บ้านโซวเฮงไถ่ ตำนานบ้านจีนยุคแรกของกรุงเทพฯ

บ้านโซวเฮงไถ่ เป็นบ้านเก่าสถาปัตยกรรมแบบจีน แต่มีใต้ถุนสูงแบบไทย สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีอายุกว่าสองร้อยปี สร้างบนเนื้อที่ประมาณกว่า 300 ตารางวาในย่านตลาดน้อย เป็นบ้านของคหบดีเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองไทย โดยต้นตระกูลเป็นนายภาษีอากรรังนก คอยเก็บภาษีให้ทางราชการ และยังมีอาชีพค้าขายทางเรือสำเภาอีกด้วย

บ้านโซวเฮงไถ่

บ้านโซวเฮงไถ่

คุณภู่ศักดิ์ โปษยะจินดา หรือ อาจารย์ภู่ ของน้องๆนักเรียนดำน้ำ เป็นทายาทรุ่นที่ 8 ของตระกูลโซว ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านดั้งเดิม ก่อนที่จะตกทอดมาถึงหลวงนาวาเกมิกร ช่างภาพหลวงในรัชกาลที่ 5 ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานนามสกุลโปษยะจินดาจากรัชกาลที่ 6 ซึ่งท่านมีศักดิ์เป็นคุณปู่ของเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน

โดยความคิดดั้งเดิมของบรรพบุรุษคือต้องการให้บ้านนี้เป็นที่พำนักของลูกหลาน ที่หน้าประตูใหญ่ของบ้านจะมีป้ายอักษรจีนเขียนคำว่า “โซวเฮงไถ่” ซึ่งคำว่า “เฮงไถ่” คือชื่อกิจการของครอบครัว ส่วนคำว่า “โซว” หมายถึง “ตระกูลโซว”

บ้านโซวเฮงไถ่
P30508R
บ้านโซวเฮงไถ่
ประตูทางเข้าใหญ่ทางด้านหน้าของตัวบ้านทำจากไม้สักขนาดใหญ่และมีการใช้ดาลแบบโบราณ ด้านข้างและด้านบนเป็นภาพเขียนสีรูปเทพและเซียนที่ชาวจีนเคารพนับถือ

บ้านหลังนี้มีการวางผังเรือนแบบ “สี่เรือนล้อมลาน” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแถบมณฑลฮกเกี้ยน-แต้จิ๋ว มีลักษณะเป็นอาคารสี่หลังล้อมลานกว้างกลางบ้าน หลังหน้าทำหน้าที่เป็นซุ้มประตูทางเข้า เมื่อผ่านประตูเข้าไปจะพบกับเรือนประธานซึ่งตั้งต่อจากลานกว้าง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของบ้าน ซ้ายขวาของเรือนประธานจะเป็นเรือนเคียง ใช้เป็นที่พักของลูกหลานและบริวาร บ้านแบบนี้มักเป็นอาคารชั้นเดียว แต่โซวเฮงไถ่สร้างประยุกต์เป็นสองชั้น ในรูปลักษณ์ที่เหมือนเรือนมีใต้ถุน เหมือนอย่างที่พบในเรือนไทย ซึ่งแสดงถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมได้อย่างแยบยล

เรือนประธานชั้นบนแบ่งเป็น 3 ห้อง มีระเบียงทอดยาวตลอดแนว ห้องกลางจัดเป็นห้องบูชาบรรพบุรุษเป็นห้องประธานในห้องโถง ห้องทั้งสองข้างเป็นห้องพักของเจ้าของบ้าน หน้าห้องทั้งสามเป็นเฉลียงยกพื้นจากระดับระเบียงยาวตลอดแนว ลวดลายที่ตกแต่งประตูในบริเวณนี้จะมีทั้งลูกฟักแบบจีนและลายฝาปะกนแบบไทย เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมทั้งสองแบบ

บ้านโซวเฮงไถ่
เรือนประธาน ห้องใหญ่ในภาพเป็นห้องสำหรับตั้งป้ายบูชาบรรพบุรุษ หน้าห้องเป็นเฉลียงยกพื้นจากระดับระเบียงยาวตลอดแนว ใช้เป็นที่รับแขกและปฏิบัติกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งการยกพื้นแบบนี้ไม่ปรากฏในสถาปัตยกรรมแบบจีน แต่จะมีในลักษณะของเรือนไทย แสดงถึงการผสมผสานอย่างลงตัวของวัฒนธรรมสองแบบ
บ้านโซวเฮงไถ่
ตู้สำหรับตั้งป้ายบูชาบรรพบุรุษหรือ “แกซิ้ง” ภายในเรือนประธาน แกซิ้ง หมายถึง เทพเจ้าประจำเรือนซึ่งวิญญาณบรรพบุรุษที่สิงสถิตประจำเรือนนั่นเอง
ระเบียง
ลวดลายของลูกกรงบริเวณเฉลียงหน้าเรือนประธานยามเมื่อแสงแดดส่องผ่าน
บ้านโซวเฮงไถ่
ลักษณะโครงสร้างหลังคาเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างฮกเกี้ยน – แต้จิ๋ว กล่าวคือจะเป็นโครงสร้างไม้ ส่วนขื่อและแปจะถากให้มีลักษณะกลมหรือมนรับกับดั้งที่มีขนาดลดหลั่นกัน รวมทั้งมีการแกะสลักตามส่วนต่างๆอย่างประณีต

เรือนบริวารซ้าย-ขวาใช้เป็นที่พำนักของลูกหลานและบริวาร เรือนทางซ้ายของเรือนประธานแบ่งเป็นห้องเก็บทรัพย์สมบัติและห้องเสบียง ส่วนทางขวาจะเป็นห้องพัก ข้อพิเศษอย่างหนึ่งของเรือนจีนสยามคือจะมีการตั้งห้องบูชาบรรพบุรุษของทั้งฝ่ายสามีและภรรยาในบ้านเดียวกัน โดยจะแยกห้องออกไปต่างหาก การใช้งานจะให้ความสำคัญกับอาคารทางปีกซ้ายของเรือนประธานมากกว่าอาคารทางขวา ซึ่งเป็นการใช้งานตามความคิดธรรมเนียมจีน

บ้านโซวเฮงไถ่
P30301R
เรือนบริวารทางฝั่งปีกขวา ซึ่งโดยปกติอาคารในแบบจีนจะเป็นอาคารชั้นเดียว แต่โซวเฮงไถ่นี้ได้รับการประยุกต์ให้เป็นเรือนใต้ถุนสูง เพราะความสูงของชั้นล่างไม่สูงพอสำหรับการพักอาศัย

องค์ประกอบอีกอย่างที่เด่นของอาคารหลังนี้ก็คือ โครงสร้างส่วนใหญ่จะเป็นไม้สักทอง ซึ่งในสมัยก่อนการวัดว่าบ้านใดมีฐานะจะดูจากการวางคานของบ้านว่ามีความยาวและถี่มากเพียงใด ซึ่งบ้านหลังนี้ใช้คายที่ยาว 3 เมตร หนา 8 นิ้ว โดยจะวางอยู่ทุกระยะ 50 เซนติเมตร ผนังภายนอกอาคารและชั้นล่างก่อด้วยอิฐฉาบปูน ชั้นบนเป้นฝาไม้ลูกฟักแบบจีนสลับฝาปะกนแบบไทย ส่วนโครงสร้างหลังคาเป็นงานไม้สกุลช่างฮกเกี้ยน- แต้จิ๋ว ความงามของโครงสร้างแบบนี้อยู่ที่ขื่อและแปจะถูกถากให้มีลักษณะกลมหรือเหลี่ยมมน รับกับดั้งขนาดต่างๆ รวมทั้งขื่อโค้งที่ยึดดั้งต่างๆเข้าด้วยกัน ลดหลั่นกันอย่างงดงาม

ลักษณะโครงสร้างของหลังคาแบบจีนมักมุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบกาบกล้วย ซึ่งในแถบฮกเกี้ยนจะเป็นกระเบื้องดินเผาสีแดงอิฐ แต่ในแถบแต้จิ๋วมักใช้กระเบื้องสีเทาอมเขียวตามวัตถุดิบของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งบ้านโซวเฮงไถ่ใช้กระเบื้องตามแบบแต้จิ๋ว
ช่องระบายอากาศบริเวณเหนือหลังคา ซึ่งอาคารในสมัยก่อนจะไม่มีการตีฝ้า ช่องระบายอากาศเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยพาอากาศร้อนให้ระบายออกไปสู่ข้างบ อันเป็นภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่น
หลังคาบ้านหลังนี้ ตัวเรือนประธานใช้หลังคาแบบนกนางแอ่น ซึ่งลักษณะหลังคาจะมีความแอ่นโค้งและปลายจั่วปั้นปูนแหลมเหมือนหางนกนางแอ่น ส่วนบนจะมีปูนปั้นลายเครือเถาประดับไว้ อันเป็นเอกลักษณ์ของเรือนคหบดีจีน ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบกาบกล้วย ซึ่งมีทั้งชนิดที่มีครอบกระเบื้องและชนิดที่ปั้นปูนครอบ
ไม้แกะสลักลายเครือเถาและสัตว์มงคลฝีมือช่างฮกเกี้ยน ซึ่งเอกลักษณ์อีกอย่างของช่างสกุลนี้ก์คือการถากขื่อและแปให้มีลักษณะกลมหรือสี่เหลี่ยมมน

ต่อมาคุณภู่ได้สถาปนิกคนเก่งมาช่วยออกแบบในส่วนพื้นที่พักอาศัย นั่นคือ คุณตุ้ย – สถาพร พุกบุญมี สถาปนิกเจ้าของบริษัท Area Architect ซึ่งได้ปรับส่วนของบ้านที่เป็นเรือนประธานเก่าให้เป็นบ้านพักส่วนตัวของคุณภู่ โดยไม่ทิ้งโครงสร้างเก่าที่ยังคงมีความงามให้คงอยู่

เมื่อเปิดประตูสีแดงเข้าไปจะพบบริเวณห้องพักของคุณภู่ไม่ต่างกับห้องชุดที่มีห้องรับแขกใหญ่สำหรับนั่งเล่นพักผ่อนหรือใช้ต้อนรับแขกสนิทจริงๆ มีแพนทรี่เล็กๆที่สามารถประกอบอาหารง่ายๆได้ด้วยตัวเอง ส่วนห้องนอนใช้ประตูบานเลื่อนแบบญี่ปุ่น ทำให้ประหยัดพื้นที่ใช้สอยได้เป็นอย่างดี ห้องเดิมที่เคยเป็นที่เก็บเสบียงของบ้านมีสีเดิมเป็นสีไม้ทำให้ดูมืดทึบ คุณภู่จึงทุบกำแพงก่ออิฐที่ทั้งชื้นและอับแล้วทาสีใหม่เป็นโทนสีขาวเพื่อให้ห้องดูสว่างขึ้น ส่วนภายในห้องนอนใช้สีส้มอิฐทาผนังด้านหนึ่ง ทำให้ห้องนี้ดูมีมิติและดูไม่น่าเบื่อจนเกินไป

“ผมใช้เงินเพียงสองแสนบาทในการปรับปรุงห้องใต้ถุนบ้าน ซึ่งแต่ก่อนเป็นห้องเก็บทรัพย์สมบัติและเสบียงอาหารของบ้าน และใช้เวลาเพียงแค่หนึ่งเดือนเท่านั้น โดยใช้วัสดุที่หาง่ายและเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตคนเดียวเหมือนอยู่ในคอนโดมิเนียม

“ถึงแม้จะมีบ้านสไตล์จีนอยู่มากในแถบนี้ แต่เพราะว่าผมเปิดโรงเรียนดำน้ำจึงทำให้สระดำน้ำในบ้านจีนของผมเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ซึ่งผมเลือกนำเงินที่มีทั้งหมดลงทุนไปกับการสอนดำน้ำก่อน แล้วจึงค่อยๆซ่อมแซมและปรับปรุงในส่วนที่พักอาศัยทีหลัง เพราะสภาพบ้านที่เก่ามาก การบูรณะให้ดีดังเดิมต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร โชคดีที่ได้รู้จักคุณอุ๋ย (คุณทัศรินทร์ พันธ์แพ พิธีกรสาวที่ใช้เวลาว่างทั้งหมดที่มีไปกับการเพ้นต์ผนังบ้านหรือโรงเรียนสอนดำน้ำหลังนี้) ที่บังเอิญพบกันครั้งที่เข้ามาถ่ายรายการเมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นลูกศิษย์ของผมโดยปริยาย ยังเป็นหัวแรงสำคัญในการบูรณะบ้านและโรงเรียนของผมให้น่าอยู่มากขึ้น โดยค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มเติมนั้นคุณอุ๋ยควักกระเป๋าจ่ายด้วยตัวเอง โดยให้เหตุผลกับผมและคนอื่นๆในบ้านว่าทำแล้วมีความสุข แต่ผมสิมีความสุขกว่า เพราะเงินไปต้องจ่าย…”

มุมนั่งเล่น
บริเวณโถงกลางบ้านด้านหนึ่งเป็นที่นั่งพูดคุยกับลูกศิษย์และนักดำน้ำคนสนิท เฟอร์นิเจอร์เป็นของเก่าธรรมดาที่เก็บสะสมไว้ ซึ่งก็ดูเข้ากับบ้านหลังนี้ได้อย่างไม่เคอะเขิน
มุมรับประทานอาหาร
ส่วนรับประทานอาหารที่คุณภู่ใช้พื้นที่บริเวณโถงกลางบ้านด้านหนึ่ง อีกทั้งเป็นที่ไว้สอนทฤษฎีกับนักเรียนอีกด้วย เสน่ห์อยู่ตรงผนังเก่าที่ทางเจ้าของบ้านเองพยายามทาสี แต่ก็ลอกล่อนออกมาเพราะความชื้นภายในชั้นอิฐที่สะสมมากกว่าสองร้อยปี จึงจำเป็นต้องปล่อยโชว์ความเก่าของบ้านไปเสียเลย
การใช้สีสันสดใสของบานประตูไม้สีแดง เพราะเป็นสีที่แสดงถึงความเป็นจีน และม้านั่งสีเหลืองซึ่งดึงความสดใส หรืออีกนัยก็เป็นสีของจักรพรรดิจีนเช่นกัน ทำให้บ้านที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่มืดทึมกลายเป็นบ้านเก่าที่ดูสว่างสดใสขึ้น
บานประตูกระจกที่ทำขึ้นมาเพื่อเลี่ยงการเปิดประตูช่องทางเดียวกับประตูใหญ่หน้าบ้าน แล้วยังเก็บอุณหภูมิในห้องแอร์ไม่ให้รั่วออกได้เป็นอย่างดี
ผนังอิฐโชว์แนว
เจาะผนังเพื่อเป็นตู้โชว์ของรัก ขนาด 50x120x25 เซนติเมตร และใส่ไฟ ทำให้ห้องดูมีมิติและสว่างขึ้น
แพนทรี่
แพนทรี่เล็กๆส่วนนี้ดีไซเนอร์ใช้กระเบื้องสีน้ำเงินธรรมดา แต่วางแพตเทิร์นแบบทแยงมุม ทำให้ดูพิเศษขึ้น นอกจากจะดูแลทำความสะอาดง่ายแล้ว ยังดูมีสีสัน ส่วนพื้นใช้แผ่นไม้อัดซีเมนต์ปูทับพื้นซีเมนต์เดิม ทำให้ได้สัมผัสธรรมชาติเวลาเดิม
ห้องนอน
บ้านโซวเฮงไถ่
ส่วนห้องพักของเจ้าของบ้านที่เคยเป็นห้องเก็บเสบียงและทรัพย์สมบัติของบ้าน อีกทั้งเป็นผนังทึบไม่มีช่องแสงผ่าน เจ้าของบ้านแก้ไขด้วยการทาสีขาวบนผนังอิฐเปลือยและใช้ประตูบานเลื่อนเพื่อประหยัดพื้นที่ แล้วเสริมด้วยพรมสีแดงจัดเพื่อดึงสีสันไม่ให้บ้านดูมืดทึมจนเกินไป
ผนังอิฐโชว์แนว
ผนังอิฐที่ก่อขึ้นใหม่แบบดิบๆเมื่อประมาณหลายสิบปีก่อน ทาสีขาวแล้วติดกระจกบานใหญ่ไว้แต่งตัวหน้าห้องน้ำ ทำให้พื้นที่บริเวณนี้กว้างขึ้น
ฝีมือตวัดปลายพู่กันบนผนังของคุณอุ๋ยที่ทำให้บ้านหลังนี้ดูมีสีสันมากขึ้น
คุณภู่ให้ช่างเจาะทะลุผนังทึบบริเวณลานกลางบ้านให้เป็นซุ้มประตู เพื่อให้บริเวณนี้ดูโปร่งโล่งขึ้น และได้กลายเป็นที่แสดงผลงานจัดสวนเล็กๆของคุณอุ๋ย นอกจากจะได้บรรยากาศธรรมชาติในบริเวณบ้าน คุณอุ๋ยยังเลือกใช้สีเหลืองของเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้ตัดกับประตูสีแดง ทำให้บ้านดูสว่างสดใสได้ไม่ยาก
ผนังบริเวณโถงกลางบ้านที่เจาะเป็นซุ้มประตูเพื่อให้เดินเข้า-ออกสะดวก ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ดูโล่งสบาย
 
ที่อาบน้ำกลางแจ้ง ภูมิปัญญาของเจ้าของบ้านที่ใช้กระบอกไม้ไผ่หุ้มท่อน้ำพีวีซี ทำให้ได้ความรู้สึกแบบธรรมชาติ ทำง่ายและใช้สะดวกมากๆ
พื้นที่เก็บอุปกรณ์ดำน้ำ ใช้การเพ้นต์บนผนังแบ่งพื้นที่ในการจัดเก็บ เป็นไอเดียที่ทำง่ายแต่ดูน่ารัก

ห้องจำนวน 21 ห้องของบ้านหนึ่งหลังเป็นจำนวนที่มากเกินการดูแลทำความสะอาด หลายห้องถูกปิดไว้เหลือไว้เพียงที่ใช้จริงเท่านั้น โดยแบ่งห้องสองห้องเป็นห้องเรียนทฤษฎีหนึ่งห้องและโฮมออฟฟิศอีกหนึ่งห้อง คุณแม่ของคุณภู่จะแยกใช้ชีวิตอยู่อีกห้องหนึ่งชั้นบนและอีกสามห้องเป็นห้องของแม่บ้านและบริวาร

“เราต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเมื่อเราเปิดรับสิ่งใหม่ แต่อย่าลืมรักษาสิ่งดีๆที่มีอยู่เหมือนกับการดำน้ำ ผมจะชื่นชมแค่ความงามของธรรมชาติและตั้งกฎกับตัวเองว่าจะไม่มีวันทำลายสิ่งสวยงามที่ธรรมชาติสร้างมาอย่างเด็ดขาด”

เจ้าของ : คุณภู่ศักดิ์ โปษยะจินดา

ออกแบบ : คุณสถาพร พุกบุญมี


เรื่อง : SPRANT, jEedWonDeR

ภาพ : สังวาล, จิระศักดิ์, นันทิยา

สไตล์ : ประไพวดี โภคสวัสดิ์

บ้านเฉินฝู่ บ้านจีนโมเดิร์นของทายาทตั้งเซ่งจั้ว

บ้านจีนแฝด…บ้านปูนชั้นเดียวริมน้ำในบรรยากาศรีสอร์ต