สวนสไตล์จีนที่ออกแบบตามหลักฮวงจุ้ย ของศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน

ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน มูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี เกิดจากแรงศรัทธาของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งรวบรวมกําลังทรัพย์ร่วมกันจัดสร้างบนเนื้อที่กว่า 3 ไร่ ใช้งบประมาณถึง 60 ล้านบาท นอกจากมีสถาปัตยกรรมอาคารที่สวยงามตามแบบฉบับของจีนแล้วยังมีการออกแบบสวนสไตล์จีนที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสวนจีนตามประเพณีและหลักฮวงจุ้ยไว้ภายในพื้นที่สำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและชื่นชมธรรมชาติได้อีกด้วย

สถานที่ : ศูนย์วัฒนธรรมไทย จีน มูลนิธิศาลเจ้าปู่ ย่า อุดรธานี
ออกแบบ : คุณวรวุฒิ แก้วสุก

 

 

 

 

 

 

 

ริมบ่อน้ําจําลองเป็นหุบเขา โดยสร้างในลักษณะเขามอของจีน เลือกใช้หินทรงสูงปลูกมอสส์ปกคลุมทั่วทั้งก้อน สื่อถึงเขาที่อุดมสมบูรณ์ ติดตั้งหัวพ่นหมอก เสมือนว่าเป็นหุบเขาที่สูงเสียดฟ้าเทียมเมฆ คล้ายลักษณะภูเขาในประเทศจีน ประดับด้วยรูปปั้นท่านขงจื๊อ ซึ่งยกมาเป็นเรื่องราวเด่นในสวนเพื่อให้สอดคล้องกับส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์คุณธรรม
ลานอเนกประสงค์ในสวนสร้างเป็นศาลาแบบจีน เลือกใช้กระเบื้องลอนมุงหลังคาสีเขียวดูต่างจากอาคารโดยรอบที่ใช้สีแดง เพื่อแยกส่วนการใช้งานให้ชัดเจน แต่ยังคงกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของอาคารโดยรอบ
ซุ้มประตูทรงโค้งกลมและรั้วด้านหลังทรงโค้ง ด้านบนมุงกระเบื้องลอนสีแดงเป็นส่วนที่ทีมงานจัดสวนร่วมออกแบบขึ้นใหม่ เพื่อสร้างบรรยากาศให้องค์ประกอบสวนดูเป็นสไตล์จีนมากยิ่งขึ้น

พื้นที่ภายในศูนย์วัฒนธรรมออกแบบเป็นกลุ่มอาคาร ประกอบด้วยอาคารเฉลิมพระเกียรติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา อาคารการเรียนรู้ อาคารหอประชุมปรีชา ชัยรัตน์ อาคารสํานักงาน อาคารร้านค้า และอาคารพิพิธภัณฑ์คุณธรรม ซึ่งล้วนเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนประยุกต์ที่สวยงาม ออกแบบโดย คุณต้นปัญญา บุญประคม

อาคารน่าสนใจที่ผมอยากแนะนําคือ พิพิธภัณฑ์คุณธรรม ซึ่งภายในอาคารบอกเล่าเรื่องราวของคนไทยเชื้อสายจีนที่เดินทางมาอาศัยอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2442 จวบจนถึงปัจจุบันรวมถึงประวัติความเป็นมาของศาลเจ้าปู่-ย่า ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมที่ชาวอุดรธานีให้ความศรัทธามากที่สุดและยังมีส่วนจัดแสดงประวัติ คําสอน และเรื่องราวของท่านขงจื๊อ มหาบุรุษปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีนด้วยรูปแบบของโรงภาพยนตร์สามมิติและวีดิทัศน์ Diorama ที่ทันสมัย

นอกจากงานสถาปัตยกรรมอันสวยงามแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมากก็คือ “สวนคุณธรรมพันปี 24 กตัญญู” ซึ่งตั้งอยู่กลางกลุ่มอาคาร เป็นสวนสไตล์จีนที่ตกแต่งด้วยไม้มงคลของจีน ไม่ว่าจะเป็นหลิว ไผ่ดํา หงส์ฟู่ ประทัดจีน โป๊ยเซียน หรือเทียนหอม โดยจัดให้รายล้อมสระบัวและบ่อปลาอีกทีพื้นที่สวนโดยรอบตกแต่งด้วยภาพประติมากรรมนูนสูง บอกเล่าตํานานสุดยอด 24 กตัญญูของแผ่นดินจีนพร้อมคําบรรยาย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สําหรับเยาวชน สวนจีนแห่งนี้ออกแบบโดย คุณวรวุฒิ
แก้วสุก ร่วมด้วย คุณวิทยา ก่อบัว และ อาจารย์อรรนพ ทองคุ้ม เป็นที่ปรึกษา

คุณวรวุฒิเล่าถึงแนวทางการออกแบบให้ฟังว่า “ผมกับทีมงานเดินทางไปศึกษาเกี่ยวกับสวนจีนที่ประเทศจีนนาน 11 วัน ไปดูสวนตามที่ต่างๆดูคอนเซ็ปต์การออกแบบของเขา แล้วนํามาออกแบบในรูปแบบใหม่ คิดว่าทําอย่างไรให้เมื่อเข้ามาที่นี่แล้วรู้สึกเหมือนอยู่ในเมืองจีน เดิมมีทีมที่ทํางานด้านสถาปัตยกรรมของอาคารอยู่ก่อนแล้ว ผมขอ
ปรับเปลี่ยนบางส่วนและร่วมออกแบบด้วย เช่น ซุ้มประตูทางเข้าหลักก็เปลี่ยนเป็นซุ้มโค้งแบบจีนหรืออย่างรั้วโดยรอบ สะพานหินในสวน ศาลาในสวนทําให้ได้บรรยากาศจีนมากขึ้น พื้นที่สวนส่วนกลางทําเป็นบ่อตลอดแนว เลียนแบบสภาพธรรมชาติในเมืองลี่เจียงของจีน ที่มีลําธารอันเกิดจากหิมะละลายไหลเป็นน้ําลงมาจากภูเขา และนํา
บรรยากาศของโรงเตี๊ยมที่ด้านหลังมีระเบียงริมน้ํามาใช้ด้วยการทําเป็นระเบียง มีที่นั่งพักจิบน้ําชาริมบ่อท่ามกลางกลุ่มหลิวที่มีใบพลิ้วไหว นอกจากนี้ยังจําลองเขาอวตารมาอยู่ในพื้นที่สวน เพราะถ้ามีแต่ตัวอาคารกับบ่อน้ําก็ดูเรียบ ไม่น่าสนใจ เราสร้างเป็นกลุ่มหินคล้ายภูเขา หรือเรียกว่าเป็นเขามออยู่ในน้ํา เพื่อสร้างบรรยากาศให้สวนดูน่า
สนใจยิ่งขึ้น

สวนน้ําตกติดผนัง จําลองมาจากบริเวณหลังบ้านคหบดีชั้นสูงในประเทศจีน ซึ่งมีวิวทิวทัศน์มองออกไปเห็นธรรมชาติป่าเขาและลําธาร สวนนี้จัดทําเป็นพิเศษ เนื่องจากอยู่ด้านหลังอาคารเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
ระเบียงด้านหลังอาคารซึ่งติดบ่อน้ํา จําลองบรรยากาศมาจากด้านหลังโรงเตี๊ยมหรือบ้านเก่าในประเทศจีน ซึ่งนิยมทํานอกชานยื่นออกไปในน้ํา มีมุมนั่งพักผ่อนจิบน้ําชา ปลูกหลิวเป็นระยะตลอดแนวให้ความร่มรื่นและความพลิ้วไหว สื่อถึงสวนแบบจีนได้ชัดเจน
ภาพประติมากรรมนูนสูงทําเลียนแบบหินแกรนิตที่บอกเล่าตํานานสุดยอด 24 กตัญญูของแผ่นดินจีนพร้อมคําบรรยาย มีกระจายอยู่ทั่วบริเวณสวน ซึ่งตั้งใจทําไว้เพื่อเตือนใจและปลูกฝังความกตัญญู รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้สําหรับเยาวชน
บรรยากาศสวนในตอนกลางคืน วางตําแหน่งไฟส่องสว่างตามจุดต่างๆ ในสวน เช่น โคนต้นไม้ใหญ่และริมขอบบ่อปลา ช่วยสร้างบรรยากาศให้สวนดูมีมิติมากยิ่งขึ้น
ขอบบ่อที่เป็นมุมเหลี่ยมพรางด้วยกลุ่มพรรณไม้สามระดับ คือไม้ต้น ไม้พุ่ม และไม้คลุมดิน แยกกลุ่มออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความรู้สึกสงบนิ่งแบบเซน

“ส่วนพรรณไม้ก็เลือกใช้ที่ดูเป็นจีนจริงๆต้นไม้ส่วนใหญ่ในเมืองจีนมักเป็นไม้ที่มีใบเล็กๆเรียวๆ ยาวๆ เพราะสภาพอากาศบ้านเขาหนาวแล้วผมจะเลือกใช้สีแค่ 3 สี คือ สีแดง สื่อถึงความเป็นจีน สีขาว สื่อถึงความเป็นพุทธ วัดวาอารามต่างๆ และสีเหลือง สื่อถึงพระมหากษัตริย์ เราใช้สีเหล่านี้กับกลุ่มไม้พุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเข็มศรีลังกา พุดศุภโชค พุดเวียดนาม เทียนหอม และประทัดจีน ส่วนไม้ใหญ่ก็เลือกใช้เพียงไม่กี่ชนิดและต้องสื่อถึงความเป็นจีนเช่นกัน อย่างหลิวที่ดูเบาๆ ลู่ลมซึ่งสื่อถึงความเป็นจีนได้แน่นอน แล้วก็ใช้เลี่ยนเป็นต้นที่มีถิ่นกําเนิดทางตอนใต้ของจีน

“นอกจากนี้ผมต้องการสร้างจุดเด่นให้บริเวณทางเข้าสวนดูมีเอกลักษณ์ ก็พยายามหาต้นไม้ใหญ่ที่มีความโดดเด่นและสื่อถึงความเป็นจีน โชคดีได้ต้นหนึ่งมาก็คือ มะรุมยักษ์ กิ่งและใบมีลักษณะลู่ลงเหมือนน้ําตก ภาพรวมดูอ่อนน้อมถ่อมตนเหมาะกับสวนแห่งนี้ แต่ทีนี้จะเรียกว่ามะรุมยักษ์ก็ดูไม่เข้ากับสวนสักเท่าไร แล้วชื่อก็เป็นสิ่งสมมุติ
นะครับ (หัวเราะ) จากที่เราไปสํารวจตามวังตามสวนในเมืองจีนจะนิยมปลูกเล็บมังกรซึ่งเป็นไม้เถาเลื้อยทีแรกตั้งใจจะสั่งนําเข้ามาปลูก แต่รอไม่ไหว เราเลยตั้งชื่อมะรุมยักษ์ใหม่ว่า ‘เครามังกร’ เพื่อให้เข้ากับสวน นอกจากนี้ก็จะปลูกพวกเฟินกนกนารีและมอสส์เพื่อให้สวนดูสงบนิ่ง ส่วนของเขามอในน้ําก็เพิ่มระบบพ่นหมอกลงไป จําลองบรรยากาศยอดเขาที่สูงเทียมเมฆในเมืองจีน

“ในสวนนี้ยังมีงานประติมากรรมนูนสูงที่ทําเหมือนงานแกรนิตสลักบอกเล่าตํานานสุดยอด 24 กตัญญูของแผ่นดินจีน ฝีมือของ อาจารย์โต้ง จากแมกไม้แกลลอรี ด่านเกวียน มาตกแต่งรอบสวนเพิ่มเรื่องราวในสวนให้มีสาระและน่าสนใจยิ่งขึ้น ในส่วนของบ่อน้ําเลือกปลูกบัวและเลี้ยงปลาจักรพรรดิซึ่งมีแค่สีเงินและสีทอง แทนความเป็นหยิน-หยางช่วยให้ภาพของสวนดูเป็นแบบจีนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น”

ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้จึงเป็นเสมือนหอจดหมายเหตุที่บอกเล่าความเป็นมาตั้งแต่ครั้งอดีตถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนที่มาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดอุดรธานี รวมทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางศิลปะ ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวจีน เป็นสถานที่ที่มีความงามทั้งในด้านสถาปัตยกรรมและการจัดสวนแบบจีน ซึ่งผมเชื่อว่า สวย
และยิ่งใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในบ้านเรา

นับเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของจังหวัดอุดรธานี หากคุณมีโอกาสก็อย่าลืมแวะไปเที่ยวนะครับ

พรรณไม้สําหรับสวนจีนควรมีใบเล็กเรียว แหลม เช่น หลิว ประทัดจีน เนื่องจากในสภาพธรรมชาติของประเทศจีนมีอากาศหนาวเย็น ต้นไม้มักมีใบขนาดเล็กเพื่อลดการคายน้ํา จึงจะสามารถดํารงชีวิตอยู่ในสภาพอากาศเช่นนี้ได้
เพิ่มลูกเล่นให้พื้นทางเดินในสวน ด้วยการเรียงก้อนกรวดต่างสีเป็นลวดลายแบบจีน ซึ่งจะพบเห็นได้ในเขตพระราชวังของจีน
การจัดสวนจีน นิยมจําลองสภาพธรรมชาติของป่าเขาและลําธาร ในภาพเลือกใช้ก้อนหินทรงสูงต่างระดับจัดเป็นกลุ่มแทนหุบเขาในประเทศจีน เป็นการตัดทอนรายละเอียดและเลือกใช้วัสดุที่มีได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสื่อถึงความเป็นจีนได้อย่างชัดเจน

ศาลาพักผ่อนทรงเก๋งจีนและถังขยะทําด้วยไม้ไผ่ ซึ่งสั่งเข้าจากประเทศจีนโดยเฉพาะ เพื่อให้ภาพรวมของสวนเป็นสวนจีนที่สมบูรณ์แบบที่สุด

เรื่อง : “วชิรพงศ์ หวลบุตตา”
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล