กฎหมายความปลอดภัยจากเหตุเพลิงไหม้สำหรับโรงแรมและรีสอร์ต

จะรู้ได้อย่างไรว่า โรงแรมหรือรีสอร์ตที่เราเข้าพัก ได้รับการออกแบบก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายให้ปลอดภัยจากเหตุ ไฟไหม้ ?

สำหรับหลายๆ คน การไปเที่ยวพักผ่อนตามโรงแรมหรือรีสอร์ตถือเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้พักผ่อนร่างกายและจิตใจแบบไร้กังวล แต่เมื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างเหตุ ไฟไหม้ นั้น อาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึงขณะที่เรากำลังผ่อนคลายอยู่ภายในที่พักด้วย กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยจากเหตุเพลิงไหม้สำหรับโรงแรมและรีสอร์ตมีอะไรบ้าง รวมทั้งเราจะสามารถสังเกตและระมัดระวังตัวเองได้อย่างไร

บ้านพักรีสอร์ตสร้างจากวัสดุไม้ได้หรือไม่?

กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ระบุว่า เสา คาน พื้น บันได และผนังของอาคารโรงแรม ต้องทำจากวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุทนไฟ โดยวัสดุทนไฟตามกฏหมายนั้น หมายถึงวัสดุก่อสร้างที่ไม่เป็นเชื้อเพลิง แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าต้องเป็นวัสดุประเภทใด หรือต้องทนไฟได้กี่ชั่วโมง ดังนั้น เราจึงอาจพบว่ามีบ้านพักรีสอร์ตหลายแห่งที่ก่อสร้างด้วยไม้ หลังคามุงจาก หรือตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติเป็นจำนวนมาก เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีแปรรูปวัสดุธรรมชาติหลายประเภทให้สามารถทนไฟได้นานขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของที่พัก

ไฟไหม้

อุปกรณ์ดับเพลิงและสัญญาณแจ้งเตือน

กฎกระทรวง กําหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 ระบุถึงการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงและระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ไว้ดังนี้

  • สำหรับอาคารโรงแรมที่ลักษณะเป็นบ้านแถว บ้านแฝด หรือบ้านเดี่ยว สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงที่เหมาะสม คูหาละ 1 เครื่อง และติดตั้งระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ คูหาละ 1 เครื่องด้วย หากอาคารสูงเกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงและสัญญาณเตือนภัยทุกชั้น
  • สำหรับอาคารโรงแรมลักษณะอื่นๆ ต้องติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงสำหรับพื้นที่อาคารทุกๆ 1,000 ตร.ม. ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง และหากอาคารหลังนั้นมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นเกิน 2,000 ตร.ม. ต้องติดตั้งระบบสัญญาณเตือน ไฟไหม้ ทุกชั้น
  • อุปกรณ์ดับเพลิงต้องติดตั้งในที่ที่สามารถมองเห็นได้ และต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา

ไฟไหม้

เส้นทางหนีไฟ

กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ระบุเกี่ยวกับบันไดหนีไฟเอาไว้ว่า สำหรับอาคารโรงแรมที่สูง 4 ชั้นขึ้นไป (สูงไม่เกิน 23 เมตร) หรืออาคารสูง 3 ชั้น ที่มีพื้นที่ดาดฟ้าเหนือชั้น 3 เกิน 16 ตร.ม. นอกเหนือจากบันไดหลักของอาคารแล้ว ยังจำเป็นต้องมีบันไดหนีไฟที่สร้างจากวัสดุทนไฟอย่างน้อยอีก 1 แห่งด้วย โดยต้องมีลักษณะดังนี้

  • บันไดลาดชันน้อยกว่า 60 องศา (ยกเว้นอาคารแถวที่สูงไม่เกิน 4 ชั้น ลาดชันมากกว่านั้นได้) และต้องมีชานพักบันไดทุกชั้น
  • บันไดหนีไฟที่อยู่ภายนอกอาคารต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 60 ซม. และด้านหนึ่งของบันไดต้องเป็นผนังทึบที่ก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรที่ทนไฟ
  • บันไดหนีไฟที่อยู่ภายในอาคารต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 ซม. มีผนังทึบที่ก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรที่ทนไฟล้อมรอบ มีอากาศถ่ายเทและแสงสว่างเพียงพอตลอดเวลา
  • ประตูหนีไฟต้องทำด้วยวัสดุทนไฟ มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 ซม. ติดอุปกรณ์สำหรับปิดประตูอัตโนมัติ และต้องผลักออกสู่ภายนอกเท่านั้น

สำหรับโรงแรมที่เป็นอาคารสูง (สูง 23 เมตรขึ้นไป) จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับเส้นทางหนีไฟเพิ่มมากขึ้น ตามที่ระบุใน กฎกระทรวงฉบับที 33 (พ.ศ. 2535) ว่าด้วยเรื่องอาคารสูงและอาคารใหญ่พิเศษ เช่น ต้องมีบันไดหนีไฟอย่างน้อย 2 จุด โดยมีระยะทางห่างจากกันไม่เกิน 60 เมตร รวมถึงต้องมีลิฟต์ดับเพลิงตามมาตรฐานด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับความปลอดภัยของผู้เข้าพัก คือการสังเกตเส้นทางหนีไฟภายในอาคาร รวมถึงตำแหน่งอุปกรณ์ดับเพลิงและปุ่มกดฉุกเฉินทุกครั้งเมื่อเข้าพักในโรงแรมหรือไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อที่หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จะได้สามารถรับมือหรือหาทางหนีไปยังที่ปลอดภัยได้ทันท่วงทีนั่นเอง


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่อง   Tinnakrit


เพลิงไหม้ บ้านถล่ม ป้องกันอย่างไรได้บ้าง

ถังดับเพลิง เลือกอย่างไรดี

ผีบ้านผีเตือนกับ 13 เรื่องอันตรายในบ้าน

ติดตาม www.facebook.com/baanlaesuanmag