10. ชัยพฤกษ์
ไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ในวงศ์ Fabaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia javanica ทรงพุ่มเป็นรูปร่ม แผ่กว้าง เปลือกต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีน้ำตาล ต้นเล็กจะมีหนาม ส่วนต้นใหญ่จะมีรอยแผลปนหนามตามแนวขวาง ชอบดินทรายและแสงแดดจัด มีถิ่นกำเนิดในอินโดนีเซีย และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าทุ่ง ป่าโปร่ง และปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
11. ชมพูพันธุ์ทิพย์
ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ในวงศ์ Bignoniaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tabebuia rosea (Bertol.) Bertero ex A. DC. สูงได้ถึง 8-25 เมตร เรือนยอดรูปไข่หรือทรงกลม แผ่กว้างเป็นชั้นๆ ขนาดทรงพุ่ม 8-12 เมตร ผิวลำต้นสีน้ำตาลขรุขระ ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 5 ใบ ใบรูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ช่อละ 5-8 ดอก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก คล้ายรูปแตร ดอกสีชมพูอ่อน ชมพูสดถึงขาว กลางดอกสีเหลือง เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร เกสรเพศผู้มี 4 อัน ร่วงง่าย ดอกออกในช่วงเดือนกุมพาพันธ์ถึงเมษายน ผลเป็นฝักกลมยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดแบบสีน้ำตาล มีปีกปลิวไปได้ไกล ปลูกได้ในดินทั่วไป ชอบน้ำปานกลาง ทนสภาพน้ำท่วมได้ดี ชอบแสงแดดครึ่งวันถึงเต็มวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง เป็นต้นที่ให้ร่มเงาดี ปลูกริมถนนได้ ไม่เหมาะกับสนามเด็กเล่นและลานจอดรถ เพราะกิ่งเปราะง่าย และไม่ควรปลูกใกล้กับสิ่งก่อสร้าง เพราะมีระบบรากแข็งแรง อาจทำให้อาคารเสียหาย ต้นนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ตั้งชื่อไทยโดยหลวงบุเรศรบำรุงการ เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณท่าน หรือหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ผู้นำพรรณไม้ชนิดนี้เข้ามาปลูกเป็นคนแรกในเมืองไทยราวปีพ.ศ. 2490 ปัจจุบันกลายเป็นไม้ประดับที่พบทั่วไป
12. ทองกวาว
ไม้ยืนต้นขนาดกลางในวงศ์ Fabaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Butea monosperma (Lam.) Taub. สูงประมาณ 12-18 เมตร แตกกิ่งก้านจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่เป็นระเบียบ ดอกมีสีแดงส้มหรือแสดสวยงาม และจะออกดอกมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นไม้มงคลที่คนไทยสมัยก่อนเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ประจำบ้านในทิศใต้จะทำให้มีเงินมีทองมาก เนื้อไม้เมื่อแห้งจะมีน้ำหนักเบาและหดตัวมาก สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเรือนและเครื่องมือทางการเกษตรได้ บางพื้นที่เรียกต้นจาน
13. ทองอุไร
ไม้พุ่มอายุหลายปีในวงศ์ Bignoniaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าTecoma stans มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาเขตร้อนถึงหมู่เกาะเวสต์อินดิส สูง 2-5 เมตร ลักษณะเป็นพุ่มเรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกตรงข้าม ใบย่อยรูปหอกหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบจักซี่ฟัน ใต้ใบมีขนละเอียดดอกออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกรูปแตรสีเหลืองสด โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ดอกร่วงง่าย ออกดอกตลอดปี ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอกเกือบกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกออก เมล็ดแบน สีน้ำตาลอ่อน เจริญเติบโตได้ในดินทุกประเภทชอบแสงแดดตลอดวันถึงครึ่งวัน น้ำปานกลาง ทนแล้งได้ ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง นิยมปลูกเป็นไม้กระถางหรือปลูกประดับแปลง ปัจจุบันในตลาดต้นไม้มีทั้ง ทองอุไรแคระ ทองอุไรสีส้ม และพันธุ์ที่มีดอกสีแปลกตาอย่าง ทองอุไรสปาร์คกี้ ไม้ประดับนำเข้าจากออสเตรเลีย ซึ่งพัฒนาพันธุ์มาจากทองอุไร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tecoma stans ‘Sparky’ ลักษณะทั่วไปเหมือนทองอุไรแต่ทรงพุ่มกะทัดรัดกว่า
14. บุนนาค
ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ไม่ผลัดใบ ในวงศ์ Guttiferae (Clusiaceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mesua ferrea L. สูงประมาณ 15-25 เมตร มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดียไปจนถึงมาเลเซีย ทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำ หนาทึบ อัตราการเจริญเติบโตช้า ต้องการน้ำมากแต่ไม่แฉะ แสงแดดตลอดวันควรปลูกในพื้นที่กว้างให้ได้รับแสงเต็มที่ ระยะปลูกที่เหมาะสม 3 – 6 เมตร ให้ร่มเงาได้ดี ลำต้นสีน้ำตาลปนเทา เปลือกลำต้นเรียบ ใบเดี่ยวรูปใบหอกสีเขียวเข้ม ใต้ใบสีเขียวนวล ใบอ่อนสีชมพูห้อยเป็นพวง ออกดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก 2-3 ดอกที่ปลายกิ่ง กลีบดอก 4 กลีบ สีขาวหรือชมพูรูปไข่ ปลายบานและเว้า โคนสอบขอบกลีบเป็นคลื่น ออกดอกเกือบพร้อมกันทั้งต้น ดอกบานนาน 1-2 วัน มีกลิ่นหอมมาก ออกดอกเดือนมีนาคม-กรกฎาคม มีผลรูปไข่ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และตอนกิ่ง
15. ประดู่แดง
ไม้ต้น ผลัดใบในวงศ์ Fabaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าPhyllocarpus septentrionalis Donn. Sm. สูงได้ถึง 30 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง กิ่งลู่ลง ใบประกอบเป็นรูปขนนกเรียง สลับใบย่อย 3-6 คู่ ออกสลับ แผ่นใบย่อย รูปไข่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก ปลายมน โคนสอบ ดอกออกเป็นช่อกระจะ สีแดงคล้ำ ออกเป็นกระจุกสั้น ๆ แน่นตามกิ่ง ใบประดับและใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ร่วงเร็ว ผล เป็นฝักแบนรูปขอบขนาน ออกดอกเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์
16. พญากาหลง หรือว่านพญากาหลง หรือโยทะกา หรือชงโคดอกเหลือง
ไม้พุ่มอายุหลายปีในวงศ์ Leguminosae – Caesalpinioideae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia tomentosa L. สูง 1 – 1.50 เมตร ทุกส่วนของต้น เมื่อสัมผัสจะมีกลิ่นหอม ใบค่อนข้างกลม แต่ปลายใบหยักเว้าลึก ดูคล้ายใบแฝด ขนาด 2 – 2.5 เซนติเมตร ดอกออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ห้อยลงดูคล้ายระฆัง มีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อบานวันแรกดอกมีสีเหลือง มี 1 กลีบ มีแต้มสีน้ำตาลที่โคนกลีบ วันต่อมาจะกลายเป็นสีม่วงเรื่อและหลุดร่วงในที่สุด ผลเป็นฝักแบน ปลายแหลม ยาว 5 – 7 เซนติเมตร มีขนอ่อนปกคลุม ภายในมีเมล็ดกลมแบน สีน้ำตาล ชอบดินร่วน น้ำปานกลาง ระวังอย่าให้ดินแฉะ แสงแดดครึ่งวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ประมาณ 1 ปีต้นจะออกดอก เป็นว่านทางเสน่ห์เมตตามหานิยม ปัจจุบันพบปลูกเป็นไม้ประดับบ้าง ชาวพื้นเมืองในถิ่นที่พบมักนำเส้นใยจากต้นใช้สานตะกร้า ใบใช้เป็นอาหารสัตว์หรือเป็นสีย้อมให้สีเหลือง
17. พะยอม
ต้นไม้ยืนต้น ผลัดใบ โตช้า ขนาดกลางถึงใหญ่ ในวงศ์ Dipterocarpaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorea roxburghii G.Don สูง 10-15 เมตร ทรงพุ่มรูปไข่หรือกรวยคว่ำ เติบโตได้ดีในพื้นที่แห้งแล้งจึงสามารถนำไปปลูกได้ทุกที่ แต่หากอยู่ในที่มีดินเหนียวจะออกดอกน้อยกว่า ออกดอกเป็นช่อสีขาว บานพร้อมกันหรือทยอยบานทั้งช่อ ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ช่วงเย็น ออกดอกเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ หากอากาศเย็นจะบานสะพรั่งทั้งต้น ดอกอ่อนใช้รับประทานสดหรือทำอาหาร เช่น ยำหรือแกงส้มได้ เนื้อไม้สามารถใช้ก่อสร้างได้ เพราะมีความแข็งแรงใกล้เคียงกับไม้ตะเคียนทอง นิยมปลูกบริเวณบ้านในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพราะเชื่อว่าจะช่วยทำให้คนในบ้านมีนิสัยที่อ่อนน้อมเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไปดั่งชื่อ และไม่ขัดสนเรื่องเงินทอง
18. โมก
ไม้ต้นผลัดใบในวงศ์ Apocynaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia religiosa (Tejsm & Binn.) Benth. ex Kurz สูง 2 – 5 เมตร โตเร็ว สามารถปลูกได้ในดินทุกประเภท แต่ต้องชุ่มชื้น ชอบแสงแดดตลอดวัน สามารถปรับตัวในบริเวณที่แสงแดดน้อยได้แต่ต้นจะมีใบน้อยและไม่สวยเท่าที่ควร ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี แต่ดอกดกในช่วงปลายฤดูหนาวเข้าฤดูร้อน นิยมปลูกเป็นต้นไม้ริมรั้วควรปลูกห่างกัน 0.30 เมตร หรือปลูกเป็นต้นไม้ดัดตัดแต่งได้