เพราะ room เชื่อว่า ดีไซน์ที่ดี ไม่เพียงดีสำหรับผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ยังต้องดีต่อสังคมรอบข้าง และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์โลกให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน เราจึงคัดสรรงานออกแบบที่ยั่งยืนในหลากมิติมาจัดแสดงในงานบ้านและสวนแฟร์ Midyear 2022 เพื่อช่วยสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมในวงกว้าง นำไปสู่การต่อยอดและพัฒนางานออกแบบเหล่านั้นให้เกิดขึ้นและสร้างประโยชน์ได้จริงในอนาคต
RE-BALANCE
การจัดแสดงในปีนี้ room มุ่งให้ความสำคัญกับ “แนวคิดความยั่งยืนที่สมดุลกับวิถีปัจจุบันของโลก” จึงได้เลือกคัดสรรผลงานการออกแบบที่ตอบโจทย์ทั้งด้านการใช้งาน (Function) ความงาม (Aesthetic) แนวคิดด้านความยั่งยืน (Sustainability) รวมถึงการส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) แต่ขณะเดียวกันก็เป็นงานออกแบบใกล้ตัว ตอบโจทย์วิถีชีวิตประจำวันของผู้คนได้อย่างแท้จริง
room Betterism Design Exhibition แบ่งออกเป็น 3 หมวดการคัดสรรดังนี้
1.Architectural งานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมความยั่งยืน
2.Urban Design and Movement งานออกแบบพื้นที่สาธารณะ และแนวคิดส่งเสริมเมืองสร้างสรรค์
3.Product and Innovation ผลิตภัณฑ์ และแนวคิดนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
พบกับผลงานการออกแบบในหมวดต่างๆ มากกว่า 30 ผลงาน จากนักออกแบบและนักสร้างสรรค์ไทย ได้ที่งาน room BETTERISM Design Exhibition 2022 ณ “บ้านและสวนแฟร์ Midyear” ระหว่างวันที่ 5 – 14 สิงหาคม 2565 นี้
ผลงานทั้งหมดในนิทรรศการ
วัสดุทดแทนจากหนังเหลือใช้
THAIS ECOLEATHERS
แบรนด์ไทยจากโครงการ Talent Thai โดย DITP กับวัสดุอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์นั่นก็คือ “หนังรีไซเคิล” ซึ่งเรียกได้ว่ามีความโดดเด่น สามารถออกแบบลวดลายและสีสันได้ มีความพิเศษเพราะเป็นเพียงเจ้าเดียวในโลกที่สามารถผลิตสิ่งนี้ได้ จึงทำให้เราสนใจแบรนด์เครื่องหนังที่ชูวัสดุรักษ์โลกแบรนด์นี้ เพราะไม่ใช่การรีไซเคิลที่ทำให้วัสดุด้อยคุณภาพลง แต่เป็นการเปลี่ยนวัสดุเหลือทิ้งให้กลายเป็นวัสดุใหม่ที่น่าสนมากกว่าเดิม
อ่านต่อ: THAIS ECOLEATHERS ความงามจากเศษหนังสู่วัสดุใหม่
‘พระสติ’ รีไซเคิล
DOTSDesign Studio, QUALY
DOTS X QUALY จัดนิทรรศการ “ผ้าป่าดีไซน์วีค” งานออกแบบเชิงทดลอง ที่สร้างแพลตฟอร์มเชื่อมต่อระหว่างผู้บริจาคกับผู้รับบริจาค เป็นการบริจาครูปแบบใหม่ที่สะดวก ยืดหยุ่น โปร่งใส นี่คือโปรเจ็กต์ที่เกิดจากการตั้งคำถามกับการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมชาวพุทธเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล และตีความการทอดผ้าป่าใหม่ว่าสาระสำคัญจริง ๆ คือการ “แบ่งปัน”
มากกว่านั้น คำว่า “บุญ” ของโครงการนี้ ยังรวมไปถึงการเปลี่ยน “ขยะ” ให้กลายเป็น “สิ่งมีค่า” โดยจัดสร้างเป็น “พระเครื่อง” จากวัสดุรีไซเคิลหลากหลายชนิด เช่น กล่องนม ถุงพลาสติก ฝาขวด ฟอยล์โลหะ ฯลฯ โดยตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งปันและเตือนสติผู้ครอบครอง
อ่านต่อ: ทอดผ้าป่ายุคใหม่ ทำบุญออนไลน์ รับพระเครื่องรักษ์โลก DOTS X QUALY จัดนิทรรศการ “ผ้าป่าดีไซน์วีค”
From Zero 2 Zero
Wasoo โดย คุณกรรจิต นาถไตรภพ และคุณส่วย ไชยคำวัง
แผ่นตกแต่งภายในจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจาก WASOO
เนื่องจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นหนึ่งในปัจจัย ที่ก่อให้เกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 และปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน จากการศึกษาของ Wasoo พบว่า ในแต่ละปีมีการปล่อยคาร์บอนถึง 24.63 ล้านตัน จากการเผา “ฟางข้าว” ในที่โล่งแจ้งหลังฤดูเก็บเกี่ยว และการนำฟางข้าวกลับมาใช้เพียง 1 กิโลกรัม จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 1,118 กรัม เช่นเดียวกับ “กะลากาแฟ” เป็นอีกหนึ่งวัสดุเหลือใช้ ที่ย่อยสลายและกำจัดได้ยาก ในแต่ละปี มีการผลิตถึง 1 แสนตัน สำหรับการบริโภคภายในประเทศและส่งออกรวมกัน กะลากาแฟจึงถูกสีทิ้งทุกวัน
WASOO นำวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาสร้างสรรค์ใหม่ให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบของ Wall panel หรือแผ่นตกแต่งผนัง ช่วยลดการกำจัดด้วยการเผาลงได้มาก และ From Zero 2 Zero คือคอลเล็กชั่นแผ่นตกแต่งผลิตจากฟางข้าว และกะลากาแฟ โดยใช้เยื่อกระดาษรีไซเคิลเป็นตัวประสานแทนการใช้กาวในกระบวนการผลิต ย้อมสีด้วยสมุนไพรธรรมชาติ อาทิ สีแดงจากแก่นฝาง สีดำจากมะเกลือ
ออกแบบเป็นยูนิตขนาดเล็ก ที่สามารถพลิกด้านเพื่อสร้างแพทเทิร์นได้หลากหลายรูปแบบ สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% หรือหากนำไปฝังกลบก็ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่มีขยะให้เป็นภาระกับโลกอีกต่อไป
อ่านต่อ: From Zero 2 Zero แผ่นตกแต่งภายในจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
TANYA by DOTS X STALLIONS EV MOTORCYCLE
Dots Design Studio
TANYA เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง STALLIONS ซึ่งเป็นแบรนด์ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ชั้นนำ กับ Dots Design Studio ทีมนักออกแบบที่มีผลงานอยู่ในหลายแวดวง การออกแบบในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายอันดีที่จะช่วยยกระดับวงการยานยนต์ไทยสู่สากล เพราะไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หลักของ STALLIONS จากมอเตอร์ไซค์เครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ EV- electircvehecle เพื่อตอบรับกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG แต่TANYA EV MOTORCYCLE ยังเคยได้รับเชิญไปจัดแสดงในนิทรรศการ Slow Hand Design exhibition showcases a sustainable evolution of Thai design ณ Milan Design Week ถึงประเทศอิตาลีอีกด้วย
อ่านต่อ: STALLIONS “TANYA” มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์ไทยที่ไปไกลถึงมิลาน
Bugar Collection
AMO ARTE
เพิ่มมูลค่าให้ไม้ตาลและไม้ไผ่ วัสดุที่มักถูกตีค่าเป็นวัสดุพื้นบ้านไร้ราคา ด้วยการนำมาออกแบบให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ทวีค่ามากขึ้น ผ่านการศึกษาและทำความเข้าใจคุณลักษณะของวัสดุทั้งสองชนิด
งานออกแบบคอลเล็กชั่นนี้ จึงเป็นเสมือนการเล่าเรื่องราววัสดุสองชนิดที่มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน โดยไม้ตาลและไม้ไผ่นั้นมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะคนเก็บน้ำตาลโตนด เห็นได้จากการใช้กระบอกไม้ไผ่รองน้ำหวานจากงวงตาล เป็นภูมิปัญญาที่ดูถ้อยทีถ้อยอาศัย และมีความผูกพันกันมาแต่ไหนแต่ไร ผู้ออกแบบจึงนำความสัมพันธ์นี้มาสร้างสรรค์เป็นผลงานออกแบบ โดยการดึงวัสดุที่มีความเป็น Exotic Style และพื้นถิ่นมาก ๆ ทั้งสองชนิดนี้มาเป็นวัสดุหลัก
จากคุณสมบัติที่มีความแข็งแรงของไม้ตาล จึงถูกนำมาใช้ทำเป็นโครงสร้างเก้าอี้ โชว์ลวดลายที่มีเอกลักษณ์ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของไม้ตาล ร่วมกับการการนำไม้ไผ่อัดดัดโค้งมาเป็นส่วนของที่นั่ง แสดงออกถึงความยืดหยุ่นในการดัดโค้งได้ง่าย โชว์ลายเส้นของไม้ไผ่ สอดคล้องไปกับรูปทรงของที่นั่งที่เข้ากันได้ดีกับสไตล์ในปัจจุบัน
MODULE collection
DEESAWAT x SCG x Jacob Jensen Design|KMUTT
MODULE collection นั้น เป็นการออกแบบสินค้าที่มีการคำนึงถึงการออกแบบที่ใช้ได้หลากหลายใน Lifecycle แรกของตัวสินค้า และยังมีการออกแบบขยะหรือทางออกของสินค้าเพื่อใช้ใน Lifecycle ที่ 2 อีกด้วย
เริ่มต้นคืองานไม้ ในส่วนของไม้สักนั้น เป็นไม้ที่มีการใช้งานได้คงทนทั้งภายนอกภายใน จึงมีการออกแบบให้เรียบง่าย และมีกระบวนการใสไม้ให้น้อยที่สุด เพื่อที่ว่าอนาคตนั้น สามารถนำเอาไม้ดังกล่าวไปเป็นวัสดุใหม่ในการทำผลิตภัณท์ต่างๆ และในส่วนของซีเมนต์จาก SCG นั้น ใช้กระบวนการ 3D printing เพื่อลดการทำแม่พิมพ์ในการขึ้นชิ้นงาน และยังมีการออกแบบเซาะร่องในตัวชิ้นงาน เพื่อที่ว่าจะสามารถนำไปใช้เป็นพื้นสนาม หรือรั้วต้นไม้ได้ในกรณีที่ไม่ได้ใช้งานแล้วหรือมีการแตกหักเสียหาย
การออกแบบชิ้นงานในลักษณะ module หรือ modular ยังใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น ตอบโจทย์สถานการณ์โรคระบาด ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการปิดกิจการ หรือ ต้องจัดเฟอร์นิเจอร์รูปแบบต่างๆ เพื่อรักษาระยะห่าง ดังนั้น การออกแบบจึงเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยน เคลื่อนย้าย หรือจัดรูปแบบต่างๆให้เหมาะสมได้ตลอดเวลาเหมือนเลโก้ และเนื่องจากชิ้นส่วนต่างๆนั้นเป็นการออกแบบโดยใช้ 3D printing ทำให้ลูกค้าสามารถสั่งทำชิ้นส่วนใหม่เพื่อให้เหมาะสมได้ตลอดเวลา
อ่านต่อ: โต๊ะก็ดี เก้าอี้ก็ได้ กระถางต้นไม้ก็ยังได้อีก! Module collection
Infinitude Collection
PIPATCHARA
เปลี่ยนขยะพลาสติกกำพร้าไม่ว่าจะเป็นฝาขวดน้ำ กล่องใส่อาหาร ช้อน ส้อม และขวดขุ่นบางประเภท ให้กลายเป็นสินค้าแฟชั่นบนรันเวย์ เพราะหากจะหล่อเลี้ยงระบบการจัดการขยะเหล่านี้ให้ครบทั้งองค์รวมได้ละก็ การสร้างมูลค่าให้กับสินค้าผ่านงานออกแบบจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ไม่เพียงแต่การนำพลาสติกที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ มาแปรสภาพเป็นองค์ประกอบในงานออกแบบแล้ว ช่างฝีมือในโครงการนี้ยังเป็นเหล่าครูจากพื้นที่ต่างจังหวัดที่ต้องการหารายได้เสริมอีกด้วย การออกแบบของ PIPATCHARA จึงสะท้อนถึงคำว่า “Circular Economy” ในหลากหลายมิติ ทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อมและสังคมไปพร้อมกัน
ข้อมูลเพิ่มเติม: Infinitude ด้วยวัฏจักรอันไม่มีที่สิ้นสุด
PETEL STOOL
ออกแบบ: Harvbrand โดย ณัฐฏิยา รัชตราเชนชัย
PETEL STOOL สตูลขนาดเล็กผลิตและดีไซน์ภายใต้ Harvbrand แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้ปาร์ติเกิลบอร์ดดีไซน์เรียบง่าย กับแนวคิดการคำนึงถึงการใช้วัสดุอย่างยั่งยืน ผสมกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการพยายามให้เหลือเศษวัสดุน้อยที่สุด โดยการนำเศษวัสดุมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แบบ Upcycle ซึ่งเป็นอีกแนวทางการทำธุรกิจที่ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน
สำหรับผลงาน PETEL STOOL โครงทำจากเศษไม้ปาร์ติเกิลบอร์ดที่เหลือจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ภายในโรงงาน เป็นการนำคุณค่าของวัตถุดิบมาใช้ให้คุ้มค่าที่สุด โดยขั้นตอนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ ผู้ออกแบบพยายามให้เหลือเศษน้อยที่สุด เช่น ใช้ให้ได้ประมาณ 85% และอีก 15% คือการพยายามหาวิธีใช้เศษไม้นั้นไปออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็ก ๆ ที่สำคัญไม้ที่ใช้ยังมีสาร Formaldehyde ต่ำ ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ใช้งานในระยะยาว โดยยังคงความแข็งแรง ใช้งานได้ยาวนาน ขณะที่ผ้าหุ้มเบาะที่นั่งของสตูล ผู้ออกแบบได้เลือกใช้ผ้าจากเส้นใยขวดพลาสติกรีไซเคิล PET
การออกแบบเน้นดีไซน์เรียบง่ายทันสมัย เหมาะกับใช้ในห้องขนาดเล็กอย่างคอนโดมิเนียม หรืออพาร์ตเมนต์ตามไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ โดยเน้นผลิตในรูปแบบที่เรียกว่า Micro Lot เนื่องจากสามารถควบคุมคุณภาพเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นได้อย่างแม่นยำ จึงช่วยลดปัญหาการสิ้นเปลืองพลังงานในการผลิตและจัดเก็บ
อ่านต่อ: PETEL STOOL เก้าอี้สตูล โดย Harvbrand
moreloop
moreloop คือตัวกลางนําผ้าคุณภาพดี ที่เกินจากการผลิตของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูป และโรงทอผ้ามาส่งถึงมือลูกค้าที่ต้องการในราคาจับต้องได้ เพื่อสร้างให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นอกจากนี้ธุรกิจของเรายังช่วยแก้ปัญหาโรงงานผลิตเสื้อผ้าสําเร็จรูปและโรงทอผ้าที่มีสต๊อกผ้าคงค้าง และตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากได้ผ้าเนื้อดีในปริมาณไม่มากโดยผ่านการเลือกสรรผ้าส่วนเกินที่ซ่อนอยู่ตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยแทนการผลิตใหม่ โดยขายผ่าน ‘ตลาดออนไลน์’ บนเว็บไซต์ www.moreloop.ws เพื่อให้ธุรกิจรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการให้คําแนะนําการรับผลิตและสร้างสรรค์สินค้าที่มีจำนวนจำกัด (Limited Edition) เนื่องจากข้อจำกัดของการเหลือของวัตถุดิบให้กับเจ้าของธุรกิจและองค์กรที่สนใจ
ผ่านกระบวนการนี้ ทําให้เราสามารถร่วมกันใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการผลิตใหม่ เพราะการผลิตผ้าใหม่แต่ละครั้งใช้ น้ํา พลังงานและสารเคมีเป็นจํานวนมาก รวมทั้งยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นจํานวนมหาศาลอีกด้วย
โดยปัจจุบันมอร์ลูปได้หมุนเวียนทรัพยากรผ้าเหล่านี้ไปกว่า 40 ตัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 608 ตัน ซึ่งเทียบเท่าระยะทางขับรถกว่า 128 รอบโลก อันเนื่องมาจากการไม่ผลิตผ้าใหม่ ซึ่งตลาดของเรามีผ้ากว่า 2,000 ชนิด ซึ่งรวบรวม และคัดแยกผ้าส่วนเกินเหล่านี้ขึ้นมาอยู่บนระบบมากกว่า 800,000 หลา
สนใจติดต่อ
โทร: 081-559-9855
เว็บไซต์: www.moreloop.ws
Facebook: @moreloopws
อีเมล: [email protected]
บล็อกรีไซเคิลจากขยะพลาสติก
Green Road
Green Road โดดเด่นในการนำเสนอวิธีการจัดการกับขยะพลาสติกในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย ด้วยความเชื่อว่าเทคโนโลยีที่ดีไม่จำเป็นต้องซับซ้อนจนเกินไป แต่ควรจะต่อยอดได้ง่าย จนกลายเป็นที่มาของการเก็บขยะพลาสติกทั่วมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพื่อนำมาทดลองหาวิธีจัดการและสรุปออกมาเป็นบล็อกคอนกรีตที่ใช้พลาสติกทดแทนยางมะตอยในขั้นตอนการผลิต
. บล็อกรีไซเคิลจากขยะพลาสติก เริ่มต้นจากการคัดแยกขยะพลาสติกที่พุ่งเป้าไปที่ขยะที่ถูกมองข้ามในขั้นตอนรีไซเคิล เช่น ถุงพลาสติก เเละหลอด จากนั้นนำมาบดย่อยให้กลายเป็นชิ้นเล็ก ๆ และผสมลงในยางมะตอยเพื่อใช้เป็นวัสดุ Filler จากการทดลองกว่า 7 ปี จึงค่อย ๆ นำพลาสติกมาทดแทนจนหมด โดยใช้การผสมกับทรายลงไปในสูตรการทำบล็อกรีไซเคิล
อ่านต่อ: Green Road บล็อกรีไซเคิลจากขยะพลาสติก ทดแทนยางมะตอย
Craft to Be Bicycle
ออกแบบ: Chatchai Duangjai
ด้วยความสนใจในความงามของงานจักสานหัตถกรรมท้องถิ่นไทย อย่างการจับตอกไม้ไผ่มาขัดกันไปมาจนเกิดลวดลายขึ้นรูปเป็นชิ้นงาน จึงเกิดเป็นความท้าทายในการนำพาวัสดุพื้นถิ่นที่ว่านี้ มาสู่การใช้งานใหม่ ๆ ที่ใช้งานได้จริง ที่สำคัญคือต้องงามตาด้วย
จักรยานคันนี้ออกแบบบนพื้นฐานแบบจักรยาน Fixed Gear เพราะด้วยรูปแบบกลไกที่เรียบง่าย เปิดโอกาสให้สามารถสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการนำมาใช้ขึ้นรูปทรงได้หลากหลาย วัสดุจักสานถูกนำมาพับและดัดโค้ง เพื่อสร้างแนวการรับแรงที่ถูกต้องตามแนวโครงสร้าง ก่อนที่จะนำไปขึ้นรูปด้วยเรซินในลักษณะเดียวกับโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งในขั้นตอนของการจักสานและย้อมสีทั้งหมด โดยได้รับความร่วมมือจาก “ศูนย์ส่งเสริมการจักสานด้วยไม้ไผ่ จังหวัดชลบุรี” ทั้งการกำหนดลายสานและย้อมสี จนได้ผลงานอันน่าภูมิใจ
เฟรมจักรยานจากงานหัตถกรรมไทยแท้อย่าง “งานจักสานไม้ไผ่” นำมาต่อยอดผ่านกระบวนการออกแบบสร้างสรรค์ผสมผสานกับวิธีการขึ้นรูปด้วยกระบวนการผลิตที่เข้าถึงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพอย่าง “แวคคั่มอินฟิวชั่น” จนได้ชิ้นงานมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวและมีคุณภาพทัดเทียมกับสินค้าจากระบบอุตสาหกรรม
เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้งานปัจจุบันที่ส่วนมากบริโภคสินค้าจากระบบอุตสาหกรรมนั้นรู้สึกเข้าถึงสินค้าหัตถกรรมจากชุมชนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ลดความกังวลในเรื่องของภาพลักษณ์และคุณภาพ
และเพื่อแสดงให้ถึงความเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรมว่างานหัตถกรรมไทยแท้ๆจากชุมชนนั้นหากผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ต่อยอดที่ดีและเหมาะสมก็สามารถกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราได้จริงไม่ต่างกับสินค้าจากระบบอุตสาหกรรมที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน
อ่านต่อ: Craft to Be Bicycle เฟรมจักรยานจากงานหัตถกรรมไทยแท้
Loopers
พิชามาศ ชัยงาม / ศรัณย์ ศิริภัทรประวัติ / คณาธิป สุนทรรักษ์ / ธัญณัฐ ทะรังศรี
Loopers เป็นคอมมูนิตี้และแพลตฟอร์มศูนย์กลางในการรวบรวมและส่งต่อเสื้อผ้าคุณภาพดี ให้ทุกคนมาช้อปปิ้งและส่งต่อเสื้อผ้าหลายรูปแบบ ตั้งใจทำให้การส่งต่อเสื้อผ้าใช้แล้วเป็นเรื่องง่ายที่ดีต่อใจ ดีต่อโลก แม้เป็นเรื่องธรรมดาในต่างประเทศ แต่ตลาดเสื้อผ้ามือสองที่มีคุณภาพนั้นยังมีทางเลือกไม่มากนักในไทย
ที่นี่ผู้ซื้อช้อปได้อย่างสบายใจ เพราะ Loopers คัดสรรและตรวจสอบคุณภาพมาให้อย่างดี เสื้อมือสองที่ไม่ผ่านการคัดกรองจะไม่ได้ลงขายในแพลตฟอร์ม ส่วนผู้ฝากขายสามารถลงขายเสื้อผ้าได้ในระยะเวลาสั้นๆ โดย Loopers จัดการการซื้อขายในทุกขั้นตอน ทั้งการนำเสื้อผ้าไปถ่ายภาพอย่างละเอียด วัดขนาด เพื่อให้ผู้ซื้อเห็นภาพชัดเจนที่สุดผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้เสื้อถูกใจผู้ซื้อจริงๆ แทนที่จะไปเป็นขยะในตู้ของอีกคน นอกจากนี้ Loopers ยังจัดการเรื่องการจัดเก็บสินค้าเพื่อรอจำหน่าย แพ็กสินค้า ไปจนถึงการจัดส่งให้ด้วย
.
Loopers ตั้งใจให้เสื้อผ้าทุกตัวถูกใช้และได้รับการดูแลอย่างรู้คุณค่า ยืดอายุการใช้งานให้นานที่สุด และหยุดการบริโภคและผลิตเสื้อผ้าเกินความจำเป็น ลดการใช้ทรัพยากรโลกที่ไม่สามารถทดแทนได้
ข้อมูลเพิ่มเติม: Loopers
Thai Swag
แพร อมตา จิตตะเสนีย์ “Pearypie”
งานออกแบบนิทรรศการผ้าไทยในรูปแบบใหม่ที่ร่วมสมัยกับการใช้งานในปัจจุบัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าผ้าไทยสามารถใช้งานได้หลากหลาย และยังเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ในการจัดการกับผ้าไทย สนับสนุนผ้าท้องถิ่น และเรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม เป็นผลให้เกิดการอนุรักษ์ที่ควบคู่ไปกับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ ร่วมทั้งยังสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาของวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผ้าไทยอันเกิดจากธรรมชาติในท้องถิ่น จึงเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติในอีกทาง
ข้อมูลเพิ่มเติม: Pearypie: Make-up Artist/Theatrical Artist
Green BLOCK นวัตกรรมจากเม็ดเซรามิกมวลเบา
บจก.จรัญธุรกิจ52
บล็อกนวัตกรรมจากเม็ดเซรามิกมวลเบา GREEN ROCK ซึ่งเกิดจากกระบวนการเผาวัตถุดิบ ที่ได้จากของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมให้ได้เม็ดเซรามิกที่มีรูพรุนภายใน (INTERNAL VOIDS) จำนวนมาก เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติด้านความแข็งแรง มีน้ำหนักเบา ดูดซับความชื้นได้ดี เหมาะสำหรับการก่อสร้างผนังอาคารทั้งภายในและภายนอก ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการรับรองจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
UPCYDE
อัปไซเคิลผลไม้เหลือทิ้งใกล้ตัวสู่ ‘วัสดุใหม่’ อีกทางเลือกของอุตสาหกรรมต่างๆพืชผลเหลือทิ้งทางการเกษตรในแต่ละปีนั้นมีปริมาณมากมายกว่าที่เราคิด แม้ย่อยสลายได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาและแนวทางจัดการที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม จึงกลายเป็นภาระและต้นทุนสำหรับทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของ UPCYDE จากความสนใจที่จะนำขยะทางการเกษตรกลับมาใช้ใหม่ ได้นำไปสู่การทดลองสร้างสรรค์วัสดุใหม่จากพืชและผลไม้ส่วนเกิน อาทิ กล้วย มะนาว มะพร้าว สับปะรด กาแฟ ข้าว ฯลฯ ซึ่งรับซื้อจากเกษตรกรท้องถิ่น และโรงงานแปรรูปผลไม้ทั่วไทย ด้วยความตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา ที่มักไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมต่างๆ
คุณมายรวมกลุ่มกับเพื่อนจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ร่วมกันศึกษางานวิจัยคุณสมบัติของวัตถุดิบชนิดต่างๆ ก่อนเริ่มทดลองผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่น และต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย UPCYDE Material ที่สามารถใช้ทดแทนหนังแท้หรือหนังเทียม (PU) ที่ผลิตจากกระบวนการที่ไม่เป็นมิตรกับแรงงานและสิ่งแวดล้อม โดยมีคุณสมบัติ และทางเลือกของสีสันและพื้นผิว ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ซึ่งขณะนี้ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเส้นใยกล้วย สับปะรดและผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เพื่อส่งต่อให้ช่างทอในชุมชนท้องถิ่นสอดแทรกไปพร้อมกับการทอผ้าตามภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อสร้างทางเลือกวัสดุให้หลากหลายยิ่งขึ้น
นอกจากความพยายามในการนำขยะทางการเกษตรกลับมาใช้ใหม่และลดภาระด้านการจัดการให้กับผู้ประกอบการแล้วนั้น solution ของ UPCYDE ยังทำให้เกิดเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับเกษตรกรในระยะยาวอีกด้วย การพัฒนาวัสดุใหม่นี้ จึงมิใช่แค่เพียงการสร้างทางเลือกให้กับ อุตสาหกรรมแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ ยานยนต์ และอื่นๆ แต่ยังตั้งใจจะจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างยั่งยืน
แน่นอนว่าวัสดุจากวัตถุดิบธรรมชาติย่อมยากที่จะควบคุมสีสัน และลวดลายให้ได้สม่ำเสมอเหมือนกระบวนการทางเคมี ซึ่ง UPCYDE ก้าวข้ามความท้าทายและทำให้วัสดุตอบโจทย์มาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมสำหรับตลาดยุโรปได้เรียบร้อยแล้ว ความท้าทายต่อไปจึงอยู่ที่การพัฒนาให้วัสดุสามารถย่อยสลายได้เอง 100% โดยคงคุณภาพ และอายุการใช้งานวัสดุไม่สั้นลง
UPCYDE Material ขนาด 1 ตารางเมตร ใช้วัตถุดิบจากผลผลิตการเกษตรเหลือทิ้งประมาณ 1-2 กก. โดยเป้าหมายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า คือความตั้งใจจะลดขยะการเกษตรให้ได้ 5 ล้านกิโลกรัม ด้วยเหตุนี้ UPCYDE จึงพร้อมมองหาพาร์ทเนอร์มาร่วมกันสร้างความเป็นไปได้ใหม่ของวัสดุทางเลือก ที่จะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในหลายๆ มิติ
ปัจจุบัน UPCYDE จำหน่ายวัสดุเป็นหลักรวมถึงรับผลิตสินค้าด้วยวัสดุใหม่นี้ สามารถสั่งตามหน้ากว้างมาตรฐาน 1 / 1.2 / 1.5 เมตร ในความยาวไม่จำกัดเหมือนการสั่งซื้อสิ่งทอทั่วไป
สนใจติดต่อ
โทร: 09-2541-9456
เว็บไซต์: www.upcyde.space
Instagram: upcyde.co
อีเมล: [email protected]
ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา
VIN VARAVARN ARCHITECTS
ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา เป็นอาคารที่มีหลังคาทรงแปลกตาสไตล์ Tropical Modern ที่มี อิฐมอญเป็นองค์ประกอบหลัก ตั้งอยู่ในพื้นที่ของเขาใหญ่ เพื่อรองรับกิจกรรมอบรมที่เกิดขึ้นภายในศูนย์ โดยคุณผึ้ง-พรรณราย พหลโยธิน เป็นผู้ก่อตั้ง จากแนวคิดของอ.ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร
โดยมีความตั้งใจให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ทางด้านการเกษตรพอเพียง ออกแบบมาให้ผู้คนได้เข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น มีความสะดวกสบายมากไม่ลำบากจนเกินไป อยู่กับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน หรือเรียกว่ามีความทันสมัยได้ ไม่ได้จำกัดรูปแบบจากภาพเดิมของคำว่า “พอเพียง” เพื่อให้คนที่เข้ามาได้สัมผัสถึงแก่นของศาสตร์ด้านนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
อ่านต่อ: ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา สถาปัตย์+กสิกรรม อาคารโมเดิร์นผสานโคกหนองนาโมเดล
หอพักพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย
Plan Architect
อาคารหอพักพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกแบบโดยศึกษาจากความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของเหล่าพยาบาล งานสถาปัตยกรรมมีความสัมพันธ์กับสภาพภูมิอากาศ เพื่อการอยู่อาศัยที่แทบจะไม่ต้องพึ่งระบบปรับอากาศ ตัวอาคารแยกออกเป็นสองฝั่ง เมื่อแหงนมองขึ้นไปจากจุดที่ยืนกลางคอร์ตอาคาร จะเห็นทางเดินเข้าสู่ห้องพักโดยรอบทุกชั้น มีช่องแสงส่องลงมาจากหลังคาด้านบนให้ความรู้สึกโปร่งสบาย โดยคอร์ตกลางนี้ทำหน้าที่เป็นปล่องลมกลางอาคาร เมื่ออากาศร้อนลอยตัวสูงขึ้น ช่องลมจากด้านล่าง และตรงกลางจะพาลมเย็นเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดอากาศถ่ายเทตลอดเวลา
ภายนอกจะเห็นสัญลักษณ์เครื่องหมายบวก เป็นความตั้งใจของสถาปนิกที่ต้องการให้อาคารนี้มีสัญลักษณ์อุณาโลมแดง หรือเครื่องหมายบวกสีแดงของสภากาชาดไทย โดยลดทอนความเป็นเหลี่ยมมุมของสัญลักษณ์ และใช้สีน้ำตาลเพื่อให้แตกต่างจากสีขาวของตัวอาคาร พื้นที่ตรงตำแหน่งสัญลักษณ์อุณาโลมแดงนี้ยังเป็นช่องลมดึงลมเย็นเข้าไปยังเป็นพื้นที่ส่วนกลาง 3-4 ชั้น ที่เชื่อมด้วยบันไดสีขาว ให้เหล่าพยาบาลมานั่งเล่น อ่านหนังสือ และเดินเล่นได้
ขณะที่ภายในห้องพัก พยาบาลทั้งสองคนจะมีพื้นที่นอนที่เป็นส่วนตัว โต๊ะอ่านหนังสือ แต่งหน้า และตู้เสื้อผ้า ถูกกำหนดให้อยู่คนละฝั่งอย่างเป็นสัดส่วน ไม่ว่าจะนอนด้านในหรือด้านนอกต่างก็ได้รับแสง ลม และวิวภายนอกเท่าเทียมกัน เป็นการจัดวางผังหอพักที่ดีต่อการอยู่อาศัยร่วมกันของคนหมู่มาก สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เหล่าพยาบาลผู้ทำงานหนักให้สามารถพักผ่อนได้เต็มที่ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีของการทำงานต่อไป
อ่าน: หอพักพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
บ้านพอดีพอดี
Walllasia โดย สุริยะ อัมพันศิริรัตน์
บ้านพอดี พอดี (พื้นที่ใช้สอยภายใน 30 ตร.ม.) เกิดจากความร่วมมือกันของหลากหลายภาคส่วน สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 มุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนา “บ้าน” ที่เรียบง่าย สะดวกต่อการก่อสร้างภายในเวลาอันสั้น ด้วยงบประมาณที่ประหยัด (180,000-250,000 บาท *ราคาอาจแปรผันตามวัสดุทดแทนจากการนำวัสดุเก่ากลับมาใช้ใหม่) โดยใช้วัสดุทุกชิ้นให้เกิดประโยชน์สุดสูง ด้วยการคำนวนพิกัดให้เหลือเศษวัสดุน้อยที่สุด เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างบ้านในงบที่จำกัด หรือสามารถเป็นกุฏิสร้างถวายวัด หรือเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับท่านที่สนใจเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในแบบของตน โดยมีหัวใจสำคัญในการออกแบบคือ
1. ง่ายพอดี
ทำให้การสร้างบ้านเป็นเรื่องง่ายและใช้เวลาในการสร้างให้น้อยที่สุด ใครก็สร้างบ้านได้ แค่มีความรู้เชิงช่าง และมีลูกมือ 2-3 คน ก็สามารถสร้างได้ทันที
2. ราคาพอดี
ปรับเปลี่ยนวัสดุก่อสร้างเดิมเป็นซีเมนต์บอร์ด ที่ราคาย่อมเยากว่า ทั้งยังแข็งแรง ทนทาน ประกอบง่ายด้วย
3. เบียดเบียนโลกแต่พอดี
ออกแบบโดยคำนึงถึงการใช้วัสดุให้เหลือเศษน้อยที่สุด
4. อุ่นใจพอดี ออกแบบให้สามารถรับมือภัยพิบัติอย่างน้ำท่วมได้ดี ด้วยการออกแบบใต้ถุนยกสูงถึง 1.9 เมตร
ข้อมูลเพิ่มเติม: Vin Varavarn Architects
ELEPHANT WORLD
Bangkok Project Studio Bangkok Project Studio โดย ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา
โครงการ ELEPHANT WORLD นั้นตั้งอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นสถาปัตยกรรมที่ออกแบบโดยมีการใช้สัดส่วนของช้างเป็นพื้นฐาน จึงทำให้ตัวสถาปัตยกรรมทั้งโครงการมีความน่าสนใจ และส่งเสริมวัฒนธรรมของคนที่อยู่ร่วมกับช้างอย่างสอดคล้องแยบยลผ่านงานออกแบบ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมได้เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างอย่างใกล้ชิด
ภายในโครงการนั้นประกอบไปด้วย 𝗘𝗹𝗲𝗽𝗵𝗮𝗻𝘁 𝗽𝗹𝗮𝘆𝗴𝗿𝗼𝘂𝗻𝗱 – อาคารลานวัฒนธรรมของชาวกุย ช้าง และป่า 𝗕𝗿𝗶𝗰𝗸 𝗧𝗼𝘄𝗲𝗿 – หอชมวิวเพื่อรับชมทิวทัศน์ มองเห็นภาพกว้างของโครงการ และ 𝗘𝗹𝗲𝗽𝗵𝗮𝗻𝘁 𝗠𝘂𝘀𝗲𝘂𝗺 – พิพิธภัณฑ์ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ ให้ความรู้ด้านวัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตระหว่างคนกับช้าง
ข้อมูลเพิ่มเติม: Bangkok Project Studio
THE MOTIFS ECO HOTEL
Eco Architect
พื้นที่สำหรับผู้สนใจได้ทดลองใช้ชีวิตที่ดีต่อโลกมากขึ้น หรือที่เรียกกันติดปากว่า “การใช้ชีวิตแบบ ECO” โดยที่ตัวโรงแรมออกแบบโดยยึดหลักการส่งเสริมวิถี ECO ในหลากมิติ ตั้งแต่สถาปัตยกรรม บริบทที่สอดคล้องกับชุมชน ไปจนถึงรูปแบบการดำเนินการและกิจกรรมของตัวโรงแรม
The Motifs Eco Hotel ตั้งอยู่ที่จันทบุรี บนถนนท่าแฉลบ ตัวโรงแรมห่างออกมาจากตัวเมืองไม่ไกล ภายในชุมชนเล็ก ๆ ที่เป็นบ้าน 2-3 ชั้น กับความตั้งใจของเจ้าของที่อยากสร้างโรงแรมในที่ดินตกทอดของครอบครัว ให้เป็นส่วนเดียวกันกับชุมชน เพื่อถ่ายทอดเสน่ห์และอัตลักษณ์ของเมืองจันท์ ทั้งยังส่งเสริมวิถีการใช้ชีวิตแบบ ECO จึงกลายมาเป็น The Motifs Eco Hotel โดยมีสถาปนิกที่โดดเด่นด้านการสร้างอาคารที่สอดรับกับธรรมชาติอย่างคุณแก้ว-คำรน สุทธิ จาก Eco Architect มาเป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบให้
รายละเอียดและความโดดเด่นของตัวอาคาร คือเอกลักษณ์การออกแบบบานหน้าต่าง ลวดลาย และซุ้มโค้ง ที่ทำให้เมื่อมองผ่านจากห้องสู่ภายนอก หรือจากพื้นที่หนึ่งสู่อีกพื้นที่หนึ่งจะได้บรรยากาศที่โรแมนติก มีความคล้ายบ้านเก่า แต่ในการปรับใช้นั้นก็ได้มีการคลี่คลายรายละเอียดเพื่อให้องค์ประกอบดั้งเดิมนั้น สามารถเข้ากันได้กับสถาปัตยกรรมโมเดิร์นได้ดี พร้อมการเปิดพื้นที่ภายในให้สามารถรับแสงและลมธรรมชาติเข้าสู่ทุกห้องและทุกพื้นที่ได้ อีกทั้งยังนำเสนอประสบการณ์ให้ผู้เข้าพักได้สัมผัสถึงธรรมชาติและสภาพอากาศของเมืองจันท์ ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนชื้นคล้ายภาคใต้ ด้วยการออกแบบให้อาคารมีการเว้นที่ว่างเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกห้องได้รับแดด ลม ฝน และรู้สึกถึงธรรมชาติของจันทบุรีได้อย่างแท้จริง
อ่านต่อ: THE MOTIFS ECO HOTEL โรงแรมที่เปิดโอกาสให้สัมผัสสายลม และแสงแดดในแบบจันทบุรี
Tamni Hostel
PO-D Architects
การออกแบบ Tamni Hostel มีขึ้นเพื่อสร้างให้ชุมชนได้กลับมาคึกคักดังเช่นวันวาน มากกว่าจะเป็นในแง่ของธุรกิจ เพราะเมื่อลักษณะของชุมชนที่ทำธุรกิจโรงกลึงขนาดเล็ก และค้าเหล็กเป็นสำคัญ เริ่มที่จะตามยุคสมัยไม่ทัน การเพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จึงเป็นเหมือนทางออกหนึ่งที่จะสร้างให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โฮสเทล คาเฟ่ และพื้นที่สำนักงานผสมกับ AirBnb เป็นเหมือนกับห้องรับแขกของชุมชนที่ทำให้คนจากพื้นที่ต่าง ๆ เดินทางเข้ามามากขึ้น เมื่อพื้นที่แห่งนี้กลับมาเป็นจุดหมายที่น่าสนใจ การต่อยอดไปในอนาคตก็คงไม่ไกลเกินจะเกิดขึ้นได้จริง
ในส่วนของงานออกแบบนั้น อาคารทั้งหมดได้ออกแบบจากโครงสร้างเดิมของ “หมู่ตึกแถว” ในซอยพระยาสิงหเสนี ผสานกับการเลือกใช้องค์ประกอบอาคารเดิมมาผสมผสานในการใช้งานใหม่ คอนเซ็ปต์ในคำว่า “ตำหนิ” ยังคงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะการปรับใช้องค์ประกอบอาคารเดิมในรูปแบบใหม่ เปรียบเสมือนชุมชนที่ต้องมีการปรับตัวไปตามยุคสมัย และมากกว่านั้นการออกแบบโดยใช้โครงสร้างและองค์ประกอบเดิม ยังช่วยให้อาคารดูเป็นมิตรและกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับชุมชนอีกด้วย
อ่านต่อ: “Tamni Hostel” ภาพแทนของร่องรอยสิ่งที่เป็นชุมชนในพื้นที่ซอยพระยาสิงหเสนี
เกี๊ยวหนองบัว
ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ
การรีโนเวตร้านบะหมี่เก่าแก่ที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 50 ปี ซึ่งเป็นเหมือนพื้นที่ที่มีความผูกพันกับผู้คนในจังหวัด ให้มีความโดดเด่นด้วยตัวอาคารสีขาวดีไซน์เรียบง่ายและปนกลิ่นอายวินเทจ เพื่อบ่งบอกว่าแม้จะรีแบรนด์ใหม่อย่างไร แต่รสชาติความอร่อยยังคงไม่เปลี่ยน เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีการนำเอาองค์ประกอบดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ภายใน เป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างพื้นที่และความเป็นไปได้ใหม่ให้กับอัตลักษณ์ดั้งเดิมได้มีเส้นทางไปต่อแม้ในโลกปัจจุบัน
อ่านต่อ: KIEW NONG BUA ร้านบะหมี่เก่าแก่ในจังหวัดตราด กับการรีแบรนด์ใหม่ที่ดึงดูดลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่
GalileOasis
GalileOasis โครงการรีโนเวตตึกแถวเก่าอายุกว่า 40 ปี กว่า 20 คูหา ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้อาร์ตสเปซที่รวบรวมทั้งอาร์ตแกลเลอรี่ โรงละคร โฮสเทล ร้านอาหาร ร้านขนม และรีเทลช็อป ก่อตั้งโดยกลุ่มเพื่อน ๆ คณะละครสองแปด เพื่อหวังให้ที่นี่เป็นแหล่งรวมตัวของคนรักงานศิลปะ เสมือนเป็นฮิดเด้นเพลสกลางย่านบรรทัดทอง ปลุกชุมชนที่เคยเงียบเหงาให้กลับมาคึกคักและมีสีสันอีกครั้ง
ความเซอร์ไพรส์ของที่นี่คือการพาทุกคนเดินผ่านตรอกเล็ก ๆ ข้างโรงเรียนกิ่งเพชร กลางชุมชนบ้านครัวเหนือ (ชุมชนเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม) ก่อนจะพบกับตึกแถวเก่าที่ตรงหัวมุมสุดทางเดิน โดยได้รับการรีโนเวตให้เปิดเป็นคาเฟ่ที่มีชื่อว่า Piccolo Vicolo คาเฟ่แรกของโครงการที่ทำให้ทุกคนเริ่มรู้จักสถานที่แห่งนี้ ก่อนพื้นที่อื่น ๆ จะได้รับการรีโนเวตตามมาจนมีบรรยากาศคึกคักในปัจจุบัน
เดิมที่นี่เป็นชุมชนของคนห้องแถว ซึ่งเป็นที่ดินของครอบครัวอาจารย์รัศมี เผ่าเหลืองทอง เมื่อกาลเวลาผ่านไปสภาพอาคารเริ่มทรุดโทรม บวกกับบางห้องหมดสัญญาเช่า กลุ่มคณะละครสองแปด(ลูกศิษย์เอกการละคร มหาวิทยาลัยศิลปากรของอาจารย์รัศมี) จึงขอเช่าพื้นที่เพื่อสร้างสรรค์และรีโนเวตตึกแถวทั้งหมด โดยยังคงโครงสร้างและสภาพเดิมของตึกแถวไว้บางส่วน เพื่อช่วยบอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของสถานที่ ก่อนจะกลายเป็นคอมมูนิตี้ของคนรักงานศิลปะ เปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีสีสันและชีวิตชีวาอีกครั้ง ภายใต้บทบาทใหม่ให้อบอวลไปด้วยงานสร้างสรรค์ เต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ดีมีสีเขียวของพรรณไม้นานาชนิดที่ปลูกแทรกตัวอยู่ทุกมุม ราวกับเป็นโอเอซิสกลางกรุงเทพ ฯ เพื่อให้ทุกคนลืมความวุ่นวายภายนอก ชักชวนให้ทั้งคนในชุมชนและนอกชุมชนได้มาใช้พื้นที่พักผ่อนร่วมกันอย่างเป็นมิตร
อ่านต่อ: โครงการปลุกชีวิตให้ตึกแถวเก่ากลายเป็นคอมมูนิตี้อาร์ตสเปซกลางชุมชนดั้งเดิม
ATHITA THE HIDDEN COURT CHIANG SAEN
Studio Miti
บูติกโฮเทลดีไซน์ร่วมสมัยผสานกลิ่นอายล้านนาในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่ตั้งใจสร้างโรงแรมให้เป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน โดดเด่นด้วยทำเลซึ่งหันเข้าหาด้านหน้าของวัดอาทิต้นแก้ว วัดโบราณที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย โดยเคยเป็นวัดร้างเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2038 สมัยพระเมืองแสน แห่งราชวงศ์มังราย ตั้งอยู่ใกล้ประตูเมืองเชียงแสนทางด้านทิศเหนือ ห่างออกไปประมาณ 700 เมตร สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระเจดีย์ประธานที่สร้างครอบซ้อนกันสององค์ และพระวิหารที่มีฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป
จากบริบทและประวัติศาสตร์ของที่ตั้งดังกล่าว ได้ส่งผลต่อแนวทางการออกแบบและก่อสร้างสถาปัตยกรรมของโรงแรม ซึ่งได้รับการออกแบบโดย Studio Miti ดังนั้น เพื่อให้เข้ากับกลิ่นอายของท้องถิ่นและโบราณสถาน สถาปนิกได้เน้นใช้อิฐมวลทำมือเอกลักษณ์ของเชียงแสน มาเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับโบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียง ร่วมกับไม้สักที่หาได้ในท้องถิ่น ผสมผสานไปกับเทคนิคเชิงช่างซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาการสร้างบ้านไทยอย่าง เทคนิคแบบฝาไหลที่มีลักษณะเป็นบานเลื่อน ช่วยนำแสงเข้าสู่พื้นที่ภายในห้องพัก อีกทั้งด้านบนยังออกแบบหลังคาสกายไลท์ซึ่งเป็นเทคนิคแบบโมเดิร์นเข้ามาเสริม ดึงแสงธรรมชาติให้ส่องผ่านลงมายังพื้นที่ด้านล่าง อีกทั้งอิฐยังช่วยให้อาคารเย็นสบายไม่ร้อนช่วยประหยัดพลังงานไปในตัว
ประกอบกับข้อสันนิษฐานที่ว่าในสมัยก่อนพื้นที่ตั้งของโรงแรมนี้เคยเป็นข่วง (คำในภาษาล้านนา) หมายถึง ลานกิจกรรม หรือ Court ในภาษาอังกฤษ สถาปนิกจึงนำแนวคิดการออกแบบที่ใช้คอร์ต หรือพื้นที่ว่าง มาช่วยในการจัดการพื้นที่ และเชื่อมส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เป็นการนำมรดกทางวัฒนธรรมล้านนามาใช้เป็นแนวคิดในการออกแบบ และนำมาสู่ที่มาของชื่อโรงแรม
และเนื่องจากเชียงแสนเป็นเมืองโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งของแคว้นล้านนา อีกทั้งเคยเป็นทั้งศูนย์กลางการปกครอง ศิลปะและวัฒนธรรมที่มีความเจริญและเฟื่องฟูอย่างมาก จนกระทั่งอำนาจการปกครองเริ่มเสื่อมถอย และผู้คนย้ายถิ่นฐาน เมืองเชียงแสนก็กลายเป็นแค่เมืองเล็ก ๆ ในสายตาของผู้คนยุคปัจจุบัน การสร้างโรงแรมแห่งนี้ขึ้นจึงนับเป็นการนำพาผู้คนให้มารู้จักเมืองเชียงแสน ช่วยให้เมืองเชียงแสนกลับมาคึกคักและได้รับการกล่าวถึงอีกครั้ง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบและอยากศึกษาวัฒนธรรมล้านนา ส่งผลไม่ทางตรงก็ทางอ้อมให้แก่คนในท้องถิ่นกลับมาอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของบ้านเกิด ผลักดันให้เกิดการพัฒนาร่วมกันในชุมชนต่อไป
อ่านต่อ: ATHITA THE HIDDEN COURT CHIANG SAEN ซ่อน “ความสุข” และ “ความสงบ” หลังกำแพงอิฐกลางเมือง
สวนป่าเบญจกิตติ
บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด, Landscape studio by Arsomsilp
โครงการปรับปรุงพื้นที่โรงงานยาสูบเก่า บนที่ดินกว่า 259 ไร่ ให้กลายเป็นสวนสาธารณะเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนขนาดใหญ่กลางเมือง สำหรับเฟสใหม่ที่เพิ่งเสร็จสมบูรณ์ไป ไม่ใช่เพียงการปลูกต้นไม้และทำทางเดินสำหรับวิ่งและออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่สำหรับสร้างระบบนิเวศเลียนแบบธรรมชาติที่สมบูรณ์ โดยพบว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพที่ซับซ้อนของพันธุ์พืชและสิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่กำลังสูญหายไปจากการขยายตัวของเมือง มีสวนทำหน้าที่เป็นเสมือนฟองน้ำ ช่วยรับน้ำที่ระบายไม่ทันและกำลังท่วมขังมากักเก็บไว้ ทั้งยังช่วยบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ กลายเป็นพื้นที่หน่วงน้ำในกรณีที่มีน้ำมากเกินความจำเป็น และเป็นสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะน้ำจากคลองไผ่สิงโตที่อยู่ทางทิศเหนือของสวน
เศษวัสดุที่เกิดจากการรื้อถอนอาคาร ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างงานฮาร์ดสเคปในสวน เช่น ทำระบบทางเดินน้ำในส่วนของคลองระบายน้ำ หรือแม้แต่เศษคอนกรีตทั่วไปก็ถูกนำมาทุบให้เล็ก ใช้ทำหน้าที่เหมือนหินธรรมชาติ เพื่อรองรับน้ำไหลบ่าบนผิวดิน (Surface Runoff) เป็นการลดค่าขนส่งเศษขยะ และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด
ในส่วนของพรรณไม้ในสวนจะเก็บต้นไม้เดิมไว้ทั้งหมด พร้อมเพิ่มต้นไม้ใหม่ที่เป็นพืชท้องถิ่นเดิมในกรุงเทพฯ กว่า 300 ชนิด ทั้งหมดจัดออกมาเป็นสวนแบบวนเกษตร สำหรับโกดังเก็บใบยาสูบและโรงงานผลิตยาสูบเก่า เตรียมรีโนเวตให้เป็นอาคารกีฬาในร่ม และอาคารพิพิธภัณฑ์ที่รองรับผู้ใช้งานได้ถึง 3,000 คน มีแปลงเกษตรสาธิตและอัฒจันทร์รองรับการจัดกิจกรรม จุคนได้กว่า 15,000 คน ทั้งหมดเป็นการออกแบบที่ยังคงอนุรักษ์คุณค่าของตัวสถาปัตยกรรมเดิมไว้อย่างครบถ้วน
We!Park
we!park แพลตฟอร์มกลาง ที่เปิดให้ผู้คนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ สร้างสรรค์และค้นหากลไกการดูแลพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็กในเมืองให้มีคุณภาพและยั่งยืน โดยใช้ฐานของความรู้และข้อมูลที่ผ่านการเก็บรวบรวม เพื่อใช้สนับสนุนงานวิจัยด้านการออกแบบและการพัฒนาพื้นที่ สำหรับสร้างองค์ความรู้และสื่อสารสู่สาธารณะ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจด้านพื้นที่สาธารณะสีเขียวในวงกว้าง ก่อนนำผลลัพธ์ที่ได้ไปยื่นเสนอในเชิงนโยบายต่อกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองต่อไป
เมื่อทำการศึกษาผังเมืองกรุงเทพฯ จะพบว่า พื้นที่เมืองหนาแน่นไปด้วยพื้นที่อยู่อาศัยและอาคารสูง การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว หรือสวนสาธารณะนั้นต้องใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างมาก ประกอบกับขาดพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นสวนได้ นำมาสู่การเลือกพื้นที่ว่างขนาดเล็ก หรือพื้นที่เศษเหลือของเมือง เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่หน้าอาคาร หรือพื้นที่รอการพัฒนา ที่มีศักยภาพพอจะสามารถเปลี่ยนและเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว สำหรับพัฒนาเป็นพื้นที่สุขภาวะทางกายและใจ พื้นที่พักผ่อน พื้นที่ทำกิจกรรมทางสังคม และพื้นที่ธรรมชาติ ตอบรับกับต้องการของผู้คนและสภาพแวดล้อมโดยรอบ ช่วยให้ทุกคนสามารถเดินไปใช้งานได้สะดวก ไม่ไกล และอยู่ในละแวกบ้านของตนเอง
อ่านต่อ: we!park แพลทฟอร์มที่ชวนให้ทุกคนเป็นเจ้าของสวนในเมือง
Low Cost Housing
Vin Varavarn Architects
โครงการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ด้อยโอกาสในกรุงเทพฯ และ 25 จังหวัดภาคกลาง ดาเนินงานโดยกองทัพภาคที่ 1 และจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนโครงการจิตอาสา ตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 10 พร้อมสนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เข้ามาร่วมลงพื้นที่จริงในการปฏิบัติงานด้วย
โดยได้บริษัทสถาปนิกอย่าง Vin Varavarn Architects Ltd. หรือ VVA นาโดย คุณวิน ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ เข้ามาช่วยปรับรูปแบบบ้านเดิมให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น ทั้งความสวยงาม โครงสร้าง สัดส่วน และรูปแบบการก่อสร้างภายใต้การบริหารข้อจากัดด้านการใช้วัสดุ การก่อสร้าง ต้นทุน และปัญหาหน้างาน โดยจะเน้นให้ความสาคัญกับพฤติกรรมการใช้งานเเละความปลอดภัย ไปพร้อม ๆ กับความสวยงามในรูปแบบที่ชาวบ้านสามารถเข้าใจได้ง่าย แบบบ้านโครงสร้างเหล็กเดิมที่มีแบบมาตรฐานเดียว จึงได้รับการออกแบบใหม่ให้เป็นแบบมาตรฐาน 4 แบบ ที่สามารถปรับเพิ่มให้เป็น 8 แบบได้ตามหน้างานของพื้นที่ก่อสร้างจริง
แต่ละแบบสถาปนิกจะกาหนดวิธีการปรับขยายตัวบ้าน เพื่อลดปัญหาหน้างานลงให้ได้มากที่สุด เนื่องจากแต่ละครอบครัวจะมีการจับจองขนาดที่ดินไม่เท่ากัน อีกทั้งจานวนสมาชิกที่หลากหลาย จึงจาเป็นต้องปรับเปลี่ยนแบบบ้านไปตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย หรือที่เรียกว่า custom-made ซึ่งยังต้องคงรักษาภาพรวมของงานออกแบบที่ได้มาตรฐานไว้
อ่านต่อ : Low Cost Housing แบบบ้านงบจำกัด ยกระดับคุณภาพชีวิต
สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
สำนักงานผังเมือง กรุงเทพมหานคร, ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC),กรมทางหลวงชนบท, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, กรมเจ้าท่า เขตพระนคร เขตคลองสาน เขตธนบุรี, N7A และ LandProcess
โครงการฟื้นฟูเมืองนำร่องที่มีศักยภาพในโครงการกรุงเทพฯ 250 โดยการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินอายุกว่า 30 ปี ซึ่งปัจจุบันถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ มาออกแบบเป็นทางเดิน-จักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เชื่อมพื้นที่ฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีเข้าหากัน และเป็นพื้นที่สีเขียวระดับเมืองที่มีประโยชน์ต่อชุมชนและสาธารณะ อย่างการเป็นทางเลือกการสัญจรข้ามแม่น้ำ เชื่อมต่อโครงข่ายทางจักรยานรอบเมืองเก่า ส่งเสริมศักยภาพจุดเปลี่ยนถ่ายทางเรือบริเวณท่าเรือสะพานพุทธส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมฝั่งรัตนโกสินทร์และธนบุรี และสร้างภูมิสัญลักษณ์ (Landmark) ที่มีชีวิตชีวาให้ย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำทั้งสองฝั่ง
การสื่อสารระบบขนส่งสาธารณะผ่านงานออกแบบกราฟิก
Mayday
บ่อยครั้งที่การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเมืองใหญ่เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า งง! จะขึ้นรถไปต่อเรืออย่างไร หรือหาสายรถเมล์ที่ถูกต้องนั้นช่างยากเหลือเกิน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว Mayday คือนักสื่อสารระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถเดินทางได้สะดวกสบาย และไปถึงจุดหมายได้ง่ายขึ้น โดยมีผลงานการออกแบบป้ายทั้งรถเมล์ และเรือ ทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ด้วยเชื่อว่าระบบขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกหนึ่งของคนเมืองในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ดังนั้นระบบที่ดีจึงต้องสามารถใช้งานได้ดีด้วยเช่นกัน
ทีมนักออกแบบ Mayday จึงต้องลุกขึ้นมาทำให้ระบบต่าง ๆ สามารถทำงานเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว ทั้งยังเข้าใจได้ง่ายขึ้น ผ่านงานออกแบบเชิงกราฟิกที่ศึกษาพฤติกรรมมาอย่างดี
เมื่อการใช้งานระบบสาธารณะทำงานได้ดีขึ้นแล้ว คุณภาพชีวิตของคนในเมืองก็จะดีตามไปด้วย เพราะสาธารณูปโภคพื้นฐานเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น การสร้างอย่างเดียวจึงไม่พอ Mayday จึงเป็นตัวอย่างของกลุ่มคนที่ช่วยขับเคลื่อนให้สิ่งเหล่านี้สามารถเข้าถึงผู้คนหมู่มากได้สำเร็จและใช้งานได้จริง
อ่านต่อ: MAYDAY ผู้รังสรรค์ป้ายรถเมล์เปลี่ยนเมือง
สะพานเขียว
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC), Atom Design, Studio TAILA, Lanscape Collaboration, LRIC, QBIC, THAI-THAM
สะพานเขียวหรือทางคนเดิน-จักรยาน มีลักษณะเป็นทางลอยฟ้าที่มีระยะทางประมาณ 1.4 กิโลเมตร ทำหน้าที่เชื่อมต่อสวนสาธารณะสองสวนสำคัญใจกลางเมืองอย่าง สวนลุมพินี และสวนเบญจกิติเข้าด้วยกัน ทั้งยังเชื่อมเข้าสู่แหล่งอาศัยข้างเคียงอย่าง ชุมชนร่วมฤดี ชุมชนซอยโปโล และชุมชนโบสถ์มหาไถ่ แต่เนื่องจากสภาพปัจจุบันที่มีความทรุดโทรม และเป็นพื้นที่ที่ถูกใช้งานเฉพาะกลางวัน เนื่องจากกลางคืนค่อนข้างเปลี่ยว จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงและซ่อมแซมส่วนของโครงสร้างรวมไปถึงภูมิทัศน์โดยรอบให้มีความสวยงาม มีแสงสว่างที่เอื้อต่อความปลอดภัยในเวลากลางคืน เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในกับชุมชนและเมืองโดยออกแบบตามแนวคิด “สีเขียวเชื่อมย่านสะพานเชื่อมเมือง” ที่สะท้อนหัวใจของแนวคิดการฟื้นฟูโครงสร้างลอยฟ้าอายุกว่า 20 ปี ด้วยการเพิ่ม “ความเขียว” ด้วยการเพิ่มเติมพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ พร้อมกับสร้างแลนด์มาร์กใหม่ใน 3 จุดสำคัญ ได้แก่ บริเวณสะพานลอยข้ามแยกสารสิน บริเวณทางลอยฟ้าเหนือทางพิเศษเฉลิมมหานคร และสะพานลอยถนนรัชดาภิเษก ที่สำคัญคือปรับปรุงด้วยการเสริมทางลาดที่ได้มาตรฐานเข้าไป ตามหลักการ Universal Design เพื่อตอบโจทย์กับผู้ใช้งานทุกคน
Imagine Maekha แผนพัฒนาฟื้นฟูคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่
ใจบ้าน สตูดิโอ
คลองแม่ข่า คือคลองสำคัญที่มีต้นกำเนิดมาจากบนเขาไหลผ่านเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะไปบรรจบที่แม่น้ำปิง ซึ่งเป็นคลองที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม ชุมชน และผู้คน นับเป็นสะพานนิเวศที่เชื่อมธรรมชาติเข้ากับผู้คนและเศรษฐกิจ นำมาสู่โครงการ Imagine Maekha ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาชน ประชาสังคม และภาควิชาชีพนักออกแบบเมือง โดยมีจุดยืนเพื่อจะสื่อสารทางเลือกใหม่ ๆ จินตนาการใหม่ของการพัฒนาคลองแม่ข่าทั้งระบบ โดยเฉพาะในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาคลองที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมือง
เน้นการทำงานเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สาธารณะในรูปแบบที่หลากหลายและมีคุณภาพที่ดีจริง ๆ ให้กับเมืองเชียงใหม่ รวมถึงการวางระบบการจัดการน้ำเสียในระดับย่านและเมือง และการแก้ปัญหาเรื่องการจัดการที่อยู่อาศัยในเชิงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนริมคลอง ที่เป็นกำลังหลักในภาคบริการที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง โดยมีสิ่งที่ผลักดันมาตลอด 4 เรื่องสำคัญ ๆ ได้แก่
1. ผังแม่บทการพัฒนาที่รอบด้านที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจ การมองเห็นศักยภาพ โอกาสของการพัฒนาเมืองในอนาคต และให้การพัฒนาคลองแม่ข่าครั้งนี้เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ไม่ใช่การแก้ปัญหาเป็นท่อน ๆ ที่ขาดจากกัน ซึ่งเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจในการออกแบบเชิงระบบ เพื่อผลักดันแผนแม่บทนี้ให้เกิดขึ้นจริงในระบบของส่วนงานราชการ
2. การบูรณาการกันของหน่วยงานโดยมีจินตภาพร่วมของการพัฒนา มีตัวชี้วัดของสิ่งที่เรียกว่าความสำเร็จร่วมกันที่เป็นรูปธรรม เพราะหากเอาความท้าทายของพื้นที่เป็นตัวตั้ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ไม่สามารถทำให้เกิดความสำเร็จได้ มันเพียงแต่เสร็จ หากไร้ประสิทธิภาพ และเป็นการเอาภาษีของรัฐมาใช้อย่างไม่คุ้มค่า
3. การลงทุนด้านงบประมาณและเวลาในการวางแผนออกแบบในรายละเอียดที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ ทั้งการสำรวจข้อมูลครัวเรือนชุมชน ข้อมูลทางกายภาพของคลอง และพื้นที่ริมคลอง เพื่อออกแบบภูมิทัศน์ควบคู่ไปกับการจัดการน้ำของเมือง ข้อมูลที่ดินที่ซ้อนทับกันระหว่างหน่วยงาน ข้อมูลด้านแผนการใช้งบประมาณของรัฐที่มีประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบได้
4. แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนริมคลองแม่ข่าและลำน้ำสาขา ทั้งที่มีสัญญาเช่าในที่ดินของรัฐ หรือบุกรุก เพื่อให้เรื่องนี้ซึ่งเป็นของขมสำหรับหน่วยงานรัฐและไม่ได้ถูกพูดถึงบนโต๊ะ หรือแม้แต่นโยบายที่ทำอย่างไม่มีทิศทาง ได้รับการออกแบบ วางแผน และใส่ใจ ในเชิงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน
BMW 330E M Sport Hybrid Plugin
รถสปอร์ตสายเลือดเยอรมันดีไซน์สวย มาพร้อมคุณสมบัติแบบเต็มสูบ ที่สุดของรถครอบครัวยุคใหม่ ใช้ระบบเทคโนโลยียานยนต์ที่ยืดหยุ่นด้วยพลังงานไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Technology นวัตกรรมเฉพาะจาก BMW ตอบโจทย์ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน เพื่อเปลี่ยนทุกการเดินทางให้ดีต่อโลกมากกว่าเดิม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและนัดหมายทดลองขับบาเซโลนา มอเตอร์ ทุกสาขา
สาขาวิภาวดี 02-481-7777
สาขาบางแค 02-080-5888
สาขาเชียงใหม่ 053-306-472
Line : @bmwbarcelonamotorFacebook : http://fb.com/BmwBarcelonaMotor
Instagram : https://www.instagram.com/bmwbarcelonamotorgroup/
Tiktok : https://www.tiktok.com/@barcelonamotor
Youtube : http://bit.ly/BMW-Barcelona-Motor-Channel
Website : https://www.bmwbarcelonamotor.com
HOMEWORK FABRICS
room ร่วมกับ Homework ผู้ผลิตสิ่งทอชั้นนำของไทย นำเสนอทางเลือกใหม่ในการตกแต่งพื้นที่ด้วยวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอย่างผ้าปลายม้วน ที่ใช้ในการตกแต่งระนาบเหนือศีรษะโดยไม่มีการตัด และเมื่องานนิทรรศการสิ้นสุดลง ผ้าแต่ละม้วนจะถูกส่งคืนเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นต่อไป
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา Homework มุ่งพัฒนานวัตกรรมเส้นใยและสิ่งทอเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับมาตรฐานระดับสากลจากสถาบันสิ่งทอทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้กระบวนการผลิตที่ช่วยลดขยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ
– V shield ผ้าที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส 99.99%
– Recreate ผ้าที่ผลิตจาก Recycled Polyester 100%
– ผ้าฟังก์ชันกันน้ำ และกันสิ่งสกปรกฝังติดเนื้อผ้า ช่วยลดการใช้น้ำ และสารเคมีในการทำความสะอาด
– ผ้าใยกัญชง จากแหล่งปลูกในไทย ซึ่งกัญชงเป็นพืชที่ใช้น้ำในการปลูกเพียง 1ใน 6 ของฝ้าย
นอกจากน้ี Homework ยังมีผ้าสำหรับการใช้งานประเภทต่างๆ ให้เลือกสรร อย่างผ้าเอ้าต์ดอร์ ผ้าม่านทึบแสง ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ ซึ่งตอบโจทย์ทั้งด้านฟังก์ชั่น และตกแต่งสำหรับบ้านยุคใหม่
สนใจติดต่อ
เว็บไซต์: www.homeworkfabrics.com
Facebook: @homework.th
LINE@: https://lin.ee/0MeaQxa
Plan X วีเนียร์หินธรรมชาติ
แผ่นวีเนียร์หินธรรมชาติ พื้นผิวด้านหน้าเป็นหินจริงจากธรรมชาติที่ลอกมาเป็นชั้นๆ ด้วยเทคโนโลยีจากยุโรป บางเฉียบเพียง 1-2 มิลลิเมตร จึงเรียบเนียนไปกับทุกพื้นผิว ด้านหลังเป็นเรซินโพลีเอสเตอร์ที่ช่วยยึดแผ่นวัสดุเอาไว้ มีความเหนียวและทนทาน เช่นเดียวกับวัสดุที่ทำท้องเรือ มีลวดลายหินให้เลือกหลากหลาย สร้างความเชื่อมโยงกับบรรยากาศธรรมชาติได้อย่างสมจริง เหมาะสำหรับการติดตั้งผนัง เคาน์เตอร์ เฟอร์นิเจอร์บิลต์อิน ฯลฯ ใช้งานได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร มี 2 ขนาดใช้งานคือ 60×120 เซนติเมตร และ 120×240 เซนติเมตร
FLEXX Stone รุ่น FX1004
FLEXX Stone รุ่น FX1013
FLEXX Stone รุ่น FX1023
FLEXX Stone รุ่น FX1007
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์วอลล์เปเปอร์ไฟเบอร์กลาสลายสาน 3 มิติ WEAVE 3D Wallpaper รุ่น WW02 ติดตั้งบนซุ้มโค้ง ไฟเบอร์กลาสขึ้นลายแบบพิเศษเป็นลายจักสาน มีพื้นผิวที่นูนเสมือนจริง สามารถทำสีและเคลือบผิวได้ตามต้องการ ทดแทนงานทำผนังสานได้ในราคาประหยัด ติดตั้งแบบเดียวกับวอลล์เปเปอร์ทั่วไปด้วยกาวลาเท็กซ์ ตัววัสดุมีคุณสมบัติเป็นวัสดุหน่วงไฟ (Fire-retardant) และระบายอากาศให้ผนังหายใจได้(Breathable) ไม่มีสารพิษสามารถติดตั้งในโรงเรียนหรือโรงพยาบาลได้ นิยมใช้งานในประเทศในแถบยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมัน เบลเยี่ยม เป็นต้น จำหน่ายเป็นขนาดหน้ากว้าง 1 เมตร ยาว 25 เมตร ต่อหนึ่งม้วน
สนใจติดต่อ
โทร: 081-875-4300
เว็บไซต์: www.planxmaterial.com
Facebook: @planxthailand
อีเมล: [email protected]
Myth Art หินเทียมไฟเบอร์กลาส
หินเทียมไฟเบอร์กลาสปรับเปลี่ยนรูปทรงและขนาดได้ตามความต้องการ โดยใช้แม่พิมพ์ซิลิโคน จึงได้ผิวสัมผัสเหมือนหินจริง มีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้าย จัดวางได้ง่าย เหมาะสำหรับการติดตั้งเป็นผนังหินเทียม น้ำตกหินเทียม และส่วนตกแต่งสวนอื่นๆ
สนใจติดต่อ
โทร: 080-679-1185
เว็บไซต์: www.mythart.com
Facebook: @mythartificialrock