บ้านที่ออกแบบสเปซภายในชั้นล่างใหม่ ในธีม บ้านแคทคาเฟ่ ผสานฟังก์ชันของคนและแมวเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
เมื่อพื้นที่ในห้องคอนโดมิเนียมเดิมเริ่มไม่เพียงพอสำหรับการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างคนกับแมว คุณหมิงและคุณม็อบ จึงติดสินใจซื้อและปรับปรุงบ้านทาวน์โฮมทำเลดีขนาดกะทัดรัดหลังนี้ ไม่เพียงแค่เพื่อขยับขยายพื้นที่ใช้สอยของคน แต่เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและมีความสุขสำหรับแมวพันธุ์ไทยโบราณทั้งสามตัว คูณมี (แมวโคราช) แก้วมณี (แมววิเชียรมาศ) และทองหลาง (แมวศุภลักษณ์) ที่ทั้งสองรักและเอ็นดูราวกับลูกด้วย โดยออกแบบภายในบริเวณชั้นล่างใหม่ในธีม บ้านแคทคาเฟ่ ให้ทั้งคนและแมวต่างมีพื้นที่ของตัวเอง แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ผสานฟังก์ชันของคนและแมว
เดิมทีพื้นที่ชั้นล่างของบ้านมีลักษณะเป็นห้องโถงที่เปิดโล่งจากทางเข้าที่ติดกับโรงจอดรถหน้าบ้านไปจนถึงด้านหลัง สำหรับเป็นทั้งห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหาร โดยคุณหมิงและคุณม็อบคิดว่า หากนำโซฟา โต๊ะกินข้าวและคอนโดแมวที่มีขนาดใหญ่เทอะทะมาวางอยู่ด้วยกันในห้องแล้ว อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการได้ดีพอ จึงฝากให้น้องชายของคุณหมิงเอง ช่วยแนะนำสถาปนิกมืออาชีพสักคนมาช่วยออกแบบพื้นที่ภายในให้สวยลงตัวด้วยฟังก์ชันสำหรับคนและแมว ด้วยเงื่อนไขที่คุณหมิงเล่าให้เราฟังว่า “ตอนนั้นมองหาสถาปนิกที่รักแมว เข้าใจแมว และเป็นทาสแมวค่ะ” จนกระทั่งได้พบกับ คุณพร เลาหสุขเกษม จาก Ponna Studio ที่ช่วยออกแบบพื้นที่ชั้นล่างใหม่ให้ตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่อยากให้สเปซด้านล่างเป็นเหมือนกับคาเฟ่แมว เน้นพื้นที่และทางเดินสำหรับแมวทั้งสามตัวเป็นหลัก แต่ดีไซน์ให้กลมกลืนไปกับรูปแบบการใช้งานของคน รวมถึงมีการกั้นห้องนั่งเล่นแยกกับพื้นที่รับประทานอาหารให้เป็นสัดส่วน และมีตู้เก็บของเยอะๆ สำหรับเจ้าของบ้านที่ไม่ชอบให้บ้านรกด้วย
คุณพรออกแบบพื้นที่ชั้นล่างของบ้านหลังนี้ ซึ่งถือเป็นงานดีไซน์บ้านสำหรับคนและแมวครั้งแรก โดยวิเคราะห์รูปแบบ ขนาด และจัดสรรพื้นที่ใช้สอยทั้งสำหรับคนและแมวให้อยู่สอดคล้องกันทั่วทั้งบริเวณ “เน้นออกแบบพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ของคนและแมวให้อยู่คู่กันค่ะ อย่างพื้นที่นั่งเล่นของคน ก็จะอยู่คู่กับพื้นที่นั่งเล่นของแมว เช่นเดียวกับทางเดินคน – ทางเดินแมว กินข้าวคน – กินข้าวแมว เก็บของคน – เก็บของแมว”
ด้วยแนวคิดนี้ของผู้ออกแบบ จึงทำให้มีที่นั่งเล่นของแมวกระจายอยู่หลายจุด โดยเฉพาะรอบๆ โซฟาซึ่งเป็นที่นั่งเล่นของคน มีทางเดินของแมวที่แยกต่างหากจากทางเดินของคน โดยเล่นระดับสูง – ต่ำ และเลี้ยวไปมาตามช่องที่อยู่เหนือและใต้ตู้เก็บของ ทำให้แมวมีทางเดินเป็นของตัวเองสำหรับปีนป่ายขึ้น-ลง และเดินลัดเลาะไปได้ทั่วบ้าน รวมถึงมีพื้นที่สำหรับวางถาดอาหารและน้ำพุแมวใกล้ๆ กับโต๊ะกินข้าวของคน และมีตู้ที่ทำหน้าที่เป็นห้องน้ำส่วนตัวของแมว ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับส่วนซักล้างของคนบริเวณหลังบ้านด้วย
บ้านที่เต็มไปด้วยสเปซของแมว
เมื่อเข้ามาในบ้านจะเห็นได้ว่าพื้นที่ชั้นล่างแทบทุกส่วนออกแบบให้มีสเปซของแมวซุกซ่อนอยู่หลายจุดตามแนวทางเดินของตัวเอง โดยทางเดินหลักถูกวางให้สอดคล้องกับแนวตู้เก็บของริมผนัง ซึ่งทอดยาวจากห้องนั่งเล่นหน้าบ้านไปยังห้องกินข้าวด้านใน และทะลุไปจนถึงส่วนระเบียงหลังบ้านที่มุงหลังคาด้วยวัสดุโปร่งแสง สำหรับให้น้องนอนอาบแดด รับแสงธรรมชาติ และเดินเข้าห้องน้ำแมวในตู้ด้านหลัง
จุดที่ถือเป็นไฮโลต์ของบ้านคือบันไดแมวที่ตั้งอยู่กลางห้อง ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เป็นตู้กั้นสเปซระหว่างห้องนั่งเล่นกับห้องรับประทานอาหารแล้ว ยังเป็นจุดที่แมวใช้เดินขึ้นไปยังระเบียงแมวที่ยกสูงเหนือทางเดินของคน เชื่อมต่อไปยังเสากลมซึ่งพันด้วยเชือกสำหรับลับเล็บแมวและปีนขึ้น-ลง ที่ตั้งอยู่ตรงอีกด้านหนึ่งของห้อง ใกล้กับเสากลมยังมีทางเดินแคบๆ ให้แมวปีนเล่นได้บริเวณใต้โทรทัศน์ ยาวต่อเนื่องไปจนถึงบันไดขึ้นชั้น 2 โดยทำหน้าเป็นขั้นบันไดไปในตัว ตรงขั้นบันไดนี้เองจะสังเกตได้ว่ามีบ้านแมวซ่อนอยู่ด้วย โดยมีช่องกลมๆ สองช่องเป็นทางเข้า – ออกของแมว เป็นอีกหนึ่งจุดโปรดของน้องในการหนีมานอนเงียบๆ อย่างเป็นส่วนตัว รวมถึงใช้ซุ่มโจมตีเพื่อหยอกล้อกับเพื่อนๆ และเจ้าของบ้าน
ส่วนห้องครัวที่อยู่บริเวณหลังบ้านใกล้ๆ กับโต๊ะกินข้าวนั้น เป็นห้องเดียวที่ปิดไม่ให้น้องแมวเข้าไปด้านใน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นขณะทำอาหาร โดยปิดช่องประตูเดิม กั้นผนัง และทำช่องเปิดพร้อมบาร์เล็กๆ สำหรับส่งจานอาหารระหว่างห้องครัวกับห้องรับประทานอาหาร ส่วนประตูทางเข้าของคน เปลี่ยนไปใช้ประตูเข้าทางด้านหลังแทน
ออกแบบพื้นที่ที่แมวชอบ
คุณพรอธิบายแนวคิดการออกแบบสเปซที่แมวชอบว่า “ออกแบบสเปซที่ทำให้เขาได้เล่น ได้รู้สึกมีสเปซเป็นของตัวเอง รู้สึกมีความสำคัญในบ้าน อย่างทางเดินแมวที่แยกจากทางเดินของคน มีทางของตัวเองที่เดินไปได้รอบ ระหว่างทางก็มีมุมหรือกล่องต่างๆ ให้เขาหลบซ่อนตัวได้ค่ะ”
สำหรับบ้านหลังนี้ แมวแต่ละตัวต่างมีมุมที่ตัวเองชอบอยู่หลายจุดด้วยกัน ทั้งบนขั้นบันไดแมวที่กั้นอยู่กลางบ้าน บนระเบียงตรงที่ติดกับมุมผนัง ในบ้านแมวตรงขั้นบันไดขึ้นชั้น 2 ใต้โต๊ะกลางห้องรับแขก ในช่องทางเดินบริเวณหลังโซฟา รวมถึงบนโซฟาของคน น้องก็ชอบมานอนอยู่บ่อยๆ ด้วยเช่นกัน
คุณพรยังได้เล่าให้เราฟังถึงการวิเคราะห์ขนาดและระยะต่างๆ เพื่อออกแบบสเปซที่เหมาะกับกิจกรรมการใช้ชีวิตของแมวด้วย ทั้งความสูงและความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร สำหรับขั้นบันไดที่แมวสามารถปีนขึ้น – ลงได้อย่างสะดวก ระยะกว้าง 20 – 25 เซนติเมตร สำหรับเดินหรือยืนอยู่เฉยๆ ระยะกว้าง 30 – 45 เซนติเมตร สำหรับใช้นั่งและนอน หรือช่องเข้า – ออกของบ้านแมวที่ควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 25 เซนติเมตร นอกจากนั้นยังมีการเลือกใช้วัสดุภายในที่ทำความสะอาดง่าย และทนต่อรอยขีดข่วนโดยเฉพาะ เช่น วัสดุหุ้มเบาะนั่งที่ไม่ฉีกขาดง่าย ทางเดินและท็อปตู้ต่างๆ ที่ใช้วัสดุไม้ยางประสานที่แข็งแรง และบุผิวเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ด้วยวัสดุลามิเนตที่มีคุณสมบัติทนทาน
ด้วยความรักที่มีต่อแมวทั้งสาม ราวกับสมาชิกคนสำคัญของครอบครัว การออกแบบและสร้างพื้นที่ภายในบ้านให้แมวและคนได้อยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้นจึงถือเป็นสิ่งที่คุ้มค่า ตามที่คุณหมิงเล่าให้เราฟังถึงแนวคิดการปรับปรุงบ้านหลังนี้ว่า “เราเลือกเลี้ยงแมวในระบบปิดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อทำให้เขาไม่เสี่ยงโรค ไม่เสี่ยงอันตราย ไม่รบกวนเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้น ขณะที่คนเราจะเดินทางไปไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เขาก็จะได้อยู่ใช้เวลาแค่ที่นี่ บ้านจึงเป็นเหมือนโลกทั้งใบของเขา แล้วชีวิตเขาสั้นมากด้วยเมื่อเทียบกับเรา เราก็เลยอยากลงทุนทำบ้านให้เขาได้อยู่อย่างมีความสุขมากที่สุดค่ะ”
เจ้าของ : คุณหมิงและคุณม็อบ
สถาปนิก : Ponna Studio โดยคุณพร เลาหสุขเกษม
เรื่อง : Tinnakrit
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล, วีระพล สิงห์น้อย
สไตล์ : พระจันทร์ดวงโบราณ