รีโนเวท ทาวน์เฮ้าส์สีขาว ให้กลับมา"รัก"อีกครั้ง - บ้านและสวน

ทาวน์เฮ้าส์รีโนเวตสีขาว ให้กลับมา”รัก”อีกครั้ง

การรีโนเวตบ้านหลังนี้ไม่ได้คืนชีพให้ตัวบ้านเท่านั้น แต่คืนความรู้สึกดีๆของชีวิตคู่ และความรู้สึกรักบานให้กลับมาอีกครั้ง ผ่านการออกแบบ “สเปซ” ของบ้านมือสองให้อยู่สบาย ขณะเดียวกันก็เอื้อต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้ทุกวันได้กลายเป็น “เวลาของเรา”

.ทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้นที่ออกแบบฟาซาดสีขาวด้วยบล็อกช่องลมสามเหลี่ยม จัดเป็นลายกราฟิกให้มีทั้งความทึบและความโปร่ง สร้างความเป็นส่วนตัว แต่ไม่ตัดขาดจากภายนอก
ฝ้าเพดานชั้นล่างค่อนข้างเตี้ย เพราะมีการยกระดับพื้นให้สูงขึ้น จึงยกฝ้าเพดานให้สูงที่สุดและโชว์แนวคาน แล้วเปิดเป็นพื้นที่โล่งรองรับการทำกิจกรรมในอนาคตที่อาจปรับเป็นคาเฟ่ และเป็นพื้นที่จัดเวิร์คชอป

ก่อนหน้านี้ คุณซวง – นีรรัตน์ เหลืองสิวากุล และคุณแชมป์ – ชนาวุฒิ ปัญญาวัฒนากุล เคยอยู่บ้านที่เป็นเรือนหอ แม้จะหลังใหญ่กว่าปัจจุบัน แต่กลับยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ห่างเหินไป จึงมองหาบ้านใหม่ที่มีขนาดเล็กลง โดยมี คุณแก้ว – คำรน สุทธิ สถาปนิกแห่ง Eco Architect เป็นผู้ออกแบบและ รีโนเวท ทาวน์เฮ้าส์สีขาว ด้วยคิดว่าเป็นเคสที่น่าสนใจที่จะเปลี่ยนบ้านที่มืด อับ ร้อนให้อยู่สบาย และสเปซแบบไหนจึงจะเหมาะกับนักจิตวิทยา

ทาวน์เฮ้าส์มือสองที่ตัดสินใจซื้อใน 1 วัน

“บ้านเดิมที่เคยอยู่ค่อนข้างร้อน ในบ้านถูกกั้นเป็นห้องๆมากเกินไป ทำให้เราอยู่แล้วรู้สึกโดดเดี่ยว ตัดขาดจากกันเหมือนต่างคนต่างอยู่ เรียกได้ว่าทำให้ร้อนทั้งกายและใจ จนแยกกันอยู่ระยะหนึ่ง” คุณซวงและคุณแชมป์ เจ้าของบ้านเล่าถึงเรือนหอเดิมและนำประสบการณ์นั้นมาแปรเป็นโจทย์สำหรับการออกแบบบ้านใหม่ โดยมองหาบ้านในทำเลที่คุ้นเคย “เราหาข้อมูลบ้านมาหลายที่ ไปดูทาวน์เฮ้าส์ใหม่ในโครงการหมู่บ้าน เป็นบ้านเปล่าราคาประมาณ 5 ล้านบาท และอยู่ในซอยลึกกว่านี้ แล้วก็ค้นหาในอินเทอร์เน็ตจนมาเจอหลังนี้ เป็นทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้น อายุประมาณ 30 ปี ขนาดที่ดินประมาณ 31 ตารางวา พอเข้ามาดูทำเล สภาพแวดล้อมและสภาพอาคารแล้วก็ตัดสินใจซื้อเลยภายใน 1 วัน เพราะนอกจากจะอยู่ใกล้บ้านพ่อแม่แล้ว เราอยากได้บ้านขนาดไม่ใหญ่มาก เป็นบ้านริมที่มีพื้นที่เปิดโล่ง และสามารถรื้อแก้ไขได้ ที่นี่จึงตอบโจทย์ทุกอย่าง”

เปลี่ยนสำนักงานบัญชีเก่าให้กลายเป็นบ้านอยู่สบาย

ด้วยประสบการณ์จากบ้านหลังเก่า เจ้าของบ้านจึงให้โจทย์กับสถาปนิกว่า “อยากให้เป็นบ้านที่เชื่อมต่อถึงกัน รู้สึกเหมือนอยู่ด้วยกันแม้จะทำกิจกรรมกันคนละที่ อบอุ่น ไม่เหงา และไม่ร้อน” ซึ่งถ้าเห็นบ้านตอนนี้ ใครจะเชื่อว่าเคยเป็นสำนักงานบัญชีที่ทั้งมืด อากาศไม่ถ่ายเท และร้อน เพราะภายในมีการกั้นเป็นห้องๆซ้อนกัน จึงบังช่องแสงและทางระบายอากาศ อีกทั้งต่อเติมหลังบ้านจนเต็มพื้นที่ ระดับฝ้าเพดานค่อนข้างเตี้ย และระดับพื้นบ้านเดิมต่ำกว่าระดับถนน ซึ่งเป็นความท้าทายในการแก้ปัญหา คุณแก้ว สถาปนิกได้อธิบายถึงการ รีโนเวท ทาวน์เฮ้าส์สีขาว ว่า

“เริ่มจากการมาตรวจสอบบ้านเดิมว่ามีข้อดีข้อด้อยอะไร เพื่อนำมาปรับให้ได้ตามที่ต้องการ แม้จะพบปัญหาหลายอย่าง แต่โครงสร้างอยู่ในสภาพดี จึงออกแบบด้วย 3 แนวคิดหลัก คือ บ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ โดยเปิดโล่งทั้งในแนวระนาบเพื่อดึงลมและแสงธรรมชาติเข้ามา และเปิดโล่งในแนวตั้ง โดยเจาะพื้นเชื่อมระหว่างชั้นให้เป็นดับเบิลวอลลุ่ม ช่วยให้เกิดการระบายความร้อนแนวตั้งในลักษณะ Stack Ventilation

        “แนวคิดที่สองคือ บ้านที่หายใจร่วมกัน เมื่อบ้านเปิดโล่งทั้งแนวระนาบและแนวตั้งแล้ว จะทำให้คน บ้าน และธรรมชาติเปิดใจตอบรับและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ร่วมกัน และสุดท้ายคือ การปิดจากภายนอกแต่เปิดกว้างภายใน เนื่องจากพื้นที่ภายในค่อนข้างเปิดโล่ง จึงออกแบบฟาซาดเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว กันความร้อนจากแสงแดด แต่ยังคงระบายอากาศได้ดี ซึ่งเป็นที่มาของฟาซาดบล็อกช่องลมกึ่งทึบกึ่งโปร่งสีขาว”

ทำช่องเปิดโล่งสูงถึงชั้น 2 ช่วยลดความอึดอัด และสื่อสารกันระหว่างชั้นได้ ทั้งยังเป็นไอเดียการนำแสงสว่างจากสกายไลต์ชั้น 3 ให้ตกกระทบผนังลงมาถึงชั้นล่างได้ แถมยังคอยสังเกตการทำเวิร์คชอปจากชั้นบนได้ด้วย
ภาพแนวความคิดในการออกแบบเรื่องการเปิดโล่งทั้งในแนวระนาบและแนวตั้งเพื่อดึงลมและแสงธรรมชาติเข้ามา โดยเจาะพื้นเชื่อมระหว่างชั้นให้เป็นดับเบิลวอลลุ่มแบบเยื้องตำแหน่งกัน ที่ช่วยกระจายแสงและทำให้เกิดการระบายความร้อนแนวตั้งในลักษณะ Stack Ventilation
ส่วนรับประทานอาหารและแพนทรี่อยู่ชั้น 2 ซึ่งจัดเป็นส่วนพักอาศัย ออกแบบเป็นโถงโล่งสูงถึงชั้น 3 ทำให้อากาศไหลเวียนและถ่ายเทได้ทั่วทั้งหลัง กั้นส่วนบันไดด้วยชั้นแบบโปร่ง สำหรับเก็บหนังสือที่เป็นของสะสมคุณซวง
เตรียมครัวไทยไว้ที่ระเบียงด้านหลังแพนทรี่ซึ่งเป็นระเบียงเดิม แล้วทำเคาน์เตอร์ปูนยื่นออกไปเพื่อเพิ่มพื้นที่และรับผนังบล็อกช่องลม

บ้านเก่า ฟังก์ชันใหม่

“ด้วยบ้านเดิมมีระดับฝ้าเพดานเดิมค่อนข้างเตี้ย อีกทั้งระดับพื้นชั้นล่างยังต่ำกว่าระดับถนน จึงทำพื้นให้สูงขึ้น 10 – 15 เซนติเมตร ทำให้ระดับฝ้าเพดานชั้นล่างยิ่งเตี้ย เป็นสาเหตุที่ต้องโชว์แนวคานเพื่อยกฝ้าให้สูงที่สุด ซึ่งการทำช่องเปิดด้านข้างและช่องเปิดแนวตั้งเป็นโถงสูง ช่วยลดความรู้สึกอึดอัดได้มาก ส่วนงานระบบน้ำและไฟฟ้าต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพราะมีสภาพเก่า และมีการย้ายประตูห้องน้ำและตำแหน่งสุขภัณฑ์ วางท่อระบายน้ำทิ้งใหม่รอบบ้านและปรับเป็นพื้นที่สวน ซึ่งพบว่าพื้นโดยรอบบ้านเป็นพื้นคอนกรีตค่อนข้างหนาเพราะมีการปรับระดับมาหลายครั้งแล้ว จึงสกัดออกค่อนข้างลำบาก”

การรีโนเวตมักเจอปัญหาที่ต้องปรับแก้หน้างานอยู่เสมอ เพื่อปรับพื้นที่ใช้สอยตามฟังก์ชันใหม่ ซึ่งตั้งใจให้ชั้นล่างเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่อาจปรับเป็นคาเฟ่หรือเป็นพื้นที่สำหรับจัดเวิร์คชอปและกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนามิติด้านใน ได้แก่ ดนตรีสำหรับเด็ก ศิลปะบำบัด สุนทรียสนทนา การรับฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นต้น โดยทำประตูกั้นบันไดทางขึ้นชั้น 2 ซึ่งเป็นส่วนพักอาศัย ชั้น 2 เป็นพื้นที่นั่งเล่น รับประทานอาหาร ทำงาน แพนทรี่ และครัวไทยอยู่ที่ระเบียง ส่วนชั้น 3 เป็นห้องนอน

มุมนั่งเล่นสามารถใช้งานจริงแบบเปิดโล่งได้โดยไม่เสียความเป็นส่วนตัวและยังรู้สึกโล่งสบาย ด้วยผนังบล็อกช่องลมที่ช่วยพรางตาและกรองแสงจ้า
ทำตู้บิลท์อินเต็มผนังด้านหนึ่งให้เก็บของได้เรียบร้อย และวางโต๊ะทำงานริมหน้าต่างให้มองออกไปเห็นสวนริมระเบียงที่ดูสบายตา
ทุบบันไดเดิมที่เคยอยู่อีกฝั่งออก แล้วทำโถงบันไดเป็นส่วนต่อเติมใหม่ โดยออกแบบให้เป็นบันไดโปร่งที่ไม่มีลูกตั้ง เพื่อช่วยระบายอากาศแนวตั้ง และกระจายแสงจากสกายไลต์
เปิดโถงโล่งระหว่างชั้น 2 และชั้น 3 ช่วยเชื่อมความรู้สึกและสร้างความสัมพันธ์ให้รับรู้ถึงกันได้ สามารถเรียกและคุยกันได้แม้จะอยู่คนละมุมบ้าน

สเปซและความสัมพันธ์

ด้วยเจ้าของบ้านทั้งคู่ศึกษาด้านจิตวิทยา โดยคุณแชมป์เป็นนักกระตุ้นพัฒนาการเด็กผ่านกระบวนการเล่นและกระบวนกรอิสระ ส่วนคุณซวงผันตัวมาเป็นโบรกเกอร์ขายประกัน จึงให้ความสำคัญกับการรับรู้ ความสัมพันธ์และความอบอุ่น “ในมุมมองของสถาปนิก การออกแบบบ้านให้นักจิตวิทยา มีความน่าสนใจที่จะนำเรื่องความรู้สึกและความสัมพันธ์มาออกแบบเป็นสเปซ เพราะเขาจะมีการรับรู้ที่มีผลต่อจิตใจและความรู้สึกได้ดี จึงนำมาสู่การออกแบบทำสเปซที่รับรู้และเข้าถึงได้ง่าย มีแสงและธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการเจาะพื้นเปิดโล่งเชื่อมโยงระหว่างชั้นให้สามารถพูดคุยกัน และรับรู้ถึงกันได้แม้อยู่คนละที่” สเปซนั้นสามารถสร้างการรับรู้ รวมถึงโน้มน้าวพฤติกรรมของผู้ใช้งานได้ ซึ่งเจ้าของบ้านได้บอกถึงผลลัพธ์ของการออกแบบว่า 

“เป็นบ้านที่ได้ดังใจมาก แม้เราจะทำงานอยู่อีกมุมก็ไม่รู้สึกว่าอยู่คนเดียว มีการเชื่อมต่อกันทางความรู้สึกที่รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของอีกคนด้วยการมองเห็นและเสียงจังหวะการเดิน ทำให้ความสัมพันธ์ของเราดีขึ้น รู้สึกอบอุ่น แต่สิ่งที่รู้สึกคุ้มที่สุดคือ การที่ให้คุณแก้วมาออกแบบให้ การมีสถาปนิกที่มีประสบการณ์มาออกแบบทำให้ฟังก์ชันทุกอย่างลงตัว และมากกว่านั้นคือความสุขในการอยู่บ้าน เพราะเป็นบ้านที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติทำให้เรารู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ยิ่งไปกว่านั้นการรีโนเวตสเปซของบ้านที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น จนเราตกหลุมรัก…บ้านที่เคยเก่าหลังนี้อีกครั้ง”

ทำฟาซาดให้มีระยะห่างจากโครงสร้างเดิมประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้แสงแดดส่องลอดจากชั้นบนลงมาได้ นอกจากลดความทึบแล้ว แสงแดดที่ไล้ผิวผนังยังทำให้ผนังดูสวยขึ้นด้วย
เลือกทาวน์เฮ้าส์ห้องริมเพื่อให้มีพื้นที่โล่ง แล้วลงมือจัดสวนเองให้มีกลิ่นอายญี่ปุ่น โดยกรุไม้ไผ่ทับรั้วเดิมให้บังเหล็กกันขโมยที่ติดมากับบ้านเดิม
ต่อเติมโถงบันไดให้ยื่นออกจากบ้านเดิม โดยตอกเสาเข็มไมโครไพล์ ทำโครงสร้างเหล็ก ใช้ผนังโครงเบากรุด้านนอกด้วยเมทัลชีต และทำหลังคาสกายไลต์

Tips : การเลือกบ้านมือสอง

เริ่มจากการตั้งข้อกำหนดของตัวเองให้ชัดเจน จะช่วยให้เลือกบ้านได้ง่ายและเร็ว อย่างคุณซวงและคุณแชมป์ได้ลิสต์สิ่งที่ต้องการไว้ ดังนี้

1.ทำเลใกล้บ้านพ่อแม่

2.เป็นบ้านที่ทุบปรับเปลี่ยนได้ จึงเป็นบ้านที่สร้างด้วยระบบเสาคาน ผนังก่ออิฐ ส่วนบ้านที่สร้างด้วยระบบผนังคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) ซึ่งทุบไม่ได้จะเป็นตัวเลือกรองลงมา

3.ราคาสมเหตุสมผล

4.เป็นบ้านหลังริมที่มีพื้นที่สวน

5.ลองพูดคุยกับเพื่อนบ้าน และสังเกตการจอดรถ ไม่ขวางทางกันมาก เข้า-ออกสะดวก

6.สภาพแวดล้อมเงียบสงบ

งบประมาณ

ทาวน์เฮ้าส์ราคา 3 ล้านบาท ค่ารีโนเวตรวมเฟอร์นิเจอร์ประมาณ 2.5 ล้านบาท ซึ่งถือว่าคุ้มกว่าบ้านใหม่ที่ไปดูมา เพราะบ้านใหม่ราคา 5 ล้านบาท จะได้เป็นบ้านเปล่าสองชั้น ขนาดที่ดินเล็กกว่านี้ และทำเลอยู่ลึกกว่านี้ ที่สำคัญคือทุบรื้อผนังไม่ได้เพราะเป็นระบบผนังคอนกรีตสำเร็จรูป


เจ้าของ : คุณนีรรัตน์ เหลืองสิวากุล และคุณชนาวุฒิ ปัญญาวัฒนากุล

ออกแบบ : Eco Architect Co.,Ltd. โดยคุณคำรน สุทธิ โทรศัพท์ 08-1270-3450  

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทร์ทองสุข, คำรน สุทธิ

คอลัมน์บ้านสวย มี.ค. 2565


บ้านโมเดิร์นทรอปิคัลที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ

รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์เป็นโฮมออฟฟิศกลิ่นอายไต้หวัน

ติดตามบ้านและสวน