คงจะดีไม่น้อย หากทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมาสามารถสูดอากาศบริสุทธิ์ และรับพลังงานความสุขผ่านสวนที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติใกล้ตัวได้ และหนึ่งในสวนที่จะมาตอบโจทย์ความร่มรื่นเย็นสบายแห่งสุนทรียภาพได้ก็คือ สวนป่าขนาดเล็ก
วิธีจัดการพื้นที่ตามสัดส่วนที่เหมาะสม
การสร้างสวนป่ามีหลักพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงคือ “ความเป็นธรรมชาติ” การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อพื้นที่และความต้องการทั้งแสงแดด ความชื้น อุณหภูมิ เพื่อให้เอื้อต่อการเจริญเติบโต สร้างสภาวะและบรรยากาศที่น่าสบาย
- ขนาดของพื้นที่ ในการจัดสวนควรคำนึงถึงพื้นที่ว่างเป็นอันดับแรก เนื่องจากขนาดของพื้นที่จะเป็นโจทย์ที่ช่วยกำหนดองค์ประกอบ การใช้งาน และพรรณไม้ ซึ่งหากว่าพื้นที่สวนมีขนาดกว้างก็จะทำให้สามารถวางแผนจัดให้มีองค์ประกอบได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก ลำธาร การปลูกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ หรือการสร้างศาลาในสวน แต่หากว่าพื้นที่สวนมีขนาดเล็กลงมาก็อาจต้องตัดทอนองค์ประกอบบางอย่างให้เล็กลง เช่น ขนาดของพรรณไม้ยืนต้น บ่อน้ำ หรือลานกิจกรรม เพื่อให้เหมาะสมและสมส่วนกับพื้นที่ ไม่ทำให้ดูรกทึบหรืออึดอัดจนเกิดไป
- ความต้องการ เมื่อสำรวจพื้นที่แล้ว สิ่งต่อมาคือการสำรวจสอบถามความต้องการของคนในบ้าน เพราะบางคนอาจเน้นมุมมองความงามที่ทำให้เกิดความสุขทางด้านอารมณ์และจิตใจ บางคนอาจเน้นการใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการสอบถามพรรณไม้ที่แต่ละคนชื่นชอบ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน แล้วกำหนดองค์ประกอบของสวนตามความต้องการ ทำให้สวนกลายเป็นพื้นที่ที่สมาชิกทุกคนในบ้านสามารถใช้งานร่วมกันได้
- ตำแหน่งและทิศทาง มีผลต่อการกำหนดตำแหน่งของพรรณไม้ พื้นที่ใช้งาน และช่วงเวลาของการใช้งานในสวน โดยถ้าหากต้องการให้สวนช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว อาจต้องสร้างแนวรั้วธรรมชาติที่ค่อนข้างหนาและสูง เพื่อช่วยพรางสายตา กรองฝุ่นและเสียงจากภายนอก หากต้องการให้สวนช่วยสร้างร่มเงาให้แก่ตัวบ้านอาจจัดสวนป่าไว้ทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ของอาคาร และอาจกำหนดจุดปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ในทิศทางเดียวกัน ส่วนในทางทิศตะวันออกและทิศเหนือที่ลมพัดผ่าน สามารถกำหนดให้เป็นจุดของบ่อน้ำหรือปลูกไม้ดอกหอมได้ นอกจากนี้มุมมองจากภายในบ้านก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกำหนดจุดดึงดูดสายตาและจุดพรางสายตาได้เช่นเดียวกัน
- สัดส่วนของพื้นที่ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการสร้างสวนป่ามีหลักพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึงคือความเป็นธรรมชาติ ดังนั้นสวนควรมีพื้นที่ปลูกพืชพรรณ (Softscape) ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ โดยอาจใช้การปลูกแบบลดหลั่นกัน เพื่อให้มีความใกล้เคียงป่าธรรมชาติมากที่สุด แล้วจึงจัดวางส่วนของพื้นที่ดาดแข็ง (Hardscape) อย่างทางเดิน ลานกิจกรรม ศาลา ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ แทรกตัวไปตามพรรณไม้ หรือใช้เส้นสายลายธรรมชาติแบบไม่สมมาตร (Freeform / Irregular Form) เป็นตัวแบ่งพื้นที่ระหว่างพรรณไม้กับฮาร์ดสเคป เพื่อให้เกิดความกลมกลืน (Harmony) เป็นหนึ่งเดียวกันของสวน
การเลือกต้นไม้ผสมผสาน
การจัดและตกแต่งสวนป่าเป็นการเลียนแบบธรรมชาติของป่าที่เน้นโทนสีเขียว มีพรรณไม้หลากหลายทั้งชนิดและขนาดขึ้นเบียดเสียดกันให้ร่มเงาอย่างหนาแน่นและเขียวชอุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรูปทรงที่ดูเป็นธรรมชาติ ไม่เน้นการตัดแต่งหรือประดิษฐ์มากจนเกินไป เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของประเทศ ทำให้เมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่สวนจะรู้สึกสดชื่นและเย็นสบาย เหมือนได้ใกล้ชิดธรรมชาติ
การจัดวางตำแหน่งของต้นไม้ให้เริ่มจากการปลูกไม้ยืนต้นและไม้พุ่มที่มีลำต้นสูงในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับการใช้งานและมุมมองก่อน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม จากนั้นจึงปลูกไม้พุ่มและไม้คลุมดินตามแนวขอบทางเดินหรือพื้นที่ดาดแข็ง อย่างลานที่นั่ง หรือบ่อน้ำทรงเรขาคณิต โดยให้มีความสูง-ต่ำลดหลั่นกัน ไม่เป็นแนวเส้นตรง เพื่อลดทอนความแข็งกระด้าง และเกิดความกลมกลืน อีกทั้งยังควรคำนึงถึงระยะเวลาการเจริญเติบโตของพืช เพื่อไม่ให้สวนรกทึบจนเกินไป
- ไม้ยืนต้น ใช้สร้างความร่มรื่นให้แก่สวนและอาคาร ช่วยพรางแสงให้แก่ไม้ขนาดเล็ก เช่น เสม็ดแดง แคนา พิกุล กันเกรา ลำดวน โสกน้ำ น้ำเต้าต้น จิกทะเล แปรงล้างขวด ตีนเป็ดน้ำ
- ไม้ขนาดกลางหรือไม้พุ่ม ใช้สร้างบรรยากาศของสวนป่า สร้างความต่อเนื่องระหว่างไม้ยืนต้นกับไม้ระดับกลางและไม้ระดับล่างอื่น ๆ เช่น จั๋งจีน จั๋งไทย หนวดปลาหมึก กระดาด เฟินลูกไก่ทอง เฟินกีบแรด เฟินอุ้งตีนหมี
- ไม้ดอก ใช้สร้างสีสันและกลิ่นหอมในสวน โดยปลูกไว้ตรงที่ที่ได้รับแสงแดดจะช่วยให้ออกดอกได้ดี เช่น นางแย้ม พยับหมอก กาหลง พุดกุหลาบ พุดมาลัย เฮลิโคเนีย ขิง ดาหลา หรืออาจสร้างสีสันให้แก่สวนด้วยไม้ใบด่างหรือไม้ใบสี เช่น หนวดปลาหมึกด่าง สับปะรดสี เอื้องหมายนาด่าง โกสน ลิ้นกระบือ คล้าม้าลาย แซมเข้าไปในสวนได้เช่นกัน
- ไม้คลุมดิน ช่วยรักษาความชื้นให้แก่ดิน และช่วยให้สวนดูชุ่มฉ่ำ เช่น มอสส์ กนกนารี โคลงเคลงเลื้อย หนวดปลาดุกแคระ ดาดตะกั่ว ใบต่างเหรียญ ก้ามปูหลุด พรมออสเตรเลีย
- ไม้น้ำและริมน้ำ ควรเลือกไม้ที่ไม่ผลัดใบหรือผลัดใบน้อย เช่น หญ้าถอดปล้อง ไอริส เตยหอม พัดโบก บัว คล้าน้ำ กกอียิปต์
- ไม้แขวนและไม้เลื้อย ช่วยเติมเต็มและสร้างมิติให้แก่สวน เช่น เฟินเขากวาง เฟินชายผ้าสีดา เคราฤๅษี สร้อยอินทนิล พลูด่าง ช้องนางคลี่ สร้อยนางกรอง ตีนตุ๊กแก หัวใจแนบ
องค์ประกอบและวัสดุจากธรรมชาติ
แน่นอนว่าการจัดสวนแบบธรรมชาติก็ต้องเลือกใช้วัสดุองค์ประกอบหลักที่ดูเป็นธรรมชาติ ทั้งสีสัน และผิวสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นไม้ หิน กรวด ดิน ทราย หรือหมอนรถไฟเก่า ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นวัสดุที่หาง่าย ราคาไม่แพง แข็งแรง และทนทาน หากมีโทนสีเอิร์ธโทน เช่น สีน้ำตาล สีอิฐ ก็จะยิ่งช่วยเสริมความเป็นสวนป่าเมืองร้อนตัดกับสีสันของต้นไม้ได้เป็นอย่างดี แต่หากเลือกใช้วัสดุเทียม เช่น ไม้เทียม หินเทียม ก็ควรเลือกให้ใกล้เคียงของจริงมากที่สุดและใช้เท่าที่จำเป็น ในบางจุดที่สามารถมองเห็นและจับต้องได้ง่ายอาจใช้วัสดุจริงเข้ามาผสมผสาน ส่วนวัสดุและองค์ประกอบอื่น ๆ อย่างโอ่ง สะพาน ศาลา และม้านั่งในสวน สามารถนำมาประกอบหรือจัดวางแบบเรียบง่าย จะช่วยเติมเสน่ห์และแต่งเติมเรื่องราวให้แก่สวน นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงวัสดุที่มีลวดลายสีสันฉูดฉาด อย่างพลาสติก สเตนเลส หินแกรนิตขัดมัน เพื่อให้ดูไม่แข็งกระด้างจนเกินไป แต่หากเป็นองค์ประกอบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เครื่องมือทำสวน เครื่องยนต์ หรือปั๊มน้ำก็ให้ใช้วิธีการพรางสายตา อย่างผนังไม้เลื้อย หรือรั้วธรรมชาติเข้ามาช่วย
แหล่งน้ำใน (สวน) ป่า
น้ำเป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจของ สวนป่าขนาดเล็ก เพราะ ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พืชพรรณและบรรยากาศโดยรอบ อีกทั้งเสียงของน้ำยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี ซึ่งแหล่งน้ำในสวนอาจมีลักษณะเป็นลำธาร น้ำตก น้ำพุ น้ำผุด หรือน้ำล้น ที่มีการย่อขนาดสัดส่วนหรือลดทอนลงให้เหมาะสมกับพื้นที่
โครงสร้างของบ่อสามารถเป็นได้ทั้งบ่อดินและบ่อคอนกรีต แต่ส่วนสำคัญคือการปิดขอบบ่อให้ดูเป็นธรรมชาติด้วยหิน เช่น หินกาบ หินชั้น หินฟองน้ำ หรือพรรณไม้ริมน้ำต่าง ๆ ส่วนรูปทรงและความลึกของบ่อสามารถยืดหยุ่นได้ตามลักษณะของพื้นที่ว่างและวัตถุประสงค์ นอกจากนี้แหล่งน้ำส่วนใหญ่มักจะถูกจัดให้เป็นจุดโฟกัส ในตำแหน่งทางทิศตะวันออกและทิศเหนือของบ้านภายใต้ร่มเงาที่มีแสงรำไร เพื่อให้ลมที่พัดผ่านนำความเย็นเข้าไปสู่ตัวบ้าน และไม่เกิดเป็นตะไคร่น้ำ เน่าเสีย หรือขุ่นง่ายจนเกินไป แต่หากบ่อน้ำตั้งอยู่บริเวณกลางแจ้ง ผิวน้ำจะกลายเป็นเหมือนกระจกเงาที่เมื่อแสงแดดตกกระทบจะเกิดการสะท้อนและอาจทำให้เกิดละอองไอน้ำนำคลื่นความร้อนเข้าบ้านได้
นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนเมษายน 2565
เรื่อง : สริดา จันทร์สมบูรณ์
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน