สวนสไตล์ญี่ปุ่น
สวนญี่ปุ่นเกิดจากอิทธิผลของศาสนากับความผูกพันกับธรรมชาติของคนญี่ปุ่น โดยยุคแรกเป็นสวนทิวทัศน์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากสวนจีน ต่อมาได้พัฒนาให้เข้ากับประเพณีพื้นถิ่นเช่นการชงชา และที่โดดเด่นที่สุดคือสวนแห้งที่ได้รับอิทธิพลงจากลัทธิเซนที่ใช้รูปทรงของก้อนหิน ต้นไม้และทรายสื่อความหมายถึงทิวทัศน์ในธรรมชาติรอบตัว
ทางเดิน
ส่วนหนึ่งเป็นทางเดินปูด้วยหินธรรมชาติอย่างเป็นระเบียบทอดลงไปในสวนให้คดเคียว เพื่อได้ชมความสวยงามของสวนในมุมมองต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป แต่แบบที่โดดเด่นคือทางเดินของสวนในพิธีชงชาที่จะใช้ก้อนหินธรรมชาติที่รูปทรงเดินได้สะดวกปูให้ระยะห่างพอดีกับระยะก้าว เพื่อไม่ให้เดินเหยียบพื้นที่ปูด้วยมอสส์สีเขียวด้านล่าง
ซุ้มประตู
ถือว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญและแสดงถึงเอกลักษณ์ของสวนญี่ปุ่นได้ดี โดยมีอยู่หลายรูปแบบทั้งซุ้มประตูที่ทำจากไม้ไผ่ผูกด้วยเชือกที่ให้ความรู้สึกแบบชนบทไปจนถึงซุ้มประตูที่ถอดแบบมาจากโทริอิ (Torii) ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามศาลเจ้าในประเทศญี่ปุ่น
พรรณไม้
การจัดสวนญี่ปุ่นในประเทศไทยมักใช้พรรณไม้บางชนิดที่พบในสวนญี่ปุ่นและสามารถปลูกได้ในประเทศไทยเช่น สนชนิดต่างๆ เมเปิ้ล ไผ่ ไฮเดรนเยีย ฯลฯ ร่วมกับพรรณไม้ของบ้านเราที่ให้ความรู้สึกใกล้เคียง เช่น ใบต่างเหรียญ (แทนมอสส์) หรือชบาเมเปิ้ล (แทนเมเปิ้ล) รวมทั้งวางกระถางบอนไซตกแต่งในบางจุดตามความเหมาะสม
เฟอร์นิเจอร์
ดั้งเดิมสวนญี่ปุ่นเป็นสวนที่ใช้ประโยชน์เพื่อเดินชมทิวทัศน์หรือเป็นทิวทัศน์ที่มองออกมาจากในอาคาร ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้งานในสวนจึงมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นของสำหรับตกแต่ง เช่น ตะเกียงหิน รั้วไม้ไผ่ สะพานไม้ ฯลฯ ปัจจุบันแม้มีที่นั่งในสวนก็จะใช้ก้อนหินหรือแคร่ไม้ไผ่ เพื่อให้ความรู้สึกที่ไม่แตกแต่งจากองค์ประกอบอื่น ๆ ในสวน
บ่อน้ำ
หากเป็นสวนน้ำตกลักษณะขนาดน้ำตกจะมีขนาดไม่ใหญ่มากเหมือนเป็นการจำลองธรรมชาตินำมาย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลงกว่าปกติ บางสวนที่มีขนาดไม่ใหญ่ใช้บ่อน้ำที่ทำจากก้อนหินขนาดใหญ่เซาะตรงกลางเป็นบ่อ มีไม้ไผ่กระดกเพื่อสร้างเสียงน้ำไหลที่เรียกว่า “ชิชิ โอโดชิ (Shishi-odoshi)”