พรรณไม้หอม

10 “พรรณไม้หอม” ปลูกแล้ว หอมมมม…

พรรณไม้หอม
พรรณไม้หอม

พรรณไม้หอม มีให้เราเลือกปลูกมากมายเป็นร้อยพันชนิดก็ว่าได้ ซึ่งแต่ละพรรณก็จะมีกลิ่นไม่เหมือนกันตั้งแต่ ให้กลิ่นหอมอ่อนสบาย ให้กลิ่นหอมเย็นสดชื่น หรือกลิ่นหอมแรงแบบเมืองร้อน

และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญนอกจากเรื่องประเภทกลิ่นของ พรรณไม้หอม เราทราบถึงช่วงเวลาที่แต่ละต้นจะส่งกลิ่นออกมา รวมถึงช่วงเวลาการออกดอกซึ่งแบ่งเป็นฤดูกาล ไปจนถึงออกดอกตลอดปี เอาล่ะ my home ขอแนะนำ 10 พรรณไม้หอมน่าปลูกไปดูกันว่ามีต้นอะไรบ้าง

1 . มะลิก้านแดง

มะลิก้านแดง พรรณไม้หอม ดอกไม้สีขาว
มะลิสถาน , มะลิจะขาน , Catalonian Jasmine , Poet’s Jasmine , Spanish Jasmine

มะลิ ก้านแดง พรรณไม้หอม ประเภทไม้เลื้อยขนาดกลาง กิ่งก้านเลื้อยได้ไกล 3 – 4 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ออกตรงข้าม ใบย่อย 5 – 9 ใบ ไม่มีก้านใบ รูปรี ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเข้ม ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกย่อย 1 – 3 ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียว เป็นซี่เรียวแหลม โคนเชื่อมติดกัน ดอกตูมสีชมพู กลีบดอกสีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบชอบแดดเต็มวัน

กลิ่น   หอมอ่อนๆ

ช่วงเวลา    ค่ำ-เช้า

ออกดอก     ตลอดปี

2 . โมกราชินี

โมกราชินี ดอกไม้หอม ดอกไม้สีขาว
โมกสิริกิติ์

โมกราชินี หรือโมกสิริกิติ์ ซึ่งขอพระราชทานพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ มาตั้งเป็นคำระบุชนิดเมื่อปี พ.ศ. 2544 โมกราชินีเป็น พรรณไม้หอม ขนาดกลางสามารถสูงได้ถึง 6 เมตร บางต้นแคระแกร็นคล้ายบอนไซ ลำต้นสีเทาอมน้ำตาลเปลือกต้นขรุขระ ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ใต้ใบมีขนอ่อนปกคลุม ดอกเดี่ยวออกที่ปลายยอด ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 – 5 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว กลางดอกมีรยางค์เป็นขนยาว น้ำปานกลาง ทนแล้ง ไม่ทนน้ำท่วมขัง แสงแดดตลอดวัน

กลิ่น   หอมอ่อนๆ

ช่วงเวลา    เย็น-ค่ำ

ออกดอก     ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน

3 . แก้วเจ้าจอม

แก้วเจ้าจอม ดอกไม้สีม่วง ดอกไม้สีฟ้า ต้นไม้ดอกหอม
Lignum Vitae

แก้วเจ้าจอม มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะเวสต์อินดีส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำต้นพันธ์มุาจากประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ. 2451 และทรงปลูกไว้ที่พระราชอุทยานสวนสุนันทา เดิมชาววังเรียกว่า“ ต้นน้ำอบฝรั่ง ” ต่อมาพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราช ปดิวรัดา ประทานชื่อใหม่ว่า “แก้วจุลจอม” ในปี พ.ศ. 2501 ศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันทน์ ได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “แก้วเจ้าจอม” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน เป็นพรรณไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ต้นแก้วเจ้าจอมเป็น พรรณไม้หอม ขนาดใหญ่สามารถสูงได้ถึง 10 – 15 เมตร เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประธานในสวน ลำต้นมีเนื้อไม้แข็ง ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกตรงข้ามมี 2 พันธุ์ คือ ใบย่อย 2 คู่และ 3 คู่ ใบย่อยรูปไข่กลับหรือรูปรี ขนาดไม่เท่ากัน กว้าง 1- 2.5 เซนติเมตร ยาว 1.5 – 2.5 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบสอบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายยอด กลีบดอก 5 กลีบ ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 – 2.5 เซนติเมตร บานวันแรกสีฟ้าอมม่วง จากนั้นสีจะซีดลงเป็นสีขาว เกสรสีเหลืองเห็นเด่นชัด น้ำปานกลาง แดดเต็มวัน ขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก จึงนิยมใช้วิธีตอนกิ่งและเพาะเมล็ด

กลิ่น   หอมอ่อน ๆ

ออกดอก     ช่วงเดือนธันวาคม – เมษายน และช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม

4 . หิรัญญิการ์

หิรัญญิการ์ พรรณไม้หอม ดอกไม้สีขาว
กำลังช้างสาร , เครือง้วนเห็น , เถาตุ้มยำช้าง , Easter Lily Vine , Herald’s Trumpet , Nepal Trumpet

หิรัญญิการ์ ไม้เลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ กิ่งก้านเลื้อยได้ไกล 6 – 15 เมตร กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบออกตรงข้าม รูปไข่กลับหรือรูปรีแกม ขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเป็นมัน ใต้ใบสีขาวนวล มีขนสากมือสีน้ำตาลอมแดง เส้นใบย่อยเป็นร่องชัดเจน ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง รูปกรวยตื้น กลีบดอกสีขาว โคนกลีบสีเขียวอ่อน ขอบกลีบบิดเป็นคลื่นเล็กน้อย ทยอยบาน ชอบแดดเต็มวัน

กลิ่น   หอมอ่อน ๆ

ออกดอก     ช่วงเดือนธันวาคม – เมษายน (เน้นฤดูหนาว)

5 . พุดซ้อน

พุดซ้อน ดอกไม้สีขาวกลิ่นหอม พรรณไม้ดอกหอม
เคดถวา , แคถวา , พุดจีน , พุดใหญ่ , Cape Jasmine , Cape Jessamine , Gardenia , Garden Gardenia , Kacapiring Bungacina

พุดซ้อนไม้พุ่มขนาดกลาง สูงได้ 1-2 ม. ทรงพุ่มแตกกิ่งแขนงมาก ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเป็นมัน ดอกเดี่ยว สีขาว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงหนาเป็นสัน มีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน เมื่อดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7-8 ซม. มักไม่ติดผล มีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์แคระ พันธุ์ใบคลื่น พันธุ์ด่างหรือพุดซ้อนด่าง เทคนิคการทำให้ดอกพุดซ้อนใหญ่ขึ้น ควรหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มให้ดูโปร่งอยู่เสมอ และด้วยลักษณะต้นและใบของพุดซ้อนนั้นเหมาะกับสวนแบบไทย ๆ และสวนป่า จึงนิยมนำดอกไปร้อยเป็นมาลัยบูชาพระ หรือนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ทำน้ำหอม เปลือกของต้นพุดซ้อนมีสรรพคุณทางยาช่วยแก้บิด ใบแก้อาการปวดศีรษะ เคล็ดขัดยอก ดอกคั้นน้ำทาแก้โรคผิวหนัง ผลใช้ขับพยาธิ ขับปัสสาวะได้ด้วย

กลิ่น   หอมแรง

ออกดอก     ตลอดปี