DOX House บ้านที่คนและน้องหมาได้แชร์ความสุขกัน

เมื่อความสุขของสุนัขเป็นหัวใจของการออกแบบบ้าน จึงแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ พื้นที่สำหรับสุนัข ส่วนพักอาศัยของคน และพื้นที่ที่คนและสุนัขได้แชร์ความสุขร่วมกัน บ้านสุนัขDOXhouse

บ้านสุนัขDOXhouse
อาคารทรงจั่วชายคาต่ำที่ดูเผินๆคล้ายโรงเลี้ยงสัตว์ที่มักพบเห็นในจังหวัดนครปฐม เป็นความตั้งใจของสถาปนิกในการออกแบบบ้านและพื้นที่สำหรับสุนัขให้สื่อถึงความถ่อมตนตามบริบท เรียบง่าย และอบอุ่น
บ้านสุนัขDOXhouse
หลังคาชายคาต่ำช่วยลดการรบกวนจากภายนอกได้ดี ออกแบบชายคาให้สูงต่ำไม่เท่ากันตามฟังก์ชันที่เกิดขึ้น ชายคาบางส่วนเว้าต่ำเพื่อให้สุนัขเดินผ่านได้ และส่วนที่เว้าสูงสำหรับคนเดิน
บ้านสุนัขDOXhouse

บ้านที่อยู่สบายใจคือบ้านสร้างที่ตามใจผู้อยู่ แต่เมื่อผู้อยู่ไม่ได้มีแค่คน แต่มีน้องหมาเกือบ 10 ชีวิตที่เป็นสมาชิกของครอบครัวด้วย ผลลัพธ์ของบ้านจึงไม่ธรรมดา เพราะได้แปรปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับน้องหมาให้กลายเป็นสเปซบ้านที่จะสร้างความสุขให้ทุกชีวิตได้อยู่ด้วยกันแบบเข้าอกเข้าใจกัน จนได้รับรางวัลเหรียญทองสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2022 ประเภทบ้านพักอาศัย โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ บ้านสุนัขDOXhouse

ความผูกพันกับสุนัขของ คุณบุ๊ค – นรวีร์ วัยนิพิฐพงษ์ นายแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งยังจำความไม่ได้ แต่มีรูปสมัยเป็นเด็กน้อยขี่หลัง “โต้” เพื่อนสี่ขาตัวแรกพันธุ์อัลเซเชียนที่ยังมีภาพถ่ายเก็บไว้ ต่อมายังมีไซบีเรียนฮัสกี 3 ตัว แต่ด้วยบ้านที่อยู่เดิมมีพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก จึงได้เช่าที่ดินระยะยาวขนาด 1 ไร่ ณ พื้นที่ปัจจุบันซึ่งอยู่ใกล้กัน ให้เป็นที่วิ่งออกกำลังกาย จนหลังกลับจากเรียนต่อต่างประเทศเมื่อ 5-6 ปีก่อน จึงตั้งใจปรับปรุงพื้นที่ตรงนี้ให้ดีขึ้น โดยติดต่อให้ คุณหนึ่ง – เอกภาพ ดวงแก้ว สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง EKAR  Architects เป็นผู้ออกแบบ และ Landscape Architects 49 Limited ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งในระหว่างนั้นก็พยายามขอซื้อที่ดินจนได้มาเป็นเจ้าของดังที่ตั้งใจ

บ้านสุนัขDOXhouse
สนามหญ้าเป็นทั้งพื้นที่วิ่งออกกำลังกายของน้องหมา และเป็นสวนของบ้านที่คุณบุ๊คมาเล่นกับน้องๆ ออกแบบให้มี Sub drain ช่วยระบายน้ำได้เร็ว พื้นไม่แฉะนาน และตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติ เพื่อช่วยล้างกลิ่นฉี่กลิ่นอึไม่ให้หมักหมมในดิน

เริ่มต้นจากบ้านหมา

“บ้านหลังนี้มาไกลจากจุดเริ่มต้นมาก” เป็นความเห็นพ้องของทั้งเจ้าของบ้านและสถาปนิก เพราะจากจุดเริ่มต้นที่ต้องการเพียงทำพื้นที่ออกกำลังกายของสุนัข “ตอนที่ยังเป็นเพียงพื้นที่โล่งก็มีเพื่อนๆ มาฝากสุนัขอยู่บ้าง เป็นความรู้สึกเหมือนหาเพื่อนมาให้หมาเราที่มีอยู่ 6 ตัว และยังมาเป็นเพื่อนใหม่ของตัวเองด้วย เวลาอยู่กับหมาเยอะๆ ผมมีความสุขมาก เป็น Dog Therapy ก็ว่าได้”

คุณหนึ่ง สถาปนิก เล่าถึงการออกแบบว่า “เป็นการต่อยอดจากความคิดเริ่มต้น ด้วยการออกแบบเพื่อให้การใช้ชีวิตต่างๆดีขึ้น เป็นสถาปัตยกรรมเพื่อชีวิตที่ไม่ได้มีแค่คนเท่านั้น แม้จะเป็นพื้นที่สำหรับสุนัข แต่ก็ต้องมีพื้นที่ให้คนอยู่ด้วย ให้เกิดมีปฏิสัมพันธ์และการดูแลกัน และคิดต่อว่าพื้นที่แบบนี้จะยั่งยืนได้ควรมีช่องทางให้เกิดการเกื้อหนุนด้านเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน จึงเกิดพื้นที่นั่งเล่นที่รองรับให้คนภายนอกเข้ามาใช้บริการได้ด้วย จากบ้านสุนัขจึงขยับขยายเป็น 3 ฟังก์ชันหลัก คือ พื้นที่สำหรับดูแลสุนัข บ้านพักเจ้าของ และส่วนรับรองคนภายนอก” จนกลายเป็น DOX House บ้านคนที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของน้องหมา และเป็นธุรกิจเล็กๆที่รับฝากสุนัข พาสุนัขมาวิ่งออกกำลังกายและว่ายน้ำ

ออกแบบโชว์โครงสร้างและใช้วัสดุที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และดูแลรักษาง่าย ทำฐานเคาน์เตอร์ด้วยแผ่นศิลาแลงซึ่งเป็นวัสดุที่มีอยู่แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นวัสดุที่พบเห็นทั่วไปตามโบราณสถานของนครปฐม
บ้านสุนัขDOXhouse
ผนังห้องรับรองในส่วนที่ต้องการแยกโซนและพรางตา กรุด้วยกระเบื้องลอนใสที่มองผ่านได้แบบเบลอๆ แต่ไม่รู้สึกตัดขาด ส่วนด้านที่หันไปทางสนามใช้กระจกใสที่เปิดมุมมองให้เห็นกันได้ชัดเจน
หล่อเคาน์เตอร์บาร์ยาวให้เป็นมุมนั่งดูน้องหมาออกกำลังกาย มีโซนด้านข้างให้ทักทายกันได้ และเป็นทางออกฉุกเฉินที่สามารถนำรถเข้ามารับสุนัขได้
บ้านสุนัขDOXhouse
เมื่อนั่งลงในระดับต่ำกว่าชายคา ก็จะเปิดให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันสุนัขที่จะเห็นน้องหมาวิ่งในสนามแบบเต็มตา แต่เมื่อยืนก็จะเกิดปฏิสัมพันธ์กับคนแทน เป็นการออกแบบที่ทำให้เรากำหนดการรับรู้ด้วยตัวเองได้

สถาปัตยกรรมที่มนุษย์เชื่อมโยงกับสัตว์เลี้ยง

เมื่อคนและสุนัขเป็นผู้ใช้งานหลัก ทฤษฎีการออกแบบบ้านปกติจึงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด สถาปนิกจึงตั้งคำถามเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ๆ “อยากทำสถาปัตยกรรมที่ทำให้มนุษย์เชื่อมโยงกับสัตว์จะทำอย่างไรได้บ้าง จึงคิดเรื่องสัดส่วน (Scale) ของสุนัขซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าคน โดยนำมาใช้ออกแบบสัดส่วนและรูปแบบสถาปัตยกรรมให้โน้มนำพฤติกรรมของคนที่เข้ามาต้องยอมก้มตัวหรือย่อตัวลง เพื่อสบตากับสุนัข ลูบหัว และสื่อถึงกันอย่างใกล้ชิด แต่เมื่อเรายืนก็จะเป็นการสื่อสารระหว่างคนกับคน เพราะชายคาที่ต่ำจะบดบังมุมมองของสุนัข ทำให้เห็นคนแค่ช่วงขา ซึ่งพวกเขาก็จะรู้สึกปลอดภัย และไม่ถูกกระตุ้นจากคนที่เดินไปมามากเกินไป และการวางอาคารไว้ด้านริมถนนและทำชายคาต่ำยังลดการรบกวนจากภายนอกไปในตัว”  

ทางเดินแบบกึ่งกลางแจ้งมุงหลังคาโปร่งแสง ค่อยๆ ปรับการรับรู้ก่อนออกไปสู่สนามหญ้าด้านหลัง ส่วนที่พักเจ้าของบ้านซ่อนอยู่หลังผนังไม้และผนังปูนทึบเพื่อแยกให้เป็นสัดส่วน
บ้านสุนัขDOXhouse
การทำชายคาต่ำเป็นการโน้มนำพฤติกรรมของคนที่เข้ามาให้ก้มตัวหรือย่อตัวลงเพื่อสบตากับสุนัข
ทำรั้วแบ่งพื้นที่ให้สุนัขออกไปใช้งานแต่ละโซน โดยให้มีรั้วปิดอย่างน้อย 2 ชั้น เผื่อบางตัวหลุดออกไป ก็ยังมีรั้วอีกชั้นกั้นไว้ได้
บ้านสุนัขDOXhouse

ความเว้าแหว่งที่เปิดให้เติมเต็ม

หลายคนเข้ามาต้องสงสัยกับหลังคาที่ดูเว้าแหว่ง ไม่เรียบตรงอย่างหลังคาทั่วไป เป็นความตั้งใจของสถาปนิกที่สื่อสารแนวคิดผ่านการออกแบบ “ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้ตั้งใจทำตัวเองให้โดดเด่น หรือคงรูปทรงตัวเองไว้เพื่อความสมบูรณ์ แต่เกิดจากการ ‘ยอม’ ให้หลายๆอย่างดำเนินไปอย่างตรงไปตรงมา ในรูปทรงหลังคาจั่วแบบเรียบง่ายที่สุดนี้ เกิดการตัดออก ลดทอน และปรับเปลี่ยนให้บางอย่างเข้ามาแทนที่ ชายคาบางส่วนเว้าต่ำเพื่อให้สุนัขเดินผ่านได้ ส่วนที่เว้าสูงสำหรับคน เปิดหลังคาโล่งบางส่วนให้ต้นไม้เติบโตสูงขึ้นไปทักทายท้องฟ้า ส่วนที่ต้องการแสงก็เปลี่ยนใช้วัสดุที่แสงผ่านลงมาได้ เป็นการยอมให้ทุกอย่างเข้ามาเป็นเนื้อเดียวกับสถาปัตยกรรม ทั้งสัตว์เลี้ยง ต้นไม้ ระบบนิเวศ แสงแดด และก็มีคนเป็นส่วนหนึ่งในนั้น”

บ้านสุนัขDOXhouse
สวนแนวธรรมชาติที่อยู่ในอาคารเน้นปลูกไม้ใบที่อยู่ได้นาน ดูแลรักษาน้อย จัดแต่งด้วยเส้นสายฟรีฟอร์ม โรยพื้นด้วยกรวดสีน้ำตาลให้คล้ายดิน แต่ดูแลรักษาง่ายกว่า
เว้าชายคาสูงขึ้นให้มีสเปซสำหรับทำเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้า ทำด้วยซีเมนต์ขัดมันที่ทนแดดทนฝน

บ้านที่เชื่อมโยงกับบริบทและห้วงเวลา

เมื่อมองด้านหน้าบ้านจะเห็นหลังคาผืนใหญ่ที่ดูไม่โดดเด่น ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการที่ทีมสถาปนิกลงสำรวจพื้นที่โดยรอบชุมชน แล้วพบว่ามีอาคารลักษณะทรงจั่วชายคาต่ำสร้างอยู่บริเวณบ้านในย่านนั้นโดยทั่วไป ซึ่งเป็นโรงเลี้ยงหมู หรือเล้าเป็ด ไก่ อาจเพราะนครปฐมเป็นเมืองที่ทำปศุสัตว์กันมาก และอยากให้สถาปัตยกรรมแสดงถึงความอบอุ่นแบบบ้านที่แฝงความถ่อมตัวตามบริบทแบบบ้านๆ หลังคาทรงเรียบง่ายนี้จึงตอบโจทย์ทั้งผู้ออกแบบ และเจ้าของบ้านที่ผูกพันกับวิถีชุมชน

“ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้บ้านเราเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมวิถีชีวิตอดีตและอนาคตให้ไปด้วยกัน ผมไม่อยากสร้างสิ่งใหม่โดยลบสิ่งเดิมทิ้งไปทั้งหมด” เป็นแนวคิดที่คุณบุ๊ค เจ้าของบ้านให้ความสำคัญกับชุมชนที่เกิดและเติบโตมา “การที่คนในละแวกนี้นำสุนัขมาที่นี่ และยังมีน้ำจิตน้ำใจฉันมิตร บางครั้งมีของมาฝาก บ้างก็ช่วยเหลือกันและกัน ทำให้นึกถึงสมัยเด็กที่แขกไปใครมาก็ทักทายกัน ผมเกิดมาในบรรยากาศที่คนหัวซอยเดินทักทายรู้จักกันยันท้ายซอย การมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมเป็นมิติที่สวยงาม เห็นความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยผ่านตัวอาคารโดยรอบ จึงอยากให้บ้านนี้เป็นตัวเชื่อมความเก่า ความใหม่ และเข้ากับชุมชนได้”

ออกแบบปลายสนามเป็นเนินให้วิ่งขึ้นลง เป็นยังเป็นเหมือนเวทีที่เวลาเจ้าของนั่งดู จะเห็นสุนัขได้เต็มตัวและสูงในระดับสายตา และเป็นการเชื่อมระดับพื้นสระว่ายน้ำด้านหลังที่สูงกว่าให้ต่อเนื่องกัน

บ้านและสวนที่สัมพันธ์กัน

บนที่ดิน 1 ไร่ มีอาคาร 2 หลัง พื้นที่ใช้สอยประมาณ 450 ตารางเมตร อาคารด้านที่ติดถนนเป็นพื้นที่รับรองสำหรับคนที่มารอรับสุนัข และเป็นพื้นที่รับแขกที่เพื่อนๆมาสังสรรค์กัน ตรงกลางเป็นคอร์ตปลูกพืชพรรณแบบสวนธรรมชาติที่มีซอกมุมต่างๆให้น้องหมาได้วิ่งซุกซนได้ อีกฝั่งของอาคารที่ซ่อนอยู่หลังผนังและดงต้นไม้เป็นส่วนบ้านพักอาศัยของเจ้าของที่แยกให้เป็นส่วนตัว ส่วนอีกหลังที่อยู่ด้านในเป็นที่อาบน้ำ ห้องฝากสุนัข  3 ห้อง ห้องเป่าขน และที่พักพนักงาน

พื้นที่เปิดโล่งช่วยเติมเต็มให้บ้านมีชีวิตชีวา และสร้างความสุขให้ทั้งคนและสุนัข ภูมิสถาปนิกได้เล่าถึงการออกแบบว่า “พื้นที่เปิดโล่งมี 2 ส่วนหลักคือ สนามหญ้าที่ออกแบบเป็นเนินให้เป็นจุดโฟกัสสายตาเมื่อเจ้าของนั่งดูสุนัข และทำให้สุนัขสนุกในการวิ่งเล่นมากขึ้น ทั้งยังเป็นการเชื่อมระดับพื้นสนามกับพื้นสระว่ายน้ำด้านหลังที่อยู่สูงกว่า โดยออกแบบให้มี Sub Drain ที่ช่วยให้ระบายน้ำได้เร็ว พื้นจึงไม่แฉะ และมีผลพลอยได้ คือ เมื่อเปิดระบบรดน้ำก็จะล้างกลิ่นสิ่งขับถ่ายของสุนัขออกไปได้ด้วย ส่วนสวนในคอร์ตเน้นการใช้รูปทรงฟรีฟอร์มให้ดูเป็นธรรมชาติ ด้วยปริมาณแสงที่ไม่มากจึงเลือกปลูกไม้ใบที่อยู่ได้นาน มีการใช้ไม้พุ่มเพื่อซ่อนรั้วที่กั้นระหว่างโซนทำให้ลดความรู้สึกแบ่งแยก อีกทั้งการเลือกใช้ไม้ทรงพุ่มแน่นและการยกขอบกระบะ ในจุดที่ไม่อยากให้สุนัขเข้าไปขุดคุ้ยดิน”

ออกแบบขอบบ่อด้านระเบียงกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ให้พอดีกับการวางเท้าสำหรับนั่งลงเอาเท้าไปสัมผัสน้ำ ทั้งยังทำบ่อน้ำให้กว้างพอ พร้อมปลูกไม้พุ่มริมบ่อ ป้องกันไม่ให้สุนัขกระโดดข้ามมา เป็นการแบ่งพื้นที่โดยยังคงมีปฏิสัมพันธ์กันได้โดยไม่รู้สึกแยกขาดจากกัน
ทำชายคาต่ำเพื่อบังสายตาให้ส่วนพักอาศัย ซึ่งในขณะยืนจะมองไม่เห็นหน้ากัน แต่ถ้านั่งลงก็สามารถพูดคุยกันได้ เป็นอีกวิธีสร้างความเป็นส่วนตัวโดยไม่ต้องทำผนังหรือรั้วกั้น
แม้ห้องนอนจะอยู่ด้านริมถนนแต่ก็เป็นส่วนตัวด้วยชายคาที่ยื่นต่ำ จัดสวนโดยรอบแบบสวนป่าที่สามารถเปิดผนังให้เชื่อมต่อกันได้

รู้จักธรรมชาติของน้องหมา

อีกโจทย์ของสถาปนิก คือ การศึกษาธรรมชาติของสุนัข โดยเฉพาะพันธุ์เกรทไพรีนีสที่เป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ซึ่งมีอยู่ 4 ตัว ต้องการพื้นที่กว้างในการวิ่ง มีระยะการถีบตัวยาว อยู่ในที่ไม่ร้อนเกินไป มีที่เป่าขน ที่อาบน้ำ พื้นที่สต็อกอาหารและอุปกรณ์ และต้องมีการจัดการระบบขับถ่ายและวิธีการล้างที่ดี ออกแบบพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันเสียงที่อาจรบกวนเพื่อนบ้าน ที่สำคัญ คือ การออกแบบระบบรั้วที่ต้องให้พวกเขารู้สึกอิสระ โดยสถาปนิกตั้งใจให้ขอบเขตที่ดินเป็นเสมือนกรงขนาดใหญ่ที่สุนัขเดินไปได้เกือบทั้งหมด แต่สร้างรั้วหลายชั้นเพื่อแบ่งโซนต่างๆ ให้เขาได้มีอิสระในแต่ละโซน และรั้วแต่ละชั้นก็เป็นการลำดับเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆด้วย คนที่เข้ามาจึงเป็นการเข้ามาในพื้นที่ของสุนัข ที่มีสุนัขเป็นเจ้าของพื้นที่ด้วย บ้านสุนัขDOXhouse

ห้องดูแลสุนัขเน้นการทำความสะอาดง่าย แห้งเร็ว ต้องเช็ดด้วยน้ำยาทำความสะอาด หรือบางครั้งอาจต้องฉีดล้างพื้น จึงทำผนังและพื้นซีเมนต์ขัดมันเคลือบน้ำยากันน้ำ และพื้นกระเบื้อง เพื่อไม่ให้มีกลิ่นสะสม
บ้านสุนัขDOXhouse
สนามเล็กข้างห้องนอนสุนัขสำหรับปล่อยออกมาเดินเล่นช่วงกลางคืน หรือใช้แยกสุนัขที่อยู่ไม่ถูกกัน ทำพื้นหญ้าและโรยกรวดให้ขุดคุยเล่นได้
บ้านสุนัขDOXhouse
สระว่ายน้ำระบบน้ำเกลือที่ออกแบบด้านหนึ่งเป็นขั้นบันไดเตี้ยๆ ให้สุนัขทั้งตัวเล็กตัวใหญ่เดินขึ้นได้เอง ด้านหลังเป็นห้องและห้องล้างตัว

เอลวิส (จ่าฝูง) อลิส โมโม่ จี๊ด ลิลลี่ สเปนเซอร์ เป็นน้องหมาของคุณบุ๊ค ส่วนชาร์ล แคสเปอร์ และแอนดี้ เป็นน้องหมาของญาติๆที่เป็นแขกประจำ “ทุกตัวที่เข้ามาที่นี่ก็เสมือนเป็นสมาชิกของบ้านผม ซึ่งการที่มีหมาของเราเป็นจ่าฝูง ก็จะช่วยให้หมาจากที่อื่นเข้าอยู่ในฝูงได้ง่ายขึ้น ซึ่งก่อนเข้ามาก็จะมีโซนเช็กเห็บหมัด และปล่อยให้ออกมาวิ่งเล่นวันละ 4 รอบ พื้นสำหรับหมาต้องไม่ลื่น อย่างพื้นหินล้าง ทรายล้าง คอนกรีตขัดหยาบ พื้นกรวด พื้นดิน หมาในบ้านที่เดินบนพื้นลื่นก็จะมีปัญหาเรื่องข้อสะโพก การพามาวิ่งออกกำลังกายและว่ายน้ำก็จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อขาหลังได้ดี”

สถาปัตยกรรมก็เสมือนการจำลองโลกใบเล็กที่หลายชีวิตอยู่ร่วมกัน มีทั้งการให้ การรับ ยินยอม แบ่งปัน ดำเนินไปภายใต้ความไม่สมบูรณ์พร้อม ซึ่งบ่อยครั้งก็กลับกลายเป็นโอกาสให้เราได้ทำความเข้าใจความแตกต่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงที่เป็นหนึ่งในสมาชิกแสนรักของครอบครัว


เจ้าของ : คุณนรวีร์ วัยนิพิฐพงษ์ 

ออกแบบสถาปัตยกรรม – ตกแต่งภายใน : EKAR Architects  โทรศัพท์ 0-2959-9545

ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : Landscape Architects 49 Limited โทรศัพท์ 0-2661-2618

ก่อสร้าง: GRD + RHive Design and Consultant


คอลัมน์ บ้านสวย นิตยสารบ้านและสวน ฉบับ ก.ค.65

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม


ต่อเติมบ้าน เก่าให้โมเดิร์น พร้อมเชื่อมโยงสเปซเดิมผ่านเทอร์ราซโซ

รวมฮิต 50 บ้านปูน สร้างง่าย อยู่สบาย ดีไซน์สวย

ติดตามบ้านและสวน