การปลูกป่านิเวศ (Eco-Forest) ตามหลักทฤษฎีของศาสตราจารย์ ดร.อาคิระ มิยาวากิ (Prof. Dr.Akira Miyawaki) ช่วยร่นระยะเวลาการเจริญเติบโตของป่าธรรมชาติ จาก 100 ปี ให้เหลือเพียง 10 ปี เท่านั้น
หนึ่งในทฤษฎีการทดแทนสังคมพืชแนวใหม่ (New succession theory) คือ ทฤษฎีของศาสตราจารย์ ดร.อาคิระ มิยาวากิ (Prof. Dr.Akira Miyawaki) นักพฤกษศาสตร์และนักนิเวศวิทยาพืชที่มีความเชี่ยวชาญด้านเมล็ดพันธุ์และการศึกษาป่าธรรมชาติ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติโยโกฮามา (Yokohama National University) ประเทศญี่ปุ่น ที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าธรรมชาติ (Restoration) บนพื้นที่เสื่อมโทรม โดยเน้นการปลูกป่าเลียนแบบโครงสร้างป่าในธรรมชาติ ด้วยพรรณไม้พื้นเมืองหรือพรรณไม้ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้คลุมดินคละชนิดกัน เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพและทำให้พื้นที่สีเขียวของป่ากลับมาอีกครั้ง ในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่าวิธีอื่น ๆ สูงสุดมากถึง 10 เท่า
หลักการ การปลูกป่านิเวศ (The Principal & Methodology)
• ก่อนปลูก
1.สำรวจพรรณไม้ท้องถิ่น (Native Species)
ขั้นแรกเริ่มจากการสำรวจพรรณไม้ดั้งเดิมหรือพรรณไม้พื้นเมืองในอดีตตามธรรมชาติของพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงที่ต้องการจะปลูกป่า ไม่ว่าจะเป็นพืชคลุมดิน ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้น เพื่อคัดเลือกชนิดพันธุ์ท้องถิ่นที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลง รวมถึงทนทานต่อสภาพดินและสภาพอากาศในพื้นที่
2.เพาะพันธุ์ต้นกล้าจากเมล็ด (Potted Seedlings)
เมื่อได้ชนิดพันธุ์ที่จะนำมาปลูกแล้ว ต่อมาคือการเพาะเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่มีระบบรากสมบูรณ์ สามารถปรับตัวอยู่กับสภาพแวดล้อมได้ดี จากนั้นจึงนำกล้าไม้ที่ได้ไปบำรุงรักษาให้แข็งแรงในเรือนเพาะชำชั่วคราวหรือที่พักกล้าไม้ ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 6-8 เดือน หรือกล้าไม้มีความสูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร ก่อนนำไปปลูกในพื้นที่จริง
3.ตรวจสอบคุณสมบัติของดิน (Existing Soil)
ดินที่เหมาะสมจะมีลักษณะเป็นดินร่วน และมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 6- 7 ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ถึงกลาง เป็นสภาพที่ธาตุอาหารของพืชสามารถละลายน้ำได้ดี และมีธาตุอาหารเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตในช่วง 2-3 ปีแรก แต่หากดินมีสภาพที่ไม่เหมาะสมสามารถปรับปรุงดินได้ ดังนี้
– ดินมีสภาพเป็นกรด สามารถผสมด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น หินปูนบด ปูนขาว ขี้เถ้า หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดความเป็นกรด
– ดินมีสภาพเป็นด่าง สามารถใช้ยิปซัมและฉีดพ่นด้วยน้ำหมักอย่างต่อเนื่อง
– ดินเหนียวให้เติมทราย หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเติมช่องว่างระหว่างเม็ดดิน
– ดินทรายให้เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ เพื่อให้ดินอยู่ในสภาพที่เหมาะสม
4.สร้างดินให้เป็นเนิน (Mound Making)
เตรียมพื้นที่ปลูก โดยการไถพรวนหน้าดินลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ผสมด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น แกลบ ขี้เลื่อย เปลือกไม้ ฟาง หญ้าแห้ง ขุยมะพร้าว หยวกกล้วย และมูลสัตว์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นเสบียงอาหารให้กล้าไม้ที่จะนำมาปลูกในช่วง 3 ปีแรก จากนั้นจึงสร้างเนินดินให้มีโครงสร้างโปร่ง นุ่ม เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวดินให้สามารถปลูกกล้าได้มากขึ้น ช่วยระบายน้ำและอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง อีกทั้งยังทำให้เกิดภูมิทัศน์ที่สวยงาม ไม่ต่างจากภูเขาที่มีป่าธรรมชาติปกคลุม
– เนินหลังเต่า มีความลาดเอียงประมาณ 15 องศา เหมาะสำหรับพื้นที่แคบ
– เนินขั้นบันได เหมาะสำหรับพื้นที่ลาดชัน
– เนินเตี้ย สูงไม่เกิน 1 เมตร เหมาะสำหรับพื้นที่กว้าง
– เนินราบ เหมาะสำหรับพื้นที่สูง น้ำไม่ท่วมขัง
• การปลูก
1.การปลูกหลายชั้น (Multi- layer Planting)
การปลูกต้นไม้ตามโครงสร้างของป่าธรรมชาติ จะประกอบด้วยพรรณไม้ 4 ชั้นเรือนยอด ได้แก่ พรรณไม้ชั้นเรือนยอดสูงสุด ความสูง 40-50 เมตร ขึ้นไป พรรณไม้ที่มีชั้นเรือนยอดระดับรองหรือปานกลาง ความสูง 20-30 เมตร ไม้พุ่ม ความสูง 3-10 เมตร และไม้คลุมดิน เพื่อให้รากและยอดไม้อยู่ต่างระดับกัน
2.การปลูกถี่ (Dense Planting)
ความถี่ของต้นไม้ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร จะปลูกกล้าไม้ที่เป็นตัวแทนของพรรณไม้โครงสร้างทั้ง 4 ชั้นเรือนยอด ประมาณ 3-4 ต้น หรือประมาณ 4000 ต้นต่อไร่ ไล่ระดับคละชนิดพันธุ์กันตามแบบฉบับป่าธรรมชาติ และไม่ปลูกซ้ำชนิดในแปลงเดียวกัน เพื่อให้เกิดการแข่งขัน คัดเลือกพันธุ์ตามธรรมชาติ และทำให้ต้นไม้ที่แข็งแรงมีโอกาสรอดตายได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์
3.การปลูกแบบสุ่ม (Random)
การสร้างป่าจะไม่มีการกำหนดระยะ เพื่อให้มีลักษณะที่ไม่เป็นแถว ไม่เป็นแนว และไม่เป็นระเบียบ ระเกะระกะเสมือนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพื่อสร้างสังคมต้นไม้ให้เกิดการเกื้อกูลพึ่งพิง และในขณะเดียวกันก็จะเกิดการแข่งขัน ทำให้เกิดเป็นป่าที่สมบูรณ์ เข้าสู่สังคมพืชในขั้นสูงสุด (Climax Tree Community) เร็วกว่าการปลูกต้นไม้แบบทั่วไปมากถึง 10 เท่า
4.เพิ่มเทคนิคการปลูก (Technical)
เช่น การนำถุงกล้าไม้จุ่มน้ำก่อนปลูก เพื่อช่วยกระตุ้นให้รากงอกออกมาได้ดีขึ้น การปักไม้ไผ่แล้วผูกเชือกไว้กับต้นกล้า เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนรากเมื่อมีลมพัดแรง การขุดหลุมและรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ การผสมดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น แกลบ มะพร้าวสับหรือขุยมะพร้าว มูลสัตว์ ปุ๋ยคอก
5.การคลุมดินรักษาความชุ่มชื้น (Mulching)
นอกจากจะต้องเตรียมดินให้มีธาตุอาหารสำหรับให้พืชเติบโตแล้ว ยังต้องคลุมรอบหลุมที่ปลูกด้วยเศษใบไม้หรือต้นหญ้า แล้วคลุมฟางหนา ๆ อีกชั้นหนึ่ง เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน แม้ไม่รดน้ำตลอด 1 เดือน ต้นไม้ก็ยังอยู่รอดได้ อีกทั้งวัสดุคลุมดินเหล่านี้ยังสามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติเพิ่มอัตราการรอดให้สูงขึ้นได้ด้วย
• หลังปลูก
หลังจากการปลูกแล้วประมาณ 1-2 เดือน ควรรดน้ำ กำจัดวัชพืชและเถาวัลย์ เพื่อที่จะให้กล้าไม้ที่ปลูกมีการรอดตายและเจริญเติบโตได้ดี พ้นจากการแก่งแย่งของวัชพืช จากนั้นในระยะเวลา 3 ปีแรกของการปลูกป่า ควรมีการป้องกันโรคและแมลง การตัดแต่งลิดกิ่ง เพื่อเปิดให้แสงส่องถึงไม้ระดับล่างในบางพื้นที่ รวมถึงการเพิ่มสารอินทรีย์ในแปลงปลูกเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
เมื่อเวลาผ่านไป ป่าที่ปลูกจะช่วยสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้กลับคืนสู่พื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์และแมลงนานาชนิด ช่วยรับมือกับปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Heat Island Effect) ช่วยลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอันเกิดจากมลพิษทางอากาศ และช่วยเยียวยาจิตใจมนุษย์ รวมถึงสามารถพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศ สวนสาธารณะ หรือแหล่งท่องเที่ยว เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจในระยะยาวได้อีกด้วย
นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนมิถุนายน 2565
เรื่อง : สริดา จันทร์สมบูรณ์
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย, สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สถานที่ : The Forestias by MQDC