บ้านโมเดิร์นซึ่งมีกลิ่นอายความเป็นไทยอยู่ในทุกส่วนของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชานขนาดใหญ่เป็นส่วนเชื่อมห้องต่างๆเข้าด้วยกัน หรือการมีสวนกลางบ้านซึ่งเป็นทั้งส่วนพักผ่อนและช่วยให้บ้านร่มรื่นเย็นสบายขึ้น ทั้งยังใช้เป็นพื้นที่เชื่อมต่อสำหรับพบปะกันของคนในบ้านและญาติพี่น้องที่อยู่บ้านใกล้เคียงกันได้ด้วย
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Arsom Silp Institude of the Arts
เจ้าของ : คุณประจวบ – คุณดลยพร ตันตินนท์
ในยุคที่การเชื่อมต่อกับคนอื่นทั่วโลกเป็นไปอย่างง่ายดาย มีทั้งประโยชน์และไร้ซึ่งสาระ บางครั้งเราใช้เวลาอยู่กับสิ่งนี้มากเกินไป หากเหลือบมองไปรอบตัว อาจพบว่าเราไม่ได้นั่งอยู่คนเดียว รอบตัวเราแวดล้อมด้วยพ่อแม่ พี่น้อง หรือเพื่อน ซึ่งเป็นคนที่เรารู้จักเป็นอย่างดี บางครั้งดีกว่าคนที่เราตามอ่านในโลกโซเชียลเสียอีก ที่กล่าวมาข้างต้นดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ บ้านโมเดิร์นสไตล์ไทย หลังนี้นัก แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ “การเชื่อมต่อ”
บ้านโมเดิร์นสไตล์ไทย ที่ตั้งอยู่ชานเมืองหลังนี้เป็นของ คุณประจวบและคุณดลยพร ตันตินนท์ ตั้งอยู่ในที่ดินของครอบครัวซึ่งประกอบด้วยบ้านของญาติพี่น้องอีก 3 หลัง สถาปนิกผู้ออกแบบคือ คุณแบน – ธีรพล นิยม แห่งบริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด บ้านโมเดิร์นเรียบง่ายซึ่งมีกลิ่นอายความเป็นไทยอยู่ในทุกส่วนของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชานขนาดใหญ่เป็นส่วนเชื่อมห้องต่างๆเข้าด้วยกัน การมีสวนกลางบ้านซึ่งเป็นทั้งส่วนพักผ่อนและช่วยให้บ้านร่มรื่นเย็นสบายขึ้น หรือลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ใช้หลังคาปั้นหยาแบบง่ายๆ แต่นำมาจัดวางลดทอนให้ดูน่าสนใจและยังช่วยบังแดดและระบายอากาศได้ดี
“สถาปนิกอยากให้มีน้ำเยอะๆ เพราะช่วยให้บ้านเย็นขึ้นได้ แถมยังช่วยเสริมให้บ้านน่าอยู่ขึ้น ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่ก็ไม่อยากให้มีน้ำมากเกินไป เพราะพื้นที่ด้านหลังก็ติดคลองอยู่แล้ว จึงออกแบบให้มีน้ำบริเวณคอร์ตกลางบ้าน ด้านข้างของตัวบ้านก็มีบ่อน้ำที่ขุดใหม่ และสร้างศาลายื่นออกไปในน้ำ เพื่อให้เป็นพื้นที่พักผ่อนแบบสบายๆของครอบครัว” คุณประจวบบอกถึงความเป็นมาเรื่องบ่อน้ำในบ้านให้ฟัง
บ้านสองชั้นหลังนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อถึงตัวบ้าน สถาปนิกต้องการให้ผู้อาศัยมีเวลาเดินลัดเลาะไปตามทางเดินเล็กๆ ผ่านสวนและบ่อน้ำกลางบ้าน ใช้เวลาเดินจากประตูทางเข้าหรือที่จอดรถสักหน่อยก่อนเข้าตัวบ้าน เหมือนเป็นการเปลี่ยนถ่ายความรู้สึก ปรับอารมณ์ให้เย็นสบายก่อนเข้าบ้านนั่นเอง นอกจากนั้นทางเดินเหล่านี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับพบปะกันของคนในบ้านและญาติพี่น้องที่อยู่บ้านใกล้เคียงกันได้อีกด้วย
“เราพยายามออกแบบให้บ้านหลังนี้มีพื้นที่กึ่งสาธารณะให้มากที่สุด เพราะบ้านของครอบครัวอื่นที่มีอยู่เดิมนั้นไม่มีพื้นที่ว่างรองรับการรวมตัวกัน บ้านหลังนี้จึงเป็นเหมือนจุดรวม ทั้งบริเวณทางเดินในสวน ชานกลางบ้าน และระเบียงกว้างที่ต่อเนื่องมาจากบันได สามารถใช้เป็นจุดพบปะและพักผ่อนได้ทั้งหมด”
ที่ดินทั้งหมดซึ่งแบ่งออกเป็นหลายส่วนตามจำนวนของลูกหลาน แสดงถึงการคิดการณ์ไกลในการจัดสรรพื้นที่ของคนรุ่นปู่ย่าตายายซึ่งต้องการให้ลูกหลานได้อยู่ใกล้กัน พึ่งพาอาศัยกันได้ เหมือนกับสังคมสมัยก่อนที่ถือว่าการอยู่อาศัยร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
“เมื่อใดที่มีงานเลี้ยงและรวมตัวกัน บ้านหลังของคุณพ่อแม่ก็จะเป็นเหมือนห้องครัวที่คอยส่งเสบียงอาหารคาวหวานมาให้อย่างไม่ขาดสาย บ้านครอบครัวอื่นก็อาจจัดเตรียมเรื่องของพื้นที่โดยรอบบ้าน ส่วนบ้านหลังนี้ก็เป็นเหมือนห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ที่พร้อมจะรองรับทุกคนในรั้วนี้” คุณดลยพรเล่าถึงกิจกรรมของแต่ละบ้านให้ฟัง
งานสถาปัตยกรรมของบ้านเป็นแบบโมเดิร์นที่ผสมความเป็นไทยเข้าไป หลังคาปั้นหยาออกแบบให้มีช่องแสงที่เรียกว่า “คอสอง” ช่วยให้บ้านดูไม่ทึบตันและยังให้ภายในห้องสว่างด้วยแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนใหญ่ฉาบเรียบทาสีขาว มีไม้เป็นส่วนตกแต่งและเสาสำหรับชายคา พื้นระเบียงไม้สักทั้งหมดช่วยให้บ้านดูเป็นธรรมชาติและเหมาะกับการพักผ่อน มากขึ้น
ระหว่างบทสนทนาน้องเติ้งและน้องเต้ ลูกๆของคุณประจวบและคุณดลยพรก็กลับมาจากโรงเรียนพอดี บรรยากาศเริ่มครึกครื้นด้วยเสียงของเด็กๆ ผมคิดในใจว่านี่สินะคือสิ่งที่จะเติมเต็มคำว่า “ครอบครัว” ทั้งคู่ตรงไปยังห้องทำการบ้านที่ชั้นหนึ่ง น้องถามการบ้านพี่ พี่ให้คำแนะนำน้อง ภายในห้องที่ออกแบบให้มองออกไปเห็นบรรยากาศภายนอกบ้านได้ และยังเชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่นซึ่งมีพ่อและแม่นั่งดูอยู่อย่างใกล้ชิด
ผมเห็นภาพของครอบครัวหนึ่งที่อบอุ่น พ่อแม่และลูกอาศัยอยู่ในบ้านน่าอยู่ที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถแบ่งปันและเชื่อมต่อกับญาติมิตรจากบ้านที่อยู่ข้างเคียงได้อย่างลงตัว เสียดายที่ครั้งนี้ไม่ได้เห็นการใช้พื้นที่ในการรวมตัวกันจริงๆ แต่ผมก็รู้สึกได้เพราะระหว่างที่เราคุยกันนั้นจะมีญาติพี่น้องของคุณดลยพรเดินเข้ามาทักทายและแบ่งปันขนมให้ตลอดเวลา … ความอบอุ่นรู้สึกได้แม้อากาศไม่ร้อน
สาระสำคัญของบ้านสักหลังคงไม่ใช่เรื่องราคาค่าก่อสร้างที่แสนแพงหรือทำเลที่ตั้งของบ้าน แต่เป็นสภาพแวดล้อมและสถาปัตยกรรมที่ออกแบบให้คนภายในบ้านได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน แม้โลกใบนี้จะเปิดกว้างและเชื่อมถึงกันแค่ไหน แต่หน่วยเล็กที่สุดที่เรียกว่า “ครอบครัว” ควรได้รับการปิดล้อมไว้ให้อบอุ่นที่สุดด้วยความรักเท่านั้น
เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพ : สังวาล พระเทพ
สไตล์ : ภควดี พะหุโล