สวนสไตล์อเมริกัน ที่ให้อารมณ์เหมือนบ้านพักตากอากาศในต่างจังหวัด

ผมมีนัดกับนักจัดสวนฝีมือดี คุณมอร์ – อัศนัย แก่นจันทร์ แห่ง ร่มรื่นแลนด์สเคป ผู้สร้างสรรค์งานออกแบบสวนที่หลากหลาย ทั้งสวนอังกฤษ สวนทรอปิคัล สวนโมเดิร์น และสวนคันทรี แต่สวนที่มาชมในครั้งนี้มีสไตล์การจัดต่างออกไป เป็นสวนทรอปิคัลแบบฝรั่งที่ผมขอเรียกว่าเป็น “สวนสไตล์อเมริกัน” แล้วกันครับ

หน้าบ้านเป็นระเบียงไม้สีขาวสะอาดตา คุณมอร์วางกระถางไม้ประดับและตกแต่งเป็นมุมนั่งเล่นเล็กๆ ไว้นั่งชมสวน ช่วยให้ระเบียงดูไม่โล่งกว้างจนเกินไป   

      “ผมเป็นรุ่นน้องของพี่เอก เจ้าของบ้านหลังนี้ครับ เมื่อ 5 ปีก่อน พี่เอกเป็นคนแนะนำให้ผมไปออกแบบสวนที่ร้าน The 66 Cottage ซึ่งถือเป็นงานใหญ่งานแรกของผม พี่เอกจึงเป็นคนที่ทำให้ผมเป็นนักจัดสวนมาจนถึงทุกวันนี้ครับ” คุณมอร์เกริ่นถึงการได้มาจัดสวนแห่งนี้ให้ฟัง

       “พี่เอกเคยอยู่คอนโดมาก่อน พอซื้อที่ปลูกบ้านก็อยากได้บ้านที่ให้อารมณ์เหมือนบ้านพักตากอากาศในต่างจังหวัด แม้ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ ตอนแรกที่เข้ามาดู บ้านใกล้เสร็จแล้วครับ ผมออกแบบโดยยึดตัวบ้านเป็นหลัก หาตัวอย่างว่าบ้านประมาณนี้ควรจัดสวนแบบไหนถึงจะเข้ากันได้ดี พี่เอกชอบรถอเมริกันแบบในหนัง Fast & Furious ผมเลยตั้งใจออกแบบให้ดูเป็นสวนฝรั่ง สวนสไตล์อเมริกัน ซึ่งก็เข้ากันได้ดีกับตัวบ้าน แต่ก็อยากทำอะไรที่ต่างออกไปจากที่เคยทำ ไม่อยากให้เป็นสวนอังกฤษจ๋า อยากให้ดูแมน ๆ หน่อยครับ พี่เอกให้โจทย์มาแค่อยากมีบ่อปลา บ่อน้ำ น้ำตก และอยากมีพื้นที่ปลูกผักด้วย

สวนน้ำตกหน้าบ้าน ทำเป็นบ่อยกขึ้นแทนบ่อขุด เพื่อเล่นสเต็ปรับกับห้องครัวด้านข้าง เวลาจัดปาร์ตี้สังสรรค์สามารถนั่งที่ขอบบ่อซึ่งยกสูง 70 เซนติเมตร ตกแต่งผิวด้วยหินทราเวอร์ทีนดูสวยงาม
ด้วยพื้นที่มีลักษณะราบแบน คุณมอร์ถมดินเพิ่มเพื่อยกสเต็ปที่หัวน้ำตกให้สูงขึ้น ทั้งน้ำตกและบ่อปลาลงเสาเข็มขนาด 6 เมตร เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ในบ่อเลี้ยงปลาพลวงและปลาสายน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นปลากินตะไคร้ ปลูกต้นไม้แปลกๆ หลากหลายชนิด และทดลองปลูกต้นไม้ในน้ำแบบระบบน้ำไหล คือให้ต้นไม้ปรับตัวเติบโตในน้ำหรือที่ที่มีน้ำไหลผ่านได้ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยประหยัดการใช้น้ำไปได้มาก
สวนสไตล์อเมริกัน
บริเวณน้ำตกและลำธารตั้งใจเลือกใช้หินภูเขาและหินแกรนิตแทนหินกาบหินทราย เพื่อสร้างความแตกต่างไปจากสวนทรอปิคัลทั่วไป ทั้งยังช่วยคุมโทนสีเป็นสีเทาให้เข้ากับภาพรวมของโทนสีในสวน สะพานข้ามลำธารเลือกใช้ไม้สนนำเข้าหนา 2 นิ้ว ที่ผ่านการเคลือบน้ำยาเพิ่มความคงทนแข็งแรง

      “เราทำสวนไปพร้อมๆ กับบ้าน พอฟังก์ชันของบ้านเปลี่ยนก็ต้องปรับแก้สวนบ้างนิดหน่อย อย่างเช่น พื้นที่ด้านหน้าเดิมออกแบบเป็นสวนน้ำตก มีบ่อปลาที่มองเห็นได้จากระเบียงหน้าบ้าน มีอาคารหลังเล็ก ๆ เป็นครัวฝรั่งอยู่ใกล้ ๆ ส่วนครัวไทยจะอยู่หลังบ้าน พอจะทำกับข้าวหรือจะทำอะไรก็กลัวกลิ่นและเสียงไปรบกวน อพาร์ตเมนต์ที่อยู่ข้าง ๆ พี่เอกเลยเปลี่ยนจากครัวฝรั่งเป็นครัวไทยแทน ซึ่งบ้านนี้มีเพื่อน ๆ มาปาร์ตี้สังสรรค์บ่อย ๆ ด้วยครับ การย้ายครัวดูจะเหมาะสมและช่วยให้ทำอาหารได้สะดวกกว่า สวนด้านหน้าบ้านเลยต้องปรับให้เล็กลงจากเดิม ส่วนพื้นที่ด้านข้างบ้านที่ค่อนข้างแคบและใช้ประโยชน์ไม่ได้มากนัก ผมออกแบบให้เป็นลานนั่งเล่น ด้านล่างซ่อนบ่อกรองขนาดใหญ่ ทำบ่อปลาคาร์ปและลำธารให้น้ำไหลเลาะมาจากบ่อน้ำตกด้านหน้า ทำให้พื้นที่ได้ถูกใช้งานเพิ่มขึ้น และใช้เป็นทางเดินอ้อมไปยังสวนหลังบ้านได้ด้วยครับ”

สวนสไตล์อเมริกัน
พื้นที่แคบข้างบ้านที่ทำอะไรไม่ได้มากนัก ออกแบบให้เป็นลานอเนกประสงค์ พื้นปูไม้เทียม ซ่อนระบบกรองขนาดใหญ่ไว้ด้านล่าง เพิ่มบ่อเลี้ยงปลาคาร์ปแยกมาอีกบ่อ โดยมีลำธารไหลเลาะมาจากบ่อน้ำตกด้านหน้า ขอบบ่อวางแผ่นหินแกรนิตขนาดใหญ่ใช้เป็นทางเดิน เนื่องจากมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด
สวนสไตล์อเมริกัน

       ภาพรวมของสวนไม่เชิงเป็นสวนทรอปิคัล แม้จะมีน้ำตก ลำธาร และบ่อปลา ส่วนการเลือกใช้พรรณไม้ ตำแหน่งการจัดวางและโทนสีของสวนจะดูคล้ายสวนอังกฤษ แต่ก็พูดได้ไม่เต็มปากนัก หลายอย่างดูต่างไปจากสวนทรอปิคัลและสวนอังกฤษที่เห็นทั่วไปในบ้านเรา

“ผมเลือกใช้ต้นไม้ที่มีฟอร์มเป็นส่วนใหญ่ ผมว่าต้นไม้ฟรีฟอร์มดูแลยากกว่าไม้ตัดแต่งทรงพุ่มครับ พอต้นยืดก็จะเสียฟอร์มไปเลย พอแตกกิ่งมาก ๆ แสงก็ส่องไม่ถึงด้านล่าง ต้นไม้ระดับล่างก็โตไม่ได้ ไม้ใหญ่ที่สวนนี้ผมเลือกใช้ต้นที่มีลักษณะสูงชะลูดเป็นแท่ง ๆ ขึ้นไป ทรงพุ่มด้านบนโปร่ง ๆ แสงสามารถส่องผ่านพื้นที่ด้านล่างได้ หญ้าเติบโตได้ดี เพื่อให้หมาวิ่งเล่นได้ ผมเลือกใช้สนหลายชนิด ทั้งสนสามใบ สนเกรวิลเลีย สนฉัตร สนมังกร สนบลู และเลือกใช้ไม้ใบเป็นหลักครับ คุมให้เป็นโทนสีเขียว อาจเล่นเรื่องของเฉดสีบ้างให้ดูมีลูกเล่น ใช้ไม้ดอกแซมในบางจุด แต่ก็เลือกใช้ไม้ดอกแนวฝรั่ง เช่น กุหลาบ มานูก้า พวกต้นไม้เราออกแบบไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากได้ต้นอะไรบ้าง เปิดดูตัวอย่างว่าสวนลักษณะนี้ในต่างประเทศนิยมใช้ต้นอะไร แล้วหาต้นที่มีลักษณะใกล้เคียงที่มีขายในบ้านเรามาใช้แทน โชคดีที่บ้านเรามีต้นไม้ที่ใช้แทนได้เป็นส่วนใหญ่ บางทีสวยกว่าด้วยซ้ำครับ ยกเว้นบางต้นที่อยากได้จริง ๆ ก็ต้องสั่งเข้ามา ผมอยากสร้างงานให้มีความแตกต่างออกไป ซึ่งพรรณไม้ช่วยให้เกิดความแตกต่างได้เยอะ ถ้าใช้ต้นไม้ทั่วไป งานก็จะไม่เด่นขึ้นมาครับ

เรือนกระจกขนาด 20 ตารางเมตรที่คุณมอร์ออกแบบและสร้างขึ้นใหม่ โครงเป็นเหล็กเพื่อความแข็งแรง ทาสีเทาเพื่อคงภาพรวมของสวนสไตล์ฝรั่ง ด้านในวางแผ่นไม้สนนำเข้าเป็นชั้นวางต้นไม้ ด้านล่างกรุผิวด้วยหินทราเวอร์ทีนเพิ่มความสวยงาม
สวนสไตล์อเมริกัน
สนามหญ้านวลน้อยด้านหลัง วางแผ่นหินกาบและหินแกรนิตเป็นทางเดิน มุมด้านในติดกับห้องนอนวางม้านั่งเหล็กทรงสวยเป็นมุมนั่งเล่นของคุณโบ เจ้าของบ้านอีกท่าน สองข้างวางกระถางใบใหญ่ปลูกไม้ตัดแต่งเป็นพุ่มกลม เพิ่มต้นเสม็ดแดงโดยเลือกต้นที่แตกกิ่งทอดเลื้อยสวยเป็นพิเศษ ช่วยสร้างความร่มรื่น
สวนสไตล์อเมริกัน
แปลงผักสวนครัวหลังบ้านขนาด 10 x 12 เมตร อีกหนึ่งความต้องการของเจ้าของบ้าน ออกแบบผังแปลงแบบสวนฟอร์มัลเพื่อให้ดูเป็นระเบียบและดูแลง่าย ตรงกลางปลูกมะกอกขนาดย่อม เพิ่มกลิ่นอายของสวนฝรั่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ต้นมะกอกหรือโอลีฟเลี้ยงไม่ยากอย่างที่คิด แค่ยกกระบะปลูกให้สูงเพื่อไม่ให้น้ำขัง เติบโตได้ดีในดินปลูกที่ระบายน้ำดี

       “ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการเลือกใช้วัสดุและของตกแต่งมาช่วยเสริมให้สวนมีกลิ่นอายของความเป็นฝรั่งมากขึ้น เช่น บริเวณน้ำตกที่ใช้หินภูเขาแทนหินฟองน้ำ ทางเดินในสวนใช้หินแกรนิตและหินภูเขาแทนหินกาบ หินทราย หรือการใช้หินทราเวอร์ทีนมากรุตกแต่งผิว สะพานข้ามลำธารก็ใช้ไม้สนแทนไม้เต็งไม้แดงที่สีเด่นเกินไป รวมถึงโคมไฟในสวน อ่างน้ำนก และของตกแต่งสวนที่ผมพยายามคุมโทนสีให้ออกไปทางสีขาว สีเทา  เป็นโทนสีเย็นให้ดูนุ่ม ๆ ซอฟต์ๆ ครับ”

       อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของสวนนี้คือสวนหลังบ้านที่มีเรือนกระจกหลังงาม ใช้เป็นที่เก็บสะสมต้นไม้ที่เจ้าของบ้านรัก และแปลงปลูกผักสวนครัวสไตล์ฝรั่งที่เลือกปลูกทั้งสมุนไพรไทยและฝรั่ง เน้นชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “จัดสวนกินได้อย่างมีสไตล์” ของสำนักพิมพ์บ้านและสวนครับ

นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565

เจ้าของ : คุณเตชิณี นาคเกิด

ออกแบบ : ร่มรื่นแลนด์สเคป โดยคุณกนกวรรณ ณ พัทลุง และคุณอัศนัย แก่นจันทร์ โทรศัพท์ 08-3229-5987

เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา

ภาพ : อภิรักษ์  สุขสัย