RISC ศึกษาการออกแบบบ้านที่เป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยง และแนะนำแนวทางการออกแบบสภาพแวดล้อมภายในบ้านสำหรับ สัตว์เลี้ยงในบ้าน
อันตรายหรือโรคภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อสัตว์เลี้ยงจากปัจจัยภายนอก เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เช่น โรคติดต่อ หรือพาหะนำโรคที่มากับธรรมชาติ แต่สภาพแวดล้อมภายในบ้านเป็นเรื่องที่เราสามารถออกแบบได้เอง ซึ่งจะช่วยให้ สัตว์เลี้ยงในบ้าน ปลอดภัย และมีสุขภาพที่ดีได้อย่างแน่นอน ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) จึงได้ศึกษาการออกแบบบ้านที่เป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยง และแนะนำแนวทางการออกแบบสภาพแวดล้อมภายในบ้านเพื่อความสบาย ปลอดภัยและห่างไกลโรคของสัตว์เลี้ยง โดยมีหลักเกณฑ์ที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ ความรู้สึกสบาย การจัดการพื้นที่ใช้สอยอย่างลงตัวมีคุณภาพ และ การเลือกวัสดุที่เหมาะสมต่อสัตว์เลี้ยง มีรายละเอียดอะไรบ้างมาดูกัน
ออกแบบอย่างไรให้น้องๆ รู้สึกสบาย
ความสบายของสัตว์เลี้ยงขั้นพื้นฐาน สามารถออกแบบได้ 4 ด้าน คือ
1.ไม่ร้อน-หนาวเกินไป มีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสม
เราทุกคนต้องการอยู่อย่างสบาย ไม่รู้สึกร้อนหนาวจนเกินไป สัตว์เลี้ยงของเราก็เช่นกัน ช่วงอุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ที่สัตว์เลี้ยงรู้สึกสบายจะต่างกับเราเพียงเล็กน้อย หากเราสบาย สัตว์เลี้ยงก็สบายด้วย แต่ทั้งนี้เราต้องรู้จักลักษณะพิเศษตามสายพันธุ์ของสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างดีด้วย เช่น มีต้นกำเนิดสายพันธุ์จากที่ใด ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด ทนความร้อนของอากาศบ้านเราได้ดีมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องใส่ใจไม่ละเลย ไม่ปล่อยให้อยู่ในพื้นที่กลางแดดหรือที่อับอากาศนานจนเกินไป โดยเฉพาะหากปล่อยสัตว์เลี้ยงให้อยู่ตามลำพังในช่วงเวลาที่เราไม่อยู่บ้าน ป้องกันการเกิดอันตราย เช่น การเกิดโรคลมแดด (Heat stroke) ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้ โดยช่วงอุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ที่สัตว์เลี้ยงรู้สึกสบาย อยู่ที่ 20-29 oC และ 30-70 %RH (สำหรับสุนัขและแมว) ในขณะที่ช่วงอุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ที่มนุษย์รู้สึกสบาย อยู่ที่ 22-27 oC และ 20-75 %RH
รายการอ้างอิง:
National Research Council (US). Guide for the Care and Use of Laboratory Animals. 8th edition. Washington (DC): National Academies Press (US); 2011.
Mary Jordan, Amy E. Bauer, Judith L. Stella, Candace Croney. Perdue Extension: Temperature Requirement for Dog. Department of Comparative Pathobiology, College of Veterinary Medicine, 2016.
Australian Capital Territory, Animal Welfare (Animal Boarding Establishments) Code of Practice 2008
2.มีความสบายทางสายตา
พฤติกรรมของ สัตว์เลี้ยงในบ้าน อย่างสุนัขและแมวอาจแตกต่างกัน บ้างต้องการออกไปวิ่งเล่น บ้างต้องการอยู่แต่ภายในบ้าน แต่ถึงแม้ว่าสัตว์เลี้ยงไม่ต้องการออกไปไหน หรือออกไปไหนไม่ได้ด้วยภาวะโลกระบาดที่เราเผชิญอยู่ ก็ควรให้สัตว์เลี้ยงได้รับแสงธรรมชาติที่พอเหมาะ และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในพื้นที่จำกัดที่ไม่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ภายนอกได้ จึงควรจัดพื้นที่นั่งเล่นหรือมุมโปรดของสัตว์เลี้ยงให้อยู่ใกล้หน้าต่าง หรือช่องเปิดที่ได้รับแสงธรรมชาติ แต่หลีกเลี่ยงแสงแดดตรงและแสงจ้าแยงตา เพื่อได้รับความสว่างที่พอเหมาะและความสบายทางสายตา สร้างความรู้สึกโปร่งโล่ง ไม่อับทึบ สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ ผู้คน หรือสิ่งมีชีวิตต่างๆ ภายนอกได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพทางกาย และลดความเครียดของสัตว์เลี้ยงได้ อีกทั้งยังช่วยลดการสะสมความชื้น เชื้อรา และฆ่าเชื้อโรคได้อีกด้วย
3.มีคุณภาพอากาศดี
หากพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงมีการระบายอากาศธรรมชาติที่เพียงพอ จะช่วยลดปัญหากลิ่นสะสม ความอับชื้น และเชื้อรา ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างของการได้รับการระบายอากาศธรรมชาติ ได้แก่ การเปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศจากภายนอกไหลเวียนเข้ามาภายในบ้าน หรือการออกไปสัมผัสอากาศภายนอกบ้าน โดยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิดจากเจ้าของ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการปีนป่าย หรืออุบัติเหตุต่างๆ หรือแม้แต่ข้อจำกัดที่ไม่สามารถเปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ตลอดเวลาได้
แต่หากมีช่วงเวลาที่สัตว์เลี้ยงต้องอยู่ตามลำพังขณะที่เจ้าของไม่อยู่บ้าน สามารถออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกให้สัตว์เลี้ยงอยู่ได้ด้วยตนเอง เช่น ประตูพิเศษเฉพาะสำหรับสัตว์เลี้ยงที่เชื่อมออกสู่ภายนอกบ้าน สามารถเข้าออกได้โดยไม่ต้องรอเจ้าของเปิดให้ หรือระบบเติมอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกโดยที่ไม่ต้องเปิดหน้าต่างหรือประตูทิ้งไว้ เพื่อระบายอากาศเสียออก ลดการสะสมกลิ่นและความชื้น ซึ่งอาจเป็นแหล่งเชื้อโรคต่างๆ ก็ช่วยลดผลเสียต่อสุขภาพทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยงได้
4.ลดเสียงรบกวน
การที่สัตว์เลี้ยงได้รับสิ่งเร้า หรือเสียงรบกวนจากภายนอก มีโอกาสกระตุ้นให้เกิดการตอบสนอง เช่น การเห่า หรือการหอน เป็นการรบกวนเพื่อนบ้านข้างเคียงได้ นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งในภายหลัง โดยเฉพาะหากเราอาศัยอยู่ร่วมกันในอาคารอยู่อาศัยรวม จึงควรออกแบบป้องกันเสียงรบกวน เช่น การเลือกผนังกันเสียง ประตูกันเสียง ปิดช่องว่างระหว่างห้อง การติดตั้งฉนวนดูดซับเสียง เป็นต้น เพื่อลดการได้รับเสียงรบกวนจากภายนอก รวมถึงลดเสียงรบกวนจากสัตว์เลี้ยงของเราเองด้วย
จัดการพื้นที่ใช้สอยอย่างไรให้น้องแฮปปี้
1.มีพื้นที่กิจกรรมให้ปล่อยพลัง
การจัดพื้นที่ใช้สอยควรมีพื้นที่รองรับกิจกรรม และการออกกำลังกายสำหรับสัตว์เลี้ยง ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้สัตว์เลี้ยงได้ปล่อยพลัง เป็นการลดความเครียดได้อย่างดี หากที่บ้านไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ออกกำลังกายได้เพียงพอ โดยเฉพาะสุนัขซึ่งต้องการพื้นที่มากพอสมควร ควรจัดสรรเวลาสำหรับการพาออกไปวิ่งเล่น หรือมีกิจกรรมภายนอกบ้าน เพื่อสัมผัสบรรยากาศและธรรมชาติภายนอกบ้านอย่างสม่ำเสมอ
2.แบ่งโซนพื้นที่ใช้สอยของเธอ ของฉัน และของเรา
การกำหนดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน และโซนพื้นที่ใช้สอยสำหรับ สัตว์เลี้ยงในบ้าน อย่างชัดเจน เป็นการควบคุมความสะอาดและสุขลักษณะที่ดี ควรกำหนดว่าพื้นที่ใดที่เราอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงได้ เช่น ห้องนั่งเล่น หรือพื้นที่ใดที่ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงเข้าถึงได้ เช่น ห้องครัว ห้องนอน อาจใช้วิธีกั้นพื้นที่ตามช่วงเวลาที่ต้องการ เช่น กั้นด้วยประตู รั้ว หรือฉากกั้น ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้สอยได้โดยสะดวก
นอกจากนี้ หากมีการพาสัตว์เลี้ยงไปวิ่งเล่นหรือมีกิจกรรมภายนอกบ้าน ก่อนจะพาสัตว์เลี้ยงเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน ควรมีพื้นที่พักรอที่สามารถทำความสะอาดเบื้องต้นก่อนได้ เช่น ดักฝุ่น เช็ดเท้า ฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น ซึ่งพื้นที่นี้ควรทำความสะอาดได้ง่ายไม่เก็บฝุ่นและเชื้อโรค เพราะพื้นที่ภายนอกบ้านนั้นอาจมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมปะปนมา เช่น ฝุ่น เห็บ หมัด หรือปรสิตที่อาศัยตามสวนหรือตามที่ต่างๆ ติดมากับสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาจติดต่อยังสัตว์เลี้ยงตัวอื่น หรืออาจนำพามาสู่คนได้อีกด้วย
การเลือกวัสดุที่เหมาะสมกับน้อง
วัสดุพื้นผิวต่างๆ ทั้ง พื้น ผนัง เฟอร์นิเจอร์ ที่เหมาะสมต่อการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยง ควรเป็นวัสดุที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ไม่กักฝุ่น ไม่เก็บขน ไม่ดูดซึมน้ำ และสิ่งสกปรกต่างๆ ทั้งยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เช่น พื้นต้องไม่ลื่น เพราะสัตว์เลี้ยงจะเดินไม่สะดวก และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสัตว์เลี้ยง เป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการเสื่อมสภาพของร่างกายเร็วขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia) หรือสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
แนวทางการเลือกวัสดุเพื่อความปลอดภัย
วัสดุผนัง
- เลือกใช้สีและสารเคลือบผิวผนังที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย หรือทำความสะอาดตัวเองได้ (Self-Cleaning)
- ออกแบบผนังลบมุมมน เพื่อลดอันตรายและการบาดเจ็บจากการกระแทก
วัสดุพื้น
- เลือกใช้วัสดุผิวพื้นที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ไม่ดูดซึมน้ำ และมีรอยต่อวัสดุน้อย เพื่อลดการสะสมสิ่งสกปรกที่ผิวพื้นและบริเวณรอยต่อระหว่างแผ่นพื้น
- เลือกใช้วัสดุผิวพื้นที่มีค่าการกันลื่น ระดับ R9 เป็นอย่างน้อย ซึ่งผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน DIN51130 หรือมาตรฐานอื่นเทียบเท่า เพื่อความปลอดภัยและเพื่อความเป็นมิตรต่อพฤติกรรมการเดินของสัตว์เลี้ยง
- เลือกใช้วัสดุผิวพื้นที่มีความทนทาน ทนต่อรอยขีดข่วนได้สูง มีค่าความทนทานของผิวหน้าระดับ AC5 (Abrasion Classification) เป็นอย่างน้อย ซึ่งผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน EN13329 หรือมาตรฐานอื่นเทียบเท่า
- เลือกใช้วัสดุผิวพื้นที่ไม่ดูดซึมน้ำและมีรอยต่อวัสดุน้อย เพื่อลดการสะสมสิ่งสกปรกที่ผิวพื้นและบริเวณรอยต่อระหว่างแผ่นพื้น
วัสดุตกแต่ง
- เลือกใช้วัสดุบุผิวเฟอร์นิเจอร์และผ้าม่านที่มีความทนทาน สามารถทนต่อรอยขีดข่วนได้ หรือลดความเสียหายได้
- เลือกใช้วัสดุบุผิวเฟอร์นิเจอร์และผ้าม่านที่ดูดซับน้ำน้อย หรือมีการเคลือบผิวป้องกันการสะสมสิ่งสกปรกและเชื้อโรค สามารถทำความสะอาดได้ หรือเปลี่ยนได้
- เลือกใช้วัสดุบุผิวเฟอร์นิเจอร์และผ้าม่านที่ไม่กักเก็บฝุ่นและขนสัตว์
- หลีกเลี่ยงการติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างและไฟฟ้ากำลังบริเวณพื้นที่กิจกรรมของสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุต่อชีวิตและทรัพย์สิน
- หลีกเลี่ยงการออกแบบวัสดุตกแต่งอาคารที่เป็นห่วงหรือราวแขวนเพดาน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการปีนป่ายห้อยโหนของสัตว์เลี้ยง
ราวกันตก
ราวกันตกควรเป็นรูปแบบทึบหรือตะแกรงที่มีระยะห่างค่อนข้างถี่ หากเป็นราวกันตกแบบซี่ลูกกรงต้องเป็นแนวตั้ง ไม่มีสิ่งสำหรับปีนป่ายได้ และมีระยะห่างช่องว่างซี่ลูกกรงไม่เกิน 5 เซนติเมตร
บันได
ลูกตั้งและลูกนอนบันไดควรเป็นรูปแบบทึบ เพื่อป้องกันการพลัดตกหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งติดอยู่ระหว่างร่องวัสดุ หากเป็นบันไดแบบโปร่ง ควรมีช่องว่างของส่วนประกอบบันไดไม่เกิน 5 เซนติเมตร
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวทางพื้นฐานและตัวอย่างของการออกแบบ สัตว์เลี้ยงของแต่ละท่านอาจมีความต้องการหรือความเสี่ยงที่ควรระวังแตกต่างกันออกไป สามารถนำหลักการไปพิจารณาและปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สัตว์เลี้ยงและเจ้าของ ตามรูปแบบการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงของแต่ละบ้าน และพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง
Tips : รู้หรือไม่? สัตว์เลี้ยงก็ติดโควิดได้
ไม่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้นที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบาด COVID-19 สัตว์เลี้ยงก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยตลอดช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health: OIE) ได้ทำหน้าที่รวบรวมและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสในสัตว์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีรายงานพบการติดเชื้อในสัตว์จำนวนทั้งสิ้น 675 ราย จากสัตว์ทั้งหมด 23 สายพันธุ์ (อ้างอิงรายงานเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565) ซึ่งสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัขและแมวที่มีความใกล้ชิดกับคนเป็นอย่างมากถูกรวมอยู่ในกลุ่มที่พบเชื้อนี้ด้วยเช่นกัน (ที่มา: https://www.oie.int/en/what-we-offer/emergency-and-resilience/covid-19/#ui-id-3)
ข้อมูลจากรายงานพบหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยของการติดเชื้อที่สัมพันธ์กับความใกล้ชิดระหว่างคนกับสัตว์ ทั้งในกรณีของการพบการติดเชื้อในสัตว์ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือกรณีสัตว์ที่ติดเชื้อมีความเกี่ยวข้องกับสาเหตุของการติดเชื้อในคน นำไปสู่ข้อสังเกตของความเป็นไปได้ที่จะมีการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนหรือคนสู่สัตว์ ตลอดจนปัจจัยร่วมทางด้านสภาพแวดล้อมหรือที่อยู่อาศัยที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ นำมาซึ่งข้อแนะนำในการปฏิบัติสำหรับกรณีที่พบการติดเชื้อในสัตว์จะต้องมีการกักตัวเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจากโรคระบาดสำหรับผู้ที่มีสัตว์เลี้ยง จึงต้องดูแลสุขภาพทั้งคนและสัตว์เลี้ยงไปพร้อมๆ กัน
สำหรับประเทศไทย มีสัตว์ที่ติดเชื้อ คือ สุนัขและแมว รวมทั้งสิ้น 4 ตัว ซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ โดยกรุงเทพมหานครพบสุนัขติดเชื้อ 2 ตัว สมุทรปราการและนนทบุรีพบแมวติดเชื้อจังหวัดละ 1 ตัว (อ้างอิงรายงานจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565) โดยทั้งหมดได้รับการรักษา กักตัวตามกำหนด และไม่ได้รับรายงานการเสียชีวิต
ไม่เพียงเฉพาะโรคระบาดที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังและให้ความสำคัญต่อสัตว์เลี้ยงของเรา การตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ การได้รับวัคซีนครบถ้วนตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ การส่งเสริมให้สัตว์เลี้ยงได้รับการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ การป้องกันหรือชะลอความเสี่ยงของโรคตามสายพันธุ์ การดูแลรักษาความสะอาดอย่างถูกต้องไม่เป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยง และการจัดสรรสภาพแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ นับเป็นเรื่องพื้นฐานที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงพึงกระทำเพื่อความปลอดภัยและห่างไกลจากโรคภัย และได้รับสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ที่ตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐานของสัตว์ เพื่อความสุขกาย สบายใจ
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์จาก RISC
รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาที่เน้นนวัตกรรมด้านคุณภาพชีวิตแห่งแรกของเอเชีย ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิจัย นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ผลิต เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลก (For All Well-being) รวมไปถึงการฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสมดุล เอื้อต่อการใช้ชีวิตของทุกสรรพสิ่งได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ และยั่งยืน
ติดตาม FB : riscwellbeing
เรื่อง : ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์