บ้านทรงกล่องสี่เหลี่ยมสีขาวเรียบที่นิ่งจนเกือบจะดุดัน แต่มีเสน่ห์ด้วยช่องเปิดกว้างๆ พร้อมกับแพตเทิร์นของอิฐช่องลมที่มีความหลากหลายตั้งแต่แนวรั้วหน้าบ้านร้อยเรียงต่อเนื่องไปทั่วผนังอาคาร
นั่นเพราะว่า บ้านหลังนี้ออกแบบขึ้นมาเพื่อเน้นฟังก์ชันการใช้งานภายในตามความต้องการของคุณหนู–มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทรและคุณโป้ง-วิบูลย์ศิริ วิบูลย์มา ผู้เป็นเจ้าของ ที่อยากได้พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยถึง 3 ครอบครัว บนที่ดินเดิมซึ่งมีลักษณะเหมือนสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดราว 200 ตารางวา ฟังก์ชันภายในจึงเป็นตัวกำหนดผังพื้นที่เกือบ 1,000 ตารางเมตรใน บ้านปูนทรงกล่อง ขนาด 4 ชั้น ซึ่งเน้นมุมที่มองจากภายในออกมามากกว่าสร้างรูปทรงของบ้านให้โดดเด่นแล้วค่อยใส่ฟังก์ชันเข้าไป
“เราเคยลองไปหาทำเลอื่นดูเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะรื้อบ้านหลังเดิมที่เก่ามากแล้วออก เพื่อสร้างหลังใหม่ให้ใหญ่พอสำหรับการใช้งาน โดยรวมครอบครัวคุณพ่อคุณแม่ของเราสองคนมาอยู่ด้วยกัน และยังมีห้องเผื่อสำหรับน้าและน้องสาวไว้ด้วย“คุณโป้งเล่าถึงโจทย์เริ่มต้น และเสริมด้วยว่าเขาเองก็ทำงานด้านรับเหมาตกแต่งภายในอยู่แล้ว อีกทั้งชอบในผลงานการออกแบบบ้านที่มีเส้นสายเรียบนิ่งของทีมสถาปนิก Anonym จึงน่าจะร่วมกันสร้างบ้านหลังนี้ได้ดี
สถาปัตยกรรมที่เปิดให้สายลมพัดผ่าน
สิ่งแรกที่คุณบอย–พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ สถาปนิกผู้ออกแบบสัมผัสได้เมื่อมาดูพื้นที่คือสายลมเย็นที่ปะทะผ่าน เพราะหน้าบ้านหันไปทางทิศใต้และเป็นแนวช่องลมที่ดี ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบบ้านที่เน้นการเปิดช่องลมควบคู่ไปกับคว้านสเปซภายในให้เกิดเป็นคอร์ตหน้าบ้านและตรงกลาง โดยคอร์ตหน้าบ้านออกแบบให้เป็นหน้าผาจำลองเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ที่หลงใหลการปีนผาของคุณโป้ง และคอร์ตตรงกลางเป็นแกนเชื่อมต่อมุมมองของทุกพื้นที่ในบ้าน รวมถึงเป็นช่องรับแสงธรรมชาติซึ่งส่องผ่านจากช่องหลังคากระจกใสด้านบนลงมา
“เราออกแบบภายในให้เหมือนเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่แยกพื้นที่ของครอบครัวไว้ในแต่ละชั้น โดยมีชั้นล่างเป็นพื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน แล้วเปิดสเปซให้ลมหมุนเวียนได้ตั้งแต่คอร์ตปีนผาด้านหน้าเข้ามาถึงโถงนั่งเล่นด้านในซึ่งเป็นอีกคอร์ตหนึ่งที่มองเห็นทางเดินของแต่ละชั้นวางสลับเยื้องกัน และเติมแลนด์สเคปแทรกไปกับตัวบ้านด้วยการออกแบบกระบะปลูกต้นไม้เพื่อให้ทุกชั้นมีพื้นที่สีเขียวของตัวเอง เวลาใช้พื้นที่ทางเดินก็จะไม่รู้สึกเวิ้งว้างเพราะยังมองเห็นพื้นที่ส่วนอื่นได้ ส่วนหลังคากลางคอร์ตนี้เป็นกระจกใสติดฟิล์มกันร้อนและยกผนังก่อนถึงหลังคาไว้เกือบเมตรเพื่อเจาะเป็นช่องให้ลมถ่ายเทได้ ตามไดอะแกรมแล้วจึงมีช่องทางให้ลมเข้าออกในแต่ละชั้นได้ไปจนถึงชั้นบนสุดของบ้าน ในขณะที่การวางผังห้องจะยังมีความเป็นส่วนตัวอยู่“
ผนังคอนกรีตกับการเปิดของอิฐช่องลม
ต่อเนื่องจากแนวคิดการเปิดช่องให้สายลมพัดผ่าน สถาปนิกยังเลือกใช้อิฐช่องลมโอบล้อมเป็นผนังส่วนใหญ่ของบ้าน ยกเว้นส่วนทิศตะวันตกที่เน้นการปิดทึบและกำหนดให้เป็นพื้นที่ของห้องน้ำไว้เพื่อใช้เป็นแนวป้องกันแสงแดดเข้าถึงในทุกๆ ชั้น อีกทั้งเพิ่มความน่าสนใจด้วยการผสมผสานแพตเทิร์นของอิฐช่องลมที่หลากหลาย และไล่เรียงช่องเปิดมากขึ้นตามระดับการเข้าถึงในแต่ละชั้นจากชั้นล่างที่มีช่องเปิดน้อยเพื่อคงความเป็นส่วนตัวจากภายนอก และค่อยๆ มากขึ้นไปจนถึงชั้นบนสุด ซึ่งคุณหนูผู้เป็นเจ้าของบ้านได้ขอลดแนวปิดของผนังบางส่วนลงให้โปร่งตาขึ้นเพื่อรับทั้งลมดีๆ และวิวจากมุมสูง จนกลายเป็นที่มาของชื่อที่เธอตั้งให้บ้านนี้ว่า “บ้านสายลม”
นอกเหนือจากผนังที่เป็นอิฐช่องลมแล้ว ในส่วนที่จำเป็นต้องปิดนั้นเป็นผนังคอนกรีตเปลือยผิวที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาก ไม่ปรุงแต่งเพิ่มเติม เช่นเดียวกับส่วนของโครงสร้างที่เพียงแค่ฉาบเรียบและโชว์ให้เห็นเป็นแนวโครงสร้างอย่างตั้งใจ ส่งผลไปยังดีไซน์ที่เปิดเปลือยของวัสดุคอนกรีตในอีกหลากหลายมิติตามส่วนต่างๆ ของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผนังฉาบพิเศษภายในซึ่งเป็นวัสดุนำเข้าที่ให้ความเรียบเนียนไม่มีฝุ่นติดมือ ส่วนคานคอนกรีตที่เปลือยผิว และผนังคอนกรีตด้านนอกที่สร้างลวดลายจากการใช้เกรียงขูดในแนวตั้ง
ชีวิตที่เติมเต็มสเปซ
ภายในบ้านสีคอนกรีตที่เปลือยผิวนี้ยังกลายเป็นเหมือนแกลเลอรี่ขนาดใหญ่ที่เปิดโอกาสให้คุณหนูและคุณโป้งได้เติมตัวตนและความชอบส่วนตัวเข้าไปด้วย โดยคุณโป้งเล่าว่า “ผมออกแบบตกแต่งภายในเองจากโทนสีเทาๆ ของคอนกรีต เฟอร์นิเจอร์หลักอย่างโซฟาก็เลยเป็นโทนสีเทา ผสมกับผนังกรุลามิเทตลายไม้โทนสีอ่อนเพื่อไม่ให้ดิบเกินไป บางจุดเล่นกับดีเทลของเส้นเล็กๆ เซาะร่องไปบนผนัง หรือปล่อยแอร์เปลือยโชว์เพื่อให้เพดานยกสูงได้แบบไม่มีฝ้าปิด เพราะเราชอบโทนสีธรรมชาติๆ ของวัสดุ บางจุดก็เว้นว่างไว้สำหรับวางงานศิลปะหรืองานปั้นในอนาคตของคุณหนู แต่ถ้าเป็นห้องนอนผมเลือกใช้พื้นไม้ที่เป็นวัสดุใหม่คล้ายๆ พีวีซีพิมพ์ลายไม้ กันน้ำได้ ไม่มีปัญหาเรื่องความชื้นหรือเชื้อรา ที่สำคัญคือทั้งหมดต้องเน้นให้ดูแลทำความสะอาดง่ายด้วยครับ“
Living with Passion
เพราะความชอบปีนผาจำลองของคุณโป้ง ทำให้คอร์ตหน้าบ้านกลายเป็นหน้าผาจำลองที่ออกแบบขึ้นมาพิเศษให้เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน และกลายเป็นผาจำลองในบ้านที่สูงที่สุดด้วยระดับความสูงเทียบเท่าบ้านขนาด 4 ชั้น อยู่ในมุมที่อากาศถ่ายเทดี แถมยังติดตั้งพัดลมเพิ่มไว้ด้วย เช่นเดียวกับการติดตั้งไฟแอลอีดีที่เปลี่ยนสีได้และสามารถสร้างบรรยากาศให้เหมือนกับแสงจันทร์ในเวลาที่ปีนผายามค่ำคืน
คุณโป้งเล่าที่มาของความหลงใหลการปีนผาไว้ว่า “เมื่อก่อนผมทำแต่งานไม่ได้ออกกำลังกายเลยจนสุขภาพย่ำแย่ ก็เลยชวนคุณหนูไปออกกำลังกาย ลองเล่นหลายอย่างแล้วก็มาติดใจปีนผาที่สุด มันเป็นกีฬาที่ได้ใช้สมาธิ คิดถึงเส้นทางที่จะปีน แก้ปัญหา และต้องเอาชนะใจตัวเองด้วย ผมไม่ค่อยปีนผาจริง แต่ชอบผาจำลองมากกว่า เล่นแล้วสุขภาพดีอย่างเห็นได้ชัด และคิดว่าจะเล่นไปจนแก่ ก็เลยตัดสินใจทำผาจำลองที่บ้าน ออกแบบเองและปรึกษากับนักปีนผารุ่นพี่ด้วย ตอนแรกทำด้านซ้ายให้เหมาะกับการปีนเริ่มต้นด้วยกำลังขา ด้านขวาเน้น Overhang ที่ใช้กำลังแขน แต่พอปีนจนชำนาญผมก็ปรับปุ่มให้มันยากขึ้น ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ออกแบบให้ปีนได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ส่วนใหญ่ผมเลือกจะปีนตอนเช้า สัปดาห์ละ2 ครั้ง ครั้งละเป็นชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้ออยู่ตัวและเป็นการคาร์ดิโอก่อนอาบน้ำออกไปทำงานด้วย การมีผาจำลองในบ้านแบบนี้ทำให้เราสามารถออกกำลังกายเมื่อไรก็ได้ แถมยังอยู่ในพื้นที่ที่คนในบ้านยังมองเห็นและเข้าถึงได้ด้วย“
เราเชื่อว่า ไม่เพียงแต่เฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งเท่านั้นที่มาเติมเต็มสเปซในโทนสีเทาๆ นี้ แต่ทุกชีวิตในบ้านที่เคลื่อนไหวไปตามกิจกรรมประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลงที่คุณหนูเปิดกล่อมพื้นที่ในบ้านตลอดวัน กลิ่นขนมอบหอมๆ จากเตาที่คุณแม่ทำอยู่ในห้องครัว หรือเสียงเรียกพลังจากคุณโป้งที่กำลังปีนป่ายผาจำลองอยู่หน้าบ้าน แม้แต่ละคนจะอยู่กันคนละมุม แต่ทั้งเสียงและความเคลื่อนไหวก็ร่วมกันสร้างบรรยากาศให้กับการใช้ชีวิตในบ้านนี้ได้อย่างอบอุ่นใจ
เจ้าของ : คุณมนต์ทิพย์ ลิปิสุนทรและคุณวิบูลย์ศิริ วิบูลย์มา
สถาปนิก : Anonym โดยคุณพงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และคุณปานดวงใจ รุจจนเวท
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์ : อรญา ไตรหิรัญ