สิ่งที่เจ้าของบ้านควรทำ หลังเกิดเหตุไฟไหม้บ้าน
ไฟไหม้บ้าน เหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว เจ้าของบ้านควรทำอย่างไรต่อไป
ไฟไหม้บ้าน เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับบ้านซึ่งเป็นที่อาศัยพักพิง และเก็บรักษาสมบัติของเราที่มีมูลค่าทั้งทางกายและทางใจ แต่หากเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้เกิดขึ้นแล้ว เราควรทำอย่างไรต่อไป?
แจ้งเหตุ ไฟไหม้บ้าน ทันทีเมื่อเกิดเหตุ
ผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้หรือผู้พบเห็นเหตุการณ์ ไฟไหม้บ้าน ควรโทรแจ้งเหตุทันทีที่เบอร์สายด่วน 199 เป็นอันดับแรก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประสานงานไปยังหน่วยงานดับเพลิงหรือหน่วยงานกู้ภัยประจำพื้นที่ทราบ และเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด
หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือการติดต่อสถานีดับเพลิงที่ใกล้ที่สุดได้โดยตรง โดยตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์สถานีดับเพลิงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ ได้ที่ https://www.yellowpages.co.th/emergency/fire
ขอความช่วยเหลือเมื่อเหตุเพลิงไหม้สงบ
ติดต่อได้ที่ไหน?
เมื่อเหตุเพลิงไหม้สงบลงแล้ว ผู้ประสบเหตุสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในรูปแบบของเงินช่วยเหลือหรือสิ่งของจำเป็น โดยผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ในกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือจาก:
- ฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2354-6858 หรือสายด่วน 199
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โทรศัพท์ 0-2637-3000 หรือสายด่วน 1784
ส่วนผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถติดต่อไปยัง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประจำพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อทำหนังสือชี้แจงเหตุการณ์และแจ้งความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้น ส่งไปยังที่ว่าการอำเภอและแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบตามลำดับ เพื่อสั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ. จังหวัด) จ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยต่อไป
ดูว่าเหตุเพลิงไหม้เข้าข่าย “สาธารณภัย” หรือไม่
การที่ผู้ประสบเหตุจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าเหตุเพลิงไหม้เข้าข่าย “ภัยพิบัติ” หรือ “สาธารณภัย” ตามกฎหมายหรือไม่* เช่น ไฟป่า เพลิงไหม้ที่ลุกลามเป็นวงกว้าง เพลิงไหม้จากการก่อการร้าย เป็นต้น โดยผู้ประสบเหตุจะสามารถขอความช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลังได้ ก็ต่อเมื่อเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นถือเป็นสาธารณภัยเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น
- ไฟไหม้บ้านเพียง 1 หลัง จากสาเหตุเฉพาะตน เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร หรือการจุดธูปเทียนภายในบ้าน ☓ ไม่ถือเป็นสาธารณภัย
- ไฟไหม้บ้านลามเป็นวงกว้างมากกว่า 1 หลัง ✓ ถือเป็นสาธารณภัย
- ไฟไหม้ป่าลุกลามขยายเป็นวงกว้าง และลุกไหม้บ้าน 1 หลังที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ✓ ถือเป็นสาธารณภัย
*หมายเหตุ
“ภัยพิบัติ” ตามความหมายที่ระบุไว้ใน ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ข้อ 5
“สาธารณภัย” ตามความหมายที่ระบุไว้ใน พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 4
โครงการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอัคคีภัยอื่นๆ
มีหน่วยงานที่ไม่แสวงผลกำไรหลายแห่งที่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบเหตุอัคคีภัยที่ไม่เข้าข่ายสาธารณภัย ซึ่งความช่วยเหลือที่ได้จากรัฐอาจไม่เพียงพอ โดยให้ความช่วยเหลือเป็นเงินหรือสิ่งของจำเป็นตามหลักเกณฑ์ของแต่ละหน่วยงาน มีอยู่ด้วยกันหลายโครงการ เช่น
- โครงการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน มูลนิธิสันติสุข ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอัคคีภัยที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
- โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยในการฟื้นฟูบ้านเรือน และมอบโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่
- เหล่ากาชาดประจำจังหวัด สภากาชาดไทย
- มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
- มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง แผนกสังคมสงเคราะห์
ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร
นอกจากการขอรับความช่วยเหลือหรือความคุ้มครองเป็นเงินแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการประเมินความเสียหายและความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารที่เหลืออยู่ โครงสร้างอาคารแต่ละประเภทสามารถทนไฟได้ในระยะเวลาที่ต่างกัน เช่น บ้านโครงสร้างไม้ที่อาจพังลงมาอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเพลิงไหม้ หรือบ้านโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่อาจทนไฟได้ประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอายุและการออกแบบของอาคาร ดังนั้น หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่นานเกิดระยะเวลาดังกล่าว อาคารจึงมีโอกาสถล่มลงมาได้อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการเข้าไปสำรวจ รื้อถอน หรือปรับปรุงอาคารที่ถูกไฟไหม้ จึงต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
สังเกตความเสียหายของโครงสร้างเบื้องต้น
บุคคลทั่วไปสามารถประเมินความเสียหายของโครงสร้างเบื้องต้นก่อนแจ้งวิศวกรให้เข้ามาตรวจสอบเชิงลึกได้ โดยสังเกตสิ่งเหล่านี้ด้วยตา หากโครงสร้างมีอาการเหล่านี้ แสดงว่าเกิดความเสียหายจนไม่ปลอดภัย ใช้งานต่อไม่ได้
- เสาและคาน ล้มเอียง โค้งงอ เกิดการบวมตัว
- พื้นสูญเสียแนวระดับ ผนังล้มเอียง
- ตรงโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก เหล็กเปลี่ยนสีเหมือนเป็นสนิมจากการยืดตัว เหล็กไม่ติดปูน มีสภาพคดงอ
สำหรับอาคารที่เสียหายปานกลาง ยังสามารถซ่อมได้ จะสังเกตได้ว่าเสาและคานยังไม่เสียรูป พื้นมีการแอ่นตัวและคอนกรีตที่ติดผิวเหล็กมีการกะเทาะร่อนเฉพาะในตำแหน่งที่ไม่สำคัญเท่านั้น
แจ้ง วสท. ให้เข้ามาตรวจสอบ
หากต้องการให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบอาคารที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ผู้ประสบเหตุสามารถแจ้งความจำนงไปยัง สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบอาคารโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ขอความอนุเคราะห์เรื่องค่าเดินทาง) รวมถึงสามารถส่งภาพถ่ายของอาคารให้วิศวกรของ วสท. วิเคราะห์เบื้องต้นได้ด้วย
เตรียมพร้อมสำหรับเหตุไม่คาดฝัน ด้วยประกันอัคคีภัย
การทำประกันอัคคีภัยเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยคุ้มครองบ้านและทรัพย์สินของเราในกรณีฉุกเฉินเช่นนี้ โดย ประกันอัคคีภัย จะคุ้มครองในส่วนของโครงสร้างบ้านจากกรณีไฟไหม้ รวมถึงฝ้าผ่า ภัยจากระเบิด และอาจรวมไปถึงภัยพิบัติอื่นๆ ด้วย ซึ่งโครงสร้างบ้านในที่นี้ หมายถึง ส่วนประกอบของบ้านบนที่ดินซึ่งไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทั้งเสา คาน ผนัง หลังคา ฝ้าเพดาน ประตูหน้าต่าง และอื่นๆ โดยปกติแล้วประกันอัคคีภัยจะเป็นประกันภาคบังคับเมื่อกู้เงินซื้อบ้าน หากซื้อบ้านด้วยเงินสดหรือได้เป็นเจ้าของบ้านในกรณีอื่นๆ ต้องหาข้อมูลและทำการซื้อประกันด้วยตนเอง
นอกประกันอัคคีภัยยังมี ประกันทรัพย์สินภายในบ้าน ที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินอื่นๆ ภายในบ้านด้วย เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน
การทำประกันอัคคีภัย ถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะช่วยเรารับมือกับเหตุเพลิงไหม้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะรับผิดชอบบ้านและทรัพย์สินของเราแล้ว หากต้นเพลิงมีสาเหตุมาจากที่อื่น ทางบริษัทประกันก็จะเป็นผู้ดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายให้กับเราด้วย รวมทั้งประกันบางแห่งยังให้ความคุ้มครองเพิ่มเติม เช่น ค่าที่พักชั่วคราว และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดับเพลิง
เรื่อง – Tinnakrit