เรือนไทยประยุกต์

เรือนไทยประยุกต์ริมคุ้งน้ำอยุธยา

เรือนไทยประยุกต์
เรือนไทยประยุกต์

เรือนไทยประยุกต์ หลังงามริมคุ้งน้ำที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอยุธยา โดยออกแบบให้ดูกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นธรรมชาติ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่สอดคล้องเข้ากับวิถีชีวิตในปัจจุบัน

มีคำกล่าวว่า สายน้ำกับวิถีชีวิตของคนไทยนั้นไม่อาจจะแยกจากกันได้  นับตั้งแต่โบราณมาคนไทยอาศัยแม่น้ำในการดำรงชีวิตและอยู่อาศัย  นี่จึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเรือนไทยที่มีความผูกพันกับสายน้ำ รวมทั้งธรรมชาติ  ต้นไม้ใบหญ้าที่อยู่รายรอบ  เช่นเดียวกับ เรือนไทยประยุกต์ หลังนี้ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นตามแนวความคิดที่คำนึงถึงธรรมชาติกับสายน้ำ อีกทั้งยังนำภูมิความรู้อันเป็นมรดกทอดของบรรพชนมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน

เรือนไทย
เรือนหลังนี้มีลักษณะเหมือนเรือนสมัยก่อนที่มักตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำ เมื่อก้าวขึ้นมาจะพบกับชานบ้านและศาลาพักผ่อน ไม้ที่ใช้ทำเรือนในส่วนนี้จะเป็นไม้เก่าทั้งหมด กระเบื้องมุงหลังคาเป็นกระเบื้องขอที่ผลิตตามกรรมวิธีโบราณ
เรือนไทย
มุมมองจากศาลาพักผ่อนไปยังเรือนนอนโดยผนังของตัวเรือนเป็นผนังก่ออิฐโชว์แนว พื้นในส่วนนี้จะเป็นพื้นไม้ธรรมชาติที่ไม่มีการแต่งผิวใดๆเพื่อให้เกิดผิวสัมผัสของไม้ที่ผ่านกาลเวลา ตกแต่งพื้นที่ด้วยวัสดุในท้องถิ่นอย่างโอ่งหรือไม้แกะสลักรูปนกที่มีลักษณะดิบหยาบ ช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับบริเวณนี้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ของตกแต่งที่มีราคาหรือหรูหราแต่อย่างใด
เรือนไทย
ภายในศาลาพักผ่อนที่จัดวางเก้าอี้นั่งเล่นรูปทรงเรียบง่ายพนักพิงและที่นั่งทำจากหวายสาน โดยมีเปลญวนสีขาวช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย เหมาะแก่การพักผ่อน พื้นเป็นไม้สักแต่งผิว

คุณดุลย์พิชัย  โกมลวานิช   เจ้าของ เรือนไทยประยุกต์ หลังงามนี้ได้เล่าถึงความเป็นมาของเรือนให้ฟังว่า  “ครั้งแรกที่ผมได้มาเห็นที่ดินตรงนี้ สิ่งที่ประทับใจก็คือคุ้งน้ำที่นี่งดงามมากจนอยากจะสร้างบ้านที่สามารถสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอยุธยา  และผมเองก็เป็นคนอยุธยาโดยกำเนิด เลยมีความรู้สึกว่าจะทำอย่างไรถึงให้คนทั่วไปรู้ว่าคนอยุธยาแต่เดิมเขาอยู่กันอย่างไร  ทั้งเรื่องความเป็นอยู่และสถาปัตยกรรม โดยที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เก่าหรือล้าสมัยเลย แต่กลับสามารถผสมผสานปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องเข้ากับวิถีชีวิตในปัจจุบันได้

“ผมได้ศึกษาทางด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นถิ่นอยุธยาจนมีความชำนาญ  จึงได้นำกระบวนความคิดต่างๆมาปรับใช้ในการสร้างบ้านหลังนี้  เริ่มจากเมื่อเข้าไปในบ้านจะต้องสื่อถึงความเป็นอยุธยา ไม่ว่าจะในแง่ศิลปะ  สภาพแวดล้อม หรือนิสัยใจคอ ผมใช้หลักสามประการนี้ในการออกแบบบ้าน  อันดับแรก  คือสิ่งแวดล้อม ผมคำนึงว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมซึ่งสัมพันธ์กับที่อยู่อาศัย นั่นก็คือสายน้ำกับธรรมชาติที่อยู่รายรอบ  โดยต้นไม้ที่ปลูกผมจะคำนึงถึงว่าพืชชนิดไหนควรอยู่ใกล้น้ำ  ชนิดไหนควรจะห่างออกมา 1 เมตร 2 เมตร  และหลังบ้านควรจะลงพืชชนิดไหนถึงจะงาม  ผมจะสังเกตถึงทิศทางลมรวมทั้งแสงแดดในตอนเช้า  กลางวัน และเย็นว่าเป็นอย่างไร เพราะผมไม่ได้ออกแบบเพียงแค่ตัวบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภูมิทัศน์โดยรอบด้วย จากนั้นจึงค่อยกำหนดตำแหน่งของบ้านให้ขวางทิศทางลม  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนทั้งสิ้น  อันดับที่สอง  คือการกำหนดมุมมองทั้งภายในและภายนอกบ้าน  เวลาที่คุณมองผ่านหน้าต่างบ้านออกไป มุมมองต่างๆที่เห็นล้วนแต่ถูกกำหนดและจัดวางตำแหน่งไว้แล้ว  ว่าจะให้มองเห็นธรรมชาติหรือภูมิปัญญาใดบ้าง  อย่างเช่นบ้านหลังนี้ผมออกแบบทางขึ้นให้อยู่ฝั่งด้านหลังบ้านที่ติดแม่น้ำตามแบบบ้านสมัยก่อน เมื่อเดินเข้าจากหน้าบ้านซึ่งค่อนข้างมืด จะเห็นแสงสว่างและภาพเปิดโล่งของแม่น้ำเบื้องหน้าได้ มันทำให้เกิดความประทับใจในแง่ความรู้สึก  อันดับที่สาม  คือรูปทรงหรือรูปแบบที่สื่อถึงความเป็นไทย  รวมทั้งเรื่องศาสนา  ความเชื่อเรื่องสิริมงคลและความศรัทธา โดยผ่านทางการตกแต่งวัตถุสิ่งของต่างๆและพรรณไม้  โดยผมจะเลือกใช้วัสดุที่เป็นของพื้นถิ่นหรือมีความเกี่ยวพันกัน  อย่างกระเบื้องขอที่ใช้มุงหลังคา  กระเบื้องปูพื้น และรูปแบบของประตูหน้าต่าง  รวมทั้งไม้ที่ใช้ทำเรือนด้วย” 

ทางเดิน
ทางเดินหน้าห้องนอนใหญ่จัดวางเดย์เบดของ Gerard ทำจากไม้ไผ่ที่มีลักษณะเรียบง่าย ฝ้าเพดานบริเวณนี้บางส่วนจะเปิดโล่งโชว์โครงสร้างของหลังคาแต่บางส่วนจะมีการตีฝ้าเพื่อติดดวงไฟเป็นการผสมผสานรูปแบบการใช้ชีวิตสมัยโบราณกับสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน
ห้องนอนสไตล์ไทย
ห้องนอนใหญ่ ตกแต่งอย่างเรียบง่าย เพดานเปิดโล่งโชว์โครงสร้างของหลังคาจั่วซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของบ้านเรือนไทย
ทางเดิน
ทางเดินหน้าห้องน้ำใหญ่ เนื่องจากบริเวณนี้ค่อนข้างจะแคบเจ้าของบ้านจึงได้ติดกระจกไว้ที่ด้านหนึ่งของผนังเพื่อช่วยให้เกิดความรู้สึกที่กว้างขึ้น ส่วนราวแขวนผ้านั้นดัดแปลงมาจากบันไดเก่า บานประตูเป็นภาพเขียนรูปนางอัปสรโดยเขียนเลียนแบบของเก่าแต่ตัดทอนรายละเอียดให้เรียบง่ายขึ้น ผนังก่ออิฐฉาบปูนทาสี
ห้องน้ำสไตล์ไทย
ภายในห้องน้ำใหญ่ ได้รับการตกแต่งไม่แตกต่างไปจากห้องน้ำสมัยใหม่แต่การใช้องค์ประกอบในการตกแต่งอย่างช่องหน้า ต่างที่เหมือนช่องแอบมองของเรือนไทยโบราณและการใช้เสาย่อมุมก็ช่วยให้เกิดกลิ่นอายของความเป็นไทยขึ้นภายในบริเวณนี้
หน้าต่าง
ช่องหน้าต่างในห้องน้ำออกแบบให้มีลักษณะเหมือนช่องแอบมองแต่ขยายขนาดให้ดูใหญ่ขึ้น ในสมัยโบราณจะใช้ช่องนี้คอยดูเวลามีสิ่งผิดปกติภายในบริเวณบ้าน นับเป็นภูมิปัญญาอันแยบคายอีกประการของช่างไทยในสมัยก่อน
ทางเดิน
ทางเดินไปยังห้องนอนแขก ตกแต่งให้มีลักษณะเหมือนกับโถงทางเดินในแกลเลอรี่ ผนังทางด้านซ้ายมือคือตู้เก็บของที่ถูกซ่อนไว้เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของผนัง
ห้องนอนสไตล์ไทย
ประตูของห้องนอนสำหรับแขก ถูกออกแบบให้เป็นบานเปิดคู่โดยมีขนาดเล็กกว่าปกติ เพื่อบีบมมุมมองของสายตาให้พุ่งไปที่จุดเดียว เหมือนกับการวางประตูโบสถ์ในสมัยโบราณ พื้นห้องปูด้วยกระเบื้องดินเผาสีแดงที่สั่งทำเป็นพิเศษ

“เหตุผลที่ผมใช้ไม้เก่าในการสร้างบ้านก็เพราะว่าอย่างแรกคือราคาถูก  อย่างที่สองคือไม้เก่าเป็นไม้ที่นิ่ง ในเนื้อไม้ไม่มีแป้งหรือยาง  ดังนั้นการยืดหดตัวจึงไม่มี  ส่วนมากคนที่สร้างบ้านไม้มักจะคัดสีไม้ที่ใกล้เคียงกัน แต่ผมชอบสีไม้ที่มีความแตกต่างกัน เพราะผมคิดว่าบางทีความหลากหลายก็เป็นความงามแบบหนึ่งเหมือนกัน 

“อีกอย่างการที่ผมสร้างบ้านหลังนี้ทำให้ผมได้สัมผัสกับไม้เก่าจำนวนมากจนมีความชำนาญ เข้าใจธรรมชาติของไม้ว่าไม้ชนิดนี้คือไม้อะไร มีอาการอย่างไร  มีความสมบูรณ์ในเนื้อไม้หรือไม่  ส่วนแหล่งหาไม้เก่าของผมมักจะอยู่แถวอยุธยา อ่างทอง และนครสวรรค์ อีกประการที่สำคัญสำหรับการอยู่เรือนไทยคือจะต้องเข้าใจและยอมรับถึงข้อเสียของเรือนไทยด้วย เช่น พื้นอาจมีการลั่นหรือเสียงดังเวลาเดิน  อีกทั้งต้องหมั่นดูแลและซ่อมแซมบ้างตามกาลเวลา  แต่ถ้าเราทำความเข้าใจ ก็จะสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข เพราะนี่คือเสน่ห์ของเรือนไทยครับ”

เรือนไทยประยุกต์ หลังนี้แบ่งเป็นสองชั้น  ชั้นล่างเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนประกอบไปด้วยส่วนรับประทานอาหาร  ส่วนรับแขกเป็นพื้นที่เปิดโล่งต่อเนื่องถึงกัน  ห้องครัวและห้องน้ำสำหรับแขก  ส่วนชั้นบนจะเป็นอาคารโครงสร้างไม้สักผสมกับโครงสร้างปูน  เมื่อเดินขึ้นบันไดมาจะพบกับชานบ้านซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเรือนไทยและศาลาสำหรับพักผ่อน  จากนั้นจะเป็นเรือนนอน ห้องทำงาน ห้องน้ำใหญ่พร้อมอ่างอาบน้ำกลางแจ้ง  และห้องนอนสำหรับแขก ซึ่งทั้งหมดนี้ตกแต่งในสไตล์ไทยประยุกต์ที่แลดูกลมกลืน และสามารถตอบสนองต่อวิถีชีวิตในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี 

ส่วนรับประทานอาหาร
ส่วนรับประทานอาหารบริเวณชั้นล่าง ชุดรับประทานอาหารของ “Gerard” ทำจากไม้ไผ่ซึ่งมีรูปแบบเรียบง่าย ช่วยทำให้บริเวณนี้ดูโดดเด่นเป็นพิเศษ พื้นทำจากซีเมนต์ขัดมันสีเขียวเป็นตัวช่วยแบ่งส่วนใช้งานนี้จากส่วนอื่นๆซึ่งปูด้วยกระเบื้องสีเขียวของ บริษัท L – Thai จำกัด
ทางเข้าห้องครัวได้รับการออกแบบโดยดัดแปลงมาจากซุ้มประตูโบสถ์โดยตัดทอนรูปแบบให้เรียบง่ายขึ้น ตกแต่งด้วยวัสดุพื้นบ้านซึ่งใช้ในการดำรงชีวิตอย่างสากและไม้พาย ช่วยเน้นให้มุมมองด้านหน้าห้องครัวเกิดความน่าสนใจขึ้น
ครัวไทย
ภายในห้องครัวมีการผสมผสานระหว่างการใช้งานในปัจจุบันกับภูมิปัญญาของชาวบ้าน โดยชุดเครื่องครัวและตู้ต่างๆเป็นของสมัยใหม่แต่ตกแต่งหน้าบานด้วยไม้เพื่อให้เกิดความกลมกลืนสภาพโดยรอบ และใช้การเก็บผักและอาหารแห้งต่างๆโดยการแขวนพึ่งให้ลมโกรกอย่างสมัยโบราณ ครัวนี้ยังมีหน้าต่างที่สามารถเปิดให้ลมพัดผ่านได้จึงไม่มีกลิ่นอับและยังช่วยในการถนอมอาหาร หน้าต่างบางบานผู้เป็นเจ้าของต้องการให้มีกลิ่นอายของเมืองเก่าอย่างอยุธยา จึงมีเปลือยพื้นผิวโชว์แนวอิฐไม่ฉาบปูน พื้นห้องเป็นกระเบื้องเคลือบสีครีมเพื่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น
ห้องรับแขกสไตล์ไทย
ส่วนรับแขกตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่มีลักษณะเรียบง่าย และมีลักษณะพื้นผิวที่ดูหยาบเป็นธรรมชาติ โคมไฟตั้งพื้นดัดแปลงมาจากกะลามะพร้าวและยอซึ่งเป็นวัสดุในท้องถิ่น มีบานเฟี้ยมเขียนด้วยลายทวารบาลทำเลียนแบบของเก่า สามารถเลื่อนมากั้นเวลาที่ต้องการความเป็นสัดส่วนได้
โถงทางเดิน
โถงทางเดินหน้าห้องน้ำสำหรับแขก ผู้ออกแบบต้องการจะให้ส่วนนี้มีความรู้สึกเหมือนกับเป็นทางเดินในวิหารเล็กๆ โดยมีการใช้โทนสีและวัสดุที่หลายหลากเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ
พื้นในบริเวณชั้นล่างของบ้านตกแต่งด้วยวัสดุหลัก 2 แบบ คือ กระเบื้องดินเผาสีแดงที่สั่งทำเป็นพิเศษ และพื้นซีเมนต์ขัดมันสีเขียว (เป็นพื้นที่ที่โรยด้วย “ฝุ่นจีน” ฝุ่นสีใช้ผสมสีทาอาคารของชาวจีนมี 3 สี คือเหลือง แดง เขียว ในขณะที่เปียก ตัวฝุ่นจะซึมลงไปในเนื้อปูนแล้วขัดด้วยใบตองเพื่อให้เกิดความมัน ) ดังนั้นน้ำหนักของสีจึงไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดความงามบนพื้นผิวขึ้น

คำว่า “บ้าน” สำหรับหลายคนอาจจะหมายถึงที่อยู่อาศัย  แต่คำว่า “บ้าน” สำหรับผู้เป็นเจ้าของเรือนไทยหลังนี้มิได้หมายความแต่เพียงเท่านั้น หากยังหมายถึงวิถีชีวิต  ความเป็นอยู่ และธรรมชาติที่อยู่รายรอบซึ่งสะท้อนความเป็นตัวตนของผู้อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี 

เจ้าของ : คุณดุลย์พิชัย  โกมลวานิช และดร.ยุวนุช ทินนลักษณ์

ออกแบบ : คุณดุลย์พิชัย  โกมลวานิช

เรื่อง : ทัตชัย  น้อยสง่า

ภาพ : ณัฐพล  เมรีศรี


รู้จักเอกลักษณ์เรือนไทย 4 ภาค

รวมบ้านสวย 4 ภาค ที่ออกแบบในสไตล์ไทยพื้นถิ่นร่วมสมัย