เคยเป็นไหม หากพื้นที่ใช้สอยที่มีในบ้านไม่ค่อยตอบโจทย์การใช้งาน เราก็มักปล่อยให้มีสภาพเก่าทรุดโทรม กระทั่งในที่สุดก็ไม่เหลียวแลพื้นที่นั้นอีกเลย ครั้นจะทุบรื้อทำใหม่ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อน ครั้งนี้ “บ้านและสวน” ขอชวนคุณผู้อ่านลุกขึ้นมาปัดฝุ่นและแปลงโฉม มุมเก่า ในบ้านให้กลับมาสวยงามและน่าใช้งานอีกครั้ง เรายกตัวอย่างมาให้ชมกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ ครัวและมุมรับประทานอาหารนอกบ้าน ห้องนอนสำรอง และห้องรับแขกในบ้าน โดยไอเดียการแปลงโฉมครั้งนี้เป็นการดัดแปลงนำของเก่าที่มีอยู่แล้วมาชุบ ชีวิตใหม่ให้ดูสดใสมากขึ้น เน้นความสะดวกและใช้เวลาไม่นาน >> รับชม ห้องรับแขก และ ห้องนอนสำรอง ได้ที่นี่<<
The Color of Magic พลังแห่งสีสัน
แสงแดดแรงและสายลมอ่อน ๆ บ่งบอกถึงการเข้าสู่ฤดูร้อน แต่ด้วยสภาพอากาศที่แสนจะร้อนอบอ้าวอาจทำให้หลายครอบครัวเลือกอยู่แต่ในห้องแอร์ มองข้ามพื้นที่นอกบ้านที่มีต้นไม้เป็นร่มเงาจากธรรมชาติ ไอเดียนี้เป็นการปรับโฉมครัวและส่วนรับประทานอาหารนอกบ้านให้มีบรรยากาศน่านั่งด้วยการเลือกใช้สีสันสดใส เพื่อต้อนรับเทศกาลซัมเมอร์
BEFORE ครัวและส่วนรับประทานอาหารที่เจ้าของบ้านไม่ค่อยได้ใช้งาน โดยมีประตูบานเฟี้ยมเป็นตัวแบ่งพื้นที่
ปรับเพื่อเปลี่ยน
A. จัดวางแปลนใหม่ทั้งหมด โดยมีจุดประสงค์จะใช้เป็นมุมปาร์ตี้เอ๊าต์ดอร์เล็ก ๆ สำหรับสังสรรค์กันในครอบครัว
B. เฟอร์นิเจอร์ไม้สีเข้มของเดิมที่สีลอกล่อนไปตามกาลเวลา ตัวไหนเนื้อไม้ด้านในยังสวยก็ขัดสีเคลือบด้านโชว์เนื้อไม้สีสวย แต่ถ้าเนื้อไม้ดูทรุดโทรมก็ใช้การทาสีปกปิด ช่วยสร้างความสดใสและทำให้มุมนี้ดูสว่างขึ้น
โต๊ะรับประทานอาหารไม้จริง
วิธีการ – ใช้กระดาษทราย เบอร์ 240 – 300 ขัดผิวไม้ให้ลื่นขึ้น แล้วใช้เครื่องขัดสายพาน (รถถัง) ขัดบนโต๊ะอีกรอบ เพื่อให้พื้นผิวเสมอกัน ลงเชลแล็ก 1 รอบ เพื่อให้เห็นเสี้ยนไม้ชัดขึ้น จากนั้นใช้กระดาษทราย เบอร์ 240 ขัดอีกครั้ง เตรียมย้อมสีไม้โดยทาเชลแล็กผสมแอลกอฮอล์และสีย้อมไม้ ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วใช้กระดาษทราย เบอร์ 320 ขัดเบา ๆ อีกครั้ง ต่อด้วยการทาสีพอลิยูรีเทนชนิดเงาทับผิวหน้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย
ตู้กับข้าว เก้าอี้ไม้ และม้านั่งยาว
วิธีการ – ลอกสีเก่าบนเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ออกด้วยการทาน้ำยาลอกสี ทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมง จากนั้นใช้ผ้าหมาดเช็ดทำความสะอาดสีเก่าออกให้หมด ใช้กระดาษทรายหรือเครื่องขัดสายพาน (รถถัง) ขัดบนเนื้อไม้ เพื่อให้ผิวเรียบเนียน ทาเชลแล็กรองพื้น 2 รอบ จากนั้นทาสีพอลิยูรีเทนทับบาง ๆ อีก 3 รอบ โดยก่อนทาทับในแต่ละรอบ (ต้องทิ้งไว้จนแห้ง) ให้ใช้กระดาษทรายน้ำเนื้อละเอียดลูบผิวไม้ก่อนทุกครั้ง เพื่อความเรียบเนียน บางชิ้นต้องการโชว์เสี้ยนไม้เดิมก็ให้ใช้กระดาษทรายเนื้อละเอียดขัดให้เห็นเสี้ยนไม้ ก่อนทาสีที่ต้องการทับเป็นขั้นตอนสุดท้าย
บานเฟี้ยมไม้
วิธีการ – ถอดประตูออกและเปลี่ยนชุดอุปกรณ์รางบานเฟี้ยมใหม่ ใช้กระดาษทรายทั้งแบบหยาบและละเอียดหรือเครื่องขัดสายพาน (รถถัง) ขัดให้พื้นผิวเรียบ จากนั้นเช็ดด้วยผ้าหมาด ปล่อยให้แห้ง แล้วจึงทายาโป๊สำเร็จรูปเพื่อปกปิดร่องรอย และใช้ผ้าเช็ดให้สะอาด ก่อนทาเชลแล็ก 2 รอบ แล้วใช้กระดาษทรายเนื้อละเอียดขัดอย่างเบามือ อย่าให้ถึงเนื้อไม้ ไม่อย่างนั้นสีที่ย้อมไว้จะเปิดออก ลงสีรองพื้น 2-3 รอบ ส่วนการทำสีเสี้ยน เทคนิคคือการทาเชลแล็ก ซึ่งจะเป็นเหมือนเนื้อฟิล์มที่เคลือบเนื้อไม้เอาไว้ เพื่อให้ย้อมสีไม่ติด แต่สีจะไปฝังตัวตามร่องเสี้ยนแทน ถ้าร่องเสี้ยนที่มีผิวน้อยหรือตื้นเกินไป ให้ใช้แปรงลวดทองเหลืองปัด ๆ ให้ดูสวย ก่อนขัดสีออกอีกรอบด้วยกระดาษทราย โดยให้ขัดไปตามแนวเสี้ยนไม้ และปิดท้ายด้วยการทาแล็กเกอร์เคลือบอีกชั้น
การเลือกใช้ของตกแต่งที่มีคู่สีตรงข้ามกัน เช่น แดง-เขียว, แดง-เหลือง หรือฟ้า-ส้ม ก็ทำให้มุมนั้น ๆ ดูไม่น่าเบื่อ หากยังกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะใช้สีสันสด ๆ ลองเลือกของชิ้นเล็กมาผสมผสานกันดูก่อน ก็ช่วยเพิ่มบรรยากาศสนุก ๆ ได้เป็นอย่างดี
AFTER เมื่อเพิ่มสีสันให้มุมรับประทานอาหารนอกบ้าน ก็ทำให้บรรยากาศดูเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเลือกใช้ทฤษฎีสี 60 : 30 : 10 กล่าวคือ สีแดงและสีน้ำตาลส้ม 60 เปอร์เซ็นต์ สีเขียว 30 เปอร์เซ็นต์ และสีฟ้า 10 เปอร์เซ็นต์ เน้นให้เกิดความกลมกลืนไปกับสวนโดยรอบ ซึ่งปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด เช่น ปาล์มยะวา เฟินสไบนาง ไทรใบสัก สร้างความมีชีวิตชีวา นอกจากนี้ยังปรับแปลนการใช้งานใหม่ ย้ายม้านั่งไปไว้ติดกับมุมครัว เพื่อให้พื้นที่ของโต๊ะรับประทานอาหารกว้างขวางและใช้งานได้สะดวกขึ้น
เรื่อง : “อาภาศรี” , “Noon SD”, “ปัญชัช”, “วุฒิกร”, “อัจฉรา”
ผู้ช่วยกองบรรณาธิการ : ศุภาพิชญ์ จันทร , มาริสา สมานมิตร, ลลิดา ติรณะประกิจ , ศุภานัน อนุเชิงชัย, อารีรัตน์ สุขแป้น, รุ่งโรจน์ มุกดา, ฐิติวรณ์ พิทักษ์วงศ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, ศุภกร ศรีสกุล, สังวาล พระเทพ , ฤทธิรงศ์ จันทองสุข
สไตล์ : ภควดี พะหุโล