การ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ สำหรับบ้าน อ่านแล้วตัดสินใจได้เลย

การ ติดตั้งโซลาร์เซลล์ บ้านและสวน ไปคุยกับ 4 ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบโซลาร์เซลล์ คือ RAAY, SCG Solar Roof Solutions, A SOLAR และ GRoof by Gunkul รวบรวมเป็น 16 คำตอบก่อนการติดตั้งโซลาร์เซลล์มาฝากกัน โซล่าเซลล์

โซล่าเซลล์
ภาพ : SCG Solar Roof Solutions

1.บ้านแบบไหนที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วจึงคุ้ม

โซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะช่วงเวลากลางวันที่มีแสงแดด การใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่คุ้มและลงทุนน้อยที่สุด คือ เมื่อผลิตไฟฟ้าแล้วนำมาใช้ให้หมดในช่วงเวลากลางวัน เพราะไม่เปลืองค่าแบตเตอรี่สำหรับเก็บไฟฟ้าซึ่งมีราคาสูง และไม่ต้องขายไฟคืนการไฟฟ้าซึ่งขายได้ราคาเพียงครึ่งเดียวของราคาที่เราซื้อไฟฟ้ามา  จึงเหมาะกับบ้านที่มีลักษณะ ดังนี้ โซล่าเซลล์

  • บ้านที่ใช้ไฟฟ้ามากในช่วงกลางวัน มีการเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากหลายอย่าง เช่น บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยตลอดทั้งวัน บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง โฮมออฟฟิศ ออฟฟิศ ร้านค้า
  • บ้านที่มีค่าไฟ 2,000 – 3,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราการใช้ไฟที่พอจะคุ้มค่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าขั้นต่ำของโซลาร์เซลล์ เช่น เริ่มต้นที่ 1.8-3 กิโลวัตต์ (ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัท) โดยโซลาร์เซลล์ 1.8 กิโลวัตต์ จะประหยัดค่าไฟสูงสุดได้ประมาณ 900-1,000 บาท/เดือน ซึ่งบริษัทผู้ติดตั้งจะประเมินความคุ้มค่าของแต่ละบ้านเป็นกรณีไป
  • มีพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพียงพอและเหมาะสม

2.การติดตั้งใช้งบประมาณเท่าไร และคืนทุนในกี่ปี

       สำหรับกำลังผลิตที่ 2-3 กิโลวัตต์ (สำหรับไฟ  1 เฟส) จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 200-400 หน่วย/เดือน (คิดคร่าวๆ คือบ้านที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศประมาณ 2 เครื่อง) มีราคาประมาณ 170,000 – 200,000 บาท ขึ้นอยู่กับสเป็กอุปกรณ์และการบริการที่ต้องนำมาเปรียบเทียบกัน โซล่าเซลล์

บ้านที่อยู่เป็นครอบครัว 4-6 คน หรือเสียค่าไฟประมาณ 3,000-7,000 บาท/เดือน แนะนำให้ติดตั้ง 5 กิโลวัตต์ ซึ่งจะลดค่าไฟได้ประมาณ 2,000 – 3,000 บาท/เดือน มีราคาประมาณ 2 แสนต้นๆ – 3 แสนบาท ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัท ทั้งนี้จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียมการขออนุญาต ค่าปรับปรุงโครงสร้างหากโครงสร้างบ้านไม่สามารถติดตั้งได้

ส่วนการคืนทุนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งกำลังการผลิตที่ติดตั้ง การใช้ไฟของแต่ละบ้าน สภาพอากาศ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีคืนทุนเฉลี่ยที่ 6-10 ปี หลังจากคืนทุนแล้วแปลว่า เราจะใช้ไฟส่วนนั้นได้ฟรีไปอีกยาวๆ อย่างน้อยก็ถึงอายุรับประกัน 25 ปี (ทั้งนี้จะมีค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เสื่อมตามอายุซึ่งอยู่นอกเหนือการรับประกัน และค่าบริการตรวจระบบและล้างแผงตามแต่แพ็กเกจที่ซื้อเพิ่ม) โซล่าเซลล์


3.ระบบโซลาร์เซลล์มีกี่ระบบ ควรใช้ระบบใด

       มีทั้งหมด 3 ระบบ โดยเลือกตามวัตถุประสงค์และพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า

โซล่าเซลล์

1. ระบบออนกริด (On Grid) สำหรับคนใช้ไฟกลางวัน/คนอยู่บ้านทั้งวัน

เป็นระบบโซลาร์เซลล์ที่ใช้ไฟทั้ง 2 ทาง คือ ไฟที่มาตามสายจากการไฟฟ้า และไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ เหมาะกับบ้านที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน ผลิตไฟฟ้าได้แล้วนำมาใช้เลย ไม่มีแบตเตอรี่ และสามารถขายไฟคืนให้การไฟฟ้าได้ (สำหรับระบบไฟฟ้า 1 เฟส ขายได้กับระบบโซลาร์เซลล์ที่ไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ และสำหรับระบบไฟฟ้า 3 เฟส ขายได้กับระบบโซลาร์เซลล์ที่ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์) ซึ่งก่อนติดตั้งต้องขออนุญาตการไฟฟ้าก่อน เป็นระบบที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบันเพราะคืนทุนเร็วที่สุด  โซล่าเซลล์

จุดเด่น

  • เหมาะกับบ้านที่ใช้ไฟกลางวันมาก
  • คืนทุนเร็วที่สุด
  • ขายไฟคืนการไฟฟ้าได้
  • อุปกรณ์ในระบบมีน้อยชิ้น ทำให้ค่าซ่อมบำรุงต่ำ

ข้อจำกัด

  • ไม่มีแบตเตอรี่ สำรองไฟไม่ได้ กลางคืนจึงใช้ไฟจากการไฟฟ้าตามปกติ
  • ถ้าไฟจากการไฟฟ้าดับ ระบบไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะดับด้วย
โซล่าเซลล์

2. ระบบออฟกริด (Off Grid) สำหรับพื้นที่ห่างไกล

เป็นระบบ Stand Alone ที่ไม่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้าเลย จึงไม่ต้องขออนุญาต เหมาะกับสถานที่ที่ไฟจากการไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เช่น ท้องถิ่นห่างไกล พื้นที่ทำไร่นา บนดอยสูง

จุดเด่น

  • ไม่ยุ่งยากในการขออนุญาต

ข้อจำกัด

  • ต้องติดตั้งแบตเตอรี่ เพื่อสำรองไฟและมีไฟใช้กลางคืน
  • ใช้อุปกรณ์มากกว่า จึงลงทุนระบบมากกว่าระบบออนกริด
  • ถ้าไม่มีแดดติดต่อกันหลายวัน อาจผลิตไฟฟ้าไม่พอใช้
โซล่าเซลล์

3. ระบบไฮบริด (Hybrid) สำหรับใช้ไฟทั้งกลางวันและกลางคืน

เป็นส่วนผสมระหว่างระบบ Off Grid กับ On Grid  คือ มีการใช้ไฟทั้งจากการไฟฟ้า ไฟที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ และไฟที่เก็บไว้ที่แบตเตอรี่  ในกรณีที่แผงโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้ามากเกินกว่าการใช้งาน ก็จะนำไปกักเก็บที่แบตเตอรี่ และสามารถดึงมาใช้ในช่วงเวลากลางคืน หรือช่วงที่ไฟตกได้ แต่ระบบไฮบริดจะไม่สามารถขายกระแสไฟคืนให้การไฟฟ้าได้ อีกทั้งแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐาน และมีความปลอดภัยในปัจจุบันยังมีราคาสูงมาก ทำให้มีระยะเวลาคืนทุนนานกว่า

จุดเด่น

  • สามารถใช้ไฟฟ้าได้ฟรีๆ ทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน
  • ระบบไฟฟ้ามีความเสถียรมาก เนื่องจากเสมือนมีแหล่งจายไฟ 3 แหล่ง (โซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และไฟจากการไฟฟ้า)
  • สามารถบริหารแหล่งจ่ายพลังงาน เพื่อให้ระบบใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่ถูกที่สุด เช่น ตอนกลางวันที่ไฟจากการไฟฟ้ามีราคาแพง เราสามารถตั้งให้ระบบเน้นใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่ก่อนใช้ไฟจากการไฟฟ้า แต่ถ้าในวันหยุดหรือช่วงที่ไฟจากการไฟฟ้าราคาถูก ก็จะปล่อยให้มีการชาร์ตไฟเข้าแบตเตอรี่ด้วย
  • เป็นไฟฉุกเฉินในเวลาไฟตก ไฟดับได้
  • ลดค่าไฟได้มากที่สุด

ข้อจำกัด

  • ระยะเวลาคืนทุนนาน เพราะแบตเตอรี่มีราคาสูง
  • ขายไฟคืนการไฟฟ้าไม่ได้

ภาพ : บริษัท RAAY จำกัด

4.แผงโซลาร์เซลล์ ติดตั้งทิศไหนดีที่สุด

ทิศการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มีผลต่อการรับแสงแดดเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากติดตั้งในทิศที่ไม่เหมาะสม ประสิทธิภาพการทำงานจะลดลง มาดูกันว่าแผงโซลาร์เซลล์ควรติดตั้งทิศไหน โดยเรียงลำดับจากดีมากที่สุดไปดีน้อยที่สุด

  • ทิศใต้ เป็นทิศที่เหมาะสมในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่สุด เพราะส่วนใหญ่ของปี พระอาทิตย์จะโคจรอ้อมทางทิศใต้ จึงทำให้ได้รับแสงแดดเกือบทั้งวัน
  • ทิศตะวันออก และ ทิศตะวันตก ทั้งสองทิศนี้จะได้รับแสงแดดครึ่งวัน แผงโซลาร์เซลล์จึงผลิตไฟฟ้าได้ดีในระดับหนึ่ง
  • ทิศเหนือ เป็นทิศที่ได้รับแสงแดดน้อยที่สุด จึงมีผลให้มีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้น้อยที่สุดด้วย

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัยของพื้นที่ตั้งที่พักอาศัย จึงต้องมีการเข้าสำรวจหน้างานและประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การติดตั้งมีประสิทธิภาพสูงที่สุด


5.แผงโซลาร์เซลล์มีกี่ประเภท ควรใช้ประเภทใด

การจะเลือกระบบโซลาร์เซลล์มาติดตั้ง ควรเช็กสเป็กแผงโซลาร์เซลล์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยแผงโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันที่ใช้กันมี 3 ประเภท คือ

ภาพ : A SOLAR

1.โมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)

เป็นแบบผลึกเดี่ยว มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะผลิตจากซิลิคอนเกรดดีที่สุด ในปัจจุบันเป็นประเภทที่นิยมใช้ติดตั้งในประเทศไทย

ข้อดี

  • ใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยกว่าประเภทอื่น เนื่องจากมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าต่อพื้นที่สูงสุด โดยสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เกือบ 4 เท่า ของประเภทฟิล์มบาง และมากกว่าประเภทพอลิคริสตัลไลน์ประมาณ 10 %
  • มีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งยาวนานกว่าชนิดอื่น
  • ในสภาพแสงน้อย สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าประเภทพอลิคริสตัลไลน์

ข้อจำกัด

  • ราคาสูงกว่าประเภทอื่น  

2.พอลิคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)

เป็นแบบผลึกผสม มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน จึงใช้ปริมาณซิลิคอนในการผลิตน้อยกว่า

ข้อดี

  • มีประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่ออุณหภูมิสูงดีกว่าประเภทโมโนคริสตัลไลน์เล็กน้อย
  • ราคาถูกกว่าประเภทโมโนคริสตัลไลน์

ข้อจำกัด

  • ใช้พื้นที่ติดตั้งมากกว่า เพราะมีประสิทธิภาพต่อพื้นที่ต่ำกว่าประเภทโมโนคริสตัลไลน์
  • ผลึกของแผงจะมีสีโทนน้ำเงิน จึงอาจดูไม่สวยงามเมื่อติดตั้งบนหลังคา

3.โซลาร์เซลล์ประเภทฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells)

โซลาร์เซลล์ประเภทฟิล์มบาง หรือเรียกว่า อะมอร์ฟัสโซลาร์เซลล์ (Amorphous Solar Cell) เกิดจากการนำสารที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้ามาฉาบเป็นชั้นฟิล์มบางซ้อนกันหลายๆ ชั้น

ข้อดี

  • ราคาถูกกว่า ผลิตจำนวนมากได้ง่ายกว่าประเภทผลึกซิลิคอน
  • ในที่อากาศร้อนมากๆ แผงโซลาร์เซลล์ประเภทฟิล์มบาง มีผลกระทบน้อยกว่าประเภทอื่น

ข้อจำกัด

  • มีประสิทธิภาพต่อพื้นที่ต่ำกว่าประเภทอื่น จึงใช้พื้นที่ติดตั้งมากกว่า

Tips : แผงโซลาร์เซลล์ของแต่ละแบรนด์จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เท่ากัน ประมาณ 400 – 500 วัตต์/แผง บ้านที่มีพื้นที่ติดตั้งจำกัดจึงควรพิจารณาเลือกแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิตสูง ก็จะใช้จำนวนแผงและพื้นที่ติดตั้งน้อยลง


6.อินเวอร์เตอร์มีกี่ประเภท ควรใช้ประเภทใด

อินเวอร์เตอร์ (Inverter) เป็นอีกอุปกรณ์สำคัญ มีหน้าที่แปลงพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่มาจากแผงโซลาร์เซลล์ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) แล้วส่งไปที่ตู้ไฟฟ้าหรือตู้เบรกเกอร์ เพื่อจ่ายไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอย่างปลอดภัย อินเวอร์เตอร์มีหลายประเภท แต่ที่นำมาใช้กับบ้านในปัจจุบันมี 2 ประเภท คือ

ภาพ : SCG Solar Roof Solutions

1.สตริงอินเวอร์เตอร์ (String Inverter) การติดตั้งโซลาร์เซลล์จะเป็นการติดตั้งแบบอนุกรม คือทุกแผงจะต่อรวมแรงดันไฟฟ้ามาที่อินเวอร์เตอร์ตัวใหญ่ตัวเดียว หรือที่เรียกกันว่า String Inverter ซึ่งมีข้อดีที่สามารถดูแลได้ง่ายเพราะควบคุมที่จุดเดียว แต่ก็มีข้อจำกัดคือ หากมีแผงโซลาร์เซลล์แผงใดแผงหนึ่งขัดข้อง จะส่งผลกระทบกับการทำงานของแผงอื่นๆด้วย

โซล่าเซลล์
ภาพ : SCG Solar Roof Solutions

2.ไมโครอินเวอร์เตอร์ (Micro Inverter) เป็นการติดตั้งอินเวอร์เตอร์แยกย่อยติดอยู่ใต้แต่ละแผง ซึ่งไมโครอินเวอร์เตอร์ 1 ตัวจะต่อกับแผงโซลาร์เซลล์ 1 แผง เป็นการแปลงกระแสไฟฟ้าแบบอิสระต่อกัน เมื่อการทำงานของแผงใดแผงหนึ่งขัดข้องก็ไม่ส่งผลต่อแผงอื่นๆ และมีความปลอดภัยมากขึ้นเพราะเมื่อแปลงกระแสไฟฟ้าเป็นรายแผง จึงเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าแรงดันต่ำ อีกทั้งยังมีระบบ Rapid Shutdown ซึ่งจะตัดการทำงานทันทีเมื่อเกิดความผิดปกติกับระบบ แล้วยังมีการแสดงผลการทำงานและผลิตไฟแบบแยกแผง แต่ก็ทำให้มีราคาสูง และมีการติดตั้งซับซ้อนมากขึ้น


7.วิธีตรวจสอบว่าแผงโซลาร์เซลล์ และอินเวอร์เตอร์มีคุณภาพดีหรือไม่

แผงโซลาร์เซลล์จะแบ่งระดับจากการวัดคุณภาพของโรงงานผู้ผลิตและคุณสมบัติของแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ Tier 1, Tier 2, Tier 3 ซึ่งจัดอันดับโดย Bloomberg New Energy Finance ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Tier 1 จะเป็นระดับที่มีคุณภาพสูงสุด และต้องผ่านการพิจารณาหลายปัจจัย เช่น ด้านประสิทธิภาพของวัสดุที่ผลิต ความยั่งยืนและความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ผลิตที่ต้องมีประสบการณ์มากกว่า 5 ปี มีนโยบายการลงทุนวิจัยและพัฒนาแผงของบริษัทผู้ผลิต ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต และจะให้ดีแนะนำให้เป็นแบรนด์ที่อยู่ใน Top 5 ก็จะมั่นใจยิ่งขึ้น

อินเวอร์เตอร์ที่ปลอดภัยต้องผ่านมาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) สามารถเช็กได้ที่

แอพพลิเคชั่นดูการผลิตไฟฟ้าและการประหยัดค่าไฟแบบเรียลไทม
ภาพ : SCG Solar Roof Solutions

Tips : เจ้าของบ้านสามารถดูการผลิตไฟจากโซลาร์เซลล์ผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือได้แบบเรียลไทม์ กรณีแผงหรืออินเวอร์เตอร์ผลิตไฟได้ไม่ดี กราฟการผลิตไฟจะผิดปกติ หรือหากมีฝุ่นเกาะเยอะเกินไปก็จะไม่สามารถผลิตไฟได้เต็มที่ หากต่ำกว่าเกณฑ์การผลิตไฟฟ้าขั้นต่ำ ก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ช่วยเช็กความผิดปกติได้


8.การติดตั้งโซลาร์เซลล์ต้องขออนุญาตไหม

ก่อนการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เจ้าของบ้านต้องดำเนินการขออนุญาตจากภาครัฐ 3 หน่วยงาน ซึ่งจะมีใบอนุญาตที่เชื่อมโยงกัน คือ

1.การไฟฟ้านครหลวง/การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามพื้นที่ตั้งของบ้าน ซึ่งจะขออนุญาตได้ 2 แบบ คือ

  • ขอเชื่อมต่อกับการไฟฟ้า (ไม่ขายไฟคืน)
  • ขายไฟคืน (โครงการโซลาร์ภาคประชาชน)

2.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอใบยกเว้นการประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้า

3.เขต/เทศบาล/อบต. ขออนุญาตดัดแปลงอาคารเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์

Tips :

  • แนะนำให้เลือกบริษัทที่ยื่นขออนุญาตให้แบบ One Stop Service โดยเจ้าของบ้านเพียงมอบอำนาจให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินการแทน เพราะทั้ง 3 หน่วยงานไม่ได้ตั้งอยู่ที่เดียวกัน จึงใช้เวลาและเอกสารค่อนข้างมาก
  • ขั้นตอนการขออนุญาตเองดูเพิ่มเติมที่ : https://cutt.ly/kGJ8OMQ