19. ราชพฤกษ์
ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบในวงศ์ Fabaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia fistula สูงได้ถึง 5-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ขนาด 4-6 เมตร เปลือกเรียบเกลี้ยงสีเทาอ่อน สีเทาอมน้ำตาลหรือสีนวล ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 3-8 คู่ เรียงตรงข้าม ใบรูปไข่แกมรูปขอบขนานปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางเกลี้ยงเป็นมัน ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อแบบช่อกระจะยาวตามซอกใบห้อยย้อยลง ช่อดอกโปร่ง ยาว 20-45 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-8 เซนติเมตร ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ผลเป็นฝักทรงกระบอก ผิวเกลี้ยงสีดำ ยาว 20-60 เซนติเมตร ห้อยลงจากกิ่ง เมล็ดรูปแบนมน สีน้ำตาลเป็นมัน เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนปนทราย ทนดินเลว ชอบน้ำและความชื้นน้อยถึงปานกลาง ชอบแสงแดดเต็มวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง เป็นไม้ประจำชาติไทย สัญลักษณ์ทางศาสนา ไม้มงคล ตกแต่งริมถนนและในสวน ปลูกริมทะเล เมื่อล้อมมาต้องพักฟื้นจนแตกใบใหม่ และรอใบใหม่แก่แล้วจึงใช้งานได้ดี ไม่ควรปลูกเป็นจำนวนมากในที่เดียว เพราะถ้ามีแมลงเข้าทำลายอาจตายทั้งกลุ่ม
20.ลำดวน
ไม้ยืนต้นขนาดกลางในวงศ์ Annonaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Melodorum fruticosum Lour. สูงประมาณ 4 – 8 เมตร ทรงพุ่มกลม ไม่ผลัดใบ พุ่มใบสวย ชอบขึ้นในที่โล่งและมีแสงแดด พบมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดอกบานวันเดียวแล้วโรยในวันรุ่งขึ้น ส่งกลิ่นหอมแรงตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงเช้า แต่ยังคงกลิ่นหอมอ่อนๆในช่วงกลางวัน ออกดอกเดือนมกราคม -มีนาคม ควรปลูกให้ห่างจากต้นไม้อื่นอย่างน้อย 5 เมตร ผลมีรสหวานอมเปรี้ยวรับประทานได้ เป็นพรรณไม้ที่ถูกกล่าวถึงในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง มีความเชื่อโบราณว่าให้ปลูกโดยผู้หญิงไว้ทางทิศตะวันออกของตัวบ้านจะช่วยดึงดูดความรัก เสริมดวงทางเสน่ห์เมตตา เนื้อไม้ของต้นลำดวนมีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำมาใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้
21. ศรีตรัง
ไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบในวงศ์ Bignoniaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jacaranda obtusifolia Bonpl. สูงได้ถึง 4 – 10 เมตร ทรงพุ่มโปร่ง เปลือกสีน้ำตาลอมเทา ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคี่ ก้านใบรวมยาว 40 – 50 เซนติเมตร เรียงตรงกันข้าม ใบย่อย 12 – 21 คู่ รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบแหลม โคนใบมน ขนาดเล็ก ดอกออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนงตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกรูปพีระมิด ยาว 5 – 9 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 2 – 4 เซนติเมตร กลีบบาง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ สีม่วงเข้ม ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ผลเป็นฝักสีน้ำตาลอ่อน เมื่อแก่แตกออก เมล็ดมีปีกจำนวนมาก ชอบดินร่วน น้ำมาก แสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ระยะปลูกที่เหมาะสม 3 – 8 เมตร ต้นต้องมีอายุ 4 ปีขึ้นไปจึงให้ดอก เหมาะปลูกเป็นกลุ่มเป็นแถวประดับสนาม ถ้าปลูกในภาคเหนือและภาคใต้จะให้ดอกดก หากพื้นที่ปลูกแห้งแล้งมักทิ้งใบหมดต้น เป็นพรรณไม้ประจำจังหวัดตรัง พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เป็นผู้นำเข้ามาปลูก
22. เสี้ยวดอกขาว
ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบในวงศ์ Fabaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia variegata L. สูงไม่เกิน 15 เมตร ทรงพุ่มกลม เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กว้างหรือเกือบกลม ขนาด 6 – 16 เซนติเมตร ปลายใบเว้าลึก โคนใบมนหรือเว้าเป็นรูปหัวใจ ใต้ใบมีขนนุ่ม ละเอียดบางๆ ออกดอกแบบช่อกระจะสั้นๆ ที่ปลายกิ่ง 2 – 3 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 7 – 12 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับ สีขาวหรือสีม่วง ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกตลอดปี ผลเป็นฝักแห้งแตกเป็น 2 ซีกแบบฝักถั่ว กว้าง 2 – 2.5 เซนติเมตร ยาว 20 – 30 เซนติเมตร เมล็ดกลมมี 10 – 25 เมล็ด ชอบดินร่วนปนทรายระบายน้ำดี น้ำปานกลาง แสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ชอบอากาศเย็น ทนแล้งได้ดี ปลูกในสวน ริมถนน ริมทางเดิน เปลือกมีสารแทนนิน ใช้ย้อมแห อวน ให้คงทน เนื้อไม้ใช้เป็นเชื้อเพลิง ใบอ่อนและฝักอ่อนรับประทานได้ เป็นพรรณไม้ประจำจังหวัดน่าน
23. เหลืองเชียงราย
ไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ ในวงศ์ Bignoniaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tabebuia chrysotricha (Mart. ex DC.) Standl. สูง 3-6 เมตร ใบประกอบรูปนิ้วมือ เรียงตรงข้ามใบย่อย 5 ใบ รูปรีแกมรูปไข่กลับ แผ่นใบสาก มีขนสีน้ำตาลปกคลุม โคนใบสอบ ปลายใบแหลมมน ขอบใบหยักห่างๆ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นหลอด มีขนสีน้ำตาลคลุม หนาแน่น กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง เชื่อมติดกันเป็นหลอด รูปแตร ผลเป็นผลแห้งแตก สีน้ำตาล มีขนคลุมหนาแน่น เมล็ดแบน มีปีก จำนวนมาก ดอกมีลักษณะคล้ายกับดอกเหลืองปรีดียาธร ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ชอบดินร่วน อากาศเย็น แสงแดดจัด น้ำปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
24. เหลืองปรีดียาธร
ไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบในวงศ์ Bignoniaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Roseodendron donnell-smithii (Rose) Miranda สูง 8-10 เมตร เรือนยอดรูปไข่ แตกกิ่งก้านเป็นชั้น มีเปลือกสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง ใบประกอบรูปนิ้วมือ มีใบย่อย 5-7 ใบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบมนหรือสอบ ใบเหลือบสีเงินทั้งสองด้าน ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง 7-15 ดอก โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยก 5 กลีบ ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ผลเป็นฝักสีเทา ชอบดินร่วนระบายน้ำดี น้ำปานกลาง ทนแล้งได้ดี แสงแดดเต็มวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด นิยมปลูกประดับสวนทั้งแบบต้นเดียว เป็นกลุ่ม ในสนาม สวนหรือมุมอาคาร สามารถปลูกริมถนน แต่เปลือกมักแตกและผุตามธรรมชาติ ต้องพ่นยากันรา
25. อินทนิล
ไม้ต้นผลัดใบในวงศ์ Lythraceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lagerstroemia speciosa(L.) Pers. สูง 10 – 25 เมตร เปลือกลำต้นสีเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน ผิวค่อนข้างเรียบ อาจตกสะเก็ดเป็นแผ่นบาง ๆ บ้างเล็กน้อย ปลายใบแหลแผ่นใบค่อนข้างหนาเป็นมันทั้งสองด้านไม่มีขน ดอกออกเป็นช่อตั้งที่ปลายกิ่ง ดอกสีม่วงสด ม่วงอมชมพูหรือชมพู และสีจะซีดจางลงเมื่อดอกโรย ออกดอกเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ชอบแดดเต็มวัน ทนแล้ง นิยมปลูกริมถนนทางเดินและริมบ่อน้ำ
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน