บ้านพื้นถิ่นร่วมสมัย รองรับวัยเกษียณ ที่เตรียมชั้นล่างเป็นคาเฟ่ในอนาคตได้ ออกแบบให้มีกลิ่นอาย “เฮือนแป” แบบดั้งเดิมในย่านวัดเกต เชียงใหม่
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: YANGNAR STUDIO
บ้านพื้นถิ่นร่วมสมัย หลังนี้ผสานคุณค่าความงามทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่าง ‘เฮือนแป’ เข้ากับพื้นที่ใช้สอยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของวัยเกษียณ จนเกิดเป็น “วิลล่าสันลมจอย” ที่ดึงเสน่ห์ทั้งของงานออกแบบและวัสดุท้องถิ่น ตลอดจนภูมิปัญญาช่างมาใช้ได้อย่างลงลึกซึ้งและลงตัว
หลังจากตกหลุมรักธรรมชาติและเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ คุณอรุณวรรณ ชำนาญไพร ตัดสินใจซื้อที่ดินและปลูกบ้าน เพื่อเป็นบ้านพักสำหรับช่วงวัยเกษียณ โดยวางใจให้ทาง ยางนา สตูดิโอ มารับหน้าที่ในการออกแบบและก่อสร้าง พร้อมกับมอบโจทย์ในการออกแบบที่ท้าทายให้กับสถาปนิกได้ทำการบ้านกันอย่างสนุกสนาน
บ้านพื้นถิ่นร่วมสมัย
“วิลล่าสันลมจอย” เป็นชื่อของบ้านที่มาจากทำเลที่ตั้ง ซึ่งคนในพื้นที่จะเรียกย่านดังกล่าวว่า “สันลมจอย” โดยตั้งอยู่ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตัวที่ดินนั้นเป็นที่ดินเปล่าและได้ปลูกต้นสักไว้ ตัวบ้านสูงสองชั้นดูเรียบง่ายและถ่อมตนเข้ากับบริบทไม่ขาดไปเกิน ความสวยงามเบื้องหน้านี้ ย่อมต้องมีเบื้องหลังการออกแบบนั้นน่าสนใจไม่น้อย เริ่มจากการวางตำแหน่งและรูปแบบของบ้าน ซึ่งลักษณะของที่ดินที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวยาว ได้กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้บ้านมีลักษณะยาวขนานไปกับที่ดิน และยังเพื่อให้พื้นที่ใช้สอยบ้านเพียงพอตามความต้องการของเจ้าของบ้านให้ได้มากที่สุด สำหรับชั้น 1 จัดวางพื้นที่ใช้สอยสำหรับการเป็นคาเฟ่ในอนาคต มีจุดเด่นด้วยวางคอร์ตยาร์ดไว้กลางบ้าน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวจากบริบทให้เป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้อย่างกลมกลืน ส่วนชั้น 2 เป็นพื้นที่พักผ่อนส่วนตัว ประกอบด้วยห้องนอนพร้อมห้องน้ำในตัว 2 ห้อง โดยมีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งหลัง 280 ตารางเมตร
อีกหนึ่งความท้าทายซึ่งเป็นหัวใจหลักของการออกแบบวิลล่าสันลมจอยก็คือ การนำประตูและหน้าต่างไม้โบราณจากพม่า ซึ่งเป็นของสะสมของเจ้าของบ้านมาประยุกต์ให้เข้ากับการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ซึ่งในขั้นตอนการออกแบบสถาปนิกต้องทำการตรวจสอบลักษณะบานประตูหน้าต่างทุกชิ้น ทั้งขนาด รูปแบบและประเภทของไม้อย่างละเอียด เพื่อนำมาวางในตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดของบ้าน และออกแบบสถาปัตยกรรมโดยอิงจากสัดส่วนของประตูและหน้าต่าง เสริมกับการนำเสาไม้เก่าที่แต่เดิมเป็นเสาของยุ้งข้าวมาใช้ โดยผสานเข้ากับรูปแบบของ “เฮือนแป” แบบดั้งเดิมย่านวัดเกต ที่ถูกสถาปนิกมาถอดความไม่จำเป็นและลดทอนเส้นสายมาปรับใช้ เพื่อให้บ้านเป็นรูปแบบของเฮือนแปร่วมสมัย มีกลิ่นอายพื้นถิ่น ยิ่งช่วยขับเน้นให้ทุกองค์ประกอบเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์สวยงาม แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าของบ้านก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยได้อย่างเต็มที่
เมื่อวัสดุขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่างประตูและหน้าต่างเป็นไม้ สถาปนิกจึงเลือกใช้วัสดุธรรมชาติเป็นหลักทั้งภายในและภายนอก ซึ่งนอกจากเพื่อให้เข้ากับบริบทของเชียงใหม่แล้ว ยังตั้งใจให้เจ้าของบ้านได้สัมผัสถึงผิวสัมผัสจากวัสดุธรรมชาติโดยตรง ทั้งไม้ คอนกรีตหรือดินจากลำปางที่นำมาฉาบไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างบรรยากาศของความเป็นบ้าน สีสันตามเนื้อแท้ของวัสดุให้ความรู้สึกผ่อนคลายเป็นกันเอง สร้างความสุขในทุกๆ จังหวะของการใช้ชีวิต
โดยการออกแบบบ้านนั้นไม่ได้คำนึงเพียงเรื่องของความสวยงามเท่านั้น แต่ยังพิจารณาถึงการดึงประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้อย่างสูงสุด ร่วมกับการออกแบบที่ตั้งใจยกบ้านให้มีใต้ถุนสูง 70 ซ.ม. ช่วยระบายอากาศและความชื้นจากดิน รวมถึงคอร์ตยาร์ดที่อยู่ระหว่างห้องนั่งเล่นและระเบียงขนาดใหญ่ของบ้าน เพื่อให้แสงธรรมชาติเข้ามาในบ้าน ทำให้ทุกห้องสว่างสดใส สร้างบรรยากาศอบอุ่น และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าตลอดในช่วงเวลากลางวัน รวมทั้งการดึงลมธรรมชาติบริสุทธิ์ของจังหวัดเชียงใหม่มาทดแทนการเปิดเครื่องปรับอากาศ ให้อากาศภายในบ้านหมุนเวียน รู้สึกโปร่งโล่งสบายเหมาะสมกับเป็นบ้านสำหรับวัยเกษียณอย่างแท้จริง