ปัญหา “เพื่อนบ้าน” ส่งเสียงดัง ควรทำอย่างไร??
คำกล่าวที่ว่า มี “เพื่อนบ้าน” ดี นั้นมีชัยไปกว่าครึ่ง นั้นน่าจะจริง และเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้น แวดล้อมด้วยมิตรที่ดี เพราะเพื่อนบ้านดีดี นำพามาซึ่งความสงบสุข มีน้ำใจซึ่งกันและกัน มีเหตุจำเป็นยังพึ่งพาอาศัยกันได้ เรียกว่ามีแต่รอยยิ้มให้กัน แต่ในความเป็นจริง มันก็เลือกเพื่อนบ้านแทบจะไม่ได้นี่นะ นั่นทำให้ คนส่วนใหญ่มักพบเจอกับ ปัญหา “เพื่อนข้างบ้าน” ที่ไม่เกรงใจกัน จนนำมาซึ่งความบาดหมางมากมาย my home ขอยกเคสปัญหาจากทางบ้านมาตอบให้พอทราบถึงสิทธิที่เราสามารถกระทำได้ค่ะ
คำถามทางบ้าน : “บ้านของดิฉันเป็นทาวน์เฮ้าส์ ข้างบ้านมักจะชวนเพื่อนมาสังสรรค์ กินดื่ม และเปิดเพลง ส่งเสียงดังเอะอะโวยวายเป็นประจำเกือบทุกวัน ซึ่งดิฉันเคยเตือนไปบ้างแล้ว และขอให้ลดเสียงลงเนื่องจากนอนไม่ได้เลย แต่เขาไม่สนใจ เหมือนยิ่งพูดยิ่งยุค่ะ ทำให้เกิดเป็นเรื่องบาดหมางและทะเลาะกัน จึงอยากทราบว่า ในทางกฎหมายดิฉันสามารถทำอย่างไรได้บ้างคะ?”
my home : “โดยปกติแล้ว ตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อนุญาตให้บุคคลสามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างเต็มที่ภายในขอบเขตแห่งกฎหมาย แต่หากการใช้สิทธิของตนนั้นมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ทำให้ผู้อื่นเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของเขา ถือว่าผู้นั้นกระทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ต้องเสียหายนั้น (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 421)
ดังนั้น การที่ข้างบ้านของคุณ จงใจส่งเสียงดังรบกวน ก่อความเดือดร้อนรำคาญ ตลอดจนสร้างความเสียหายต่อสิทธิของคุณในการอยู่อาศัยในบ้านเรือนอย่างสงบ เมื่อคุณได้ว่ากล่าวตักเตือน แต่เขาก็ยังคงกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิของคุณต่อไป เขาก็ย่อมต้องรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายให้คุณได้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยวิธีการที่เหมาะสมค่ะ การกระทำละเมิดดังกล่าวเป็นความผิดในทางแพ่ง เมื่อคุณได้รับความเสียหาย ย่อมสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องให้ข้างบ้านงดเว้นการเปิดวิทยุเสียงดัง การก่อเสียงดังรบกวน ตลอดจนจ่ายค่าสินไหมทดแทนหากเกิดความเสียหาย โดยจะต้องฟ้องร้องต่อศาลภายใน 1 ปีนับแต่รู้ถึงการละเมิด (คือรู้ถึงการส่งเสียงดังรบกวน) และรู้ตัวผู้กระทำละเมิด (กรณีนี้คือคนข้างบ้าน) แต่ต้องฟ้องร้องภายใน 10 ปีนับแต่เกิดเหตุละเมิด (วันเริ่มต้นก่อกวนโดยการส่งเสียงดังรบกวน) นะคะ
นอกจากนี้การที่ข้างบ้านส่งเสียงดังนี้ นอกจากจะเป็นการละเมิดในทางแพ่งแล้ว การกระทำดังกล่าวนี้ยังเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญา (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370) เนื่องจากเป็นการส่งเสียงดังอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควรจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งเป็นลักษณะความผิดลหุโทษด้วย ดังนั้นคุณจึงสามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อดำเนินคดีทางอาญากับข้างบ้านได้อีกทาง นอกเหนือจากการฟ้องคดีแพ่งเพื่อให้งดส่งเสียงดัง ตามหลักในเรื่องละเมิดด้วยค่ะ”
สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น คือสิทธิบุคคลที่คุณสามารถดำเนินการเรียกร้องได้ เมื่อการพูดคุยไม่เป็นผลที่ดีพอ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังแนะนำให้พูดคุยกันดีดีในเบื้องต้นเพื่อหาทางออกก่อนนะคะ และที่สำคัญ เราเองก็ต้องเป็น “เพื่อนบ้าน” ที่ดีของคนอื่นๆ ก่อนด้วยเช่นกัน แล้วเราจะได้มิตรที่ดีกลับมาค่ะ