ทาร์รากอน หรือ เม็กซิกันทาร์รากอนอาจเป็นเครื่องเทศสมุนไพรที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก แต่ที่ประเทศฝรั่งเศสหรือประเทศอื่นในทวีปยุโรปทาร์รากอนเป็นเครื่องเทศที่ขาดไม่ได้และต้องมีติดครัวไว้เสมอสำหรับเป็นหนึ่งในวัตถุดิบประกอบอาหารเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมให้อาหารดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น จนเชฟชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่ยกให้ทาร์รากอนเป็น”ราชาแห่งสมุนไพร” ไม่เป็นรองสมุนไพรตัวอื่นอย่างเชอร์ชิล,กุ้ยช่ายฝรั่งและพาสลีย์ แต่เหนือกว่าสิ่งใดทาร์รากอนเป็นหนึ่งในสมุนไพรฝรั่งที่ปลูกได้ดีในประเทศไทย ซึ่งหากไม่ได้ปลูกเพื่อประกอบอาหารก็ยังออกดอกสีเหลืองสวยงามกลายเป็นไม้ดอกประดับสวนได้อีกด้วย
ชื่อวิทยาศาสตร์ของทาร์รากอน คือ Tagetes lucida Cav. พืชสกุลเดียวกับดาวเรือง อยู่ในวงศ์ Asteraceae มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปอเมริกากลาง ประเทศเม็กซิโกถึงกัวเตมาลา เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก อายุหลายปี สูงได้ 30-80 เซนติเมตร ลำต้นเล็ก ทุกส่วนอวบน้ําและมีขนอ่อนปกคลุม ใบรูปแถบเล็กออกเวียนสลับรอบกิ่ง เมื่อขยี้ใบมีกลิ่นหอมคล้ายลูกอมสมุนไพร ดอกออกที่ปลายยอดขนาด 1-1.5 เซนติเมตร มี 5 กลีบ สีเหลืองสด ต้องการแสงแดดตลอดวัน เติบโตได้ดีในที่มีอากาศเย็นแต่อากาศทั่วไปของประเทศไทยก็สามารถเติบโตได้เช่น ปลูกง่าย ขยายพันธุ์ด้วยการปักชํากิ่ง ทาร์รากอนชนิดี้เป็นคนละตัวกับทาร์รากอนในประเทศฝรั่งเศส ที่ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Artemisia dracunculus var. sativa แต่ให้กลิ่นและรสชาติที่ใช้แทนกันได้เป็นอย่างดี
ในธรรมชาติจะพบทาร์รากอนบนเทือกเขาสูงพื้นดินเป็นหินปูนจึงชอบอากาศเย็น แต่ก็ปรับตัวและปลูกประดับได้ดีในเมืองไทย สามารถปลูกเป็นไม้กระถางหรือไม้ประดับแปลงร่วมกับต้นไม้ประดับชนิดอื่นๆหรือผักสวนครัวประเภทไม้ล้มลุก นิยมปลูกในสวนสไตล์อังกฤษที่ให้กลิ่นอายแบบชนบทหรือสวนหินในบริเวณที่มีแสงแดดตลอดวัน
ทาร์รากอนมีสารประกอบที่ให้กลิ่นหอมและรสชาติคล้ายโป๊ยกั๊ก ยี่หร่า และชะเอมเทศ ชาวเม็กซิโกจึงนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง ทั้งใบสดและใบแห้งชงชาดื่ม ใบสดนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆเมื่อเคี้ยวสดจะทำให้ปลายลิ้นชาเล็กน้อยใช้ปรุงอาหาร ซุปและเครื่องดื่มประเภทไซเดอร์ น้ำอัดลม ชาและโกโก้ร้อนทำให้มีรสเผ็ดร้อนขึ้น ลำต้นแห้งใช้เผาเพื่อไล่แมลงหรือไล่ยุง ดอกใช้ทำสีย้อมผ้าได้ ชาวแอซเท็กใช้ต้นไม้ชนิดนี้ในพิธีกรรมทางศาสนาพื้นเมืองเป็นสัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของเทพเจ้าแห่งสายฝน ” Tlāloc ” ปัจจุบันยังใช้สกัดทำยาชารักษาโรคหวัด ก๊าซในลำไส้ และอาการท้องเสีย
เรื่อง : ปัญชัช
ขอบคุณภาพจากคุณ Man Mensch