บ้านไม้อบอุ่น อาจเป็นโจทย์ที่กว้าง ผลลัพธ์สุดท้ายอาจต่างจากบ้านทรงจั่วที่หลายคนคิดไว้แต่แรก และบ้านโมเดิร์นทรอปิคัลกลิ่นอายไทยๆ หลังนี้ ก็เช่นกัน ซึ่งสุดท้ายความสุขคือการกลิ้งตัวนั่งเล่นบนชานบ้านแห่งความสบายใจ
เริ่มจากบ้านทรงจั่วสองชั้นที่เรียบง่าย
ทำเลของบ้านหลังนี้อยู่ชานเมืองย่านฝั่งธนบุรี เป็นที่ดินเปล่าของครอบครัว เมื่อทางคุณอั๋นและคุณทิพ บุนนาค ต้องการสร้างบ้านใหม่ จึงมองหาสถาปนิกที่ชอบจากการติดตามผลงานที่ผ่านมา จนได้คุยกับ คุณจูน เซคิโน
ในตอนแรกคุณทิพย์อยากได้บ้านทรงจั่วสองชั้น ดูอบอุ่นเหมือนบ้านเก่าสมัยก่อน ไม่ได้มีความซับซ้อนหรือความต้องการอะไรมากนัก แต่หลังจากพูดคุยกันได้สักพัก คุณจูนก็เริ่มนำเสนอบ้านชั้นเดียวที่มีสวนคอร์ตยาร์ดตรงกลางให้
อยู่แบบพอดีในบ้านชั้นเดียวแสนอบอุ่น
สถาปนิกมีเหตุผลในการออกแบบครั้งนี้ว่า พื้นที่จริงค่อนข้างใหญ่ และจากโจทย์การใช้งานของเจ้าของบ้านที่มีแค่สองคน จึงคิดว่าการทำบ้านชั้นเดียวน่าจะเพียงพอ ดังนั้นแนวคิดการใช้ชีวิตในบ้านแบบบ้านสมัยก่อน เช่น การนั่งเล่น การพักผ่อนหย่อนใจ จึงถูกตีความใหม่กลายเป็นชานบ้านขนาดใหญ่รับกับพื้นที่สวนสีเขียว ชานบ้านแบบลำลองด้านหลังอยู่ติดกับคลองขนาดเล็กที่กั้นหมู่บ้าน บริเวณนี้ทำชายคายื่นยาว รวมไปถึงการใช้วัสดุอย่างไม้ให้รับกับโครงบ้านสีขาว ทำให้รู้สึกเหมือนนั่งเล่นอยู่ในคาเฟ่แบบญี่ปุ่นหรือไต้หวันที่แฝงไว้ซึ่งความเรียบง่ายแบบมินิมัล
สวนที่ต้นไม้ไม่ต้องเยอะ แต่ใช้งานได้จริง
คอร์ตยาร์ดกลางบ้านทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางของบ้าน ทุกห้องสามารถรับวิวความสดชื่นได้ โดยการวางผังการใช้งานเป็นรูปตัวแอล (L) ล้อมไว้ ตรงกลางปลูกต้นบุนนาคเป็นไม้ประธาน เนื่องจากเป็นนามสกุลของเจ้าของบ้าน ถือเป็นไม้มงคลน่าปลูกและให้ร่มเงาได้ดี บริเวณนี้ปลูกต้นไม้ไม่ต้องเยอะ เน้นดูแลง่าย พื้นปลูกสะระแหน่ประดับโดยรอบ สวนนี้ออกแบบโดย Kaizentopia และกลายเป็นจุดนั่งเล่นของบ้าน จะนั่งบนชาน หรือนั่งห้อยขาแบบศาลาริมคลองก็ได้
ขณะที่สวนด้านหลังที่ติดคลอง ทำรั้วเป็นตะแกรงช่วยบังตาและกรองแดด มีชานบ้านรับสวนส่วนนี้เช่นกัน คุณทิพย์เล่าว่าจริงๆ ที่บ้านไม่ได้รับแขกมากนัก แต่ถ้าแขกมาก็มักมานั่งพูดคุยกันข้างนอก ส่วนสวนด้านหลังที่เล็กกว่าก็ใช้เป็นที่สังสรรค์ กินบาร์บีคิวในแบบสบายๆ เป็นกันเอง
ม่านน้ำฝนกลางบ้านกับหลังคาผืนใหญ่
ความน่าสนใจของคอร์ตยาร์ดกลางบ้านยังไม่หมดเพียงเท่านี้ การออกแบบหลังคาโดยรอบยังกำหนดให้รับน้ำและไหลเข้ามายังคอร์ตนี้ด้วย จากผืนหลังคาเมทัลชีตขนาดใหญ่จะมีตะเข้รางรับน้ำให้ไหลลงมาปะทะกับแผ่นเหล็กกั้นเป็นแนวลงสู่พื้นกรวด เพื่อช่วยซับแรงกระแทกที่พื้นเมื่อฝนตกหนัก ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิอากาศแบบทรอปิคัลมาทำให้เกิดเป็นภาพที่สวยงาม พร้อมกับฟังก์ชันการใช้งานจริง มีการเจาะช่องสกายไลต์เป็นจุดๆ อาทิ ช่วงด้านหน้าและห้องน้ำ และเฉียงประกอบกันเป็นหลังคาผืนใหญ่ ซึ่ง สถาปนิกให้ข้อมูลว่าเป็นจุดสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อให้จบงานได้สวยพอดีตามองศาที่ต่างกันของหลังคาทั้งสองระนาบ
บ้านคือที่ที่เป็นตัวเราที่สุด
“ขอให้บ้านเป็นที่ที่เราตีลังกาหรือทำอะไรก็ได้ …รู้สึกว่าตอนกลับบ้านอยากเป็นตัวเรา ทำงานข้างนอกบางสถานการณ์มันไม่ใช่ตัวเรา คือพอก้าวออกไปจากบ้าน ทำงาน 8 – 10 ชั่วโมง มันก็เหนื่อย”
คุณทิพพูดถึงความรู้สึกของการใช้ชีวิตภายในบ้านหลังนี้ ซึ่งเหมือนเป็นที่ที่ตัดขาดจากงานประจำโดยสิ้นเชิง เป็นที่ทิ้งตัวพักผ่อนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะมุมนั่งเล่นตามชานบ้านที่จะนั่งตรงไหนก็ได้ บนพื้นชาน หรือแม้แต่การมีสเต็ปต่างระดับให้นั่งพักตามจุดต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวมีน้อยชิ้นแต่น่านั่งด้วยบรรยากาศแสงสว่างที่เข้ามาจากคอร์ตยาร์ด พร้อมกับอากาศซึ่งไหลเวียนได้ดีทั่วทั้งบ้าน คุณทิพทิ้งท้ายให้เราฟังว่า “อยู่บ้านมาเกือบปีแล้ว รู้สึกแฮปปี้ ไม่เบื่อ เพราะมีอะไรให้ทำตลอด อย่างจัดสวนหลังบ้านหรือดูแลเรื่องต่างๆ ในบ้าน”
คำตอบเท่านี้คงเพียงพอแล้วที่จะบอกว่า “บ้าน” คือ “ความสุข” ของเจ้าของบ้านทั้งสองท่าน
เจ้าของ: คุณอั๋นและคุณทิพ บุนนาค
สถาปนิก: Jun Sekino A+D โดยคุณจูน เซคิโน
ออกแบบสวน: Kaizentopia
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตลิสต์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์