยและกันน้ำได้ การปรับโฉมให้เครื่องทำน้ำอุ่น ทำความเข้าใจเรื่องระบบสุขภัณฑ์ และการคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งาน
Room Ideas ศูนย์รวมภาพไอเดียการแต่งบ้าน แต่งสวน สนใจห้องไหน คลิกห้องนั่นเลยที่แบนเนอร์ด้านบน
ใครถูกใจแบบไหน หยิบไปใช้เป็นแรงบันดาลใจในการ แต่งห้องน้ำ ที่บ้านดูนะคะ
1. เบสิก…คลาสสิก
ห้องน้ำในบ้านสำเร็จรูปทั่วไปมักมีพื้นที่ไม่มากนัก ขนาดประมาณ 3 – 4.5 ตารางเมตร แต่ภายในกลับอัดแน่นด้วยส่วนอาบน้ำและโถสุขภัณฑ์ ความจริงแล้วแม้มีพื้นที่เพียงเท่านี้ก็สามารถออกแบบให้น่าใช้งานได้ โดยอาจแยกส่วนอาบน้ำ (ส่วนเปียก) และส่วนอ่างล้างมือ (ส่วนแห้ง) ให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น ด้วยการกั้นผนังทึบสูงแค่ระดับศีรษะ (1.60-1.70 เมตร) และกรุกระเบื้องเซรามิกทั่วไป ก็ทำให้ห้องน้ำดูสวยเข้าตาแล้ว แต่ควรคำนึงถึงพื้นของส่วนเปียกซึ่งควรมีระดับต่ำกว่าพื้นห้องประมาณ 5 – 7 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้น้ำเอ่อล้นและไหลลามมาถึงส่วนแห้ง
2. ครึ่งเดียวพอ
หลายคนติดภาพว่าห้องน้ำต้องกรุกระเบื้องเต็มทั้งพื้นและผนัง ไอเดียนี้อาจทำให้ใครหลายคนเปลี่ยนความคิด เพราะเราไม่จำเป็นต้องปูกระเบื้องหมดทั้งผนังก็ได้ เลือกปูเพียงแค่ครึ่งหนึ่ง (ครึ่งล่าง) ในบริเวณที่ต้องเปียกน้ำ อาจเพิ่มผนังด้านล่างออกมาจากผนังเดิมสัก 5-10 เซนติเมตร และหาแผ่นไม้จริงมาวางพาดด้านบน เพื่อเพิ่มพื้นที่วางของภายในห้องน้ำ ก็ทำให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น
3. ติดกับ…ป่า
การจัดสวนมุมเล็กๆในห้องน้ำช่วยเปลี่ยนบรรยากาศให้ห้องที่อุดอู้ดูสบายตาและ สบายใจขึ้น อาจออกแบบให้มุมอาบน้ำฝักบัวแบบเรนชาวเวอร์อยู่ใกล้กับสวน ก็จะได้อารมณ์เหมือนอาบน้ำในป่า สำหรับพื้นที่ส่วนแห้งก็วางสุขภัณฑ์และอ่างล้างมือไว้ด้วยกัน ส่วนนี้เลือกใช้วัสดุอย่างหินขัดเทอราซโซเป็นหลัก นอกจากมีพื้นผิวเรียบ ดูสะอาดตาแล้ว ยังทำความสะอาดง่ายด้วย
4. เข้ามุม
บางครั้งห้องน้ำก็ไม่ได้ออกแบบเป็นห้องทรงสี่เหลี่ยมธรรมดา อาจมีมุมมีซอกที่ทำให้วางสุขภัณฑ์ไม่ลงตัว แก้ปัญหาโดยการวางสุขภัณฑ์ให้ดูเรียบไปกับผนังด้านหนึ่ง สิ่งสำคัญคือการติดตั้งสุขภัณฑ์ควรปรับแนวระดับให้ตรงกับแนวท่อน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการใช้งานในภายหลัง ภายในห้องเลือกใช้โทนสีอ่อน ช่วยให้รู้สึกไม่อึดอัด ส่วนเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าและตู้เก็บของบิลท์อินให้เต็มแนวผนังอีกด้าน หนึ่ง เพื่อให้มีพื้นที่ใช้งานครบและเก็บของใช้ที่จำเป็นสำหรับหยิบได้ง่ายและใกล้ มือ
5. เก็บ…แสง
ห้องน้ำควรมีแสงสว่างกระจายทั่วห้องให้เพียงพอกับใช้งาน ที่สำคัญคือป้องกันการลื่นล้มภายในห้องน้ำ โดยควรมีทั้งแสงธรรมชาติและแสงจากหลอดไฟ ส่วนใช้งานภายในห้องน้ำที่จำเป็นต้องพึ่งแสงไฟหนีไม่พ้นบริเวณเคาน์เตอร์ อ่างล้างมือ ซึ่งบางครั้งก็เป็นส่วนแต่งหน้าแต่งตัวของผู้หญิง แสงในบริเวณนี้จึงควรใช้แสงสีธรรมชาติ (Daylight)
6. อุ่นเครื่อง
“เครื่องทำน้ำอุ่น” กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นในห้องน้ำของหลายบ้าน บางรุ่นอาจมีหน้าตาไม่เข้ากับผนังห้องน้ำ ลองออกแบบกล่องครอบปิดบังไว้เพื่อความสวยงาม ส่วนสายฝักบัวของเครื่องทำน้ำอุ่นที่ติดมาด้วยก็อาจเล็กเกินไปหรือน้ำไหลไม่ แรง เราสามารถถอดเปลี่ยนเองได้ แต่ควรคำนึงถึงเรื่องหัวต่อที่มีขนาดเข้ากัน เป็นสายน้ำดีและฝักบัวแบบที่ชอบ และยังสามารถต่อเข้ากับฝักบัวแบบเรนชาวเวอร์ติดผนังได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้แต่เพียงเครื่องทำน้ำร้อนฝังในผนังเพียงอย่างเดียว