ภาพคุ้นตาของ “สวนป่า“ ส่วนใหญ่ที่เห็น คือ สวนที่มีน้ำตก ลำธาร รายล้อมด้วยพรรณไม้มากมาย แต่สวนป่าที่จะพาคุณผู้อ่านไปชมในครั้งนี้กลับต่างออกไป ด้วยแนวคิดที่ว่า “สวนป่าแบบโปร่ง”
“ได้รับการติดต่อจาก คุณคมสัน อากาศวิภาต ผ่านทางเพจของ Ayothaya Landscape ตั้งแต่ปีที่แล้วครับ เขาได้เห็นผลงานผมจากสวนคาเฟ่ ก้านทอง ติ่มซำ (นิตยสารบ้านและสวน ฉบับกุมภาพันธ์ 2565) บอกมาว่าอยากปรับปรุงสวนเพิ่มเติม อยากได้น้ำตกเล็ก ๆ ” คุณต้อง – ทิวา อ่อนสุวรรณ นักจัดสวน เล่าถึงที่มาของ สวนป่าแบบโปร่ง แห่งนี้ให้ฟัง
“โจทย์ที่ได้รับมามีแค่อยากได้ต้นไม้ที่ไม่ต้องดูแลมาก และอยากมีน้ำในสวนเท่านั้นครับ พื้นที่เดิมเป็นที่โล่ง ๆ ปลูกต้นไม้อยู่บ้างแล้ว มีเรือนกระจกเลี้ยงแคคตัส ซึ่งผมมองว่า ทั้งเรือนกระจกและตัวบ้านเท่มากครับ คิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างเชื่อมต่อเป็นพื้นที่เดียวกัน ส่วนอีกด้านของบ้านมีบ่อบัวขนาดใหญ่ มีสนามหญ้ากว้าง มีทางเดินไม้ และปลูกต้นไม้อยู่บ้างแล้ว ซึ่งเป็นฝีมือออกแบบของเจ้าของบ้าน เท่าที่เห็นก็รู้เลยครับว่าเป็นคนรักต้นไม้ และมีความรู้ความสนใจเรื่องสวนเรื่องต้นไม้อยู่ประมาณหนึ่งเลยทีเดียวครับ”
พื้นที่สวนขนาด 300 ตารางเมตร มีลักษณะเป็นรูปตัวยู (U) ล้อมรอบบ้าน ภาพรวมยังคงเป็นสวนป่าตามสไตล์ที่คุณต้องถนัด แต่กลับดูต่างจากงานที่ผ่านมา เป็นสวนป่าที่ดูโล่งสบายตา แต่ยังคงร่มครึ้มด้วยพรรณไม้หลากหลายที่ปลูกเรียงรายอยู่สองข้างทางเดินที่พาลัดเลาะไปยังมุมต่าง ๆ รอบบ้าน
“ผมอยากให้ที่นี่ดูเป็น สวนป่าแบบโปร่ง สะอาด และไม่อึดอัด แต่ยังคงความร่มรื่นไว้ครับ ตอนกลางวันที่นี่ค่อนข้างร้อน ดีที่มีต้นไม้เดิมปลูกอยู่บ้างแล้ว ทั้งมะเฟือง หูกระจก แคนา ตีนเป็ดฝรั่ง แต่ปลูกเรียงกันเป็นแถว ซึ่งก็ไม่ค่อยเหมาะเท่าไรนักกับแนวสวนป่า แต่เพราะเจ้าของรักต้นไม้มากครับ ผมเลยเก็บต้นไม้เดิมไว้เกือบทั้งหมด และปลูกต้นใหม่เพิ่มโดยปลูกสลับกับต้นเดิม เพื่อดึงอารมณ์ของสวนป่าเข้ามา ที่นี่พื้นที่ไม่กว้างนัก ถ้าไม่ทำให้ร่มรื่นก็จะดูไม่มีอะไรเลย ผมตั้งใจปลูกต้นไม้ให้ดูเป็นซุ้ม อารมณ์เหมือนเป็นหลังคาของสวน เลือกไม้ต้นฟอร์มสวยที่ด้านล่างโล่ง และแตกกิ่งด้านบนเป็นทรงคล้ายเห็ด ตั้งใจให้พุ่มใบชนกันทั้งหมดทุกต้น ค่อย ๆ มองลอดไปเห็นตัวอาคารและมุมต่าง ๆ ในสวน ก็ตระเวนหาต้นไม้กันหลายที่กว่าจะได้ต้นที่ต้องการ
“ถ้าสังเกตดี ๆ อีกสิ่งที่เห็นคือ สวนนี้จะมีต้นไม้แค่สองระดับ คือ ไม้ระดับสูง (ไม้ต้น) และไม้ระดับล่าง (ไม้คลุมดิน) ไม่มีไม้ระดับกลาง (ไม้พุ่ม) ครับ สาเหตุมาจากพื้นที่ค่อนข้างเล็ก และจุดประสงค์ของเราที่ต้องการให้สวนดูโปร่ง ถ้ามีไม้ระดับกลางเพิ่มเข้าไปอีก กิ่งจะพันกันทำให้สวนดูทึบ และไม้ระดับสูงที่นี่ต้นจะไม่ใหญ่และมีความสูงไม่มากนัก ซึ่งจะถือว่าเป็นไม้ระดับสองก็ได้นะครับ ข้อดีคือเราไม่ต้องค้ำยันต้นไม้เหมือนการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ สวนจึงดูโปร่งอย่างที่เห็น ส่วนไม้คลุมดินระดับล่างโดนบังคับให้เลือกใช้ได้น้อยชนิด เช่น หนวดปลาดุก กนกนารี เพราะ พื้นที่ด้านล่างร่มมาก บางจุดที่ดูโล่งเกินไปก็ใส่เฟินห้อยตามกิ่งไม้ เพื่อช่วยลดช่องว่างระหว่างไม้ระดับบนกับระดับล่างครับ ที่นี่อาจดูไม่เป็นสวนป่าร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยไม้พุ่มที่เลือกใช้ค่อนข้างเป็นไม้ที่มีทรง มีฟอร์ม เพราะ โจทย์คือต้องการต้นไม้ที่ดูแลง่าย ไม่ต้องตัดแต่งมาก แต่ยังดูเรียบร้อยสบายตา ผมเลือกใช้ต้นไม้ที่โตช้า และไม่ต้องตัดแต่ง เน้นพวกไม้ใบสีเขียวเป็นหลักให้เข้ากับสไตล์สวนป่า ใส่บีโกเนียเพื่อเพิ่มสีสันบ้างบางจุด ไม่ให้ดูเขียวไปทั้งหมดครับ”
นอกจากสไตล์สวนป่าของคุณต้องที่ดูต่างไปจากงานออกแบบที่ผ่านมาแล้ว อีกสิ่งที่สะดุดตาคือ แผ่นหินขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นทางเดินในสวน ซึ่งบางแผ่นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 1 เมตร
“ผมอยากให้เดินในสวนได้สะดวกครับ ทางเดินเป็นแผ่นหินเทียมขนาดใหญ่ โดยเลือกใช้สีที่ไปด้วยกันได้กับหินแกรนิตที่ใช้ตกแต่งในสวนเป็นหลัก สาเหตุที่เลือกทำเป็นหินเทียม เพราะ ถ้าใช้แผ่นหินจริงจะมีราคาแพงกว่าเท่าตัว และหาขนาดที่ต้องการยากครับ การขนส่งก็ลำบากเพราะมีน้ำหนักมาก ต้องระวังเรื่องแตกหักเสียหายอีก บางครั้งก็ต้องเอามาตัดให้ได้รูปทรงตามต้องการ เพิ่มค่าใช้จ่ายและขั้นตอนการทำงาน ทำให้เสียเวลามากขึ้น แต่ถ้าเป็นหินเทียมเราสามารถปั้นที่หน้างานได้เลย อยากวางตรงไหน รูปร่างอย่างไร ขนาดเท่าไร สามารถทำได้หมด ใช้เวลาน้อยและประหยัดกว่า ที่นี่เป็นที่แรก ๆ ที่ผมทำหินเทียมเองครับ วางตำแหน่งให้เดินคดเคี้ยวไปยังจุดต่าง ๆ ในสวน เดินไปยังเรือนแคคตัสด้านข้างบ้าน เดินไปสวนน้ำตกอีกฝั่ง และเดินไปถึงเรือนกระจกอีกหลังที่อยู่ด้านหลัง สามารถเดินถึงกันได้ทั้งสวนครับ
“น้ำตกที่นี่เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ๆ เตี้ย ๆ เพราะ ไม่อยากให้เกิดเสียงดังไปรบกวนห้องนอนที่อยู่ใกล้ ๆ ส่วนบ่อปลาตั้งใจแยกออกมาจากน้ำตกให้อยู่ติดกับเทอร์เรซของบ้านครับ โดยปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพราะ ต้องซ่อนระบบกรองบ่อปลาไว้ด้านล่าง และออกแบบให้บ่อปลาอยู่ติดกับเทอร์เรซ เพื่อเชื่อมพื้นที่ระหว่างบ้านกับสวนให้ต่อเนื่องกัน”
อีกสิ่งหนึ่งที่ยังคงเอกลักษณ์สวนป่าสไตล์คุณต้อง คือ ยังคงติดตั้งระบบพ่นหมอกทั่วบริเวณสวน แต่เป็นการนำหัวพ่นหมอกแรงดันต่ำ หรือที่ในท้องตลาดเรียกว่า “หัวฟ็อก” มาใช้เพิ่มขึ้นแทนการใช้สปริงเกลอร์ ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้นไม้ในสวนป่าส่วนใหญ่มีใบที่อ่อนนุ่ม บางครั้งน้ำจากสปริงเกลอร์อาจแรงเกินไป ทำให้ใบช้ำ หรือเกิดน้ำขังจนเน่าตายได้ หัวฟ็อกให้ผลที่คล้ายหัวพ่นหมอกในราคาที่ถูกกว่า 2-3 เท่าเลยทีเดียว
นิตยสารบ้านและสวน คอลัมน์สวนสวย เมษายน 2565
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุขเจ้าของ : คุณคมสัน อากาศวิภาต
ออกแบบ : Ayothaya Landscape โดยคุณทิวา อ่อนสุวรรณ โทรศัพท์ 09-2684-9835