วิธีจัดเก็บ เครื่องมืองานช่าง ให้ใช้ง่าย ประหยัดพื้นที่
40 วิธีจัดเก็บ เครื่องมืองานช่าง และอุปกรณ์งานคราฟต์ให้เรียบร้อย และใช้งานเวิร์ค สำหรับ 5 งานคราฟต์ ได้แก่ งานไม้ งานเครื่องหนัง งานผ้า งานทำขนม-อาหาร และงานศิลปะ
งานไม้
การทำงานไม้มีการใช้ เครื่องมืองานช่าง และอุปกรณ์ทั้ง Hand Tools และ Power Tools ใช้พื้นที่ทำงานและเก็บอุปกรณ์ค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับชิ้นงานที่ทำ มีเสียงดัง เกิดฝุ่นและมีเศษเหลือใช้เยอะ จึงควรเป็นมุมทำงานที่แยกจากส่วนพักอาศัยอย่างชัดเจน ไม่อับชื้น และระบายอากาศได้ดี การจัดเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ดีจะช่วยให้หาง่าย ทำงานสะดวก และไม่รก โดยเฉพาะอุปกรณ์ชิ้นเล็กที่มักปนกัน
- ที่เก็บเศษไม้สั้น-ไม้ยาว เศษไม้ที่เหลือมักมีขนาดเล็ก ใหญ่ สั้น ยาว คละกัน หากเก็บไม้รวมกันจะยากต่อการนำมาใช้งานต่อ สามารถใช้ท่อพีวีซีขนาด 4 นิ้ว ตัดให้มีขนาดสั้นยาว ต่อกันเป็นทรงก้นหอยแล้วยึดด้วยสกรู ก็ใช้เก็บเศษไม้แยกตามความยาวได้สะดวกยิ่งขึ้น
- แถบแม่เหล็กสารพัดประโยชน์ แถบแม่เหล็กที่นิยมใช้ติดมีดในครัวก็นำมาใช้ติดอุปกรณ์ที่มีโลหะเป็นส่วนประกอบได้อย่างเป็นระเบียบ จัดเรียงดีๆก็ดูสวยงามได้
- ช่องเก็บอุปกรณ์ นำท่อพีวีซีมาตัดเอียง 45 องศา ให้มีความยาวตามสิ่งของที่จะใส่ แล้วยึดกับแผ่นไม้ ก็ใช้เก็บอุปกรณ์ชิ้นเล็กที่มีลักษณะเป็นแท่งได้หลายอย่าง แล้วยังหยิบง่ายด้วย
- จับคว่ำแล้วดี ขวดที่ใส่ของเหลวหนืดๆอย่างกาว ซึ่งมักต้องคว่ำรอหรือเขย่าให้ไหลลงมา แนะนำให้ทำแท่นวางแบบคว่ำขวดแบบนี้ ก็จะพร้อมใช้งานทันทีไม่ต้องรอ
- ขวดเก็บนอต-สกรู-พุก ดัดแปลงขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำดื่มใสๆ นำมาเจาะรูให้พอล้วงมือเข้าไปได้ และเจาะฝาขวดทำที่แขวนด้วยเชือก ลวด หรือเคเบิลไทล์ เพียงแค่นี้ก็ใช้เก็บนอย พุก และอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆได้สารพัด แล้วยังถือพกติดตัวไปทำงานได้ง่าย
- ที่เก็บสายต่างๆ วิธีจัดเก็บสายไฟที่ง่ายทั้งตอนเก็บและตอนนำออกมาใช้ ด้วยการร้อยเชือกเส้นคู่กับท่อนไม้แล้วมัดปม เพียงแค่นี้ก็ใช้รัดและแขวนสายไฟ สายยางได้อย่างสะดวกแล้ว
- ลิ้นชักเก็บอุปกรณ์ ทำตู้ลิ้นชักแบบยกได้สำหรับเก็บตะปู สกรู นอต ด้วยขวดพลาสติกที่นำมาเจาะให้เป็นกล่องลิ้นชัก แล้วทำกล่องไม้ให้พอดีกับขนาดขวดพลาสติก พร้อมติดมือจับด้านบนให้ยกได้สะดวก เคล็ดลับความเท่คือการเลือกรูปทรงขวดที่นำมาเรียงแล้วดูสวยงาม
- ช่องเก็บสว่าน ทำที่เก็บสว่านด้วยการตัดท่อพีวีซีตามรูป โดยวัดตามขนาดสว่านที่จะเก็บ แล้วยึดสกรูใต้ชั้นวางของ ก็จัดเก็บ เครื่องมืองานช่าง และนำออกไปใช้ได้อย่างง่ายดาย
งานเครื่องหนังทำมือ
อุปกรณ์สำหรับงานเครื่องหนังทำมือมีขนาดเล็ก และใช้พื้นที่ในการทำงานไม่มากนัก ส่วนที่ใช้พื้นที่มากที่สุดคือพื้นที่เก็บผืนหนังและโต๊ะที่เดินได้รอบ สำหรับวางแพตเทิร์นและตัดผืนหนัง ในขณะทำงานจะมีขั้นตอนการตอกและทากาว ซึ่งมีเสียงดังและมีกลิ่นฉุน จึงแนะนำให้พื้นที่ทำงานเป็นพื้นคอนกรีตหรือปูผ้ารองแท่นตอก ก็จะช่วยลดการสั่นสะเทือนและเสียงดัง มีช่องเปิดให้อากาศถ่ายเทเพื่อระบายกลิ่นฉุนของสารระเหย หรือหากเป็นห้องปรับอากาศแนะนำให้ติดพัดลมระบายอากาศและระวังไม่ให้ภายในห้องอับชื้นเพราะผืนหนังอาจขึ้นราได้
- ชั้นเก็บผืนหนัง การเก็บผืนหนังสามารถม้วนเก็บในชั้นตรงๆปกติได้ หรือจะดัดแปลงท่อกระดาษนำมายึดและเรียงซ้อนกัน ให้เป็นช่องๆเพื่อช่วยแยกสีและชนิด ทำให้ผืนหนังไม่ซ้อนทับกันและหยิบมาใช้ได้สะดวก
- ราวแขวนผืนหนัง ทำที่เก็บผืนหนังให้โชว์ได้เท่ๆ ด้วยการทำสายหนังยึดกับผนังสำหรับพาดไม้ที่ใช้ม้วนเก็บผืนหนัง จัดวางไล่ระดับเป็นจังหวะก็ดูสวยเหมือนของตกแต่งผนัง
- ที่เก็บอุปกรณ์ปลายแหลม นำท่อพีวีซีบากท่อนล่างให้เห็นด้านใน แล้วยึดกับแผ่นไม้ที่เจาะรูไว้ สำหรับใช้เก็บอุปกรณ์ปลายแหลมต่างๆ ให้ปลายลอยอยู่ ช่วยไม่ให้ทู่เร็ว และยังมองเห็นปลายของอุปกรณ์เพื่อให้เลือกหยิบใช้ได้
- ชุดเก็บอุปกรณ์เคลื่อนที่ หากใครย้ายมุมนั่งทำงานบ่อย ลองใช้ชั้นไม้แบบมีราวหิ้วไว้เก็บรวมอุปกรณ์ พร้อมทำที่เก็บด้านข้างด้วยการเย็บหนังเป็นช่องๆสำหรับสอดแขวนอุปกรณ์ได้
- ที่เก็บอุปกรณ์พื้นฐาน อุปกรณ์งานเครื่องหนังที่มีลักษณะเป็นแท่งๆ สามารถทำที่เก็บด้วยการใช้ฐานไม้เจาะเป็นช่องๆ หรืออุปกรณ์ที่เป็นแท่งยาวและปลายแหลม นิยมทำเป็นชั้นไม้เจาะรูสำหรับแขวนผนัง
- ชุดเก็บเข็มและด้าย จะแยกเก็บเข็มและหลอดด้ายทำไมในเมื่อต้องใช้คู่กันเสมอ ก็ใช้หนังมาทำที่ใส่หลอดด้าย พร้อมทำช่องสอดเก็บเข็มไว้รอบๆ
- ที่เก็บอุปกรณ์พื้นฐาน อุปกรณ์งานเครื่องหนังที่มีลักษณะเป็นแท่งๆ สามารถทำที่เก็บด้วยการใช้ฐานไม้เจาะเป็นช่องๆ หรืออุปกรณ์ที่เป็นแท่งยาวและปลายแหลม นิยมทำเป็นชั้นไม้เจาะรูสำหรับแขวนผนัง
- แผงแขวนอุปกรณ์ หากเริ่มมีอุปกรณ์มากชิ้นและอยากจัดเก็บให้เป็นระเบียบและโชว์ได้ด้วย การทำแผงแขวนเซตอุปกรณ์เป็นคำตอบที่ดี เพราะสามารถดีไซน์การเก็บได้หลากหลาย ทั้งทำชั้นวาง ชั้นเจาะรูสำหรับเสียบอุปกรณ์ หรือตอกสายหนังบนแผ่นไม้ให้เป็นช่องๆ ก็เสียบเก็บอุปกรณ์ได้แบบเท่ๆ
งานผ้า
หลายคนคุ้นเคยกับการทำงานเกี่ยวกับผ้าเพราะเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการเย็บปักถักร้อย การตัดเสื้อผ้า รวมถึงการซ่อมแซมงานผ้า อุปกรณ์การทำงานหลักๆมีเพียงจักรเย็บผ้าซึ่งเดี๋ยวนี้มักเป็นจักรเย็บผ้าอเนกประสงค์ โต๊ะตัดผ้า และอุปกรณ์การเย็บทั่วไป สามารถจัดมุมทำงานผ้าได้หลายพื้นที่ในบ้าน รวมถึงผนวกเป็นพื้นที่เดียวกับห้องอื่นๆอย่าง ห้องนั่งเล่น ห้องนอน เพียงเตรียมพื้นที่ให้มีแสงสว่างเพียงพอ และจัดเก็บอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบก็ทำให้มุมทำงานน่าใช้และบ้านน่าอยู่
- หน้าบานตู้และตัวหนีบ จัดเก็บซิปให้เป็นระเบียบแบบง่ายๆ เพียงใช้ตัวหนีบแยกตามสีและขนาด แล้วแขวนไว้กับตะขอแขวนที่ติดไว้หลังหน้าบานตู้ นอกจากจะหยิบใช้ง่ายแล้ว แค่ปิดหน้าบานก็จะซ่อนให้ดูเรียบร้อยทันที
- แถบแม่เหล็กช่วยได้ เก็บอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆอย่างกระดุม ด้าย ของตกแต่งผ้าในตลับโลหะ เพื่อนำไปติดกับแถบแม่เหล็กได้ อาจจัดเก็บของที่หยิบใช้บ่อยให้อยู่ใกล้มือ
- ตะกร้าจัดระเบียบ เลิกหงุดหงิดกับเส้นไหมพรมที่พันกันและกลิ้งไปมา โดยวางไหมพรมในตะกร้าที่มีรู แล้วดึงเส้นไหมพรมต่างๆผ่านรู เพียงแค่นี้ก็จะไม่พันกันและไม่กลิ้งหนีไปไหนแล้ว
- ด้ายแม่ลูก เก็บหลอดด้ายกับกระสวยไว้ให้หยิบใช้แบบแพ็กคู่ เพียงใช้หนังยางรัดไว้ด้วยกัน ก็ช่วยให้หยิบนำไปใช้ได้ในครั้งเดียวเลย
- โต๊ะตัดผ้า ทำราวติดผนังสำหรับแขวนม้วนไว้ข้างๆโต๊ะตัดผ้า ก็จะสามารถดึงผ้ามาตัดได้สะดวก พร้อมทำชั้นใต้โต๊ะสำหรับเก็บผ้าหรือเก็บของอื่นๆ
- กล่องริบบิ้น มาเก็บริบบิ้นในกล่องกันดีกว่า ด้วยการสอดแกนไม้หรือพลาสติกกับม้วนริบบิ้นและกล่อง พร้อมเจาะรูสำหรับดึงริบบิ้น นอกจะดึงมาใช้ง่ายแล้ว ยังปิดฝากล่องกันฝุ่นได้ด้วย
- ไม้หนีบริบบิ้น เก็บเศษริบบิ้นหรือแถบผ้าไม่ให้กระจัดกระจาย ด้วยการพันกับไม้หนีบผ้า แล้วหนีบส่วนปลายไว้ให้พร้อมใช้งาน
- ที่เก็บหลอดด้าย ออกแบบภายในตู้ให้เป็นที่เก็บด้าย ด้วยการทำแผ่นไม้เจาะรูแล้วเสียบแกนไม้ห่างกันตามขนาดของหลอดด้าย นำไปติดในตู้ด้วยรางลิ้นชักให้เลื่อนออกมาได้ ก็ช่วยให้เลือกหยิบใช้ง่ายและดูเรียบร้อย
งานทำขนมและอาหาร
พื้นที่การทำขนมและอาหารสามารถจัดแบบห้องครัวทั่วไปได้ แต่ก็มีการทำขนมหรืออาหารบางประเภทที่ต้องการความเฉพาะ เช่น ต้องทำในห้องปรับอากาศ การทำท็อปเคาร์เตอร์หินหรือสเตนเลสสำหรับการนวดแป้ง หรือการแยกการใช้เตาอบและตู้เย็นสำหรับการทำขนมและอาหารป้องกันกลิ่นติดกัน ทั้งยังมีอุปกรณ์ค่อนข้างมาก จึงควรเน้นการจัดเก็บง่าย นำออกมาใช้สะดวกและประหยัดพื้นที่
- ที่เก็บจาน จัดเก็บจานชามในลิ้นชักไม่ให้ล้มหรือกระทบกันได้ง่ายๆ โดยรองพื้นด้วยแผ่นไม้เจาะรู แล้วทำแกนไม้เป็นเดือยให้ตั้งได้ สำหรับล็อกจานชามไม่ให้ขยับ วิธีนี้สามารถปรับตามขนาดจานชามได้สะดวก
- ช่องเก็บถาด ดีไซน์ช่องในตู้ให้ใช้เก็บถาดขนม ถาดแม่พิมพ์ โดยทำกล่องไม้ที่เซาะร่องด้านบนและด้านล่างเป็นรางสำหรับสอด แผ่นไม้ที่ใช้แบ่งช่อง จึงปรับขนาดช่องได้ตามต้องการ
- ช่องเสียบไม้พาย ทำที่เก็บไม้พายแบบง่ายๆ ด้วยการใช้สายรัดท่อน้ำติดบนแผ่นไม้ ก็สามารถใช้เสียบอุปกรณ์ด้ามยาวได้
- การแบ่งช่องในลิ้นชัก ลองแบ่งช่องเก็บของในลิ้นชักเป็นแนวเฉียง 45 องศาดูบ้าง แล้วจะพบว่าสามารถเก็บของยาวๆได้ดีกว่า เพราะเส้นทแยงมุมจะมีความยาวกว่าด้านสั้นและด้านยาว แล้วช่องอื่นๆยังใช้แยกเก็บของที่มีความยาวขนาดต่างๆได้
- การเก็บขวดเครื่องปรุง เปลี่ยนการเก็บขวดเครื่องปรุงเล็กๆบนชั้นที่วางแล้วบังกันจนหยิบยาก มาเก็บโดยวางแนวนอนในลิ้นชักก็จะเลือกหยิบได้ง่ายกว่า จะให้ดีทำฐานวางให้เอียงเล็กน้อยก็ช่วยให้ขวดไม่เลื่อนมาปนกัน
- ที่แขวนกระทะ แขวนกระทะให้เป็นระเบียบและแขวนได้จำนวนมาก โดยทำราวแล้วแขวนด้วยตะขอตัวเอส (S) ให้กระทะหันด้านข้าง
- หน้าบานตู้ซ่อนของ เปลี่ยนหลังหน้าบานตู้ให้เก็บของได้ ด้วยการติดกล่องใส่แฟ้มเอกสาร สำหรับใช้เก็บกล่องต่างๆ เช่น กล่องพลาสติกแรป กล่องฟอยล์ห่ออาหาร
- ตู้เก็บอุปกรณ์ด้ามยาว ทำตู้ลิ้นชักสำหรับเก็บอุปกรณ์ที่มีด้ามยาวๆไม่ให้เกะกะ ด้วยการทำชั้นแล้วเจาะช่องใส่ภาชนะทรงกระบอก ก็ใช้เก็บไม้พาย ตะหลิว ทัพพีได้ง่าย
งานศิลปะ
พื้นที่ทำงานศิลปะค่อนข้างอิสระขึ้นอยู่กับประเภทงานและขนาดชิ้นงานที่ทำ โดยขอยกตัวอย่างการจัดเก็บสำหรับการวาดรูปและทำงานบนผืนผ้าใบ ซึ่งต้องจัดพื้นที่ให้มีแสงสว่างเพียงพอ และหากใช้สีที่มีกลิ่นฉุนควรคำนึงถึงการระบายอากาศแบบธรรมชาติหรือใช้พัดลมดูดอากาศ พื้นที่ในการทำงานอาจใช้ไม่มาก แต่เมื่อผลงานเสร็จแล้ว จำเป็นต้องมีที่เก็บ รวมถึงพื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆให้เข้าที่ด้วย
- ที่พักพู่กัน ใช้ตัวหนีบดำขนาดเล็กและขนาดใหญ่มาหนีบไว้ที่ขอบกระดานวาดรูป ก็จะใช้เป็นที่เสียบพักพู่กันได้
- ตะแกรงจัดระเบียบ เสียบดินสอ สี ปากกา พู่กันใส่ช่องได้เป็นระเบียบมากขึ้น เพียงใช้ตะแกรงกรงไก่ หรือตะแกรงพลาสติกมาติดด้านบน ก็จะช่วยให้เรียงได้เป็นระเบียบขึ้น และจะให้ดีให้กรุตะแกรงด้านในช่องด้วย ก็จะตั้งดินสอปากกาได้ตรง
- ชั้นเก็บสเปรย์กระป๋อง การทำชั้นติดผนังเป็นช่องเอียงจะช่วยให้ประหยัดพื้นที่เก็บ หยิบใช้หรือเก็บแล้วไม่หล่นง่าย และมองเห็นแต่ละกระป๋องเพื่อเลือกหยิบได้สะดวก
- ขวดสีตีลังกา เก็บขวดสีหรือขวดน้ำยาขนาดเล็กน้ำหนักเบาแบบไม่เปลืองพื้นที่ ด้วยการติดแถบตีนตุ๊กแกที่ก้นขวดและใต้ชั้น ก็จะประหยัดพื้นที่เก็บได้มาก แต่ต้องระวังปิดฝาขวดให้สนิทเสมอ
- ชั้นอเนกประสงค์ เปลี่ยนชั้นวางอุปกรณ์ให้อเนกประสงค์มากขึ้น ด้วยการยึดสกรูไว้รอบๆ สำหรับแขวนตัวหนีบดำที่หนีบหลอดสีไว้ และแขวนม้วนกระดาษทิชชูได้ด้วย
- ชั้นเก็บเฟรม ทำชั้นเก็บเฟรมวาดรูปเป็นช่องหลายๆขนาดทั้งแนวตั้งและแนวนอน เพื่อช่วยให้เฟรมไม่ซ้อนทับกันมากเกินไป พร้อมติดล้อให้เลื่อนเก็บได้ง่าย
- ช่องเก็บเฟรม ดัดแปลงชั้นวางของทั่วไปให้เป็นที่เก็บเฟรมได้ ด้วยการตัดแผ่นกระดาษอัดเพ็กบอร์ดซึ่งมีรูอยู่แล้วให้พอดีขนาดชั้น แล้วยึดกับซี่ชั้นวางทั้งด้านบนและด้านล่างด้วยเคเบิลไทล์ ซึ่งสามารถแบ่งขนาดช่องได้ตามต้องการ
- แท่นแช่พู่กัน หลายคนเจอปัญหาล้างพู่กันแล้วแช่ไว้จนปลายพู่กันบานหรือเอียงเสียทรง มีอีกหนึ่งวิธีแช่พู่กันไม่ให้เสียทรง ด้วยการทำแท่นไม้รูปตัวยู (U) ที่ยึดไม้หนีบผ้าไว้ด้านบน จากนั้นยึดกับขอบถาดด้วยการใช้ตัวหนีบดำหนีบขอบถาดไว้ แล้วรัดขาตัวหนีบดำกับขาแท่นไม้ ก็สามารถตั้งและใช้หนีบพู่กันได้แล้ว
คอลัมน์ Home Expert นิตยสารบ้านและสวน ฉบับ ก.พ. 2565
- เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
- ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล
- ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
ผนังก่ออิฐโชว์แนว การออกแบบและดูแลรักษา
ทริคงานช่างง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้
ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag