คำถามทางบ้าน ต้องการทำบ่อน้ำ ขนาด 1.50 x 2 เมตร และอยากทำ โอ่งน้ำล้น ด้วย แต่ไม่รู้เรื่องระบบต่างๆ ซึ่งไม่มีความเข้าใจนัก อยากรบกวนทีมงาน my home ช่วยให้คำแนะนำ เพื่อความกระจ่างในเรื่องระบบของการทำโอ่งน้ำล้นนี้ด้วยครับ อีกอย่างกลัวจะคุยกับช่างเลยไม่รู้เรื่องด้วยครับ
ส่วนประกอบต่างๆ ของ “ระบบบ่อและระบบน้ำล้น” 1-2. ท่อน้ำทิ้ง 3. วาล์ว 4. ฝาปิด 5. ระบบไฟ 6. ท่อน้ำล้น 7. ปั๊มน้ำ 8. ร่องน้ำล้น 9. ช่องน้ำเข้า 10. ตะแกรง
คำแนะนำ เริ่มจากเรื่องขนาดของบ่อที่บอกมา จัดว่าบ่อน้ำมีขนาดไม่ใหญ่เกินไปนัก คือจุน้ำประมาณ 15 – 18 ลูกบาศก์เมตร อาจไม่จำเป็นต้องทำบ่อกรอง แต่ใช้วิธีการบำบัดน้ำโดยติดตั้งเครื่องกรองสำเร็จรูป (Panel Strainer) แทน ซึ่งจะทำให้การสร้างโอ่งน้ำล้นทำได้ง่ายขึ้นครับ
ต่อมามาดูว่า ขนาดของบ่อที่จะสร้างนั้น ต้องเตรียมระบบโครงสร้างอย่างไรบ้าง ถ้าขุดบ่อ (หรือก่อบ่อสูงจากพื้น) ที่มีความลึก 40 – 50 เซนติเมตร ปริมาณน้ำไม่มาก โครงสร้างของบ่อไม่ต้องรับน้ำหนักมาก เคสนี้อาจไม่ต้องตอกเสาเข็มครับ เพียงแค่อัดผิวดินให้แน่นเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับผูกเหล็ก (ระยะห่างในการผูกเหล็กประมาณ 30 เซนติเมตร) เทพื้นบ่อด้วยคอนกรีตผสมน้ำยากันซึม ส่วนโครงสร้างของขอบบ่อนั้น อาจใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือก่ออิฐฉาบปูนขัดมันธรรมดาก็ได้ สิ่งสำคัญในขั้นตอนนี้ย้ำช่างเลยครับ อย่าลืมผสม “น้ำยากันซึม” ในระหว่างการผสมปูนเทพื้นหรือฉาบผิว เพื่อป้องกันการรั่วซึมในอนาคต
จากนั้นเตรียมฐานสำหรับวาง “โอ่งน้ำล้น” โดยก่ออิฐฉาบปูนเป็นแท่นสี่เหลี่ยมขึ้นมาในระดับที่สวยงาม แล้ววางซ่อนปั๊มน้ำไว้ที่ใต้ฐานนี้ ต่อท่อน้ำจากปั๊มขึ้นไปที่ก้นของโอ่งที่เจาะรูเตรียมไว้ อย่าลืมทำช่องให้น้ำไหลผ่านจากตัวบ่อเข้ามาในฐานวางโอ่งน้ำล้นเมื่อเปิดสวิตช์ปั๊มน้ำ ปั๊มจะดูดน้ำที่ไหลเวียนอยู่ภายในฐานขึ้นไปสู่โอ่งด้านบนและไหลล้นออกมา ส่วนการต่อสายไฟหรือระบบไฟใต้น้ำ ควรต่อท่อร้อยสายไฟให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการดูแลรักษาบ่อเบื้องต้น คือ ควรให้บ่ออยู่ในที่ร่ม เพราะจะทำให้น้ำในบ่อใส ไม่มีตะไคร่ขึ้น เนื่องจากไม่มีแสงแดด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตะไคร่น้ำเจริญเติบโตได้ดี เพียงเท่านี้คุณก็จะได้บ่อที่มีโอ่งน้ำล้น ช่วยสร้างบรรยากาศในสวนให้คุณได้แล้วครับ
วัสดุปูพื้นในสวน เลือกใช้ให้ปลอดภัย
รวมสวนน้ำตก 3 แบบสร้างความชุ่มฉ่ำให้บ้าน
คลายร้อนด้วย ” สวนน้ำบนกำแพง “